มิติสังคมวัฒนธรรมกับเทคโนโลยีการศึกษา


คนทั่วไป รวมไปจนถึงคนทำงานทางด้านการศึกษาและทำงานกับความรู้ ตลอดจนคนทำงานในระบบการผลิตและบริการสมัยใหม่ซึ่งอยู่บนฐานความรู้นั้น  หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องมือและวิธีทำงานเพื่อสร้างและใช้ความรู้ในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งสื่อ เทคโนโลยีการศึกษา และนวัตกรรมต่างๆที่คิดค้นเพื่อนำมาใช้สำหรับบรรลุจุดหมายด้วยแนวคิดและวิธีใหม่ๆทางการศึกษา ก็จะเป็นวิธีหนึ่ง แต่จะเกิดสัมฤทธิผลมากน้อยอย่างไรหรือไม่นั้น เป็นปัญญาปฏิบัติและเป็นปัญหาของการคิดสร้างสรรค์ ที่จะเป็นการใช้และพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีการศึกษา ว่าทำให้เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมพอเพียงอย่างใดหรือไม่

การใช้เทคโนโลยีการศึกษา รวมทั้งการนำเอาวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในสังคมอย่างเกินความจำเป็นและอย่างไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกเสียจากเพียงทำตามอย่างและไล่ตามความทันสมัย รวมทั้งระบบและกลไกที่มีในสังคมก็ทำเพียงเป็นธุรกิจสินค้าเทคโนโลยีเท่านั้น เหล่านี้ นอกจากจะเป็นการใช้เทคโนโลยีการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นเพื่อพัฒนาการศึกษาและไม่สนองตอบต่อการพัฒนาสุขภาวะสังคมแล้ว ก็สามารถเป็นปัจจัยก่อปัญหาให้เกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งที่จะส่งผลกระทบและก่อให้เกิดผลสืบเนื่องอีกมากมายตามมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากวิทยาการและเทคโนโลยีเหล่านั้นอยู่บนฐานความรู้ของต่างประเทศ ไม่มีรากทางภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงอยู่กับสังคมวัฒนธรรมตนเองและไม่มีองค์ความรู้ที่ดีอยู่ในตัวคนหรือสั่งสมอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ก็จะทำให้การพัฒนาทางการศึกษาและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีการศึกษาดังกล่าวขาดความมั่นคงยั่งยืน พึ่งตนเองทางการจัดการในระยะยาวไม่ได้

นอกจากนี้ หากเป็นเทคโนโลยี ที่มีวัฒนธรรมและกระบวนการปฏิบัติ ที่จัดวางคนและมีเงื่อนไขที่สร้างการปฏิสัมพันธ์กันของคนบนระบบกลไกของเทคโนโลยี ขัดแย้งและหักล้างกับทรรศนะพื้นฐานและหลักคิดสำคัญทางด้านต่างๆในสังคม เทคโนโลยีและระบบดำเนินการที่เกิดขึ้นตามมาต่างๆดังกล่าว ก็จะเป็นกระบวนการสร้างสังคมวัฒนธรรมและวิถีดำเนินชีวิตอย่างใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งหากไม่รู้จักและมีปัญญาที่ทัดเทียมเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน หลุดลอยออกจากฐานทางภูมิปัญญาที่สั่งสมมากับตนเองไปขึ้นต่อภูมิปัญญาภายนอกที่ตนเองจะมีพลังอำนาจทางความรู้จัดการได้น้อยลง หากเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและเป็นจำนวนมาก ก็จะก่อให้เกิดสภาพการมีและใช้เทคโนโลยีการศึกษากับการพัฒนาตนเองแบบผิวเผิน ‘ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา’ ซึ่งถ้าหากเป็นในลักษณะนี้แล้วละก็ แม้เทคโนโลยีดังกล่าวจะมีราคาเพียง ๑ บาทก็นับว่าแพง

แต่ถ้าหากเป็นการใช้เทคโนโลยีการศึกษาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และพอเพียง สอดคล้องกับความจำเป็น ทำให้สามารถบรรลุจุดหมายที่ต้องการร่วมกันได้อย่างพอสมควรแก่เหตุปัจจัยที่มี กลมกลืนและสอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรม ส่งเสริมคน ชุมชน และองค์กร ให้มีความสามารถพึ่งตนเองในการจัดการสิ่งต่างๆได้แล้ว ก็จะไม่มีคำว่าถูกหรือแพง ดีหรือไม่ดี เพราะอยู่บนฐานของความถูกต้อง เหมาะสม และพอเพียง ถึงแม้จะต้องลงทุนนับหลายล้านบาท ก็นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ถูกและเหมาะสม

ปัจจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนรู้ของคน ให้เข้าถึงคุณค่าและความหมายที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี ตลอดจนกระบวนการเรียนรู้และการมีความลึกซึ้งต่อมิติสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งการสร้างปัญญาเป็นของตนเอง แม้จะเริ่มจากการใช้แล้วสั่งสมให้งอกงามเติบโตขึ้นบนการปฏิบัติ แต่ให้มีความเป็นตัวของตัวเอง และการใคร่ครวญไปกับการปฏิบัติ ให้การมีและใช้เทคโนโลยีการศึกษา เปลี่ยนจากการเป็นเพียงผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีและพยายามใช้ของแปลกใหม่ สู่การเป็นกระบวนการปฏิบัติทางปัญญา มีหลักคิด อธิบายตนเองทางการปฏิบัติได้ 

ตลอดจนเห็นความเชื่อมโยงกับต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรม ส่งเสริมการพึ่งตนเองและความสามารถเป็นนายตนเองของชุมชนและสังคม สามารถอยู่ร่วมกับสังคมอื่นด้วยการมีความแตกต่างหลากหลายเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันอย่างเหมาะสม เหล่านี้ จึงมีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นับแต่ครู คนทำงานการศึกษา ปัจเจก ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา หน่วยงานและองค์กร ตลอดจนรัฐบาลและภาคสาธารณะในภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคม จะต้องหมั่นคำนึงถึงและนำมาพิจารณาใคร่ครวญกันไปด้วยทุกครั้งที่มีการคิดและริเริ่มการนำเอาเทคโนโลยีการศึกษาต่างๆมาใช้ในสังคม

แต่ทั้งนี้ จะต้องมีความเข้าใจและรู้จักดีพอสมควรว่า เทคโนโลยี กับเทคโนโลยีการศึกษานั้น ไม่เหมือนกัน โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ สื่อมัลติมีเดีย เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีดิจิตอล ลงไปจนถึงเครื่องเสียงหน้าเสาธง ผีตาโขน หนังตลุง แม้กระทั่งกระดาษเปล่าแผ่นเดียว ใบไม้ใบเดียว และนิ้วมือเปล่าๆของครู เหล่านี้ สามารถนำมาใช้และพัฒนาเป็นระบบเทคโนโลยีการศึกษาอย่างทรงพลังได้ไม่แพ้กันเลย 'แต่สิ่งเหล่านี้ โดยตัวมันเองแต่เพียงลำพังแล้ว ไม่ใช่เทคโนโลยีการศึกษา'

เราสามารถมีเงินและซื้อโทรทัศน์ไปใช้ในโรงเรียนหรือในชุมชนได้ แต่การใช้โทรทัศน์เป็นเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อนำเสนอสถานการณ์การเรียนรู้นั้น เป็นจิตวิญญาณและตัวปัญญาปฏิบัติ รวมทั้งเป็นกระบวนการเชิงสังคมวัฒนธรรมที่ไม่มีอยู่ในโทรทัศน์ ไม่สามารถซื้อขายจากท้องตลาด และไม่สามารถสั่งให้โรงงานต่างประเทศผลิตมาให้ได้ ต้องสร้างขึ้นเอง

ทุกบ้านและทุกโรงเรียนอาจจะสามารถมีโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ได้ ทุกประเทศสามารถมีดาวเทียม ยานอวกาศ สร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตและส่งออกคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ได้ เราจะสามารถมีความมั่งคั่งร่ำรวยอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้ แต่การที่จะใช้เป็นเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพการบรรลุจุดหมายเพื่อสุขภาวะสังคมให้ได้ผลอย่างเหมาะสมพอเพียงแก่ตนเองนั้น ถึงแม้จะมีได้เหมือนกัน แต่ใช่ว่าจะทำได้เหมือนกัน และสังคมที่ได้ครอบครองวิทยาการและเทคโนโลยีดีกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพชีวิตพลเมืองและสุขภาวะสาธารณะ จะมีมากกว่าสังคมที่พลเมืองมีแต่ตัวกับหัวใจ

เทคโนโลยีทางการศึกษานั้น เป็นเครื่องขยายศักยภาพและพลังการเรียนรู้ของมนุษย์ เพื่อมีกำลังในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขร่วมกันของสังคม เป็นตัวขยายกำลังการสร้างความดีงาม สามารถพึ่งตนเองในการบรรลุจุดหมายต่างๆดังที่พึงประสงค์ ทั้งเพื่อตนเองและส่วนรวม โดยวิธีการทางความรู้และโดยวิถีแห่งปัญญาอันกอปรด้วยคุณธรรมจากตัวคน หากขาดปัจจัยการทำงานของคนแล้ว เทคโนโลยีก็สร้างคนไม่ได้ แต่คนนั้น สามารถสร้างและคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆขึ้นมาใช้ได้อย่างไม่จำกัด.

หมายเลขบันทึก: 495511เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณอ.นุ และอาจารย์หมอป.ครับ
ที่แวะมาเยือนและคลิ๊กให้ดอกไม้ให้กำลังใจกันครับ 

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ ขอบคุณค่ะอาจารย์ :-)) อ่านบันทึกไปก็คิดทบทวนไปทั้ง ในฐานะผู้ใช้และผู้ร่วมสร้างเทคโนโลยีการศึกษา ข้อสรุปตอนสุดท้ายของบันทึกนี้มีครบทุกมิติค่ะ ทั้งปัจเจก สังคม วัฒนธรรม และ เทคโนโลยีการศึกษา ...เป็นการเพิ่มหนทางแห่งการเข้าสู่สังคมอุดมปัญญา และจิตใจงามค่ะ..:-))

เชียร์ท่านพี่ต่อไป ;)...

สวัสดีครับอาจารย์ดร. kwancha ครับ
ขอบพระคุณครับอาจารย์

ขอบพระคุณอาจารย์ Wasawat Deemarn ด้วยเช่นกันครับ

กราบนมัสการและขอบพระคุณ
ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) อย่างยิ่งครับ 

You hit the nail on the head -- right on where it counts.

It seems our pollies can't undestand or even see technology only materials and money.

I agree that cultivating culture (a space for knowledge/technology, belief, living --> society) should be based on 'needs' in equitable (fair and just) society - not based on the leash of popular 'products'.

We have an economy that pays a month salary for a tablet. But in most 'Western economy countries' a tablet cost only 1-2 days of work. We pay the global prices for mobile phones, tablets, cars and fuel,... while we earn 100 times less.

Which way should we develop our culture - use technology? Is it not clear enough?

สวัสดีครับคุณ sr ครับ

บางอีกแง่มุม อย่างที่คุณ sr กล่าวถึงว่า เทคโนโลยีอย่างแท็บเล็ตนั้น เราต้องซื้อหาด้วยราคาเทียบเท่ากับรายได้ ๑ เดือน ในขณะที่หากเป็นประเทศที่เขาอยู่ในสภาพที่เศรษฐกิจดีอย่างเช่นตะวันตกนั้น มันเป็นราคาเท่ากับรายได้ ที่จะเป็นผลตอบแทนจากการทำงาน ๑-๒ วันเท่านั้น แง่มุมอย่างนี้ เป็นตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้นไปอีกครับว่า บางเรื่องอย่างเทคโนโลยีแท๊บเล็ตนั้น ยังอยู่ไกลจากวิถีชีวิตและไกลจากความเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในสังคมวัฒนธรรมไทยมาก เพราะฉนั้น อาจจะดูว่าถูกสำหรับต่างประเทศ แต่ราคามาตรฐานของโลกเหมือนกันนั้น ก็กลับจะแพงมาก ชนิดที่หากทำงานกินเงินเดือนก็ต้องจ่ายเงินเดือนทั้งเดือน และหากเป็นครอบครัวทำนาทำไร่ รับจ้าง ก็คงยิ่งหมดทุนชีวิตและต้องเป็นหนี้อีกโขเลย เลยยิ่งมีแง่มุมให้ช่วยพัฒนาการคิดดีๆและหาความสมเหตุสมผลได้ดีขึ้น

ในเรื่องของการพัฒนาในเชิงวัฒนธรรมไปด้วย หรือว่าต้องเน้นลงทุนทำก่อน ก่อนการที่จะมีการแนะนำหรือนำเอาเทคโนโลยีต่างๆมาใช้นั้น ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องเทคโนโลยีนั้น ก็เป็นคำกว้างๆและมีความเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน มีความไม่หยุดนิ่งตายตัว จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรมีการนำมาคุยกันได้อยู่เรื่อยๆ เหมือนเป็นวัฒนธรรมและกลมกลืนอยู่กับชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ตอนนี้ หากได้ขยับให้เกิดวาระการคุยและมีการช่วยกันมองมาจากหลายจุดยืน ให้ได้เห็นมุมมองที่กว้างและหลากหลาย ก็คงจะเป็นเรื่องดีและเป็นกระบวนการสื่อสารและเคลื่อนไหวความคิด ที่ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สร้างความซาบซึ้ง และเป็นมิติสังคมวัฒนธรรม ต่อเรื่องเทคโนโลยีอยู่ในตัวเหมือนกันนะครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท