518. คำถาม : การใช้ยาฆ่าเชื้อราในต้นกล้วยไม้ที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ครับ ผู้


ตำรา กล้วยไม้ ออนไลน์

ผู้ถาม : พระคุณเจ้า Nitipat , 06 กรกฎาคม 2555

คำถาม :

สาธุ เพิ่งอ่านเจอชื่อเชื้อราไตรโครเดอร์มา เมื่อวานนี้เอง เพราะกำลังหาข้อมูลการใช้ยาฆ่าเชื้อราในต้นกล้วยไม้ที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์คือผู้พ่นยานั่นเอง ๑.ไม่ทราบว่ามีหรือไม่? ๒. เคยพบที่ฟาร์มแวนด้าที่เชียงใหม่ใช้น้ำส้มสายชูผสม(ทราบได้เพราะมีกลิ่นน้ำส้มสายชู และเจ้าของสวนก็พูดถึง ) แต่ดูท่าทางเก็บงำความรู้มากเพราะเป็นอาชีพของเขา ...เป็นไปได้ไหม? ๓. และทราบจากโยมที่ทำการเกษตรแผนใหม่อีกรายหนึ่งมาว่าใช้ผงทำยาล้างตา ไปเสิร์ชหาก็ได้ชื่อคือ เบเนดิกแอซิด แต่ไม่ได้รายละเอียดมากกว่านี้.... อยากทราบว่าเป็นไปได้ไหม ๔.ยาที่ใช้รดกล้วยไม้เพื่อฆ่าและทำลายสปอร์เชื้อรามีบ้างไหมและควรใช้อย่างไร? ๕.อาตมาไม่อยากใช้ออโธ่ไซด์เพราะดูมีอันตรายมาก และอาตมาก็เป็นภูมิแพ้ด้วย จึงใช้เซพติคลอร์ ฮอสปิตอล คอนเซ็นเตรดที่ใช้ในโรงพยาบาล ในอัตราส่วน เซพติคลอร์ประมาณ ๑๐-๑๕ccต่อน้ำประมาณ๖ลิตร ผลคือโดยทั่วไปกล้วยไม้ ไม่มีอาการเหี่ยวหรือโทรม ไม่มีอาการของเชื้อรา แต่ต้นที่เป็นมากอยู่แล้วก็ลุกลามและตายในกอครับ ถามมาเสียยาวขอรบกวนเท่านี้ครับ เจริญพร

ผมถวายคำตอบดังนี้ครับ :

1.การใช้ยาฆ่าเชื้อราในต้นกล้วยไม้ที่ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์นั้น มีครับ เพราะสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราในพืชนั้น ส่วนใหญ่แล้ว จะมีความเป็นพิษต่อมนุษย์ค่อนข้างน้อยครับ -แต่จะต้องใช้ในอัตราที่ฉลากแนะนำนะครับ อย่าเกินอัตรา(overdose)นะครับ จึงจะไม่เป็นอันตรายครับ

2.น้ำส้มสายชู เป็นสารปรับสภาพให้น้ำที่จะผสมสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราในพืชนั้น ให้มีสภาพไม่เป็นน้ำด่างอย่างรุนแรงครับ(คือไปเพิ่มความเป็นกรดให้น้ำน่ะครับ) ทั้งนี้เนื่องจาก น้ำโดยทั่วไป เช่นน้ำบ่อ น้ำใต้ดิน มักจะมีฤทธิ์เป็นน้ำด่างอยู่แล้วครับ ซึ่งจะไปทำให้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราในพืชนั้นเสื่อมประสิทธิภาพลงได้ครับ จึงต้องแก้ไขโดยเติมสารกรดลงไปครับ น้ำส้มสายชูเป็นอันตรายน้อย เพราะเป็นกรดอินทรีย์ครับ จึงนิยม(แอบ)นำมาใช้กันครับปกติใช้น้ำส้มสายชูประมาณ 1 ช้อนทานข้าว(ช้อนแกง)ต่อน้ำ 20 ลิตรครับ

3.การใช้ผงทำยาล้างตาคือ เบเนดิก แอซิด นั้น เพื่อใช้ประโยชน์จากสารโบรอน(Boron)ครับ สารนี้เป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการแทงช่อดอกและพัฒนาการของดอกครับ แต่พืชต้องการในปริมาณน้อย จึงเรียกว่า จุลธาตุ (micronutrient)ครับ ที่จริง จะซื้อตามร้านเกษตรก็ได้ครับ มีจำหน่ายในรูป แคลเซี่ยม-โบรอน ครับ จะได้ธาตุอาหารแคลเซี่ยม ซึ่งจะช่วยให้ก้านดอกแข็งแรงด้วยนะครับ

4.ออโธ่ไซด์ เป็นสารเคมีประเภทดูดซึม(systemic)ครับ จึงมีความเป็นพิษสูงครับ ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง จะเป็นอันตราย และเชื้อราจะดื้อยาได้ง่ายนะครับ การใช้สารเซพติคลอร์นั้น สารนี้เป็นยาปฏิชีวนะที่ควบคุมเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก เราใช้เป็นยาภายนอก ชื่อสามัญคือ Cetrimide ครับ เมื่อนำมาใช้ควบคุมป้องกันกำจัดเชื้อราโรคพืชแล้ว จะไม่สามารถควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อราได้ครับ แต่ที่พบว่ากล้วยไม้ไม่เป็นโรคนั้น น่าจะเป็นเพราะว่า การออกฤทธิ์ในเชิงกว้าง(board spectrum)ได้กับเชื้อหลาย ๆชนิดของพืช หรือไม่ก็ไปทำให้สภาพแวดล้อมบริเวณนั้น (microecosphere) ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้ มากกว่านะครับ

5.สารที่ใช้ควบคุมป้องกันกำจัดเชื้อราโรคพืชในกล้วยไม้ ที่นิยมใช้กันมาก เพราะออกฤทธิ์แบบครอบจักรวาล คือสารที่มีชื่อสามัญ(ตัวสาร)ว่า แมนโคเซ็บ(Mancozeb) ซึ่งมีตัวสาร 2 ตัวผสมกันมาเรียบร้อยแล้วคือ มาเน็บ(Maneb) และไซเน็บ(zineb) ครับ ชื่อการค้า(ยี่ห้อ)มีมากมายเป็นยี่สิบกว่าตัวครับ ดูฉลากข้างขวดหรือซองจำหน่ายได้นะครับ

นมัสการมาด้วยความเคารพว่า คำถาม คำแนะนำของพระคุณเจ้า ล้วนได้รับคำชมจากบุคคลอื่น ๆ หลาย ๆ ท่านว่า ล้วนได้ประโยชน์จากการถามของพระคุณเจ้าด้วยขอรับ...กระผมจึงขอได้มีโอกาสถวายความรู้ เป็นอานิสงผลบุญแก่ตนไปด้วยโสตหนึ่ง ด้วยความเต็มใจเป็นอย่างยิ่งครับ...นิมนต์ถาม-แนะนำมาอีกมาก ๆ นะครับ กระผมจะได้รับใช้ต่อด้วยความปิติใจยิ่งครับ

...

...

หมายเลขบันทึก: 493738เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2012 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สาธุ อนุโมทามิ และขอบคุณมากครับ

กรดบอริคแอซิดครับ แก่แล้วความจำสั้น ^"เบเนดิค นั่นรู้สึกว่าไว้ทดลองอะไรสักอย่างจำไม่ได้แล้ว.......สัญญา(ความจำได้หมายรู้)ก็เป็นอนิจจังครับ เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท