DSA characteristics between IR and Hybrid OR


DSA

การเปรียบเทียบเครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือดระหว่างห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษากัและห้องผ่าตัดผสม

DSA Characteristics comparison between IR and OR

 

สุรชาติ  การประเสริฐ          วท.บ.รังสีเทคนิค
วีระชาติ  ชูรอด                  วท.บ.รังสีเทคนิค
เอกลาภ  มานะกิจไพบูลย์     วท.บ.รังสีเทคนิค
ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล

สุรชาติ การประเสริฐ, วีัระชาติ ชูรอด, เอกลาภ มานะกิจไพบูลย์. การเปรียบเทียบเครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือดระหว่างห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษาและห้องผ่าตัดผสม.วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2554; 5: 70-76

บทนำ

เมื่อมีความต้องการจะสร้างห้องตรวจรังสีร่วมรักษา หรือห้องผ่าตัดผสมขึ้นมาภายในหน่วยงาน จะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ของเครื่อง DSA และที่จะติดตั้งภายในห้องตรวจนั้นอย่างรอบคอบ โดยขึ้นกับลักษณะของงานหัตถการที่ทำภายในห้องนั้น จึงทำให้เครื่อง DSA ของทั้งสองห้องนั้นมีจุดที่เหมือน และจุดที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์อันสูงสุดสำหรับหัตถการนั้นๆ โดยคุณสมบัติต่างๆ  ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจติดตั้งเครื่อง DSA ภายในหน่วยงาน เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณ และความสะดวกในการทำหัตถการนั้นๆ

จุดประสงค์

1. เปรียบเทียบลักษณะและส่วนประกอบของเครื่อง DSA ระหว่างของห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษา กับห้องผ่าตัดผสม
2. เพื่อความเข้าใจสำหรับผู้ปฏิบัติงานประจำห้องทั่งสอง

ห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษา

ห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษา คือ ห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจและรักษาแบบวิธีการสอดใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแบบ Percutaneous Technique หรือที่เรียกกันว่า Seldinger’s Technique พร้อมกับติดตั้งเครื่องมือตรวจทางรังสีวิทยาที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่เครื่อง x-ray Fluoroscope ที่มีคุณภาพดี, เครื่อง Ultrasound, เครื่อง CT Scan, เครื่อง MRI

 

ห้องผ่าตัดผสม (Hybrid OR)

ห้องผ่าตัดผสมคือ ห้องผ่าตัดที่ได้ติดตั้งเครื่องมือร่วมตรวจเพื่อใช้ในการวินิจฉัยระหว่างการผ่าตัด และได้มีการพัฒนาในการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดอยู่ภายในห้องผ่าตัดเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยผ่านทางสายสวนหลอดเลือดร่วมระหว่างการผ่าตัด ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะห้องผ่าตัดผสมที่โรงพยาบาลศิริราชที่ได้ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดไว้ โดยเน้นการรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดที่ต้องใช้การผ่าตัดเป็นหลัก และใช้วิธีการทางรังสีร่วมรักษาเป็นช่วย หรือในผู้ป่วยที่ต้องการการวินิจฉัยด้วยการฉีดสีหลอดเลือดระหว่างการผ่าตัด

 

วัสดุและวิธีการ

มีการรวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าวของเครื่อง DSA จากทั้งสองหน่วยงานภายในโรงพยาบาลศิริราช โดยตรวจสอบด้วยการค้นหาข้อมูลจากวารสารทางวิชาการ, สอบถามรังสีเทคนิคผู้เชี่ยวชาญ และบันทึกภาพเครื่อง DSA จากสถานที่จริง แล้วจึงนำข้อมูลทุกอย่างที่ได้มาเปรียบเทียบหาข้อแตกต่าง แล้วนำไปสรุปผลต่อไป

 

ผลการศึกษา

                ได้พบส่วนที่เหมือนกัน คือ คุณสมบัติ X-RAY Detector ของเครื่อง DSA และพบจุดที่แตกต่างกัน คือ ลักษณะการติดตั้งเครื่องภายในห้อง และลักษณะของเตียงที่ใช้ในการตรวจและรักษา

               

จากการรวบรวมข้อมูล พบส่วนที่เหมือนและแตกต่างของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดของทั้งสองห้องหัตถการที่เด่นชัด มีดังต่อไปนี้

 

ส่วนที่เหมือน

  • X-RAY Detector

                ระบบตัวรับภาพ เป็นชนิด Flat panel Detector system (FD) ซึ่งจะให้ contrast resolution และ image quality ดีกว่าระบบ Image Intensifier (II) systems โดยระบบ FD จะได้ภาพที่สม่ำเสมอไม่ distorted ที่ตำแหน่งขอบภาพ และสามารถใช้ในการสร้างภาพ 3D ได้ดีกว่า

 

ส่วนที่แตกต่าง

  • ลักษณะการติดตั้งแกนหลัก (Gantry)

- หน่วย IR          เป็นระบบติดตั้งแบบยึดแกนหลักไว้กับพื้น (floor mounted system)

- หน่วย HYBRID OR

                เป็นระบบ ceiling mounted type เนื่องด้วยหัตถการหลักคือการผ่าตัดแบบ open และเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดเป็นตัวช่วย จึงต้องติดตั้งแกนหลักของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดแบบแขวนกับเพดานของห้อง (ceiling type) เพื่อความสะดวกระหว่างทำหัตถการ คือเมื่อยังไม่จำเป็นต้องการดูภาพเอกซเรย์เครื่องก็จะถูกจัดเก็บไว้ที่จุดซึ่งห่างจากเตียงผ่าตัดและเมื่อต้องการดูภาพเอกซเรย์ประกอบการรักษาเครื่องก็จะถูกเลื่อนเข้ามายังตำแหน่งเตียงผ่าตัด แล้วจึงเริ่มการรักษาต่อไป

 

  • เตียงสำหรับการตรวจ

- หน่วย IR               

เป็นเตียงแบบ floating tabletop เพื่อให้สามารถเลื่อนเตียงได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง วัสดุที่ใช้ผลิตเป็นวัสดุชนิด radiolucent เพื่อให้รังสีผ่านได้ดี และนำไปสร้างภาพได้โดยไม่มี artifact

 

- หน่วย HYBRID OR     

ที่โรงพยาบาลศิริราชจะมีเตียงที่ใช้อยู่สองแบบ คือ

1. เป็นเตียงที่มีคุณสมบัติ breakable tabletop คือสามารถงอเตียงขึ้นลง (vertical and lateral tilt) เหมาะกับการผ่าตัดได้  แต่ที่ขอบเตียงเป็น artifact ต่อการสร้างภาพเอกซเรย์

2. Floating tabletop เป็นเตียงที่งอขึ้นลงไม่ได้ แต่วัสดุเป็นแบบ radiolucent ไม่ทำให้เกิด artifact ต่อการสร้างภาพเอกซเรย์

 

 จากการศึกษาพบว่าคุณสมบัติและส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่อง DSA ของทั้งสองหน่วยงาน มีจุดที่เหมือนกัน และจุดที่แตกต่างกัน โดยเกิดจากลักษณะของงานหัตถการที่ทำภายในห้องตรวจและรักษานั้น ซึ่งในจุดที่ต่างกันนั้นก็เพื่อความสะดวก และเอื้ออำนวยต่อลักษณะของงานหัตถการที่เกิดขึ้นภายในห้องนั้น โดย มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป  ดังนั้นจึงควรพิจารณาคุณสมบัติและส่วน ประกอบต่างๆ ก่อนตัดสินใจติดตั้งเครื่อง DSA ภายในหน่วยงาน เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณ และความสะดวกในการทำหัตถการนั้นๆ

 

บรรณานุกรม

1. วาทิต คุ้มฉายา, วิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์.ห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษาระบบผสมและห้องผ่าตัดผสม . วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2553 ; 4(2) : 114-123.  

2. วิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์, วสันต์ ปันเขื่อนขัติย์,วันพามี ผิวทอง  .เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดรุ่นใหม่ช่วยลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับหรือไม่. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2553 ; 4(2) : 88-92

 

คำสำคัญ (Tags): #dsa
หมายเลขบันทึก: 492506เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2012 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท