การศึกษาไทยที่ใฝ่ฝัน ณ วันนั้น ๒๐๒๐


มนุษย์เกิดจิตสำนึกและตระหนักหน้าที่ใหม่ “การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ เป็นมงคลสูงสุดแห่งชีวิต”

 "การศึกษาไทย คือมูลเหตุแห่งทุกข์ของคนไทย"

เพราะทั้งอดีตและปัจจุบัน “การศึกษาทิ้งชีวิต”

สังคมจึงวิกฤต...!

เพราะ “ชีวิต” เป็นคนละเรื่องกับ “กับการศึกษา”

สังคมจะมีสันติสุขได้ดังจินตนา....

เมื่อการศึกษา “เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต”

.....................

ปี ๒๐๒๐ ความสามารถของมนุษย์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆทางด้าน IT และ Technology คงก้าวไปไกลกว่านี้มาก

เพราะโลกหมุนเร็วขึ้น และแคบลงๆทุกวัน

โลกคงเข้าใกล้จุด “ดับสลาย” ในเวลาที่ไม่นานนักนับจากนี้

เมื่อเวลาที่ “นวัตกรรมทางเทคโนโลยี” ถึง “ขีดสุด”

แต่หากมนุษย์ไม่อยากให้โลกที่(เคย)สวยงามใบนี้ มีอันต้องถึงกาลอวสานเร็วเกินไปนัก

มนุษย์จะต้องปฏิวัติ...!

“ปฏิวัติจิตสำนึกใหม่”

สำนึกแห่งความพอเพียง, สำนึกที่เกื้อกูล, สำนึกเพื่อสันติสุขแห่งมวลมนุษย์และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น การศึกษาไทยยุคสมัย “Twenty- Twenty”

จึงต้องมีมิติทัศน์ที่เปลี่ยนไปจากปัจจุบัน และที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง...!

ซึ่งอาจสรุปเพื่อนำทางได้ว่าต้อง "ขุดรากถอนโคนการศึกษาในญาณวิทยาเก่าให้สิ้นสูญ แล้วประจงเพิ่มพูนการศึกษาในญาณวิทยาใหม่ให้งอกงาม" ด้วย....

๑. เลิกการศึกษาแบบแข่งกัน “จำ-จิ้ม” ความรู้ในตำรา

๒. เลิกให้ "นักการศึกษากำหนดหลักสูตร"

๓. ให้ถือเป็นกาลสิ้นสุด “การศึกษาภาคบังคับ”

ต่อจากนั้น....

๔. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความถนัด / ความต้องการ / ความจำเป็นต้องใช้ในชีวิตจริง จากใคร ที่ไหน สถาบันหรือสถานประกอบการใด องค์กรไหน ก็ได้ทั้งนั้น โดยที่ที่เรียนนั้นอาจมีใบอนุญาต/ใบรับรองหรือไม่ก็ได้ เพราะเชื่อว่าเครือข่ายสังคม (Social network) จะสร้างกลไกและระบบตรวจสอบและบอกต่อกันเอง ว่ามีคุณภาพจริงแท้แค่ไหน?

๕. สังคมไทยควรร่วมกำหนดมาตรฐานกลางของคนในชาติ ให้อย่างน้อยควรต้องมีคุณสมบัติ “สำนึกดี ประพฤติชอบ โลกทัศน์กว้าง สร้างสรรค์ มีจิตอาสา ฯลฯ” 

๖. สร้างค่านิยมและทัศนคติแห่งชาติใน “ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของมนุษย์" พร้อมให้เกียรติและเคารพในคุณค่า-ความสามารถของทุกคน (ที่ไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน)ด้วย

๗. รัฐมีหน้าที่ให้ความสำคัญ / ให้เครดิต /รับรอง / และประชาสัมพันธ์/เผยแพร่องค์ความรู้- ประสบการณ์ในตัวคน-ในองค์กร - วัดวาอาราม - สถานประกอบการ ฯลฯ ที่มีองค์ความรู้และผลงานเป็นที่มีมาตรฐานและประจักษ์จริง (ใคร-หน่วยงานไหน - องค์กรใด อยากได้สักกี่ใบ ก็ขอรับการประเมินผลงานเอา แต่สาธารณชนต้องสามารถตรวจสอบได้)

๘. “เทคโนโลยีชั้นเลิศ” รัฐต้องจัดหาไว้ให้ประชาชนสื่อสารและเข้าถึงซึ่ง “องค์ความรู้ที่สร้างสรรค์” และ “ประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนและมวลมนุษยชาติ” อย่างทั่วถึงทุกตารางนิ้วของแผ่นดิน (ใช้ G2K และ ClassStart.org เป็นแบบอย่างก็ได้) 

ฯลฯ

ทั้งหลายทั้งมวล จะ.......

๑. ลดปัญหาการแก่งแย่งกันเข้าโรงเรียนยอดนิยม เพราะที่บ้านหรือที่ไหนๆก็ "ยอดนิยมได้" ไม่ต่างกัน

๒. ลดการใช้พลังงาน และความแออัดทางการจราจร อันเกิดจากการเดินทางไปและกลับจากการเรียน

๓. ลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยทางการศึกษา ตลอดถึงพลังงานที่ใช้ในการเบียดเบียนโลก เพื่อหาและขนส่งวัตถุดิบ รวมทั้งพลังงานการแปรรูป การผลิต และขนส่งสินค้านั้นไปยังผู้บริโภคด้วย

๔. ลดปริมาณขยะจากการศึกษา การทดสอบทางการศึกษา และขยะที่เกิดจากการใช้ชีวิตในสถานศึกษา ทั้งในสถานศึกษาในระบบ และกวดวิชา

๕. ลดการเบียดเบียนเพื่อมนุษย์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิงสาราสัตว์น้อยใหญ่ แม้กระทั่งจุลินทรีย์ในระบบนิเวศน์ อันเกิดจากการก่อสร้างอาคารเรียน-อาคารประกอบ-สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ตลอดถึงพลังงานที่ใช้ในการใช้ และบำรุงรักษาอาคารและสิ่งก่อสร้างนั้นๆด้วย

๖. ลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในทุกด้านของรัฐ เพื่อนำไปสร้างและสนับสนุนระบบการศึกษา การเรียนรู้ในญาณวิทยาใหม่

๗. ลดความเครียดและความกดดันจาก “การศึกษาแบบเอาเนื้อหาในตำรา(บ้าบอ)เป็นตัวตั้ง” ของผู้เรียน

๘. ลดความเครียดของผู้ปกครอง ทั้งจากภาระค่าใช้จ่าย การหาที่เรียนให้ลูก และผลการเรียน(ตกต่ำ) รวมทั้งการไม่ไป-ไม่อยากไป และการหนีโรงเรียนของลูก ตลอดถึงการไม่ต้อง "ลงทุนทางการศึกษา" ให้ลูกแบบแพงๆ และสูญเปล่าเช่นปัจจุบัน

๙. ไม่ต้องมีครูที่กินเงินเดือนประชาชน (แบบไม่ค่อยจะรู้จักพอด้วย)  และไม่ต้องมีใครเป็น "แพะรับบาป" ถูกด่า-ถูกปรามาสตลอดชาติว่า "ไม่มีคุณภาพ"

๑๐. ไม่ต้องมีขยะจากการทำผลงานทางวิชาการไร้ประโชน์ ไม่ต้องมีมือปืนรับจ้างทำผลงานฯ ไม่ต้องมีการใช้พลังงานและค่าจ้างในการออกประเมินและอ่านผลงานฯ ครูไม่ต้องกระเสือกกระสนหาเงินลงทุนรอรับการประเมินและจ้างมือปืนทำผลงานแทนฯ ดังที่เขาว่า(ใครก็ไม่รู้) และพี่น้องประชาชนก็ไม่ต้องแบกรับภาระการจ่ายภาษีไปเป็นเงินเดือน+เงินประจำตำแหน่ง(๒เท่า)+สวัสดิการ ของท่านเหล่านี้โดยใช่เหตุด้วย

๑๑. ไม่ต้องมี ผอ.รร. ที่ถูกบังคับให้ขับรถเสียค่าน้ำมันเข้าประชุมประจำเดือน ไปนั่งฟังผู้บังคับบัญชา และ ผอ.กลุ่มงานต่างๆพร่าม เสียดสี กระแนะกระแหน ฯลฯ แล้วสั่งให้ไปพาครูทำโน่นทำนี่(ขยะ)ทั้งปีทั้งชาติ (และครูผู้สอนก็จะมีความรู้สึกต่อ ผอ.รร. เช่นเดียวกันกับที่ ผอ.รร.มีต่อ ผอ.สพป.-สพม.)

....ฯลฯ....

และทั้งหลายทั้งหมด  จะช่วยให้.....

๑. ประเทศชาติจะเหลือเงินภาษีไปพัฒนาด้านที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนส่วนใหญ่มากมาย เช่น การวางระบบการเข้าถึง IT ของประชาชนทุกพื้นที่ให้เท่าเทียมกัน, การนำไฟฟ้าลงนาลงไร่ให้พี่น้องเกษตรกรทำการเกษตรที่พึ่งพาตัวเองได้ เป็นต้น (ขอแต่อย่าเอาไปทำรถไฟฟ้าสารพัดสี หรือดึงไฟฟ้าเข้าไปทำธุรกิจแบบเริงโลกีย์ เพราะสิ่งเหล่านี้แหละที่ดึงดูดคนบ้านนอกเข้า กทม. อันนำมาซึ่งปัญหาอีก ๑๐๘) แต่ถ้าเอาไปพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อการเกษตร พี่น้องบ้านนอกที่เข้ามาอยู่ในเมืองจะกลับบ้านนอก ไปทำอยู่ทำกินสร้างรายได้ซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง แล้วปัญหา กทม.แออัด พร้อมปัญหาอื่นๆก็จะบางเบาไปเอง (หรือพี่น้องชาว กทม.ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น)

๒. ทั้ง "คนจนและคนรวย" จะลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาลงเป็นอย่างมาก ในขณะที่สามารถเข้าถึงการศึกษา(ที่ตรง-ที่ชอบ)ได้อย่างเสรี-เท่าเทียม และสูงเท่าที่อยากสูง (ไม่ต้องจำใจฝืนตื่นแต่เช้าไปกล้ำกลืนฝืนเรียน-ฝืนจด-ฝืนจำ-ฝืนทำรายงาน-ทำโครงงาน และ ฯลฯ ตามรูปแบบและเนื้อหาขยะที่บรรจุมาในหลักสูตร ที่ใครก็ไม่รู้ ลอกๆๆๆ แล้ว ใส่ๆๆๆ กันมาตามหน้าที่)

๓. ผู้คนมีงาน มีเวลาทำมาหากิน มีเวลาสร้างสรรค์พัฒนาตนเอง-พัฒนาการงานอาชีพ พร้อมมีบุตรหลานคอยช่วยและเรียนรู้อยู่ใกล้ๆ ซึ่งจะช่วยลดปัญหา "คนตกงาน-คนฆ่าตัวตายเพราะไม่มีงาน" ได้แน่นอน

๔. โลกทั้งโลกจะมีองค์ความรู้และประสบการณ์ดีๆจากผู้คนที่หลากหลายเพิ่มขึ้นทุกเวลานาที ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยแสวงหาผ่าน IT ได้ตลอดเวลา-ตลอดชีวิต

๕. จิตใจและโลกทัศน์ของทุกคนกว้างขึ้น คุยกันด้วยเหตุและผลง่ายกว่าเดิม สังคมน่าจะสงบ มีสันติสุข และน่าอยู่ยิ่งขึ้น

๖. โลก-สิ่งแวดล้อม-ระบบนิเวศน์ หรือแม้แต่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถูกเบียดเบียนน้อยลง

๗. มนุษย์เกิดจิตสำนึกและตระหนักหน้าที่ใหม่ “การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ เป็นมงคลสูงสุดแห่งชีวิต”

ฯลฯ

...........................................

เมื่อนั้น....

สังคมจึงจะหายวิกฤติ

โลกจึงจะหายป่วย เย็นลง หมุนเป็นปกติสุข

และหยุดการ “ดับสลาย” ตนเอง

"ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ จะกลับมาเอื้อเกื้อกูลกันและกัน"

นั่นคือโลกและสังคมในฝัน  "โลกสร้างสรรค์และเกื้อกูล"

.........................

เอ๊อะ!.... ขอโทษครับ...! ครูวุฒิฝันไป.....

(ถอดความฝันและต่อเติมเสริมแต่ง จากการละเลียดแล้วอินในแนวคิดของท่านราษฎรอาวุโส กราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงครับ)

 """""""""""""""""""""

และหากทุกท่านต้องการทราบว่า "การศึกษาไทยเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ของคนไทย" จริงหรือไม่ประการใด ครูวุฒิอยากให้ลองอ่านบันทึกที่เกี่ยวข้อง ที่ฝากลิงค์ไว้ด้านล่างนี้ ครับ

.................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 494750เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2012 03:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

จะมีผู้บริหารสถานศึกษา (ผอ) อีกสักกี่คน ที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ๆ มองไกลๆ อย่าง ท่าน ผอ. วุฒิไหมหนอ ที่เจอที่พบ มีแต่ จะกอบโกย หาผลประโยชน์ จากนักเรียน จากผู้ปกครอง จากผู้รับเหมา ...แถมเบียดเบียนครู เอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว ....นับถือครับ

  • ขอบพระคุณท่าน อ.เชษฐ์ Blank เป็นอย่างสูงครับ สำหรับข้อความ "อันงดงามเสริมสร้างพลังใจ" ที่มอบให้ครูวุฒิ
  • และ "ดอกไม้หอมชื่นใจ" ที่มอบให้จากท่าน Blank อ.นุ และ Blank Sila Phu-Chaya
  • ขอบพระคุณครับ

 

   
Blank    ธนิตย์ สุวรรณเจริญ
Blank    ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์
Blank    พระมหาแล อาสโย ขำสุข

ขอบคุณ และนมัสการขอบพระคุณท่านที่ให้กำลังใจทุกท่านด้วยครับ

..สวัสดีค่ะ..คุณครูวุฒิ..."ฝัน..ค้าง...ยังดีกว่าไม่ฝันซซะะเลย..นะ.."...เรามาช่วยกันสานฝัน..กัน..เสียแต่วันนี้..เราช่วยๆกันเปลี่ยน..ตัวตน..วันนี้...(พรุ่งนี้..ดีแน่นอน..)...ยายธี

มาอ่านความฝันของครูวุฒิค่ะ

ฝันเสียใหญ่โตเชียว ระวังฝันค้างนะคะ

แต่เป็นความฝันที่น่าสนใจมากเชียว...

อยู่แต่ว่าจะทำให้ฝันเป็นจริงได้หรือไม่

ท่ามกลาง...กระแสสังคมไทยเช่นนี้

 

ขอบคุณฝันดีๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท