ต้องสร้างวัฒนธรรมเทคโนโลยีการศึกษาด้วย : สิ่งที่คลิ๊ปอาชญากรรมและความรุนแรงในเด็กบอก


สมัยเป็นเด็กนั้น ผมอยู่ในรุ่นที่ต้องเรียนด้วยกระดานชนวน ไม่ต้องมีหนังสือและสมุดติดตัวกลับบ้าน เพราะทั้งห้องเรียนมีหนังสือตำราเป็นของกลางอยู่ชุดเดียวและต้องเก็บไว้ที่โรงเรียน สัมภาระในแต่ละวันที่ไปโรงเรียนและนำกลับไปบ้านจึงมีเพียงกระดานชนวนกับปิ่นโตข้าว หากมีการบ้าน คุณครูก็จะบอกการบ้านบนกระดานดำ นักเรียนนก็จะจดการบ้านลงบนกระดานชนวน

ผมจำไม่ได้เลยว่าเคยถือกระดานชนวนกลับไปทำการบ้านที่บ้านหรือไม่ เพราะหากมีการบ้าน ซึ่งโดยมากก็จะเป็นวิชาเลขกับคัดและเขียนไทย ผมก็จะทำเสร็จที่โรงเรียนแล้วก็ทิ้งกระดานชนวนไว้ที่โรงเรียนเลย เพราะเมื่อกลับไปบ้านแล้ว จะต้องไปเลี้ยงควาย ทำนา หาผักหญ้าเพื่อทำอาหารเลี้ยงหมู เลี้ยงวัวควาย รวมทั้งเก็บผักทำกับข้าวให้แม่ เป็นสภาพที่ไม่เหมาะสำหรับทำการบ้านที่บ้าน

กระดานชนวนของผมและเพื่อนๆนักเรียน น้อยนักที่จะเป็นกระดานใหม่ โดยมากก็จะเป็นกระดานชนวนที่ใช้ตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นน้า รุ่นพี่ หรือคนในหมู่บ้านที่เรียนมาก่อน เวลาส่งการบ้าน กระดานชนวนก็จะกองอยู่บนโต๊ะของคุณครูกองพะเนินราวกับเป็นกองไม้ กระทั่งก่อนจบชั้นประถม ๔ และต้องเข้าไปเรียนต่อชั้นประถมปลายที่โรงเรียนในตัวอำเภอ จึงได้เริ่มได้ใช้สมุด ดินสอ ยางลบ และมีหนังสือเรียน หลังจากนั้น กระดานชนวนก็หายไป

เวลาและปฏิทินการเรียน ก็มีวงจรที่สัมพันธ์กับฤดูกาลและการทำนา ปิดเทอม ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑ เดือน ช่วงไถนาหน้าฝนและเข้าพรรษา ๑ ครั้ง ช่วงเกี่ยวข้าว นวดข้าว  ๑ ครั้ง และช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นหน้าทำไร่ อีก ๑ ครั้ง

เวลาเรียนในระยะแรก ก็แบ่งเป็น ๒ ช่วงคือเช้าและบ่ายเท่านั้น โดยมีการตีระฆังเข้าเรียนในตอนเช้าครั้งหนึ่งเพื่อเข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์  ตีอีกครั้งก็ตอนพักกินข้าวตอนเพลพร้อมกับพระ อีกครั้งก็ตีตอนเข้าเรียนประมาณหลังจากพระฉันเพลเสร็จ จากนั้น ก็ตีตอนเลิกเรียนประมาณบ่าย ๓-๔ โมงเย็นซึ่งเป็นช่วงเวลาแดดอ่อนสำหรับออกไปเลี้ยงควาย 

ต่อมา จึงมีช่วงพักน้อย โดยพักเรียนในช่วงบ่ายประมาณ ๑๕ นาที ก่อนที่อีกหลายปีต่อมาจึงเป็นการแบ่งการเรียนเป็นคาบเรียนรายวิชาในระดับมัธยมศึกษา และเปลี่ยนการปิดเทอมเป็น ๒ ภาคการศึกษา ระฆัง : ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็คือเทคโนโลยีสำหรับทำเสียงกำกับมวลชนขนาดเล็กเพื่อการจัดการห้องเรียน ก็ทำจากเศษเหล็กต่างๆ เช่น แหนบรถยนต์ จอบที่เสียแล้ว และเศษเหล็กจากลูกระเบิดยุคสงครามเวียดนาม

หลังจากเริ่มใช้สมุดและมีหนังสือตำราแล้ว วัฒนธรรมเทคโนโลยีการศึกษาบนความเป็นกระดานชนวนก็ไม่หวนคืนมาอีกเลย กระบวนการทางการศึกษาที่ดำเนินการในสภาพดังกล่าว สามารถครอบคลุมประชากรวัยเรียนได้อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกัน ก็มีการศึกษาผู้ใหญ่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาแบบ 3R คือ เน้นการอ่านออกเขียนได้ และคิดเลขเป็น (Reading,Writing, Arithmetic) ก่อนการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ฉบับ ๒๕๒๑ ประเทศไทยก็สามารถยกระดับการอ่านออกเขียนได้ของพลเมืองเป็นกว่าร้อยละ ๗๐ จากร้อยละไม่ถึง ๓๐  ในช่วงก่อนปี ๒๕๐๐ ช่วงนั้น คนส่วนใหญ่เป็นภาคชนบทและอยู่ในวิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรมมากกว่าร้อยละ ๘๐ เป็นยุคที่ตลาดโลกและนานาประเทศทั่วโลกยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของการกำหนดราคาข้าวจากประเทศไทย

มาถึงยุคนี้ ซึ่งผ่านห้วงเวลาใช้กระดานชนวนดังข้างต้นกว่า ๔๐ ปีล่วง เราก็กำลังจะนำแท็บเล็ต : กระดานชนวนดิจิตอล ส่วนหนึ่งของสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่จะนำเข้ามาเป็นหนึ่งในระบบเทคโนโลยีการศึกษา เข้าไปแทนที่สมุดและตำราบนกระดาษ รวมทั้งเข้าไปเชื่อมโยงเด็กและผู้เรียนกลุ่มเป้าเหมายต่างๆ เข้ากับแหล่งความรู้ แหล่งประสบการณ์  สื่อ ทรัพยากรการเรียนรู้ ตลอดจนการปฏิสัมพันธ์กับสถานการณ์จริง อย่างไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา สถานที่ เนื้อหาประสบการณ์ สาระการเรียนรู้ และความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งของท้องถิ่นและในขอบเขตทั่วโลก

กระดานชนวนดิจิตอล ผมอยากจะเรียกว่าอย่างนี้ และเทคโนโลยีการศึกษาบนฐานดิจิตอลนี้ (Digital-Based Edtechnology : ผู้เขียน) นอกจากจะมีความทรงพลังในการสื่อสารเพื่อการศึกษาและสร้างปฏิสัมพันธ์กับแหล่งการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบมากแล้ว ในทางสังคมวัฒนธรรมการศึกษา ก็จัดว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง และจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน ผมจึงจะขอหยิบยกตัวอย่างสักเล็กน้อย เพื่อนำไปสู่การกล่าวถึงความสำคัญของปัญหาการพัฒนาวัฒนธรรมและการศึกษาทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งและควรทำก่อน หรืออย่างน้อยก็ควรทำคู่ขนานไปกับการพยายามใช้เทคโนโลยีการศึกษา ในการจัดการศึกษาระดับต่างๆ ก่อนที่จะกล่าวถึงสภาพทั้งบวกและลบที่จะเกิดขึ้นได้บางประการในลำดับต่อไป

ตัวอย่างแรก : เพื่อนผมคนหนึ่ง เป็นนักเขียนและคนเขียนรูป หลังออกจากทำงานและใช้ชีวิตในเมืองหลวง ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแล้ว ก็ขาดแหล่งหาข้อมูลและหาวัตถุดิบทำงานความคิด จึงยอมลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์และติดตั้งอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้สื่อออนไลน์ทำงานและติดต่อกับโลกรอบข้าง ต่อมาจึงทำงานศิลปะกระดาษและนำเสนอทางสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดเครือข่ายผู้สนใจกว้างขวางทั่วโลก จึงได้ความคิดเขียนภาพและจัดแสดงเผยแพร่ออนไลน์

ในระยะแรกนั้น ภาษาอังกฤษของเพื่อนผมสำหรับสื่อสารบนสื่อออนไลน์นั้นอยู่ในขั้นใช้ไม่ได้เลย แต่ความที่ชุมชนผู้มีความสนใจร่วมกันอย่างนี้ มักจะเป็นชุมชนที่มีธรรมชาติมุ่งน้อมตนเองไปเข้าใจกัน การพูดเขียนด้วยภาษาอังกฤษไม่ได้ จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการที่จะติดต่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความเข้าใจต่างๆที่ต้องการด้วยกัน 

เพื่อนผมนั้นเขียนสีน้ำดีมาก อารมณ์ภาพ ภาษาความงาม และภาษาทีแปรงในงานศิลปะนั้น มีความเป็นสากลที่คนทั่วโลกจะสามารถสัมผัสและเข้าถึงบางสิ่งที่ออกมาจากใจกันของมนุษย์ได้ ดังนั้น ไม่นานเพื่อนผมก็มีแฟนคลับจากหลายประเทศทั่วโลก มีทั้งเป็นจิตรกรมือดีและหลายคนมีชื่อเสียง และต่อมาก็ได้เป็นสมาชิกสมาคมจิตรกรสีน้ำระดับโลกของอเมริกา ด้วยสื่อออนไลน์และเทคโนโลยียุคดิจิตอล กับพลังจากการลงมือด้วยใจ ก็ทำให้เพื่อนผมสามารถข้ามข้อจำกัดทางภาษา ซึ่งผ่านเลยไปถึงจุดที่จะมีคนไทยสามารถเข้าไปถึงจุดนั้นได้เพียง ๒-๓ คนเท่านั้น

ตัวอย่างที่ ๒ : ชุมชนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ถิ่นฐานบ้านเกิดของผม จัดว่าเป็นแหล่งที่อยู่ห่างไกลและขาดทรัพยากรทางการศึกษา ต่างจากสถานศึกษาในเมืองมาก ยิ่งในพรมแดนของการสื่อสารความรู้และการไหลเวียนข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกพร้อมกับมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับถิ่นอาศัยแล้ว ก่อนหน้านี้สัก ๑๐ ปีเท่านั้น ชุมชนหนองบัวก็เหมือนกับเป็นสุญญากาศในโลกของสื่อความรู้ออนไลน์เลยทีเดียว

แต่ต่อมา ผมกับท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) และคนหนองบัว ตลอดจนชุมชนผู้สนใจในเรื่องสุขภาวะชุมชนศึกษาจำนวนหนึ่ง ก็ได้บุกเบิกและช่วยกันเขียน สร้างความรู้และข้อมูล เผยแพร่และสื่อสารออนไลน์ พร้อมกับทำกิจกรรมเชื่อมโยงผสมผสานกับพื้นที่จริงด้วย ก็ทำให้ปัจจุบันนี้ ชุมชนอำเภอหนองบัวมีเวทีสร้างความรู้และสื่อสารเรียนรู้ รวมทั้งสามารถพัฒนาเครือข่าย ระดมพลังความร่วมมือ เพื่อพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมบทบาทการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในอำเภอ เป็นผู้นำในการปฏิบัติทั้งในระดับอำเภอ และในจังหวัดนครสวรรค์

ตัวอย่างที่ ๓ : ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะได้เห็นความเป็นจริงในอีกด้าน ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายจากการใช้มัลติมีเดียและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมกับการมาถึงของสื่อออนไลน์บนเทคโนโลยีดิจิตอล ที่ไม่ใช่เพื่อขยายกำลังการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ แต่เป็นการใช้เพื่อขยายกำลังให้กับด้านลบ เช่น ใช้ทรัพยากรและความสามารถที่มีถ่ายคลิปและส่งสื่อสารออนไลน์การตบตี ก่ออาชญากรรม พฤติกรรมก้าวร้าวและสร้างความรุนแรง การหลอกลวง และการเป็นสื่อแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้น เทคโนโลยีการศึกษา และแม้จะอยู่ในกลุ่มคนที่กำลังศึกษาเรียนรู้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดผลดีต่อการศึกษาตามไปโดยอัตโนมัติเลยทีเดียวเท่าไหร่นัก

ในท่ามกลางสภาวการณ์และความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นได้ทั้งสองด้าน ในอัตราขยายกำลังเป็นทวีคูณทั้งบวกและลบดังกล่าวนี้นั่นเอง สังคมไทยก็กำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่ง โดยจะใช้เทคโนโลยีดิจิตอล เช่น แจกจ่ายแท็ปเล็ต ให้เข้าไปมีบทบาททดแทนเทคโนโลยีการศึกษาบนกระดาษและแบบดั้งเดิมอีกหลายอย่าง  

เมื่อมองย้อนกลับไป นับแต่ยุคเทคโนโลยีการศึกษาแบบจารึกลงหิน สู่การจารใบลาน สักคาถาและหลักชีวิตลงบนร่างกาย มาสู่การใช้กระดานชนวน จากนั้น ก็เป็นการหอบและหนีบสมุดหนังสือแทนกระดานชนวน สู่การสะพายโน๊ตบุ๊คแทนภาพของนักเรียนนักศึกษาหอบหนังสือตำราพะรุงพะรัง และกลับมาสู่ภาพของการเดินตัวปลิวอีกครั้ง ก็แทบจะไม่มีหนังสือและไม่ต้องมีกระเป๋าและย่ามหนังสือและเครื่องเขียนอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นแท็ปเล็ต ซึ่งก็จะเหมือนกับเป็นคลังเครื่องเขียน หนังสือตำรา ห้องสมุด แหล่งการเรียนการสอนทั้งที่ผ่านไปแล้วและสามารถเข้าไปเรียนได้อย่างไม่จำกัดอีกหลายรอบ และอีกหลายลักษณะการทำงาน โดยอยู่บนมือและมีขนาดเล็กกว่ากระดานชนวนเสียอีก ก็ทำให้เกิดแง่คิดหลายอย่าง คือ ...............

  • ทุกครั้ง ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษานั้น ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม และจะไม่มีการหวนคืนไปสู่ที่เดิมอีกเลย 
  • การใช้ทรัพยากรแบบเดิมอาจจะลดลง แต่ต้นทุนเพื่อการศึกษาโดยรวมจะสูงขึ้น ทั้งในระดับรัฐ ปัจเจก และครัวเรือน  
  • เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบทางเทคโนโลยีการศึกษานั้น กระบวนการเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงจะก่อเกิดผลกระทบและผลสืบเนื่องทั้งในเชิงบวกและลบ 
  • ปัจจัยมนุษย์จะพึ่งตนเองได้น้อยลง ภูมิปัญญาปฏิบัติหลายด้านอาจเสียไป
  • การปฏิสัมพันธ์กันของคนมีความซับซ้อนและเป็นเชิงซ้อนมากขึ้น ต่างจากสภาพสังคมแบบทั่วไป เด็ก ผู้เรียน สามารถมีหลายบทบาท และสร้างจินตนาการเกี่ยวกับตนเองหลายรูปแบบทั้งเชิงบวกและลบในโลกไซเบอร์ เช่น ใช้ชื่อปลอม ปิดบังและหลอกฐานะทางเพศสภาวะ วัย และความเป็นตัวตนต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและกระบวนการเชิงพฤติกรรมของสังคมต่อเทคโนโลยีการศึกษา จึงมีความสำคัญมาก

แต่ในยุคดิจิตอลนี้ เมื่อนำเอาเทคโนโลยีการศึกษาในเชิงระบบมาใช้ ซึ่งนอกจากก็จะเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของสังคม ออกจากสภาพเดิม และจะไม่มีการกลับไปสู่ที่เดิมได้อีกแล้วนั้น ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของสังคมในสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยียุคดิจิตอลนี้ ก็จะมีธรรมชาติที่ไม่เหมือนกับที่เคยปรากฏในอดีต กล่าวคือ จะมีอัตราความเร็ว และแพร่สะพัดได้อย่างกว้างขวางเหมือนโรคติดต่อ ระบบเทคโนโลยีการศึกษายุคดิจิตอล มีพลังการขยายผลที่กว้างขวางและรวดเร็ว จึงเป็นการยากที่จะแก้ปัญหาตามหลังการเกิดปัญหาอย่างเดียว  

ดังนั้น หากได้มีการส่งเสริมการสร้างความพร้อม พัฒนาการเรียนรู้ทักษะเทคโนโลยีเพื่อเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง สร้างวัฒนธรรมการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายกำลังการบรรลุจุดหมายสิ่งดี มากกว่าใช้เทคโนโลยีขยายกำลังให้แก่สิ่งไม่ดี ตลอดจนมีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เทคโนโลยีศึกษาตั้งแต่วัยเด็กเพื่ออยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยวิทยาการและเทคโนโลยี ตั้งแต่ในบ้าน โรงเรียน และศูนย์พัฒนาการเรียนรู้สาธารณะของชุมชน สร้างจิตวิญญาณและวัฒนธรรมเทคโนโลยี รักในวิถีความรู้ การสร้างและใช้ความรู้ ซึ่งเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมเทคโนโลยี เหล่านี้ ก็จะเป็นปัจจัยเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม รองรับการนำเอาเทคโนโลยีการศึกษาต่างๆมาใช้ให้ได้ผล สอดคล้องและทัดเทียมกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคม   

การพัฒนาพลเมืองและเตรียมความพร้อมให้ประชากรกลุ่มต่างๆ อยู่เสมอ  จัดว่าเป็นการสร้างและส่งเสริมปัจจัยโน้มนำสิ่งดี ดีกว่าทำงานเชิงรับแบบไล่หลังปัญหา เช่น การบ่มสร้างวิธีคิดและความมีคุณธรรมต่อการใช้เทคโนโลยี ความมีจิตวิญญาณในการเรียนรู้ การรักความรู้และการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน สร้างเครือข่ายเรียนรู้บนสังคมออนไลน์ ซึ่งนอกเหนือจากความสามารถมีเทคโนโลยีเครื่องมือ

สิ่งเหล่านี้ บางที อาจจะไม่สามารถรู้ได้ว่าจะส่งผลต่อการนำไปใช้หรือไม่อย่างไร แต่ก็ต้องทำ เพื่อเป็นพลวัตรปัจจัยที่ดี ที่เอื้อต่อการเกิดผลเชิงบวกให้เกิดขึ้นอีกต่อหนึ่ง  

ในยุคดิจิตอลนั้นนั้น องค์ประกอบด้านนี้หากมีกระบวนการที่ทำให้มีขึ้นก่อน ยืดหยุ่นไปตามบริบทของกลุ่มเป้าหมาย  ก่อนที่จะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี หรืออย่างน้อย ก็มีการดำเนินการคู่ขนานไปด้วยกัน ก็จะทำให้คาดหวังต่อการนำเอาเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้ได้ว่า จะเป็นระบบที่ช่วยขยายกำลังการบรรลุจุดหมายเชิงบวก ได้มากกว่าจะถูกใช้ขยายกำลังความรุนแรงและสร้างผลกระทบเชิงลบ ซึ่งนอกจากอาจจะแก้ไขปัญหาตามหลังได้ยากแล้ว ก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่้ไม่ต้องการที่เกิดขึ้นตามมา ให้กลับไปสู่สภาพเดิมได้อีกเลย  .   

หมายเลขบันทึก: 495399เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2012 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

ในปัจจุบัน การหาความรู้ทำได้อย่างง่ายยิ่ง แต่การได้ความรู้ที่แท้จริงและการประยุกต์ความรู้ที่นั้นค่อนข้างยาก ในอนาคตอย่างว่าแต่เด็กเลยครับ แม้แต่ผู้ใหญ่เอง มาดูว่า คุณคิดอย่างไร 1+1 =2 ท่านใดใช้สมองในการบวกเลข 1+1 = 2 ท่านใดใช้เครื่องคิดเลข 1+1=2 ท่านใดให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวน หากมีโจทย์ที่ยากกว่านี้ ท่านว่าท่านจะใช้เครื่องมือใดในการหาคำตอบ ท่านเพียงแค่รู้ว่า ท่านจะไปหาคำตอบได้จากแหล่งใด ไม่ใช่ท่านจะใช้แสองคิดออกมาว่าันควรจะทำอย่างไร ใช่หรือไม่ ?????

ขอบคุณครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ 

ได้รับการเยือนโดยเจ้าพ่อเทคโนแหล่งสำนักครูพันธุ์ใหม่-ครูเป็นเลิศ นับว่าเป็นเกียรติ เป็นพลังใจ และสร้างความกระชุ่มกระชวยแก่การเสวนาสังสันทน์วิชาการกันมากเลยละครับอาจารย์ เมื่อวานก่อนนี้

ผมได้ไปเป็นประธานสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยของอาจารย์มาอีกคนแน่ะครับ ทุกครั้งที่ไป ก็จะได้ประสบการณ์แปลกใหม่ไม่เหมือนกันเลย คราวนี้ก็เหมือนกันครับ

ก่อนหน้านี้ ผมเดินทางโดยเผื่อล่วงหน้าเป็นชั่วโมง แต่ก็มีปัญหาว่ากว่าจะโบกรถแดงเจอคันที่เขาจะวิ่งผ่านหรือไปมหาวิทยาลัยนั้น ก็เป็นชั่วโมงเลย ยืนรอและโบกจนเมื่อยไม่ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งก็ไปถึงแบบพอดีไม่มีเวลานั่งตั้งหลักเลย

คราวนี้เลยเอาใหม่ ออกเดินทางล่วงหน้าสัก ๒ ชั่วโมงครึ่ง กะว่าเผื่อยืนโบกรถสัก ๑ ชั่วโมง เดินทางสักครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็ไปนั่งกินข้าว นั่งพัก สักชั่วโมง แล้วก็จะเหลือเวลาเตรียมการสักครึ่งชั่วโมง แต่ผลเป็นอย่างไรรู้มั๊ยอาจารย์ !!!!

พอเดินออกไปจะยืนรอรถที่ถนน ยังไม่ทันได้ยืนรอเลย รถมาแล้วครับ ๑ คัน คิดในใจว่าจะโบกทุกคันที่ผ่านมาแหละ แต่ที่ไหนได้ โบกฉึ่กคันแรกก็ได้เลยครับ เลยไปถึงมหาวิทยาลัยของอาจารย์ตั้งแต่ไก่โห่แน่ะ แต่ก็ดีครับ ทำให้หาเรื่องเดินไปนั่งอ่านหนังสือที่สถาบันล้านนาคดีศึกษา เพลินเลยสิครับ ชอบมาก เด็กๆและเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวกก็ทำให้ประทับใจมากครับ 

ไปสอบที่ตึกบัณฑิตวิทยาลัย ก็พบว่าเขาทำห้องน้ำอาจารย์ใหม่แล้วครับอาจารย์ ห้องเดียวกันกับที่ผมเคยเข้าไปแล้วประตูมันเสียเปิดไม่ออก จนต้องให้เจ้าหน้าที่ไปใช้กุญแจแบห้านิ้ว ง้างถีบออกแบบกังฟูน่ะครับ 

พอขากลับ คราวนี้ฝนตกครับอาจารย์ เลยไม่อยากเดินเหมือนกับครั้งก่อนๆ แต่ปรากฏว่าโบกอย่างไรรถก็ไม่ไปทางโรงพยาบาลสวนดอกที่ผมจะต้องไปอาศัยนั่งรถกลับกับภรรยาน่ะครับ พอรอนานเข้า ผมเลยเดินลัดเลาะไปตามข้างถนนแล้วก็โบกรถไปพลาง ฝนก็ดันตกปรอยๆเสียอีก กระทั่งถึงถนรอบคูเมือง ก็เลยไม่โบกแล้ว ที่สุดก็ต้องเดินจนถึงสวนดอกจนได้ เลยกลับตาลปัดกันไปครับ ขาไปคิดว่าช้าก็กลับไปถึงเร็ว ขากลับอยากนั่งรถกลับ แต่ก็ได้เดินกลับอย่างเดิม แม๊!!!  

สวัสดีครับคุณคลินิกเทคโนครับ
การใช้ปัญญาระดับวิจารณญาณนี่สำคัญนะครับ และปัญญาแบบนี้ กลไกในเทคโนโลยีต่างๆจะมีไว้อย่างเบ็ดเสร็จให้พร้อมใช้ไปหมดไม่ได้ ปัญหาอย่างนี้ จึงเป็นปัญหาการเรียนรู้เพื่อพึ่งปัจจัยมนุษย์หรือปัจจัยคน ที่เข้าถึง สร้าง และใช้เทคโนโลยี ซึ่งการสร้างให้รักความรู้ การพัฒนาวัฒนธรรมการใช้ความรู้ และวัฒนธรรมทางเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของสังคมก็คือ หากต้องการใช้เทคโนโลยี ก็จะคิดแค่เรื่องการจะต้องนำมาใช้อย่างเดียว แต่กระบวนการอื่นก่อนหน้านั้น และผลสืบเนื่องหลังจากนั้น เป็นอย่างไร มักไม่ค่อยให้ความสำคัญ ผมจึงต้องขอมองเรื่องนี้และนำมาคุยน่ะครับ

ปัจจัยมนุษย์จะพึ่งตนเองได้น้อยลง ภูมิปัญญาปฏิบัติหลายด้านอาจเสียไป .. นึกถึงเหตุการณ์วันนี้ นั่งรถตู้กลับจากลำปาง ระหว่างทาง คนขับแวะให้ดูตลาดบ้านทาฯ จ.ลำพูน เดินดู เห็นผักหน้าตาแปลกๆ ที่ไม่รู้จักเยอะมาก ที่สำคัญ เมื่ออ้ายคนขับรถตู้ถาม ว่า หมอเคยเห็นตับไก่ปิ้งมีดี (gall bladder) ติดไหม จึงตอบว่า เอ..ไม่เคยเห็น นั่นสิ ทำไมล่ะ อ้ายคนขับหัวเราะ (ประมาณว่า อาจารย์จบหมอได้ไง) "ก็เพราะมันขม นะสิครับ"

สวัสดีครับอาจารย์หมอ ป.ครับ

แง่มุมที่คุณหมอเทียบเคียงเข้ากับสิ่งที่มักได้พบกับตนเองนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากเเลยนะครับ ในสังคมไทยและสังคมต่างๆ จะมีความจริงของตนเอง รวมทั้งมีต้นทุนทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสังคมวัฒนธรรมของตนเอง แต่หากไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์และกระบวนการชีวิต ไม่ได้สอดคล้องและสัมพันธ์กันกับสิ่งที่มี ความรู้หลายเรื่องของเราก็อาจจะแยกส่วนออกจากการมีความเป็นจริงของตนเอง

ผมมีเรื่องเล่าขำๆ แต่ให้ข้อคิดและทำให้เห็นประเด็นสำคัญได้ดีอยู่เรื่องหนึ่งเหมือนกันครับ ได้ฟังระหว่างนั่งคุยกันสัพเพเหระอยู่ในรถขณะเดินทางกลับจากไปทำงานไกลครั้งหนึ่งที่ภาคใต้ คงไม่ใช่เรื่องจริงและน่าจะเป็นเรื่องแต่งแบบเสียดสีเหน็บแนมกันขำๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่สาระสำคัญ เรื่องเล่ามีอยู่ว่า คณะผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและชาวต่างประเทศคณะหนึ่ง จะร่วมกันศึกษาเพื่อนำเสนอเชิงนโยบายเรื่องข้าวและการพัฒนาภาคเศรษฐกิจการเกษตรแก่รัฐบาล แต่เพื่อความน่าเชื่อถือและผลักดันได้สำเร็จ เลยต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา วันหนึ่ง ขณะออกไปศึกษาดูงานตามพื้นที่ต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เห็นที่ดินมากมายอยู่สองข้างถนนข้ามจังหวัด ข้ามภูมิภาค ที่มีต้นไม้และหญ้ารกเรื้อเต็มไปหมด เลยเกิดความสงสัย จึงถามคณะผู้เชี่ยวชาญไทยที่เดินทางอยู่ด้วยกันว่า ทำไมรัฐบาลปล่อยให้ชาวบ้านละทิ้งที่ดินอย่างเปล่าประโยชน์ ปล่อยให้หญ้าขึ้นเต็มโดยไม่นำไปใช้ทำอย่างอื่นมากมายเต็มไปหมด ... คณะผู้เชี่ยวชาญของไทยไม่กล้าตอบผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวจากประเทศอย่างตรงไปตรงมาว่าที่เห็นเป็นหญ้าและผืนดินรกเรื้อนั้นมันคือนาข้าว !!!?

เรื่องของเรื่องก็คือ การเรียนรู้และสร้างคนมีความรู้เป็นจำนวนมากของสังคมนั้น หลายเรื่องเป็นความรู้เชิงทฤษฎีและคิดเอาด้วยความรู้ ที่สร้างความจริงบนตรรกะของระบบความรู้ แยกส่วนออกจากความเป็นจริง หลายเรื่องก็เลยจะเกิดสภาพการณ์ต่างๆ คือ ได้อยู่กับของจริงแต่ไม่รู้ ต้องไปขอความรู้จากแหล่งที่คิดเอาว่ารู้แต่ไม่มีของจริง เป็นต้นว่า มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่เราต้องไปเรียนรู้เรื่องราวเพื่อใช้ทำงานด้านต่างๆของสังคมไทยจากความรู้ของต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ความรู้ที่มี ก็ไม่สามารถใช้เพื่อรู้จักตนเอง ทำให้เข้าไม่ถึงโอกาสการพัฒนาและความริเริ่มสิ่งต่างๆที่จะสามารถเดินออกมาจากต้นทุนที่มีอยู่กับตนเองได้ หลายเรื่องที่เป็นเรื่องเรียนรู้และหาปัญญาเกี่ยวกับตนเอง ก็ไม่มีที่ให้ใช้ ไม่มีความหมายเพราะไม่อยู่ในกระแสนิยมของสังคม ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ หากนำมาใช้ ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องผิดปรกติไปเลย ผมเองนี่ก็เป็นอย่างตัวอย่างที่คุณหมอปรารภกับตนเองมากเหมือนกันครับ เคยเดินในตลาดและลองทำความรู้จักชื่อพืชผักที่ชาวบ้านนำมาวางขายดูอยู่เรื่อยๆครับ แต่รู้จักน้อยมาก และพอพยายามถามเพื่อค่อยจดจำไป พอเจออีกก็ลืมอีก เรื่องต่างๆที่ไม่มีวิถีชีวิตการงานเข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่มีฐานทางสังคมรองรับไปด้วยนี่ ลืมหมดครับ หากมองออกไปสู่เรื่องการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ ก็น่าจะอยู่ตรงที่การต้องสร้างปฏิสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกันแบบไปด้วยกันของความรู้กับภาคปฏิบัติ อย่างชุมชนปฏิบัติ และวิธีบันทึกถ่ายทอดบทเรียน รวบรวมและสื่อสารเรื่องที่ได้จากการปฏิบัติ หรือพานพบในชีวิตการทำงาน ใน Gotoknow นี่ ก็คิดว่าเป็นทางหนึ่งที่จะลดช่องว่างที่ว่านี้นะครับ

แต่ตัวอย่างของคุณหมอ ที่เหมือนกับทำให้ได้เห็นอีกหลายอย่างของตนเองที่เราไม่รู้ เพราะไม่รู้จักคุ้นเคยกับของจริงอย่างตับไก่ไม่มีดีนี่ ขำดีนะครับ ผมเองนั้น หากเจอมุขนี้ละก็ ผมว่าผมคิดไม่ทันหรอกครับ ชอบครับชอบ ขอจำไปใช้อำคนอื่นเมื่อมีโอกาสต่อนะครับ

ชอบมากครับ กับบทวิเคราะห์ บทสนทนา แลกเปลี่ยนสาระ(โดยเฉพาะแบบหลุดกรอบ) ของท่านกูรูเยี่ยงท่าน ผมเป็นคนพูดไม่เก่งเท่าที่เขียนได้ ผมเขียนได้ไม่เก่งเท่าที่คิดได้ ผมคิดได้ไม่เก่งเท่ากับกับการไตร่ตรองจากผู้รู้วิเคราะห์ นำทางไว้ให้ จึงขอมีส่วนร่วม เท่าที่ทำได้ คือ... ติดตามอ่านสิ่งดีๆ จากเหล่าท่านกูรูไปเรื่อยๆครับ ขอบคุณ...

I think, the world goes into digital technologies because of the trend for more exact replication (mass re/production). These technologies now give access to vast amount of knowledge at the speed closer to the speed of access to memory in our own brain (rote learning or commiting facts to memory is not that necessary any more). Many processes have been abstracted and mechanically automated (so learning and training for repetitive tasks are not that necessary either). Thinking and generating innovative ideas can be performed by trials-and-errors by computers at high speed speed (so we don't need man to do 'all' the thinking either). We can see that only a few hops away the technologies that get applied in 'EdTech' can take shortcuts and by-pass 'educating human' with skills that technologies can do directly!

What is there that 'human and education' can do, in the future? Arts, emotional activities, beliefs and survival? All those human skills used on other human (sensory/sensual skills) seem best candidates (so we are back to self-indulgence and 'the fresh').

New frontiers (the deep oceans, space, the origin of life, the smallest particles,...) may be for some human. But for the rest 90+%?

  • ในสภาพโรงเรียนผมอยู่ คอมพิวเตอร์ที่บ้านเด็กส่วนใหญ่ไม่มี จึงใช้ที่โรงเรียนและร้านเกมแทบทั้งนั้น หรือไม่ก็ใช้โทรศัพท์ที่สามารถติดต่ออินเทอร์เน็ตได้ สำหรับเรื่องราว สาระ หรือข้อมูลต่างๆที่เด็กๆสนใจ เท่าที่ได้พูดคุยและตัวเองรู้สึก มักจะสร้างปัญหามากกว่าสร้างปัญญาครับอาจารย์ อาจเป็นเพราะความพร้อมของพวกเขาหรือของครอบครัวเขานั่นเอง รวมทั้งโรงเรียนเองที่ไม่อาจทุ่มเทดูแลเรื่องนี้ให้เขา แต่ก็ยังนึกเสมอครับว่ามันเป็นประโยชน์มากมายมหาศาลอย่างที่สื่ออื่นๆที่เราเคยมีเคยใช้ไม่อาจทำได้ จึงหวังว่าวันหนึ่งหรือวันหน้าทิศทาง เรื่องราว ตลอดจนข้อมูลข่าวสารต่างๆที่เด็กๆสนใจ จะเป็นการสร้างความรู้หรือสร้างปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งถ้าหากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ รัฐ ฯลฯตระหนักในเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน ได้พูดคุย วางแผนในการจัดการ และ/หรือให้เวลาบุตรหลานหรือลูกศิษย์มากขึ้น วัฒนธรรมที่ดีหรือการใช้เทคโนโลยีอย่างที่จะเกิดประโยชน์กว่าในปัจจุบันก็น่าจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น 
  • ขอบคุณความรู้และข้อคิดดีๆครับอาจารย์

สวัสดีค่ะอาจารย์พี่ม่อย  ชอบอ่านการสนทนาตอบของพี่ม่อยค่ะ เหมือนได้นั่งตามขอบเวทีวงสนทนา 

ตรงที่พี่ม่อยพูดเรื่อง เทคโนโลยีการศึกษาที่อยู่ในแวดวงผู้รู้หรือกำลังใช้ในการเรียนรู้นั้น...  จากเหตุการณ์ที่ประสบฟังมาสองเรื่องซ้อนจากสองคนในบ้าน ในฐานะผู้เข้าใช้บริการโฮงยา (ที่เดียวกับที่พี่ม่อยเดินเท้าไปถึงนั่นแหละค่ะ) มันทำให้ฉงนไม่น้อยว่า มนุษย์เราฝากชะตาชีวิตของตัวเองไว้ในเครื่องมื่อไฮเทค และกับโปรแกรมสารพัดนึกเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์หรืออย่างไร  เมื่อบังเอิญไฟดับ  หมอก็ทำอะไรไม่ได้ ตรวจวินิจฉัยโรคให้คนไข้ไม่ได้  สั่งยา เดินยาออนไลน์ไปห้องจ่ายยาหรือคิดราคาค่าบริการก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องเชิญคนไข้กลับบ้านไปก่อนหลังจากมาต่อคิวรอราวสามสี่ชั่วโมง เพื่อจะพบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ขัดข้อง  เคสนี้เป็นเรื่อนคนกับคนที่ลากเอาเทคโนโลยีมาเป็นตัวเกี่ยว(อะไรด้วย)  

มาอีกเคสหนึ่งของคนในบ้านเหมือนกันค่ะ  มีนัดไปตรวจที่โฮงยา(ฉากเดียวกัน) คราวนี้ เทคโนโลยีใช้การได้ปกติค่ะ  แต่กว่่าคนไข้จะได้ตรวจก็เจออุปสรรคนานาจากคุณหมอมือใหม่ที่วิ่งเข้าวิ่งออกห้องตรวจที่คุณหมอมือโปรกำลังให้บริการ(เข้าเวร) วิ่งเข้าวิ่งออกสอนอธิบายกันอยู่นาน กว่าคนไข้แต่ละคนจะได้รับการตรวจให้แล้วเสร็จ เอ๊ะ แล้วนี่ในเครื่องมือไฮเทคไม่ได้บรรจุคำสั่งสอนอะไร ว่าเคสไหนเป็นอย่างไรจะดูแลเช่นไรไว้หรอกหรือ  งานนี้เราจะโทษใครหรืออะไรดีคะ ตกลงเทคโนโลยีการศึกษาช่วยในการเรียนการสอนได้จริงไหม

ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ขอพาดพิงไปถึงอู่ข้าวอู่น้ำที่ให้เราร่ำเรียนค้นคว้าศึกษาด้วยตนเองด้วยนะคะ(ห้องสมุดค่ะ) ทุกวันนี้เมืองไทยกับตู้บัตรรายการยกเลิกใช้งานไปแล้ว พึ่งพาไอที  อุปกรณ์การสื่อสาร และ พลังงานไฟฟ้าให้แสงสว่าง(โดยเฉพาะที่ให้พลังกับแม่ข่ายหรือ server) ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ก็เป็นเกมโอเวอร์ค่ะ แบบนี้จะเป็นอุปสรรคปัญหาตามหัวข้อสนทนานี้ได้ไหมคะ

(อยู่นอกวงแต่แสดงความเห็นเยอะจัง)

สวัสดียามเย็นค่ะอาจารย์วิรัตน์ที่เคารพ

อิ่ม ค่ะ อิ่ม  เต็มอิ่มด้วยสาระและความเพลิดเพลิน

ขออย่าให้เหมือนเทคโนโลยีทางการแพทย์นะคะ  หลายสิ่งช่วยให้อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นก็จริง  แลกกับทรัพยากรที่ใช้  โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ...จนกว่าประเทศจะเจ๊ง

การดูแลพึ่งตนเอง  ด้วยความเป็นชุมชน  ด้วยความรู้ที่เชื่อมโยงกับภูมิวัฒนธรรม  สังคม  ภูมิศาสตร์ ... หาได้ยากเต็มที  ถูกทำให้ต้องพึ่งพิงภายนอกมากกว่า

และพึ่งพิงเรื่อยไป

หวนคืนกลับมา เช่น "แคปซูลฟ้าทลายโจร"    ก็ไม่เหมือนแบบหมอยาใช้ดั้งเดิม

 

สวัสดีค่ะอาจารย์น่าชื่นชมและได้สาระความรู้กับการพัฒนาการศึกษาไทย ดิฉันเรียนกับเด็กจบ ป. ตรี ใหม่ อาจารย์ท่านได้เอ่ยถึงกระดานชนวน เด็กคนนี้ก็ทำหน้า งง หันมาถาม อะไรค่ะพี่ ก็เข้าใจว่าไม่เคยเห็น และขาดการแนะนำ เพราะมาในยุค ดิจิตอล แต่ก็ได้คำใหม่ " กระดานดิจิตอล" ที่จะเป็นสื่อทดแทนหนังสืออีกมากมาย แล้ว "มาไวก็ไปไว" ได้นะคะแบบว่าครูยังตามไม่ค่อยจะทันเทคโนโลยี

สวัสดีครับคุณวิฑูรครับ
ขอบคุณคุณวิฑูรครับ ออกตัวและถ่อมตัวมากเลยนะครับ ดีใจครับที่เข้ามาอ่านและทักทายกัน 

สวัสดีครับคุณ sr ครับ
แง่มุมอย่างที่คุณ sr ชวนให้คิดนี่ ดูอย่างกระแสของการใช้สื่อออนไลน์เป็นตัวอย่างนี้ก็ได้เหมือนกันนะครับ เพราะคนส่วนน้อยเท่านั้นของสังคมไทยและทั่วโลก ที่จะสามารถเข้าถึง ในขณะที่สังคมมักบอกว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คน จึงต้องลงทุนและส่งเสริมระบบต่างๆอีกมากมายให้เอื้อต่อสิ่งนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่รู้ว่าแนวโน้มต่างๆเมื่อไหร่จึงจะมุ่งออกไปสนองตอบต่อคนส่วนใหญ่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว กลับยิ่งสุดโต่งออกไปทางที่ทำให้คนที่เข้าถึงเป็นส่วนน้อยอยู่แล้ว ยิ่งได้ความสะดวกและสนองตอบต่อไลฟ์สไตล์ของปัจเจก หนีออกไปสู่พรมแดนที่มีความเป็นส่วนน้อยมากยิ่งๆขึ้นไปอีก อยู่เสมอๆ

พอคนส่วนใหญ่ทำท่าจะก้าวทัน ก็จะไม่ทันได้ใช้ในชีวิตอีก เพราะคนส่วนน้อยที่มีโอกาสดีกว่าอยู่เสมอ ก็จะวิ่งไปหาวิทยาการและเทคโนโลยีที่ดีกว่าต่อไปอีกเรื่อยๆ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ก็กลับจะยิ่งแย่ลงกว่าเดิม และโดยรวมแล้ว ก็เหมือนจะเดือดร้อนร่วมกันและมีภาวะวิกฤติที่หนักหน่วงกว่าเดิมอีกหลายอย่างอีกด้วย ดังนั้น หากสามารถมองอย่างไม่ลดทอน ไม่มองความเป็นเทคโนโลยีมิติเดียว ในกรณีต่างๆ ก็จะเป็นเรื่องดีต่อสังคมระดับต่างๆมากเลยนะครับ 

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ
เห็นด้วยมากเลยครับ บทบาทครอบครัวและชุมชน มีความสำคัญมากเลยครับ 
เรื่องนี้ ควรจะเป็นวาระหนึ่งอยู่เสมอๆในเวทีชุมชนและเวทีเครือข่ายครอบครัว 

สวัสดีครับ มล.ต๋อยครับ
ยุคนี้นี่ ห้องสมุดน่าจะสามารถพัฒนาและใส่ลูกเล่นกับพื้นที่ทางปัญญาได้อย่างก้าวกระโดดมากเลยนะครับ  

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
แง่มุมอย่างที่คุณหมอกล่าวถึงนี่ เป็นส่วนหนึ่งที่ผมเองก็คิดว่า ทางด้านเทคโนโลยีการศึกษานั้น เราต้องให้ความสนใจต่อการที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ชุมชนด้วย โดยเชื่อมโยงกับฐานชีวิตการอยู่อาศัย ทำให้สามารถจัดความสัมพันธ์และมีกำลังคิด ที่จะปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ให้มีความสมดุล พึ่งตนเองได้ และสร้างสุขภาวะในการอยู่ร่วมกับโลกภายนอกได้ การมีกระบวนการเรียนรู้เรื่องอย่างนี้สอดแทรกเข้าไปในโอกาสการทำงานต่างๆ ก็จะช่วยให้วิธีคิดและเสริมศักยภาพต่อเรื่องนี้ให้กับปัเจก ครอบครัว และชุมชน ได้ดีเหมือนกันนะครับ

สวัสดีครับคุณครู krutoom ครับ
การมาไวไปไวนี่ก็เป็นอีกแง่หนึ่งครับ ที่ต้องเพิ่มการให้ความสำคัญในการพัฒนาไปที่การมีหลักคิดและฐานความรู้เชิงกระบวนการ ทางเทคโนโลยีการศึกษา โดยพึ่งการปฏิบัติของตนเองให้ได้เป็นหลัก มากกว่าพึ่งเทคโนโลยี เพราะหากพึ่งเทคโนโลยีอย่างเดียวละก็ ตามไม่มีทางทันเลยนะครับ และจะเป็นวิธีนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ที่จะทำลายพลังของครูอีกด้วย ครูและผู้คนที่ใช้ แทนที่จะได้เป็นนายตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง และเป็นนายเทคโนโลยี สามารถเลือกใช้ตามเงื่อนไขที่เหมาสมให้มาเสริมกำลังการแก้ปัญหาของคนที่มี ก็กลับจะกลายเป็นเหยื่อ มากขึ้น-มากขึ้น เป็นวิถีปฏิบัติต่อการเลือกสรรพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการศึกษา ที่ไม่น่าจะดีนัก

ในความรู้สึกส่วนตัวมองว่าการศึกษาไทยกำลังเร่งเข้าสู่หายนะทางการเรียนรู้ พยายามจะวิ่งให้ทันเทคโนโลยีโดยไม่ได้มองผลกระทบ และมุ่งเน้นไปที่เด็กชั้นประถมศึกษาเป็นวัยที่จะต้องปูพื้นฐานความรู้โดยครูผู้สอนเป็นหลัก ไม่ได้บอกว่าจะปฏิเสธรับเทคโนโลยีเสียทั้งหมด แต่การพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป ทั้งๆ ที่เด็กไทยยังไม่มีภูมิคุ้มกันก็อาจจะทำให้พลังสมองของชาติต้องฝ่อไปกับเทคโนโลยีก็เป็นได้

ในความเห็นของอาตมา  การที่เราจะเรียนรู้อะไร...? ต้องมีกระบวนเรียนรู้อารมณ์กับจิตเสียก่อน  ปัญหาจะได้ไม่เกิด..คือ

...การแยกกันของอารมณ์กับจิต.. คือ ความสงบนั้นเป็นเพียงอารมณ์ หรือสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น...รู้ว่าสงบ(อารมณ์) จิต คือ ตัวผู้รู้ ผู้กำลังดูอยู่นั้นมีอยูอีกต่างหาก...สรุปว่าแยกจิตของผู้รู้ออกมาจากอารมณืที่ถูกรู้... 
...โดยธรรมชาติแล้ว คนมีสติอยู่เสมอ ๆ เมื่อจิตตั้งใจที่จะรู้อารมณ์...แต่ ถ้าจะให้เป็นสัมมาสติได้นั้น ก็ต่อเมื่อมี "สัมปชัญญะ" ความรู้ตัวทั่วพร้อม ความรู้โดยตระหนัก ความรู้ชัดเข้าใจชัด ซึ่งสัมปชัญญะนี้มักจะอยู่กันกับสติ ควบคู่กันไปด้วย..
...ความรู้ตัวไม่เผลอนั้น เข้าใจยากที่สุด เพราะถามใคร ใครก็รู้ตัวทั้งนั้น ทั้งๆที่ยังมีความหลงติดอยู่ในจิต (โมหะ) แฝงอยู่ลึกๆตลอดเวลา จงระวังให้ดี...ระวังว่า ในความไม่รู้ของเรานั้น มีความไม่รู้ว่าไม่รู้.."ทับซ้อน" ลงไปเป็นชั้นๆของดวงจิตอยู่ด้วย...มันน่ากลัวที่สุด.. ก็รู้นี่น่ะ..จะว่าไม่รู้เพราะอะไร..? (สติ + สัมปชัญญะ).


สวัสดีครับอาจารย์วิรัตน์

ขอบคุณมากครับสำหรับตัวอย่างที่ชี้นำผลกระทบของเทคโนโลยีได้น่าสนใจ ถ้าในระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ในทางสุขภาพจิต ก็กล่าวว่า เทคโนโลยีที่มีคุณค่าคือความสามารถของมนุษย์ที่เข้าใจในตนเองอย่างถ่องแท้ครับ

องค์ความรู้และความเพลินในอรรถรส เป็นสิ่งที่ได้รับด้วยความยินดี @ของคุณอาจารย์มากนะครับ

สวัสดีครับคุณครูต้นเทียนครับ
น่าจะเป็นโอกาสให้การศึกษาและพัฒนาทักษะเทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัวหรือในชีวิตประจำวัน ดีเหมือนกันนะครับ

กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ
รวมทั้งเรื่องการเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้นี่ หากให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจด้วย ก็จะทำให้เป็นเทคโนโลยีการศึกษา ที่สามารถเชื่อมโยงกับการส่งเสริมการพัฒนาออกจากด้านในของมนุษย์ด้วยเลยนะครับ 

สวัสดีครับอาจารย์ Dr.Pop ครับ
ความมีคุณค่าและมีความหมายของเทคโนโลยีนี่ เป็นตัวบอกอยู่ในตัวว่าเทคโนโลยีนั้น ย่อมมีความสอดคล้องกลมกลืน ตรงใจ ตรงความต้องการ ตรงความจำเป็น ดังนั้น ในมุมกลับ จึงต้องได้มาจากการรู้ทั้งความจำเป็นของตนเองและการรู้จักใช้ ต้องออกมาจากการรู้จักเทคโนโลยีและรู้จักตนเองเป็นอย่างดีนั่นเอง เลยขอยืนยันบทสรุปของอาจารย์ด้วยครับ
 

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
ตอนนี้ผมอยู่ที่ภาคใต้ถิ่นของคุณแสงแห่งความดีนะเนี่ย อยู่ที่ระนองแน่ะครับ แต่พรุ่งนี้จะกลับแล้ว มาตระเวนอยู่แถวใต้นี้ครบสัปดาห์หนึ่งพอดีเลยละครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท