การผลิตและใช้สื่อการเรียนรู้บนวงจรชีวิตการงาน


ในการไปนั่งถอดบทเรียนตนเองด้วยกันของเครือข่ายคนทำงานกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ที่เคยร่วมเวทีชมรมชีวเกษมด้วยกันที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ด้วยกันเมื่อเกือบ ๑๕ ปีก่อนต่อเนื่องมากอีกนับ ๑๐ ปี แล้วก็ได้เยือนสันถวะ ปฏิบัติธรรมเจริญสติภาวนา ปลูกบัว ปรึกษาหารือและวางแผนแบบกว้างๆเพื่อฉายภาพการทำงานต่างๆ ในอนาคตด้วยกัน เมื่อเสาร์อาทิตย์ ๓๐ มิถุนายน-๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม จังหวัดสุพรรณบุรีที่ผ่านมานี้

ในช่วงท้าย หลังการสรุปบทเรียน เก็บข้าวของ ทำความสะอาดและดูแลความเรียบร้อยของสถานที่ รวมทั้งกล่าวอนุโมทนาและร่ำลากันอย่างทั่วถึงแล้ว พี่ปรีชา ก้อนทอง เจ้าของสถานที่ รวมทั้งเป็นเป็นวิทยากรและผู้ริเริ่มโครงการกิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการขึ้นภายใต้แนวคิดของศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม ก็กล่าวขอบคุณผมพร้อมกับพูดเหมือนทีเล่นทีจริงว่า สื่อและแผนภาพที่ผมใช้อธิบายเรื่องราวต่างๆนั้น ขอไว้ใช้ที่ศูนย์เถิด จะได้ใช้เป็นสื่อพูดคุยกับกลุ่มคนที่มาปฏิบัติธรรมที่เป็นกลุ่มคนทำงานสาขาต่างๆด้วย จะได้นำประสบการณ์กลับไปใช้ทำงานที่รับผิดชอบอยู่ให้ดียิ่งๆขึ้น หรืออย่างน้อย ก็เผยแพร่ให้คนกลุ่มต่างๆได้เห็นความคิดที่หลากหลาย จะได้เพิ่มพูนความเข้าใจให้กว้างขวางต่อการเชื่อมโยงมิติการเจริญสติภาวนาเข้ากับชีวิตการทำงานจากทรรศนะที่หลากหลาย

ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกล่อมเกลาทรรศนะแบบองค์รวม
มองไปยังสังคมกับการเรียนรู้เพื่อจะปฏิบัติบนการงานและการใช้ชีวิต

ผมเองนั้น ก็บอกว่า ผมจะเอาไปใช้และเก็บไว้เป็นตัวอย่าง รวมทั้งสะสมสื่อและกระบวนการอย่างนี้ไว้เป็นตัวอย่าง เอาไว้วิเคราะห์วิจัยและเขียนบทเรียนรวบรวมเอาไว้ถ่ายทอดให้คนทำงานต่อๆไปในอนาคต เพราะแต่ละกลุ่มและแต่ละโอกาสจะไม่เหมือนกันเลยทีเดียว อีกทั้งจะเป็นภาระแก่พี่เขาและศูนย์ปฏิบัติธรรมในการดูแลรักษาไปเปล่าๆ แต่พี่ปรีชานั้น นอกจากจะพูดย้ำในลักษณะนี้อยู่อีก ๒-๓ ครั้งแล้ว ก็บอกว่า หากจะนำกลับไป ก็ทำให้อีกชุดหนึ่งได้ไหม

ผมจึงต้องหยุดคิดและพิจาณาว่าพี่เขาคงไม่ได้พูดแบบทีเล่นทีจริงเสียแล้ว ดังนั้น ผมกับอาจารย์ณัฐพัชร์และบี ซึ่งเป็นทีมที่จะต้องกลับด้วยกัน จึงกลับช้าหน่อยเพื่อนั่งทำสื่อการเรียนรู้ขึ้นอีกชุดหนึ่ง 

ผมนั่งพิจารณาลักษณะการใช้ และวิเคราะห์เนื้อหาที่มีอยู่ในตัวผู้ใช้อยู่แล้ว  อันได้แก่พี่ปรีชา ก้อนทองและเครือข่ายผู้นำการศึกษาปฏิบัติการเจริญสติภาวนาแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ทั้งพระและฆราวาส ที่ผมมีข้อมูลผ่านการได้ร่วมกิจกรรมหลายครั้ง รวมทั้งเห็นภาพว่าสื่อและกระบวนการเรียนรู้อย่างเชื่อมโยงลักษณะนี้ จะช่วยทำงานเชิงกระบวนการในขั้นสังเคราะห์บทเรียน ให้ผู้มาปฏิบัติธรรมเจริญสติภาวนา ได้มีจังหวะนั่งคิดและเตรียมตนเอง กลับไปทำให้การทำงานและการดำเนินชีวิต กับการปฏิบัติธรรมและเจริญสติภาวนา เป็นเรื่องเดียวกัน ใช้พัฒนาตนเองและพัฒนางานได้ ทำให้คนทำงานสาขาต่างๆ พึ่งตนเองและเป็นกำลังพัฒนาสุขภาวะทางจิตใจในสาขาต่างๆได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น 

  • กลุ่มครู อาจารย์ นักการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียน และนักศึกษา 
  • กลุ่มคนทำงานสุขภาพ แพทย์ สาธารณสุข บุคลากรทางสุขภาพ
  • ผู้นำชุมชน ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น
  • อสม เครือข่ายคนทำงานจิตอาสา องค์กรสาธารณประโยชน์
  • พ่อแม่ ผู้ปกครอง และกลุ่มการรวมตัวกันด้วยความสนใจของปัจเจก

แนวดำเนินการอย่างนี้ ก็จะทำให้ศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม มีความเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างคน สามารถถ่ายทอดปัญญาปฏิบัติ เชื่อมโยงกระบวนการกล่อมเกลาและฝึกฝนการปฏิบัติธรรม ให้คนทำงานสาขาต่างๆ เห็นความเชื่อมโยงกับความรู้ ทฤษฎี และมีความเป็นวิชาการ ที่เห็นและเข้าใจได้ด้วยความรู้ที่เป็นสากลในสาขาที่เขาทำงาน แต่เชื่อมโยง ขยายความกว้างขวางออกไปจากจุดยืนของผู้ปฏิบัติและความมีบทเรียนเฉพาะตน ซึ่งมีอยู่ในตัวของพี่เขาอยู่แล้ว

บูรณาการและเชื่อมโยงการพัฒนาชีวิตด้านในของมนุษย์ เข้ากับมิติสังคมระดับต่างๆ ด้วยแนวคิดการเจริญสติภาวนากับหลักพุทธธรรม ว่าด้วยการทำสัมมาปัญญาและการทำความคิดให้แยบคาย ที่ต้องอาศัยกระบวนการภายในของปัจเจก กัลยาณมิตรและครูที่เหมาะสม กับสังคมและสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนส่งเสริมกัน

ในความเป็นจริงแล้ว การเดินเข้าหาการทำงานเชิงสังคมในลักษณะนี้ของผม ในอีกกลุ่มหนึ่งของเครือข่ายชมรมชีวเกษมและเครือข่ายชุมชนปฏิบัติของศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรมนั้น ก็เพื่อร่วมคิดและทำในระดับการใช้ชีวิต เพื่อเป็นอีกแนวหนึ่งในการได้บริการวิชาการแก่สังคมพร้อมกับได้เรียนรู้วิธีสนับสนุนทางวิชาการ ที่สามารถเสริมกำลังให้กับภาคปฏิบัติซึ่งริเริ่มและมีเป็นทุนกลมกลืนกับสังคมวัฒนธรรมไทย ที่ผมจะสามารถใช้ความรู้ที่พอมีทำงานไปด้วยได้ ซึ่งเป็นการทำงานวิชาการแนวเชื่อมโยงกับภาคสังคมที่มีการสร้างความเป็นจริงอยู่บนการปฏิบัติ ตรงกับกลุ่มความสนใจและใช้แก้ปัญหาได้จริงมากกว่าการสร้างแต่ทฤษฎีและความรู้แยกส่วนจากความเป็นจริงของสังคม ดังนั้น การขอและไหว้วานของพี่ปรีชาในโอกาสอย่างนี้ จึงนับว่าสอดคล้องกับแนวการทำงานของผมเองมากอย่างยิ่งอีกด้วย

การเห็นจุดหมายของการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ ที่บูรณาการและมีความเป็นองค์รวมโดยการปฏิบัติธรรมเจริญสติภาวนาเป็นแกนกลาง แหล่งวิทยาการก็อยู่ในตัวบบุคคล อันได้แก่พี่ปรีชา ก้อนทอง จากนั้น ก็ร่วมกันวิเคราะห์ความจำเป็นของเนื้อหา วิเคราะห์มิติการเรียนรู้และกระบวนการเงื่อนไขที่เหมาะสมเพียงพอ ทำชุดสื่อ พร้อมกับอธิบาย สาธิตสถานการณ์การใช้

สื่ออธิบายและให้การเรียนรู้ระดับความเชื่อมโยงอีกแนวหนึ่ง ต่อการเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของโลกกว้างกับการพัฒนาชีวิตด้านใน เพื่อปฏิบัติและสร้างปัญญาออกจากจุดยืนของชีวิตการภาวนาตามประสบการณ์จำเพาะตน 

การทำสื่อเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ในระบบจัดการศึกษาเรียนรู้ต่างๆมาก แต่เป็นสิ่งที่มิใช่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆและใช่จะพบเห็นได้อย่างทั่วไป เพราะกระบวนการดังกล่าวนี้ จัดว่าเป็นความสามารถของเครือข่ายชุมชนปฏิบัติ ในการจัดการเชิงปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นระบบทางด้านการสื่อสารถ่ายทอด หรือ Learning Media and Communication Literacy อย่างหนึ่ง มิใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเองลอยๆ แต่เกิดจากที่คนได้เดินเข้าหากัน ด้วยวิถีการเรียนรู้ มีการปฏิสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันด้วยโครงสร้างที่โน้มนำให้เกิดวัฒนธรรมทางปัญญาเกิดขึ้น จึงเป็นผลรวม ทำให้เกิดการคิดริเริ่มทำกิจกรรมด้วยกันอย่างนี้ต่อยอดขึ้นมาได้อีก

แผนภาพอธิบายทฤษฎีความรู้แบบมีบริบท ผสมผสานแนวคิดแบบตะวันตกเข้ากับตะวันออก ซึ่งจะมีแนวคิดเกี่ยวกับมิติจิตใจและมิติจิตวิญญาณในวัตถุและปรากฏการณ์ต่างๆด้วย

ผมให้ความสนใจการทำงานทางด้านนี้อยู่เสมอ และพอจะประมวลภาพโดยรวมจากความมีประสบการณ์อย่างใกล้ชิดมาบ้างพอสมควรได้ว่า หากอยู่ในองค์กรและหน่วยจัดการความรู้ขนาดใหญ่ของสังคม เช่น มหาวิทยาลัย สถานศึกษา รวมทั้งองค์กรและหน่วยปฏิบัติการต่างๆ แล้วละก็ การเกิดความต้องการและนั่งเป็นทีมเดียวกันเพื่อทำสื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและอย่างมีความหมาย ของกลุ่มคนที่ต่างสาขากัน

โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มคนทำงานที่เป็นเจ้าของเนื้อหาและเป็นผู้ต้องการใช้สื่อ เช่น นักวิจัย ครูอาจารย์ ผู้สอน วิทยากร ผู้บรรยายและถ่ายทอดเนื้อหา นักวิชาการ ผู้บริหาร และคนทำงานระดับปฏิบัติการให้ระบบต่างๆดำเนินไปด้วยกัน กับกลุ่มคนที่เป็นนักเทคโนและสื่อสารการศึกษานั้น เป็นสิ่งที่จัดระบบและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากการศึกษาและสร้างคน ดำเนินการอย่างแยกส่วน รวมทั้งการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีของโลกในทุกสาขา ต่างก็มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ความรู้และความซับซ้อนทางด้านต่างๆ ต้องเรียนรู้กันใหม่อยู่เสมอ ทำให้การทำงานที่มีความเป็นส่วนรวมมากกว่าสาชาเชิงเดี่ยว อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือและเดินบวกศักยภาพความเชี่ยวชาญต่างสาขากัน มีช่องว่างที่จะประสานความเชื่อมโยงและทำให้สื่อสะท้อนซึ่งกันและกัน ผู้มีเนื้อหา ขาดกำลังในการถ่ายทอดและสื่อสารกับสังคมทั่วไป ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถระบุความต้องการและสื่อสารความจำเป็น เพื่อได้การสนับสนุนจากนักทำสื่อและนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ได้อย่างที่ต้องการ

ส่วนนักทำสื่อ ก็ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาและไม่สามารถสื่อสารหรือแสดงข้อมูลชิงเทคนิคปฏิบัติ ให้เห็นภาพและเกิดความเข้าใจได้ด้วยการพูดอธิบายแจกแจงอย่างคนที่รอบรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำงานกับสาระสำคัญของเนื้อหาต่างสาขา เป็นผลเสียต่อส่วนรวมที่จะไม่สามารถสร้างระบบจัดการเพื่อขยายกำลังภูมิปัญญาในตัวของบุคคลและแหล่งทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ให้ทัดเทียมและเพียงพอกับสภาพการทำงานและความเป็นจริงในชีวิตได้

การที่พี่ปรีชา ในฐานะผู้มีเนื้อหาและภูมิปัญญาปฏิบัติอยู่ในตนเอง สามารถเห็นศักยภาพและพลังของสื่อกับการจัดการกระบวนการเรียนรู้อย่างมีพลัง พร้อมทั้งสามารถระบุความต้องการ (Needs Identification) วิเคราะห์ระบบและร่วมกันเป็นทีม ให้นักทำสื่อและพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ แปรแนวคิดและเนื้อหา ทำชุดสื่อการเรียนรู้ พร้อมกับร่วมกันซักซ้อม ตรวจสอบ และปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆไปด้วยกัน ดังที่ปรากฏในครั้งนี้ จึงให้บทเรียนที่ดีต่อการเกิดขึ้นได้จริงในภาคปฏับัติ

นั่งทำ สร้างชีวิตปัญญาชุมชน และสร้างความคุ้นเคยดังญาติไปด้วยกันของผู้คน

ชุดสื่อ ที่ผมได้นั่งทำขึ้นใหม่อีกชุดหนึ่งนี้ เค้าโครงโดยรวมก็เหมือนกับชุดที่ผมกับกลุ่มได้ใช้ในนั่งคุยกันอย่างต่อเนื่องมา ๒ วัน แต่เมื่อทำขึ้นอีกและผู้ที่ต้องการใช้เป็นพี่ปรีชา รายละเอียดและตัวอย่างสำหรับขยายความ ก็ทำขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับสิ่งที่มีอยู่ในตนเองของพี่เขา การวิเคราะห์ทำสื่อและวางกรอบจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สะท้อนอยู่ในสื่อไปด้วย ในลักษณะนี้ ทำให้สามารถผสมผสานความลึกของประเด็นสำคัญของหลายด้านให้สะท้อนซึ่งกันและกัน

ทำเป็นชุดเฉพาะตน เป็น Learning Materials on Demarn

หากใช้ผลที่เกิดขึ้นนี้ มองย้อนกลับไปหาบทเรียนและพิจารณาใคร่ครวญให้ได้ความคิดอันแยบคาย จากสิ่งที่ผมและสมาชิกที่มารวมกลุ่มทำกระบวนการต่างๆในเวทีเล็กๆในครั้งนี้ทำมาด้วยกันเกือบ ๑๕ ปีกระทั่งปัจจุบัน ก็นับว่าการหลอมพลังทำชุดสื่อนี้ เป็นผลรวมจากพลวัตรปัจจัยหลายอย่างที่สั่งสมและค่อยบ่มเพาะด้วยกันอย่างสืบเนื่อง ซึ่งหากใช้วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาท กับอริยสัจ ๔ และขันธ์ ๕ มาพิจารณาแล้วละก็ ผมก็อยากจะเรียกกระบวนการต่อเนื่องอย่างนี้ว่าราวกับเป็นระบบและวงจรปฏิบัติที่มีชีวิต   (Live and Dynamic System) ที่ผสมกลมกลืนและค่อยเป็นค่อยไปอยู่กับวิถีปฏิบัติหลายอย่าง โดยมีชุดเหตุปัจจัยหลายอย่างเกื้อหนุนและส่งเสริมกัน ซึ่งมีนัยะต่อการจัดการเชิงปฏิสัมพันธ์ดังที่กล่าวมาในข้างต้น ที่สำคัญก็คือ .....

  • การมีพื้นที่การเรียนรู้อันหลากหลาย (Integration Learning Spaces) สำหรับทำงานและเรียนรู้ด้วยกันเป็นชุมชนปฏิบัติของคนต่างสาขา (Cross-Disciplinaries Learning Practice Community)
  • การพัฒนากระบวนการสื่อสารเรียนรู้ขึ้นบนสถานการณ์จริงจนเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้เป็นกลุ่ม (CoPs Communication)
  • การทบทวนบทเรียนและนำเอาประสบการณ์การทำงาน ตลอดจนองค์รวมของชีวิตการงาน มาถอดบทเรียน สื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Interactive Lessoned Learn)


เป็นปัจจัยส่งเสริมกันเพื่อการทำดีและมอบเป็นกำลังใจให้กัน

องค์ประกอบที่ส่งเสริมเกื้อหนุนกันอย่างนี้ ทำให้เกิดกระบวนการสื่อสารและสร้างความเป็นปัจจุบันให้กับการไหลเวียนความรู้ความเข้าใจภายในกลุ่ม  (Communication Flows) ลดช่องว่างความเข้าใจของเครือข่ายต่างสาขาและต่างวิถีการงาน รวมทั้งเป็นพื้นฐานที่ช่วยส่งเสริมให้สามารถคุยกันได้ในประเด็นเชิงความคิด ทำให้สามารถหยิบยกวาระสำคัญที่ต้องการแต่อาจจะต่างกัน มาปรึกษาหารือ คิดริเริ่ม แล้วลงมือสร้างสรรค์สื่อและสิ่งต่างๆด้วยกัน ผนึกกำลังความเชี่ยวชาญแต่ละด้านของแต่ละสาขาในแต่ละคน ให้เกิดเครื่องมือสำหรับเพิ่มพูนและขยายกำลังสิ่งดีๆด้วยกัน ได้มากยิ่งๆขึ้น

บทเรียนและแนวปฏิบัติในลักษณะนี้ จะช่วยชี้นำให้ปัจเจกที่สามารถเดินรวมกลุ่มและสร้างวัฒนธรรมการทำงานด้วยกันได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง ตามประเด็นความสนใจและความมีปัญญาจากของจริงภาคปฏิบัติ ร่วมกันเรียนรู้ความเป็นพลเมืองเพื่อเป็นพลังสร้างสุขภาวะสังคม ทำให้ผู้คนหลากหลายสามารถเข้าถึงความจำเป็นของตนเองและด้วยตนเองได้ พร้อมกับเพิ่มพูนโอกาสที่สังคมจะเกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ได้มากยิ่งๆขึ้นจากภาคประชาชน สังคมจะแข็งแรงบนพื้นฐานของการมีประชากรและพลเมืองที่มีคุณภาพ ที่มีวิธีจัดการตนเองร่วมกันได้ดีขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 494780เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2012 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย (ขำสุข)ครับ

ดีใจเหลือหลาย คิดถึงครับ คิดถึง ผมได้ทำเนื้อหาที่จะทำสื่อไปจัดแสดงในงาน ๘๙ ปีโรงเรียนอนุบาลหนองบัวกับงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระราชินี ในวันที่ ๑๒ สิงหาที่จะถึงนี้เพิ่มขึ้นบ้างแล้วครับ แต่บางส่วนผมได้ส่งให้ทางโรงเรียนได้พิจารณาตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกด้วย โดยเปิดกว้างให้แล้วแต่จะเห็นว่าเหมาะสมและเข้ากับกาลเทศะของงานหรือไม่ รวมทั้งอยากให้คนทำงานได้ความสะดวกที่สุด เพราะเป็นการทำงานให้หนองบัวของเราช่วยกัน เลยยังไม่ได้นำมาเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ เพราะหากได้ทำในหนังสือที่ระลึกของชาวหนองบัว ก็จะได้ไม่เฝือ หากไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ จึงจะนำมาลงช่วยเผยแพร่อีกแรงหนึ่ง แต่หากได้พิมพ์ ก็จะได้เป็นการให้หนังสือที่ทำขึ้น ได้เผยแพร่ก่อน นิมนต์ไปช่วยกันสร้างบุญทางปัญญาเพื่อลูกหลานและโรงเรียนของคนหนองบัวครั้งนี้นะครับ 

ขอบคุณ อ.นุ และ ดร.ปริมครับ
ที่แวะมาเยือน เป็นการทำสื่อแบบนั่งหารือและเลือกใช้สื่อที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้เรียนและผู้ถ่ายทอดแบบ ๒ ทาง แล้วก็เป็นการเข้าไปเสริมศักยภาพและช่วยกันเป็นเครือข่ายวิชาการ ขยายกำลังในการทำสิ่งต่างๆ ให้คนที่ปฏิบัติและใช้ชีวิต ที่มีส่วนต่อการสร้างสุขภาวะสาธารณะของสังคมด้วย เหมือนกับได้ไปช่วยกันทำมหาวิทยาลัยเปิดบนกิจกรรมชีวิต แล้วก็สร้างพลังการถ่ายทอดสื่อสาร ให้กับคนที่มีของจริงอยู่ในชีวิต ได้ใช้ชีวิตเป็นครูแก่ผู้คน บนพื้นที่ชีวิตของตนนั่นแหละเลยละครับ

ผมอ่านบทความชิ้นนี้แล้ว เห็นภาพสะท้อนการเรียนรู้แบบแยกส่วนในตนเองอย่างชัดเจน นักสื่อสารการศึกษาหรือนักเทคโนฯ ที่ขาดพื้นความรู้ในสาขาอื่น (เช่น สาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์...) ก็ไม่สามารถจะเข้าใจเนื้อหาความรู้ที่อยู่นอกสาขาได้อย่างลึกพอที่จะถ่ายทอดออกมาในสื่อได้ตรงตามผู้ที่อยุ่ในสาขานั้นๆ ต้องการ เช่นนี้ การฝึกฝนเรียนรู้ โดยการบูรณาการข้ามสาขาวิชาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักสื่อสารการศึกษาหรือนักเทคโนฯ ใช่ไหมครับอาจารย์

สวัสดีครับสุทธิพงศ์

ใช่ครับใช่ แต่เรื่องการเรียนรู้แบบแยกส่วนนั้น ไม่ใช่ไม่ดีนะครับ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะทางด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเท่านั้นหรอกครับที่จะให้ความสนใจต่อเรื่องการเรียนรู้แบบแยกส่วน ในสาขาต่างๆก็เหมือนกัน กล่าวโดยรวมก็คือ ในยุคสมัยหนึ่ง การเรียนรู้แบบแยกส่วน ก็มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนสังคมได้ แต่เมื่อถึงอีกยุคสมัยหนึ่ง เมื่อสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมแทบทุกด้านเปลี่ยนแปลงไป การศึกษาและวิธีสร้างทักษะคน ที่เคยเหมาะสมกับยุคสมัยหนึ่ง ก็จะต้องนำมาพิจารณาให้สอดคล้องกันไปด้วย

มาพูดต่อถึงเรื่องทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ความที่ก็เหมือนกับที่เป็นอย่างทั่วไปในสังคม คือ เป็นสาขาที่ฝึกฝนตนเองเป็นนักโน่นนักนี่ แบบแยกส่วนกันไป ซึ่งการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้แบบแยกส่วนนั้น โดยตัวมันเองไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหามันอยู่ตรงโน้นครับ ตรงที่ พอเราจะบวกความแยกส่วนเข้าหากัน เพื่อเสริมพลังกันสร้างสุขภาวะของส่วนรวมช่วยกัน แล้วก็พบว่าทักษะและความเชี่ยวชาญแบบแยกส่วน เดินบวกกันไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น เช่น คนมีเนื้อหา แต่ถ่ายทอดและสื่อสารการเรียนรู้ไม่เก่ง โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานกับสังคม ผลสำเร็จในการจัดกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดสื่อสารทางการศึกษาก็ไม่ดี พอจะอาศัยความเชี่ยวชาญของคนทางเทคโนและสื่อสารการศึกษา ก็ไม่รู้เรื่อง นึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร รวมทั้งหากเห็นความสำคัญ แต่พอเดินแสวงหาความร่วมมือ ก็คุยกับคนทำงานเชิงเทคนิคไม่รู้เรื่องอีก เลยก็เข้าถึงระบบการทำงานที่จะช่วยขยายกำลังและเพิ่มประสิทธิผลให้เกิดขึ้น ไม่ได้ สังคมก็จมอยู่กับปัญหาเดิมๆ

ส่วนนักเทคโนและสื่อสารการศึกษา ก็เหมือนกับมีเครื่องมือและกลวิธีทำงานที่ดี แต่เมื่อต้องการนำไปใช้พัฒนากระบวนการสื่อสารเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ก็ไม่รู้ว่าจะระบุความจำเป็นจากอะไร และเมื่อต้องการพัฒนากระบวนการสื่อสารเรียนรู้ หากไม่สามารถขบประเด็นให้แตกในเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอและถ่ายทอดสื่อสาร ก็อาจจะต้องนั่งวิเคราะห์และทำงานความคิดกับสาขาที่เป็นเจ้าของเนื้อหา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็มักมีข้อจำกัดที่จะเข้าถึงสาระสำคัญกระทั่งสามารถทำงานเชิงคิดสร้างสรรค์ได้

สภาพดังตัวอย่างทั้งสองกรณีนี้แหละ ที่ต้องนึกถึงวิธีสร้างทีมและเตรียมคนสำหรับทำงานในลักษณะนี้เสียอีกแบบหนึ่ง และในกระบวนการสร้างนั้น ก็ต้องนึกถึงปัญหาสำคัญที่จะต้องก้าวข้าม เพื่อให้ความเชี่ยวชาญและความเป็นเจ้าของเรื่องของแต่ละด้าน ได้สามารถแสดงออกและเดินบวกกันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งที่จะต้องนึกถึง ก็คือ สภาพความเป็นจริงที่ว่า คนทั่วไปนั้น ต่างฝึกฝนตนเองมาแบบแยกส่วน ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างความมีบริบทร่วมกันสักชุดหนึ่ง เพื่อจะสามารถเป็นตัวคูณให้กันและกันได้ ตรงนี้แแหละ ที่จะนำมาสู่เรื่องการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้แบบข้ามสาขาบ้าง การสร้างชุมชนปฏิบัติบ้าง การพัฒนาระเบียบวิธีวิจัยแบบบูรณาการบ้าง การพัฒนาเครือข่ายสหวิทยาการบ้าง เพื่อตอบโจทย์อย่างที่กล่าวมาข้างต้น

ในสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาก็เช่นเดียวกัน ก็มีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่าสาขาอื่นๆ ที่จะต้องพัฒนาแนวทางการเรียนรู้และสร้างวิถีการทำงานแบบใหม่ๆ เพื่อมีส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างนี้ของสังคม บันทึกนี้ จึงดังเอาบทเรียนเล็กๆที่เจอไปบนการทำงานและใช้ชีวิต มาเล่าถ่ายทอดไว้เป็นแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิด ให้เห็นประเด็นเล็กๆน้อยๆแต่มีนัยสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ให้ยิ่งมีความสอดคล้องกับความจำเป็น ทันการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ได้มากยิ่งๆขึ้น คนทำงานในสาขาต่างๆจะมีเครื่องมือช่วยขยายกำลังการทำงานเชิงกระบวนการเรียนรู้ ที่มีพลังมากขึ้น และการทำงานทางด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในบางสถานการณ์ ก็จะสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ความเชี่ยวชาญต่างสาขาสามารถร่วมเป็นตัวคูณกัน สังคมก็จะมีกำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตนเอง กระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ในขอบเขตต่างๆ ก็ย่อมได้ผลดีกว่าการทำงานเชิงเดี่ยวและแยกส่วน

ดีใจที่เข้ามาคุยกันเด้อ มีความสุขและประสบความสำเร็จเสมอๆนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท