Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาเด็กชายซันเมี๊ยไมทาแห่งอำเภออุ้มผาง : คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ซึ่งมีมารดาเป็นคนหนีภัยความตายในค่ายผู้ลี้ภัย


ตอบคุณกฤษฎาเรื่องสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาของเด็กชายซันเมี๊ยะไมทาแห่งอำเภออุ้มผางซึ่งมีบิดาเป็นคนสัญชาติไทย และมีมารดาเป็นคนหนีภัยความตายในค่ายผู้ลี้ภัย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/495502

http://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151107100668834

ข้อเท็จจริง

ปรากฏจากการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของนายกฤษฎา ชีช่วง ทนายความวิชาชีพประจำคลินิกอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชนใน http://www.gotoknow.org/blogs/posts/495341 ว่า เด็กชายซันเมี๊ยไมทาเกิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ จากนายไนท์ คนสัญชาติไทย และนางยลดา (นามสมมติ) ซึ่งเป็นผู้หนีภัยความตายจากประเทศพม่าเข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ณ อำเภออุ้มผาง ประเทศไทย ทั้งนี้ บิดาและมารดาของเด็กชายซันเมี๊ยไมทาได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

นางยลดาได้คลอดซันเมี๊ยไมทาในศูนย์พักพิงชั่วคราว นายทะเบียนประจำศูนย์พักพิงชั่วคราว ผู้รับแจ้งการเกิดในศูนย์พักพิงชั่วคราวได้ลงรายละเอียดในหนังสือรับรองการเกิดว่า นายไนท์ซึ่งเป็นบิดามีสัญชาติพม่า ดังนั้น เมื่อนายไนท์ได้นำหนังสือรับรองการเกิดฉบับดังกล่าวไปติดต่อกับอำเภอเพื่อขอแจ้งการเกิดและเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านให้ ซันเมี๊ยไมทา อำเภอไม่ดำเนินการให้เนื่องจากไม่ปรากฎว่าเด็กเป็นบุตรของผู้มีสัญชาติไทย จึงทำให้เซันเมี๊ยไมทาประสบปัญหาความไร้รัฐจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความเป็นห่วงในปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของบุตรชาย นายไนท์จึงพาได้พาซันเมี๊ยไมทา ไปตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตร ซึ่งผลการตรวจนั้นนายแพทย์ที่ตรวจได้ลงความเห็นว่า ซันเมี๊ยไมทาเป็นบุตรของนายไนท์จริง แต่อย่างไรก็ตาม ปลัดอำเภออุ้มผางก็ยังต้องการให้มีการนำพยานบุคคลมานำสืบว่า บุคคลที่อ้างตนว่าเป็นนายไนท์และเด็กชายซันเมี๊ยไมทาต่ออำเภอและายไนท์และเด็กชายซันเมี๊ยไมทาตามหนังสือรับรองการตรวจ DNA ของแพทย์นั้นเป็นคนคู่เดียวกันจริง

ประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณา

๑.         กฎหมายที่มีผลกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดของซันเมี๊ยไมทา

เมื่อซันเมี๊ยไมทาเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔ กฎหมายสัญชาติไทยที่มีผลในช่วงเวลานี้ จึงได้แก่ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ รวมตลอดถึง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

แต่เมื่อพิจารณากฎหมายดังกล่าวแล้ว บทบัญญัติที่กำหนดสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดย่อมได้แก่ (๑) มาตรา ๗ (๒) มาตรา ๗ ทวิ และมาตรา ๘ ซึ่งรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดให้แก่บุคคลใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

ลักษณะแรก ก็คือ โดยมาตรา ๗ (๑)  แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ บุคคลที่เกิดจากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย อันทำให้บุคคลในสถานการณ์นี้ถูกเรียกว่า “คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา” หรือ “คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา”  แล้วแต่กรณี แต่จะต้องตระหนักว่า โดยมาตรา ๗ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ หากบิดาและมารดามิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะก่อนหรือหลังบุตรเกิด การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ “กฎกระทรวงกำหนดวิธีการและค่าธรรมเนียมการขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทยของผู้เกิดเพื่อการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด พ.ศ.๒๕๕๓”

ลักษณะที่สอง ก็คือ โดยมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ บุคคลที่เกิดในประเทศไทย อันทำให้บุคคลในสถานการณ์นี้ถูกเรียกว่า “คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน”  แต่จะต้องตระหนักว่า การเข้าสู่สิทธิในสัญชาติดินแดนโดยการเกิดเป็นไปได้ ๒ ลักษณะย่อย กล่าวคือ (๑) การเข้าสู่สิทธิจะเป็นไปโดยผลของกฎหมาย ไม่ต้องร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย หรือจากบิดาและมารดาต่างด้าวซึ่งมีสิทธิอาศัยถาวรจึงไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และมิใช่บุคคลที่มีเอกสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศตามมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ และ (๒) การเข้าสู่สิทธิจะเป็นไปโดยการร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหากบิดาและมารดาต่างด้าวซึ่งมีสิทธิอาศัยไม่ถาวรจึงตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และมิใช่บุคคลที่มีเอกสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศตามมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

๒.        ซันเมี๊ยไมทามีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของการได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตหรือไม่ ?

หากพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ปรากฏได้ว่า นายไนท์คนสัญชาติไทยเป็นบิดาของซันเมี๊ยไมทาจริง เขาก็จะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยผลของมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ แต่จะมีการใช้สิทธินี้ได้ ก็ต่อเมื่อ (๑) บิดาและมารดาจะต้องจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเสียก่อน หรือ (๒) บิดาหรือมารดาจะต้องไปยื่นขอพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตรกันตามที่กำหนดในมาตรา ๗ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

๓.        ซันเมี๊ยไมทามีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของการได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนหรือไม่ ?

หากพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ปรากฏได้ว่า ซันเมี๊ยไมทาเกิดในประเทศไทยจริง เขาก็จะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และหากพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้อีกว่า บิดาเป็นคนสัญชาติไทย ซันเมี๊ยไมทาก็จะไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ อันเป็นข้อยกเว้นของสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย และเมื่อฟังได้ว่า นายไนท์เป็นคนสัญชาติไทยและนางยลดามิใช่คนต่างด้าวที่มีเอกสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นของสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมายตามาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

๔.        ซันเมี๊ยไมทามีสิทธิในการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทยหรือไม่ ?

หากพิสูจน์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ปรากฏได้ว่า ซันเมี๊ยไมทาเกิดมีสิทธิในสัญชาติไทยทั้งโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕  และ โดยหลักดินแดนโดยผลของมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕  เขาจึงมีสิทธิในการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

๕.        ซันเมี๊ยไมทามีสิทธิในการรับรองสถานะคนเกิดในทะเบียนราษฎรไทยอย่างถูกต้องหรือไม่ ?

หากพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ปรากฏได้ว่า ซันเมี๊ยไมทาเกิดจากบิดาซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย เขาก็มีสิทธิที่จะได้รับการแก้ไขเอกสารทางทะเบียนราษฎรให้ต้องตามความเป็นจริง คลินิกอุ้มผางจึงมีหน้าที่ผลักดันการแก้ไขหนังสือรับรองการเกิดที่ออกโดยผิดพลาดให้ถูกต้อง และผลักดันต่อไปให้อำเภออุ้มผางออกสูติบัตรให้อย่างถูกต้องอีกด้วย หากหนังสือรับรองการเกิดที่ได้มาเป็นเพียงการรับรองการคลอด มิใช่การรับรองโดยนายทะเบียนราษฎร

๖.         ซันเมี๊ยไมทามีสิทธิในการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทยอย่างไม่ชักช้าหรือไม่ ?

หากพิสูจน์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ปรากฏได้ว่า ซันเมี๊ยไมทาเกิดมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด เขาก็จะมีสิทธิในการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยอย่างไม่ชักช้า การยื่นคำขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านของบิดาในสถานะคนสัญชาติไทยจึงควรทำเป็นคำร้องที่ชอบด้วยกฎหมายการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้มีสิทธิยื่นฟ้องศาลปกครองได้ หากมีการปฏิเสธสิทธิหรือการเพิ่มเป็นไปอย่างล่าช้าเกินสมควร เราคงตระหนักได้ว่า หากซันเมี๊ยไมทายังไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทย เขาก็จะยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน จึงทำให้การใช้สิทธิในหลักประกันสุขภาพทำไม่ได้ จึงทำให้การเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ตามมา

 

หมายเลขบันทึก: 495502เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 06:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท