เปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ-เปลี่ยนจากภายใน


คำกล่าวของบุคคลตัวอย่างสองท่าน "เมื่อเราตายไปแล้ว เราเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ มีเพียงจิตที่ถูกพัฒนาแล้วเท่านั้น" และ “อยากเปลี่ยนภพเป็นภูมิก็ต้องอาศัยการศึกษาควบคู่ไปกับการเป็นคนดีมีศีลธรรม”

ความหมายคำว่า “การศึกษา”

 

คำว่า “การศึกษา” ภาษาอังกฤษ “eduction” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน “educare” หมายถึงเลี้ยงดู อบรม บ่มเพาะ (“to bring up")  ซึ่งประกอบด้วยคำว่า “e” ภายนอก และ “ducere” นำไปสู่, เจริญก้าวหน้า ("to lead; to bring forward")  ดังนั้น การศึกษาจึงมีนัยยะถึงการทำให้เกิดความจริญงอกงามและเป็นการดึงศักยภาพจากภายในออกมาสู่ภายนอก

 

ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ นิยามคำว่า  “การศึกษา” หมายความว่า “กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม      โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกการอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลง ความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”  

 

คำว่าการศึกษาจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาให้เด็กเจริญเติบโตงอกงาม โดยเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติตามมาตรา ๖  จะเห็นชัดเจนว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 

คำว่า “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ทั้งกาย ใจ และสติปัญญาจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการศึกษา ปัญหามีอยู่ว่าจะพัฒนาอย่างไรให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 

 

ขอกลับมาที่ความหมายของคำว่า “การศึกษา” อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เข้าใจคำว่า “มนุษย์ที่สมบูรณ์” มากยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณา คำว่า “ศึกษา” ที่คนไทยนำมาใช้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สิกขา” ในภาษาบาลี อันประกอบด้วยที่มาของความหมายดังนี้[1]

 

๑.    สิกฺขา มาจากคำว่า สยํ + อิกฺข  สยํ แปลว่า เอง   อิกฺข แปลว่า เห็น  หมายถึง “เห็นเอง”

 

๒. สิกฺขา มาจากคำว่า สห + อิกฺข    สห แปลว่า ร่วม ร่วมกัน  อิกฺข แปลว่า เห็น  หมายถึง “เห็นร่วมกัน”

 

 ๓. สิกฺขา มาจากคำว่า สยํ + อิกฺข  สมฺมา แปลว่า ดี ชอบ  อิกฺข แปลว่า เห็น หมายถึง “เห็นดี เห็นชอบ”

 

ศึกษาหรือสิกขาตามแนวพุทธจึงหมายถึง “การศึกษาเล่าเรียนหรือการเรียนรู้ ประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ อันเกิดจากการเห็นเอง เห็นร่วมกัน ส่งผลให้เกิดความรู้ที่เป็นความรู้ที่ดีที่ชอบประกอบด้วยประโยชน์” ซึ่งตามหลักไตรสิกขา หรือ สิกขา ๓ ประกอบด้วย

๑. สีลสิกขา ศึกษาเรื่องศีล ความปกติทางกายทวารของตัวเรา

๒. สมาธิสิกขา ศึกษาเรื่องสมาธิ ความตั้งมั่นทางจิตใจของตัวเรา

๓. ปัญญาสิกขา ศึกษาเรื่องปัญญา ความรู้ ความสามารถที่เกิดจากการเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ด้วยตัวเอง

 "ศึกษา" และ "สิกขา" จึงมีรากฐานตามแนวพุทธวิถี ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงที่จะต้องศึกษาให้ "รู้"  ถึง "กาย" "ใจ" นำไปสู่  "ปัญญา" ที่งอกงามขึ้นตามลำดับ

 

 การพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

การศึกษาจึงเป็นเรื่องของการพัฒนาทั้งในด้านกาย ใจและสติปัญญา ทั้งนี้  การอธิบายความหมาย “การศึกษา” ข้างต้นโดยเริ่มจากรากศัพท์ เพียงเพื่อจะนำไปสู่การพิจารณาว่าไม่ว่าทิศทางการพัฒนาการศึกษาจะเป็นไปอย่างไรตามนโยบายหรือการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วน แต่สิ่งที่สำคัญคือรากเหง้าอันได้แก่ “ภูมินิเวศน์”  ที่จะต้องปลูกฝังให้เยาวชนไทยได้ศึกษาครบมิติทั้งประวัติศาสตร์ สังคมและการเมืองของไทยไปจนถึงการทำความเข้าใจในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของถิ่นฐานบ้านเกิดที่เราได้ใช้ชีวิตสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น  และโดยเฉพาะ “ภูมิธรรม” ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันมิให้เยาวชนเติบโตอย่างผิดทิศผิดทาง

 

 

การศึกษาเพื่อการพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นตรงกับหลักพุทธศาสนา โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  เรียกว่าการพัฒนา ๔ ด้าน[2]

“๑.    พัฒนากาย… แยกได้เป็นหลายอย่าง อย่างง่ายที่สุดก็คือพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง มีสุขภาพดี หายโรคหายภัย ปราศจากโรค เท่าที่เป็นไปได้… แต่พุทธศาสนายังพูดต่อไปอีกถึงการพัฒนากายในความหมายว่าเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพอย่างถูกต้องดีงาม …                                      

 ๒. พัฒนาศีล… คือ การพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสัมคมด้วยดี อย่างเกื้อกูลเป็นประโยชน์และมีอาชีพที่ถูกต้อง… พัฒนาศีลนี่เป็นปัจจุบันเขาเรียกว่า “พัฒนาการทางสังคม”

๓. พัฒนาจิต… เป็นการฝึกอบรมเสริมสร้างจิตใจให้พรั่ง พร้อมสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติทั้ง  ๓  ด้าน คือ

๑)  คุณภาพจิต ได้แก่ คุณธรรมต่าง ๆ คือ สร้างเสริมจิตใจให้ดีงาม…

๒)  สมรรถภาพจิต หรือความสามารถของจิต

๓)  สุขภาพจิต คือ มีจิตที่มีสุขภาพดี

๔. พัฒนาปัญญา… แบ่งเป็นอย่างคร่าว ๆ ดังนี้

(ขั้นที่ ๑)  คือ ปัญญาที่เป็นความรู้ความเข้าใจในศิลปวิทยาการ…

(ขั้นที่ ๒) ลึกซึ้งลงไปอีก คือ การรับรู้เรียนรู้อย่างถูกต้องตามความจริง ไม่บิดเบือนหรือเอนเอียงด้วยอคติ…

 (ขั้นที่ ๓) เหนือจากการรับรู้ไป… คือการคิดการวินิจฉัย ซึ่งหมายถึงการคิดวินิจฉัย ด้วยการใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ใจ...

(ขั้นที่ ๔) คือปัญญาที่รู้จักเข้าใจโลก และชีวิตตามความเป็นจริงทางเสื่อมทางเจริญและเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รู้วิธีแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์ความสำเร็จ ที่ทำให้พัฒนาคน พัฒนาชีวิตและสังคม ให้เจริญดีงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป

(ขั้นสุดท้าย) ได้แก่ ปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดาของสังขาร คือโลกและชีวิต เข้าถึงความจริงแท้ ถึงขั้นทำให้จิตในเป็นอิสระ หลุดพ้นจากความทุกข์โดยสมบูรณ์…

 

          การพัฒนาทั้ง ๔ ด้านดังกล่าวเป็นการพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานมาก ถ้าพิจารณาให้ดี จะเห็นว่าการพัฒนาปัญญาในการศึกษาของไทยเราเพียงแค่ขั้นที่ ๑ เท่านั้น จึงยังอีกห่างไกลมากและยากที่จะทำให้ใครเข้าใจถึงปัญญาในขั้นที่สูงขึ้นเรื่่อย ๆ แต่หากเริ่มต้นปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัยก็จะเป็นการติดตั้งเครื่องมือการเรียนรู้ให้กับเด็ก ทำให้เด็กมองเห็นต้นทางที่จะพัฒนาต่อไปได้ด้วยตนเอง

 

         แนวทางการปลูกฝังดังกล่าว ครู ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ควรมุ่งเน้นที่การศึกษาแบบให้เกิดการเรียนรู้ที่ดึงศักยภาพภายในออกมาภายนอก หรือเป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ สอดคล้องกับคำกล่าวของศ.นพ.ประเวศ วะสีจากหนังสือ “ธรรมชาติของสรรพสิ่ง การเข้าถึงความจริงทั้งหมด”  ที่ว่า

         

การเรียนรู้ต้องปฏิสัมพันธ์กันทั้งภายนอกและภายใน และ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน หรือ จิตใจตัวเองด้วยทุกครั้งไปที่มีการเรียนรู้ การเรียนรู้จึงจะพัฒนาความเป็นมนุษย์ หรือ ก่อให้เกิดความเจริญอย่างแท้จริง...”

 

มาถึงตรงนี้ คำว่าการศึกษาจึงชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ หากมองให้ถึงแก่นแท้ว่าการศึกษาคือการเปลี่ยนแปลงจากภายในให้เจริญงอกงามได้ด้วยตนเอง

 

การสอนให้เด็ก “เก่ง” “ฉลาด” จึงไม่สำคัญเท่ากับสอนให้ “ดี” และการสอนให้ “ดี” นั้นยากมาก เพราะการจะดีหรือไม่ อยู่ภายในที่ลึกยากแท้หยั่งถึง ไม่เหมือน “ฉลาด” ที่วัดไอคิวได้ หรือ “เก่ง” ที่วัดจากความสามารถประเภทต่าง ๆ ได้ ความดีอาจไม่ใช่สิ่งที่ปรากฎให้เห็นจากภายนอกเท่านั้น แต่คือปัญญาที่เหนือกว่าปัญญาทั่วไป มีความเป็นปกติ ธรรมดา สงบเย็นและงดงามจากภายใน 

 

 

ในชีวิตของผู้เขียน พบท่านผู้หนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายคำว่า “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ท่านเป็น “อาจารย์หมอศิริราช” แต่มานั่งเรียนกฎหมายทั้งที่อีกไม่ถึง ๑๐ ปีท่านก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว  ท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อจรัญ เป็นคุณหมอที่สมถะมาก มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ว่าผู้ที่ท่านจะพูดคุยทักทายด้วยเป็นใคร ท่านจะใช้คำพูดว่า "ท่าน" กับ "กระผม" และลงท้ายว่า "ครับท่าน" อยู่เนืองๆ และมีรอยยิ้มที่แจ่มใส น้ำเสียงอ่อนโยน  ท่านมีภรรยาซึ่งเป็นหมอและใฝ่ธรรมะเช่นกัน  ท่านเคยพาผู้เขียนและครอบครัวไปเยี่ยมบ้านของท่าน ท่านพานั่งรถกระบะธรรมดาคันหนึ่งไป  บ้านของท่านคือคอนโดห้องไม่ใหญ่โตอะไร มีห้องนอน ห้องน้ำ มีมุมทานอาหาร และมุมนั่งสมาธิ คอนโดนี้อยู่ใกล้ริมน้ำที่เป็นคลองแยกออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ไม่ไกลโรงพยาบาลศิริราช

 

ผู้เขียนไม่กล้าถามว่าท่านมาเรียนกฎหมายทำไม และจริง ๆ แล้วท่านก็ไม่ได้เรียนแค่นี้ ท่านยังเรียนอีกหลายสาขาวิชา หลังจากจบนิติศาสตร์ ท่านก็เรียนภาษาบาลีอย่างจริง ๆ จัง ๆ ต่อเนื่องไป ในแต่ละปี ท่านจะเชิญชวนให้แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเดินทางไปปฏิธรรมที่วัดหลวงพ่อจรัญ จ. สิงห์บุรี และมีกิจกรรมทำบุญหลายอย่าง ได้แก่ ปล่อยโคกระบือ คำกล่าวหนึ่งที่ท่านบอกผู้เขียนก็คือ "เมื่อเราตายไปแล้ว เราเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ มีเพียงจิตที่ถูกพัฒนาแล้วเท่านั้น" และท่านยังแนะนำผู้เขียนว่าหากอยากเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิให้เริ่มจากอธิษฐานบารมี และพากเพียรที่จะปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  ทุกวันนี้ สิ่งที่ผู้เขียนเห็นคือชีวิตท่านสงบสุขเรียบง่าย ไม่พะรุงพะรัง 

 

 

นอกจากตัวอย่างพี่หมอท่านนี้แล้ว  ผู้เขียนก็นึกถึงอาจารย์ของผู้เขียน ท่านเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาและเป็นอาจารย์สอนกฎหมายด้วย  ท่านบอกว่าคนขับรถของท่านขับรถพาท่านไปทำงาน ไปบรรยายในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อยู่เสมอ  ท่านเห็นว่าเขาเป็นคนซื่อสัตย์ขยันหมั่นเพียร จึงแนะนำให้เรียนกฎหมาย คนขับรถของท่านก็หาเวลาไปเรียน เวลาว่างรอรับท่าน ก็อ่านหนังสือ ชอบช่วยเหลือคนรอบข้างและเป็นคนชอบนั่งสมาธิวิปัสสนา ทำบุญอยู่เสมอ เวลาผ่านไปไม่ถึงสิบปี เขาก็สอบเป็นผู้พิพากษาได้ อาจารย์ของผู้เขียนกล่าวมาคำหนึ่งว่า “อยากเปลี่ยนภพเป็นภูมิก็ต้องอาศัยการศึกษาควบคู่ไปกับการเป็นคนดีมีศีลธรรม” เห็นไหมคนขับรถของอาจารย์สามารถทำได้

 

ทั้งสองตัวอย่างหากพิจารณาเชื่อมโยงกัน สิ่งที่ผู้เขียน "ฉุกคิด" คือท่านทั้งสองจะพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ และเน้นการศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรหากเปลี่ยนแปลงจาก "ข้างใน" เราได้ เราจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิเราทั้งในปัจจุบันและไร้กาลเวลา  ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำกล่าวที่ตนเคยพูดไว้ในการอบรมครั้งหนึ่งว่า "รู้เพื่อละ" มิใช่  "รู้เพื่อตอบสนองกิเลส" 

 

"จิต" เราเปลี่ยนได้ทุกขณะ เป็นสภาวะที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงไม่ควรละเว้นการให้อาหารจิต โน้มเอียงไปสู่การสร้างกุศลจากภายในสู่ภายนอก 

 

การสอน การสร้างคน ๆ หนึ่งให้เป็นคนดีที่ผู้เขียนขอเสนอในเบื้องต้น ณ ที่นี้ คือการสอนให้เด็กมี “จิตเป็นกุศล" อยู่เนือง ๆ ได้แก่ การสร้างจิตสาธารณะให้แก่เด็ก  ซึ่งเป็นการสร้างเสริมผลบุญให้กับตัวเด็กเองด้วย การสอนเช่นนี้เป็นการสอนให้รู้จักคำว่า"ให้" และเห็นแก่ตัวเองน้อยลง นึกถึงส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ส่วนวิธีการสอนเชิงรูปธรรมจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าบิดามารดาครูบาอาจารย์และผู้ใหญ่ทุกท่านมีวิธีการสอนที่ดีอย่างแน่นอน 

 

  

มาถึงตอนนี้ ผู้เขียนเพิ่งสังเกตเห็นว่า

            การเป็นคนที่ดีให้ได้ นั่นคือรางวัลของครู

http://youtu.be/02_EA9OT_VM

 

                                                    

 

 



[1]แหล่งข้อมูล  http://www.kroobannok.com/blog/21107

[2] จิตรกร  ตั้งเกษมสุข และธรรมเกียรติ  กันอริ,  หยาดเพชร หยาดธรรม, ภูมิปัญญาเพื่อการศึกษาไทย รวบรวมและเรียบเรียงจากงานนิพนธ์ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต), น. ๒๘ – ๒๙.

 

 

หมายเลขบันทึก: 493932เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2012 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ ผมชอบคำสอนของหลวงปู่ดุลย์ เหมือนกันครับ ใช้ในการภาวนาเป็นประโยชน์มากครับ เรื่องการศึกษา เป็นการพัฒนามนุษย์ให้เป็นคนดีพร้อมสมบูรณ์ที่จะอยู่บนโลกอย่างมีความสุขครับ ผมสอนลูกศิษย์ให้กตัญญูในลำดับแรกก่อนครับ กตัญญูคุณพ่อ คุณแม่ ผู้มีพระคุณ พร้อมสอนจริยธรรม คุณธรรม และบูรณการไปพร้อมความรู้ทางวิชาการครับ ท่านอาจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ท่านเปรียบการศึกษาเหมือนดั่งการดูแลกล้วยไม้ครับ ให้ออกดอกได้อย่างไรให้สวยงามดีครับ ผมทำหน้าที่ในสถาบันที่ท่านเมตตาก่อตั้งมา และผมมั่นใจว่าการศึกษานี้จะพัฒนาคนไทยให้เป็นดีที่สมบูรณ์พร้อมได้ ถ้าทำตามหลักที่ท่านคณาจารย์ปลูกฝังมาครับ

  • ขอบพระคุณท่าน อ.ดร.วรกาญจน์ Blank อย่างมากค่ะ ที่จุดประกายแนวทางการสอนที่มีคุณค่า เพราะคำว่า กตัญญู คือคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของคนดีค่ะ 
  • การสอนให้คนเก่ง คนฉลาด ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขจากภายใน แต่การสอนให้เป็นคนดี สำคัญยิ่งกว่า จะทำให้เขามีความสุขไม่ว่าเป็นอะไร ทำอะไร หรืออยู่ที่ไหน 
  • สาธุค่ะ 
  • ยินดีที่ท่านแวะมาฝากความเห็นที่งดงามเอาไว้ในบันทึกนี้ค่ะ 

"... การเป็นคนที่ดีให้ได้ นั่นคือ รางวัลของครู ..."

เป็นประโยคที่ถูกต้องแล้วครับ อาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya ;)...

ไม่ใ่ช่เงินทอง ยศฐาบรรดาศักดิ์ หรือ ตำแหน่งใหญ่โต

ใครทำเช่นนั้น เขาน่าจะไม่ใช่ครูตัวจริง

ขอบคุณมากครับ ;)...

เป็นบทความที่น่าประทับใจมากค่ะ

การศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาภายในออกนอก... ปริมก็เชื่อเช่นนั้น

ชื่นชมบุคคลตัวอย่างที่น่านับถือในบทความมากค่ะ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า เมื่อเราตายไปแล้วเราก็ไม่อาจเอาอะไรติดตัวไปได้ นอกจากจิตที่ถูกพัฒนาแล้วเท่านั้น

นึกถึงคำพูดของคนใกล้ที่คุยกันบ่อยๆ ว่า เรายังมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะแยะมากมายหรือในชีวิตนี้ คำตอบก็คือเปล่านะ สิ่งที่เราต้องทำจากนี้ไปคือการพัฒนาจิตใจเท่านั้น ที่เหลือไม่ทำก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่ได้สลักสำคัญอะไรกับชีวิตเรา

เขาชอบบอกว่าให้รีบพัฒนาจิตใจให้ดีขึ้นเพราะเขากลัวจะต้องเกิดมาเจอเราอีกในชาติหน้า!

ขอบคุณมากค่ะ ;)

ชอบครับ ผมเข้าใจละเอียดเลย อ่านไปก็รู้สึกว่าเป็นธรรมดาของสังคมนะครับ จุดที่ผมเห็นว่าจะนำไปใช้ได้ก็คือน้ำหนักในการนำเอาสิ่งดีๆ ที่กล่าวในบันทึกนี้ ใส่ให้กับเด็กๆ น่ะครับ ผมเห็นว่าเราต้องใส่ใจกับเด็กคนนั้นมากๆ เลยจึงจะสามารถทำสำเร็จ ตรงนี้ก็ต้องให้ภาระไปกับผู้ปกครองนะครับ ในส่วนของระบบการศึกษาโดยรวมหากออกแบบให้เอื้อก็ทำให้การซึมซับเรื่องราวของความดีของนักเรียนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และคุณลักษณะอย่างนี้ มองไม่เห็น ที่สำคัญคือไม่มีคะแนนด้วย ผู้ทำจะต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและฝ่ากระแสสังคมได้แบบอาจารย์หมอที่ยกตัวอย่างในบันทึกนี้ ซึ่งยากมากหากเราเคยลองทำตัวแปลกจากกลุ่ม เราก็จะเข้าใจ ประโยชน์จากบันทึกนี้ คือเราพยายามปรับหลักยึดภายในให้ดีเท่าที่ลูกทำได้ และพัฒนาต่อจากจุดนั้นร่วมกับการกำลังใจกัน แบบนี้น่าจะไปได้สำเร็จ หรือสังคมมีความดีเพิ่มขึ้นนะครับ

เห็นด้วย คือ พัฒนาจิตตัวเองนี่ล่ะค่ะ ให้วาง ให้ปล่อยมากขึ้น

อีกประเด็นที่ได้เกี่ยวข้องทำงาน คือ สร้างเด็ก เมื่อมีโอาสที่พบผู้ปกครอง ก็พยายามเสมอที่จะทำให้ผู้เลี้ยงดูเห็นว่า การสร้างเด็กคนหนึ่งมีความสำคัญมาก

ขอบคุณบทความดี ๆ รับอรุณนะคะ

คุณพระคุ้มครองเช่นกันนะคะอาจารย์ศิลา

  • อาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Blank กล่าวได้คมคายเช่นเคยค่ะ
  • ครูตัวจริง คือครูที่ไม่ทิ้งอุดมการณ์ จิตวิญญาณที่จะทำเพื่อศิษย์ด้วยน้ำใสใจจริง
  • รางวัลของครูเรียบง่ายเหลือเกินนะคะ เพียงแค่เห็นศิษย์เป็นคนดีก็มีความสุขแล้ว
  • ขอบคุณคุณปริม Blank ค่ะ
  • สิ่งที่เรา หรือคนในวัยหนึ่งซึ่งพร้อมด้วยประสบการณ์ชีวิตมักจะค้นพบคือการพัฒนาจิตที่จับต้องไม่ได้ อธิบายก็ลำบาก แต่ในเมื่อเราเดินมาถึงทางขึ้นเขาและพอจะมองเห็นยอดเขา เราก็น่าที่จะบอกเด็ก ๆ ไว้ก่อนว่าต่อไปพวกเขาอาจจะเจออะไร ถ้ามีความเพียร จิตโน้มเอียงในทางดี เขาก็จะได้เข้าใจสิ่งที่คุณปริมพูดถึงค่ะ
  • "สิ่งที่เราต้องทำจากนี้ไปคือการพัฒนาจิตใจเท่านั้น ที่เหลือไม่ทำก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่ได้สลักสำคัญอะไรกับชีวิตเรา" 
  • มันเป็นการบ้านที่จะต้องปฏิบัติจากนี้ไป เท่าที่ชีวิตจะยังเหลืออยู่ ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่พะรุงพะรัง ค่อย ๆ ตัดออกให้เป็นอยู่เท่าที่จำเป็นไม่ง่ายเลยนะคะ 

จิตสาธารณะ ..เป็นทางออกของสังคม
จิตสาธารณะ เป็นจุดเริ่มต้นจากครอบครัว
จิตสาธารณะ เป็นคุณธรรม จริยธรรมในอีกมิติหนึ่ง

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

เป็นบทความเกี่ยวกับ "การศึกษา" ที่โดนใจมาก

“อยากเปลี่ยนภพเป็นภูมิก็ต้องอาศัยการศึกษาควบคู่ไปกับการเป็นคนดีมีศีลธรรม”

อ่านแล้วยิ้มน้อยยิ้มใหญ่...

ขอบคุณค่ะ

 

  • ขอบคุณเจ้าของบันทึก
  • ที่นำสิ่งดี ๆ มาแบ่งปันจ้ะ

น่าคิดครับ...การศึกษาปัจจุบันที่โหยหาความทันสมัยที่ห่างไกลจากตนเอง...จนลืมสิ่งหนึ่งที่สำคัญในใจตนเองครับ....ขอบคุณครับ

"เมื่อเราตายไปแล้ว เราเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ มีเพียงจิตที่ถูกพัฒนาแล้วเท่านั้น"...

  • ขอบคุณคุณเพชร Blank มากค่ะที่กรุณามาเติมเต็มความหมายของการพัฒนาภายในจากคำกล่าวที่ว่า
  • "เราพยายามปรับหลักยึดภายในให้ดีเท่าที่ลูกทำได้ และพัฒนาต่อจากจุดนั้นร่วมกับการกำลังใจกัน" 
  • การมุ่งเน้นที่คุณภาพของจิตใจแม้ประเมินผลได้ยาก แต่จะทำให้เขาไม่ลำบากในโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างทุกวันนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้กับบันทึกนี้

ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ

  • คุณหมอธิรัมภา Blank ขยันมากเลยนะคะ ทำงานด้วยหัวใจจริง ๆ 
  • การสร้างเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นกุศลยิ่ง แม้เราไม่ได้เป็นผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์เขาโดยตรงค่ะ หากมีโอกาส คำสอนด้วยเมตตาของเราก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ไปด้วยค่ะ 
  • กลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนให้เด็กมีจิตสาธารณะคงต้องพึ่งอาจารย์แผ่นดิน Blank แล้วล่ะค่ะ
  • สวัสดีค่ะ คุณ หยั่งราก ฝากใบ   Blank มองเห็นรอยยิ้มฝากไว้ในบันทึกนี้เลยค่ะ 
  • สิ่งที่กรุณาแวะมาฝาก เหนือคำบรรยายเลยค่ะคุณมะเดื่อ Blank ตอบโจทย์ที่ฝากไว้ในบันทึกนี้พอดีเลยค่ะ สร้างเด็กให้มีจิตสาธารณะ อิอิ
  • คุณหมอทิมดาบ Blank มีจิตใจที่อ่อนโยนงดงาม อ่านบันทึกทีไรก็รู้สึกถึงความเห็นอกเห็นใจเอื้ออาทรในผู้อื่นอยู่เสมอ
  • หากคนเรามีภูมิคุ้มกันภายในที่แข็งแรงแล้ว โรคทางกายที่เขาอาจจะมี ก็จะไม่กระทบต่อจิตใจได้อีกด้วย ไม่ลำบากคุณหมอ พยาบาลด้วยนะคะ ประโยชน์ของการพัฒนาจิตใจให้แข็งแรง จึงมีความสำคัญมากค่ะ
  • คุณแว่นธรรมทอง Blank ยกคำสำคัญที่อยู่ในใจอย่างนี้ พูดไม่ออกค่ะ คำเดียวสั้น ๆ แต่มีความหมาย แม้เวลาผ่านไปเนิ่นนานก็ยังจดจำไว้เสมอค่ะ
  • ดีใจนะคะที่น้อง ต้นเฟิร์นBlank ได้อะไรเป็นของฝากจากบันทึกนี้ไป และผู้ใหญ่ก็ฝากความหวังไว้กับน้อง (อนาคตของชาติ) เช่นกันนะคะ

ได้อ่านบันทึกนี้แล้ว เห็นด้วยกับหลายๆ คนค่ะ ว่า การปลูกฝังเรื่องจิตสาธารณะ ความเป็คนดีมีศีลธรรม เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ขอบคุณค่ะคุณศิลา

  • สวัสดีค่ะคุณ ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี Blank แรงบันดาลใจที่ทำให้นึกถึงเรื่อง "จิตสาธารณ" มาจากตัวเองค่ะ ในวัยเด็ก วัยเรียน มุ่งมั่นแต่เรียน แม้ว่าเราจะไม่เบียดเบียนใคร แค่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อส่วนรวมค่ะ โอกาส หลายสิ่งหลายอย่างที่ควรจะทำแต่กลับไม่ได้ทำ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งที่หลงลืมไป 
  • เมื่อทราบแล้วเช่นนี้ จึงอยากหันกลับมาบอกเด็ก ๆ มาบอกผู้ใหญ่ด้วยกันให้สอนเด็ก ๆ เพื่อเขาจะได้ไม่พลาดการทำสิ่งดี ๆ ให้กับชีวิต 
  • ทำเพื่อส่วนรวม ทำเพื่อสังคม และกุศลผลบุญจะกลับมาหาเขาเอง จะเจริญเติบโตงอกงามสมดั่งคำว่า "education" เลยค่ะ 

คิดดี..พูดดี...ทำดี..คบคนดี..นำไปสู่สถานที่ดีๆ..ขออนุโมทนาครูบาอาจารย์ทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้

  • ขอบคุณคุณ อิ่ม บริบท ค่ะ

ขอชื่นชมบทความของอาจารย์ ที่ปูพื้นอย่างประณีต ที่มาที่ไป ให้พิจารณาตามค่ะ "จะเห็นว่าการพัฒนาปัญญาในการศึกษาของไทยเราเพียงแค่ขั้นที่ ๑ เท่านั้น" การตั้งเป้าหมายดังอาจารย์หมอตัวอย่าง "มีชีวิตสงบสุข ไม่พะรุงพะรัง" รวมทั้ง "จิตสาธารณะ" น่าสนใจมากค่ะ ขอบคุณและขออนุญาตแชร์บทความนี้นะค่ะ

แวะส่งต่อกำลังใจและชื่นชมบันทึกนี้มากคะ

อ่านแล้วรู้สึกอิ่ม..ใจ

การพัฒนาด้านการศึกษา เจริญด้วยปัญญา

แต่คุณค่าที่สูงยิ่งกว่าคือจิตใจที่พัฒนาตามมาด้วย

 

 

 

อ่านบันทึกนี้แล้วอยากสะท้อนถึงสังคม ครอบครัว ไม่ใช่แค่เด็กหรอกครับแม้ตัวผมเองยังเขลาได้จนถึงอายุปูนนี้กว่าจะพอรู้เรื่องภพเรื่องภูมิ เรื่องภายนอกภายใน

สงสัยตัวเองเหลือเกินว่าทำไมเขลาได้นานขนาดนั้น ไม่อยากโทษการศึกษาหรอกครับ..คงเป็นบารมีที่ติดตัวมาน้อย

จึงได้แต่ฝันที่หวังกับอนาคต อย่างที่เขียนในกลอนบทนี้

ฝันดี

แจ่มแจ้ง เฉียบคม ตรงประเด็นที่สุดแห่งเนื้อแท้เพื่อการพัฒนาการศึกษาค่ะ

การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ยังจะใช้ได้เสมอไม่ว่าศตวรรษจะเปลี่ยนไปอีกกี่รอบ หากสังคมไม่ล่มหรือ ล้างผลาญกันเองจนกู่ไม่กลับ ด้วยการพัฒนาบนฐานทุนนิยม แข่งขันกันเอาเป็นเอาตายเช่นทุกวันนี้นะคะ พี่เชื่อเสมอว่าการเปลี่ยนจากภายใน มีสัมมาทิฏฐิแล้วเราจะไปถูกทาง ไม่ต้องวิ่งตามกระแสว่าตอนนี้สังคมกำลังเล่นเรื่องอะไร 

  • ได้ความรู้เกี่ยวกับการศึกษามากเลยครับ.. 
  • ทั้งที่สังคมหรือหลายคนก็เห็นตรงกันนะครับว่า คุณธรรมจริยธรรมต้องมาก่อนเรื่องอื่นใด แต่ผลลัพธ์ที่เห็นทุกวันนี้ โดยเฉพาะจากข่าวคราวผ่านสื่อกลับตาลปัตรเลย อาจหมายถึงการปฏิบัติที่โรงเรียน ในสังคม หรือสภาพแวดล้อมปัจจุบัน รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ฯลฯ ที่ไม่สามารถเป็นสื่อหรือตัวอย่างดีๆให้กับเด็กๆ 
  • ขอบคุณความรู้ และขอบคุณที่ให้เกียรติแวะเยี่ยมเยือนด้วยครับ
  • ขอบคุณคุณหมอ ป. Blank มากค่ะ 
  • "การศึกษา" ที่เป็นการพัฒนาปัญญาและพัฒนาจิต พร้อม ๆ กับกายไปด้วยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งค่ะ เรามักจะมองข้ามสิ่งที่วัดผลไม่ได้ แต่จริง ๆ มีความสำคัญมากและสามารถปลูกฝังได้โดยแทรกในเนื้อหาการสอนทุกรูปแบบ อยู่ที่ศิลปะในการสอนของผู้สอนค่ะ
  • อยากให้เด็กไทยมีการพัฒนาปัญญาในขั้นที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้คงต้องฝากความหวังในตัวผู้สอนด้วยค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ คุณ Blank ชอบคำสรุปนี้เช่นกันค่ะ
  • "การพัฒนาด้านการศึกษา เจริญด้วยปัญญา

    แต่คุณค่าที่สูงยิ่งกว่าคือจิตใจที่พัฒนาตามมาด้วย"

  • กลอนที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้งเป็นกลอนที่งดงามมากค่ะ คนที่เขียนกลอนได้ไม่ได้เขลาอะไรเลย กล่าวเช่นนี้เป็๋นการถ่อมตนสมกับเป็นแบบอย่างของผู้สอนที่ดีค่ะ คุณ พ.แจ่มจำรัส Blank  เป็นผู้ปัญญาที่เห็นความจริง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ควรได้เรียนรู้และรับการถ่ายทอดไปอย่างยิ่งเลยค่ะ
  • จริงค่ะพี่นุช Blank ทิศทาง นโยบายการศึกษาเปลี่ยนไปได้ในแต่ละยุคสมัยตามกระแส
  • แต่ความเป็นมนุษย์ไม่มีเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราควรจะทำคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะมากระทบเราค่ะ
  • พี่นุชมาหล่อเลี้ยงและเติมเต็มให้อีกเช่นเคย ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ 
  • คำกล่าวของคุณธนิตย์ สุวรรณเจริญ  Blank สะท้อนบริบทการศึกษาไทยได้เป็นอย่างดีค่ะ 
  • แบบอย่างที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีแบบ ไม่มีคำสอนที่ทรงพลัง ก็จะทำให้เด็กเติบโตไปอย่างไร้ทิศทางค่ะ 
  • ขอบคุณเช่นกันค่ะที่แวะมาให้ความเห็นที่ทรงคุณค่าค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท