สร้าง PLC ครู : เวทีพัฒนาศักยภาพครู Facilitator จ.กำแพงเพชร (1)


           9-10 มิถุนายน 2555  เครือข่ายครูสอนดี จังหวัดกำแพงเพชร  ได้รวมตัวกันในเวทีพัฒนาศักยภาพครู Facilitator  โดย ผศ.ดร.เรขา อรัญวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.กำแพงเพชร และ เป็นผู้จัดการเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี จ.กำแพงเพชร เป็นผู้จัดงาน   ซึ่งมี คุณจตุพร  วิศิษย์โชติอังกูร (คุณเอก)  และ คุณมณฑล   สรไกรกิติกูล (คุณเอ็ม)  ไปเป็นทีมวิทยากรพี่เลี้ยง     ....งานนี้ อ้อ จึงขอบันทึกกระบวนการแบบเป็นขั้นเป็นตอนมาแบ่งปันกันค่ะ

ภาคแรก : Basic Facilitator Trainning

           วันแรก 9 มิ.ย. 55 นี้ ฝึกผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นแกนนำสาระวิชา ทั้งหมด 31 คน คือ สาระวิชาภาษาไทย –ภาษาอังกฤษ, สาระวิชาวิทยาศาสตร์ และสาระวิชาคณิตศาสตร์  ซึ่งหลายคนในสาระวิชาวิทย์ – คณิต เป็นครูที่อยู่ในเครือข่าย LLEN มาก่อน (Local Learning Enrichment Network)  และแม้จะไม่เป็นครูสอนดี แต่ก็ขอสมัครเข้ามาร่วมฝึกในเวทีนี้ด้วย เพื่อร่วมสร้าง Professional Learning Community (PLC) จ.กำแพงเพชร และนำไปใช้ประโยชน์ต่อที่โรงเรียนของตัวเอง   

            โปรแกรมฝึกศักยภาพครู facilitator เบื้องต้น (Basic Facilitator Trainning) ใน 1 วัน  มีดังนี้

        I. กิจกรรม “ต้นไม้แห่งความคาดหวัง”  โดยให้แต่ละคนเขียน “ความคาดหวังที่อยากได้ในการมาเข้าร่วมครั้งนี้” ลงในกระดาษตัดรูปใบไม้สีเขียว แล้วเอาไปแปะที่กระดานต้นไม้    ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ต้องการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เทคนิคการเรียนการสอน, ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย และ เทคนิคการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ฯลฯ

 

       II.  กิจกรรม ”รู้จักฉัน รู้จักเธอ”   กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกทักษะการฟัง และการเล่าเรื่องของตัวเองง่ายๆ ผ่านรูปภาพ  (ซึ่งวิทยากรต้องการเน้นไปที่ทักษะการฟัง  อันเป็นทักษะที่สำคัญมากในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวของการเล่าเรื่อง)   เริ่มด้วยวิทยากรใช้คลิปวิดิโอสั้นๆ 5 นาที เกี่ยวกับหนุ่มอีสานคนหนึ่งที่กลับมาจากกรุงเทพแล้วมาพบกับพิธีสู่ขวัญที่บ้านเกิดทำให้รู้สึกถึงความสุข “รู้สึกมีความสุขหลายๆ เมื่อได้กลับมาอยู่บ้าน”  เพื่อกระตุ้นความซาบซึ้งใจในครูแกนนำ   หลังจากนั้นให้แต่ละคนกลับมานึกทบทวนตัวเอง  โดยโจทย์ “ความสุขของคุณครูในชีวิต คืออะไร หรือ ความทรงจำที่เป็นความสุขของตนเอง?”  แล้วสื่อสารออกมาเป็นภาพวาดในกระดาษ 1 แผ่น A4 พร้อมทั้งเขียนคำอธิบายภาพสั้นๆ ด้วย (ใช้เวลา 7 นาที)  ทั้งนี้วิทยากรเปิดเพลงเบาๆ เพื่อกระตุ้นบรรยากาศให้นึกถึงความสุข ขณะที่กลุ่มครูวาดภาพ 

                หลังวาดภาพเสร็จ ให้คุณครูจับคู่คนที่ไม่รู้จักกันตามอัธยาศัย  แล้วใช้เวลาห้านาที  ผลัดกันเล่าเรื่องความสุขของตัวเองในภาพให้เพื่อนฟัง  บรรยากาศโดยรวมเป็นไปอย่างกัลยาณมิตร มีเสียงหัวเราะเล็กๆ ในบางคู่  และเมื่อจบกิจกรรม วิทยากรจึงสรุปว่า เมื่อเราเปิดใจฟัง  เราจะได้ยินเสียงที่อยู่ข้างใน และได้ยินมากกว่าคำพูด  ฉะนั้นการฟังจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก    ก่อนจบวิทยากร ฝากกลอนสรุปไว้ดังนี้

ไม่มีพื้นใดในโลกใบนี้ที่ปราศจาก “การเรียนรู้”

ไม่มีพื้นแห่งใดในโลกนี้ที่ปราศจาก “ความรู้”

 และไม่มีพื้นใดในโลกใบนี้ยิ่งใหญ่ไปกว่า “พื้นที่แห่งใจ”

  (ใจนำพา ศรัทธานำไป)  ซึ่งเป็นวิถีแห่ง facilitator

ปล.  ตัวอย่างเล็กๆ ของเรื่องเล่าความสุขนครั้งนี้  เช่น ความสุขของคุณครูทัศนีย์  ที่มีความสุขที่ลูกตัวเองได้รับปริญญา  และเมื่อมีลูกศิษย์ ก็รู้สึกมีความสุขทุกครั้งเมื่อรู้ว่าศิษย์จบและได้รับปริญญา

 

    III. กิจกรรมกงล้อสี่ทิศ  เป็นกิจกรรมที่หวังให้ผู้เข้าร่วมเข้าสู่การเรียนรู้ตัวเอง เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เข้าใจผู้อื่น มากขึ้น บนนิยาม คือความหลากหลายของคน เกิดส่วนผสมของ “แม่สี” ที่ไม่เท่ากัน   วิทยากรเกริ่นถึงสังคมครู  ที่มีกลุ่มที่หลากหลาย  แต่อาจไม่ปรับตัวเข้าหากัน  อยากให้เห็นว่า กลุ่มที่หลากหลายไม่เป็นไร  แต่ถ้ากลุ่มเอาชนะคะคานกัน ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเช่นเดียวกัน  และอีกอย่าง ถ้าครูรู้ว่าเด็กมีความหลากหลาย  เด็กๆ มีบุคลิกอย่างไร   เราก็อาจจะเป็นครูที่ดีขึ้น

              กระบวนการของกิจกรรมนั้นประกอบด้วย

  • ติดกระดาษ 4 แผ่น ที่มีข้อมูลลักษณะบุคลิกคนต่างๆ กัน  ไว้ที่ผนังสี่ด้าน   ให้คุณครูเดินดูว่าเรามีอุปนิสัยตรงกับแผ่นไหนมาก แล้วจำหมายเลขแผ่น  แล้วจับกลุ่มรวมกันตามหมายเลข  เช่น  <แผ่นที่ 1>  ท่านมักจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น หากมีผู้อื่นร้องขอ หรือหากว่าท่านมั่นใจในประเด็นดังกล่าว, ท่านมักนิ่งเงียบมากกว่าจะยืนยันสิทธิของตน, ท่านไม่ชอบให้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงบ่อย, ท่านมักถามก่อนที่จะบอก, ส่วนใหญ่แล้วถือว่าท่านมีความอดทน,  <แผ่นที่ 2> ท่านมักจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น แม้ว่าจะไม่มีใครขอร้องหรือท่านจะไม่แน่ใจ, ท่านมักจะยืนยันสิทธิมากกว่าที่จะนิ่งสงบเงียบ, ชอบที่จะเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ รู้สึกเบื่อหน่ายถ้าไม่มีการเปลี่ยนอะไรเกิดขึ้น, ส่วนใหญ่แล้วท่านถือว่าเป็นคนไม่ค่อยมีความอดทน, <แผ่นที่ 3> ท่านพยายามควบคุมอารมณ์ของตนเอง, ท่านมักจะสนใจข้อเท็จจริง หลักเหตุและผล, ท่านมักจะทำตัวเป็นทางการและจริงจัง, ท่านมักให้ความสำคัญต่องานก่อนการผูกมิตรและสร้างสรรค์, การทำความรู้จัก หรือสร้างความคุ้นเคยกับท่านเป็นเรื่องยาก, <แผ่นที่ 4> ท่านมักจะแลกเปลี่ยน แสดงออกถึงความรู้สึกของท่านอย่างเปิดเผย, ท่านมักจะสนใจคนและความรู้สึก, ท่านมักแสดงความเป็นมิตรและผ่อนคลาย, ท่านมักจะผูกมิตรและสังสรรค์ก่อนลงมือทำ, การทำความรู้จัก หรือสร้างความคุ้นเคยกับท่านเป็นเรื่องง่าย
  • แบ่งกลุ่มตามหมายเลขแผ่นที่ตรงกับบุคลิกเรา 1,2,3,4  แล้วให้แต่ละกลุ่มพูดคุยเขียนอุปนิสัยที่มีร่วมกันอื่นๆ ลงในกระดาษฟลิปชาร์ต  ออกมานำเสนอเป็นการเช็คอุปนิสัยร่วมกัน
  • วิทยากรทำการเฉลยเปรียบเทียบกลุ่มต่างๆ ตามบุคลิกภาพ  กับสัตว์สี่ประเภท  ได้แก่  
    • หนู  ขี้เกรงใจ ดูแลเรื่องจิตใจ สงสาร  นักประสานงาน พูดเก่ง อ่อนไหว
    • หมี   รอบคอบ, ยึดมั่น, จอม detail, ข้อมูลจะพร้อม, มีระเบียบแบบแผน
    • กระทิง  ลุยแล้ว, Action , ต้องปฏิบัติ
    • อินทรีย์  จอมคิด  คิดใหม่ๆ บ่อย แต่ไม่ค่อยทำ  เบื่อง่าย  คิดนอกกรอบ
    • วิทยากรให้สรุปช่วงนี้ว่า จริงๆ คนเรา  มีส่วนผสมหลากหลาย เพราะมีการปรับตัวขึ้นมาแล้ว ตัวตนของเรามีสิ่งที่เราแสดงออก ที่เราปรุงแต่งมาแล้ว  แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวเราอยู่เยอะมากเปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ข้างใต้ทะเล, การหล่อหลอมทางวัฒนธรรม, สิ่งแวดล้อม ทำให้เราแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา  แต่พฤติกรรมที่แท้จริง อาจเก็บอยู่ข้างใน ไม่ได้แสดงออกมา (ต้องอาศัยอยู่ด้วยกัน)  เราต้องรู้จักใช้จุดดีของแต่ละสัตว์ที่หลากหลายมาผสมกัน    เราต้องเข้าใจและเห็นคุณค่าของคนสไตล์อื่น ๆ ด้วย และคนที่เห็นสิ่งนี้  จะเห็นจุด BA คือพื้นที่ว่างระหว่างสัตว์  เข้าใจทุกสัตว์  และดึงความหลากหลายมารวมกัน  สร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ โดยไม่เกิดความขัดแย้ง  ซึ่งเป็นทักษะของ facilitator ที่จัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน (ครูฟา ต้องพยายามลดช่องว่าง ยอมรับการต่างสไตล์กัน แล้วเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันได้   ในสังคมจริงๆ ไม่มีใครดีที่สุด  เราต้องเรียนรู้และปรับตัวร่วมกัน

 

      IV.  กิจกรรมจับประเด็นจากคลิป “วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ ๒๑”     หาดูคลิปได้จากวิดิโอที่มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์  อาสาจัดทำให้ สสค. เพื่อใช้สร้างความเข้าใจเรื่อง ทักษะอนาคตใหม่ในศตวรรษ ๒๑  ซึ่งเป็นคลิปสั้นๆประมาณ 6 นาที  หลังจากดูคลิป  ให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนเขียนสิ่งที่ได้ออกมาเป็น 1 ประโยคเด็ดของตัวเองใส่ลงในแผ่นกระดาษ  แล้วเอาออกมาวางรวมกัน   พูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองเขียนออกมา  แล้วผู้เข้าร่วมทั้งกลุ่มช่วยกันจัดกลุ่มประโยคเหล่านั้นว่าอยู่ในหมวดของ  “ทักษะอนาคตในศตวรรษที่ ๒๑”  หรือ “Project-Based Learning (PBL)”  ซึ่งเป็นการออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กได้ฝึกทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ได้มากกว่าการสอนแบบครูบอกความรู้

         ผู้เข้าร่วมจะต้องจับประเด็นที่ตัวเองเห็นว่าสำคัญ  นำมาแลกเปลี่ยน ตีความร่วมกันกับเพื่อน  ร่วมกันจัดกลุ่ม  เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน    โดยส่วนใหญ่ ปฏิกิริยาของคุณครูผู้เข้าร่วมจะอยากเดาใจวิทยากร  อยากถามว่าที่คุยกันอยู่ ทำกันอยู่เป็นคำตอบที่ถูกต้องที่วิทยากรอยากได้ไหม  (เป็นเกือบทุกที่  แต่เราอยากให้เกิดกระบวนการฝึกมากกว่าค่ะ เพราะเรากำลังอยู่ในวิถีสร้างการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ทุกคน)        

 

      V. กิจกรรมฝึกบทบาท Facilitator วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เบื้องต้น  เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมที่ 4  คือ มีตัวอย่างจริงของโรงเรียน 2-3 แห่งในประเทศไทย (ชุดนี้ได้มาจาก สกว.)  ที่มีการปรับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใหม่ของครู  แล้วเด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนดีขึ้น  เก่งขึ้น   วิทยากรให้คุณครูแกนนำแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ  แล้วขออาสาสมัคร ผลัดเปลี่ยนกันเป็น Facilitator ชวนพูดชวนคุยเพื่อนในกลุ่ม ให้ตีความทักษะในศตวรรษที่ ๒๑, บทบาทครูยุคใหม่ และองค์ประกอบของ PBL จากคลิปวิดิโอ  หรือถ้ามีเวลาพอ ก็ชวนเล่าเรื่องการออกแบบการเรียนการสอนของครูในกลุ่มที่ทำให้เด็กได้ทักษะในอนาคต    โดยกิจกรรมนี้จะจำลองให้ครูแกนนำสัมผัสกับบรรยากาศและเนื้อเรื่องเล่าที่คล้ายกับที่ต้องไปช่วยสร้าง PLC (ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์) ต่อ   กิจกรรมนี้ทีมวิทยากรแบ่งกันเป็นพี่เลี้ยงคอยสะท้อนบทบาทครูฟา ให้ประจำทุกกลุ่มย่อยค่ะ 

 

    VI. กิจกรรมออกแบบวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี  เมื่อเรียนขั้นพื้นฐานแล้ว  กิจกรรมนี้เราให้กลุ่มคุณครูแกนนำทั้งหมด ร่วมกันออกแบบกิจกรรมในวันถัดมา (10 มิ.ย. 55) ว่าจะก่อร่างสร้างวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดีอย่างไร .....เป็นการให้ฝึกจริงบนสนามจริงอีกครั้ง  โดยมีทีมวิทยากรพี่เลี้ยงคอยแนะนำและช่วยเท่าที่จำเป็น  กลุ่มครูฟาแกนนำ จ.กำแพงเพชร  ชวนกันตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนว่าไม่ใช่เวทีเน้นฝึกครูฟาเหมือนเดิม  แต่เน้นให้ครูสอนดีที่สมัครเข้ามาได้ทดลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้การออกแบบการเรียนการสอนของตนที่สามารถสร้างให้เด็กเกิดทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ และได้เห็นแนวทางนำกลับไปพัฒนาตนเองต่อ อยากกลับมาเป็น PLC ครูสอนดีร่วมกัน  ทั้งนี้บทบาทหลักของครูแกนนำคือ เป็น facilitator ในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

        **** ติดตามภาคสอง ตอนครูฟา ทดลองจัด ลปรร. ครั้งแรก นะคะ***

 

หมายเลขบันทึก: 492520เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2012 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีจังเลยค่ะ..ขอให้กำลังใจทุกคน..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท