อายตนะ 6 : Resonance/Matching เพื่อเป้าหมายชีวีตการสื่อสารและการเรียนรู้


Knowledge-Learning-Comunication-Context-Matching-Resonance

 

การเขียนบันทึกที่ผมเข้ามาแบ่งปันในช่วงนี้จะเห็นว่ามีความถี่ที่ค่อนข้างห่างมากพอสมควรเฉลี่ยเกือบ 2 เดือน/เรื่อง ทั้งนี้ เพราะผมได้ลองนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติซึ่งก็พบว่าได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็เลยไม่ค่อยอยากนำมาเล่าให้ฟัง เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเข้ามาสร้างทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้นมาอีก ทำตัวเป็นผู้ทรงความรู้ สั่งสอนผู้อ่าน ทำให้รู้สึกไม่ดีต่อการเขียนบันทึกเลยพาลไม่อยากจะเขียนซะงั้น แต่บันทึกนี้ผมขออนุญาตอระบายความรู้สึกที่อัดอั้นโดย เอาเป็นว่าสิ่งที่ผมนำมาแบ่งปันนั้นเป็นทัศนส่วนตัวก็แล้วกันนะครับ ส่วนเรื่องที่ท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็สุดแล้วแต่ท่านจะพิจารณา ตามหลักโยนิโสมนสิการ และกาลามสูตรเถิด หากข้อเขียนใดที่ทำให้ระคายเคืองหรือไม่เป็นพอใจของท่านผู้อ่านกระผมขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

 

เรื่องของเรื่องผมได้รับแรงบันดาลใจจากบันทึกและหนังสือของท่านอ. แสวง  รวยสูงเนิน (http://www.gotoknow.org/blogs/books/0?address=sawaengkku & , http://thaispecial.com/bookshop/newbookpviewx.asp?booklist=6167664965) และข้อมูลของท่าน อ. วรภัทร์  ภู่เจริญ ทั้งจากหนังสือ หรือสื่อ Online ต่างๆ ประกอบกับด้วยจากการสังเกต (ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ผมพบว่าการที่คนเราจะเกิดการเรียนรู้มีความเข้าใจตรงกัน และมีความเห็นชอบร่วมกันนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยของการรับและการส่งตามช่องทางต่างๆด้วยสัมผัสทั้ง 6 ที่มีเครื่องมือและความคาดหวัง (Tool & KPI) ของการรับ-ส่งที่ต้องตรงกัน (Matching & Resonance) ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบท เวลา สถานที่ วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ที่เกี่ยวข้อง การใช้ความรู้ต้องใช้ให้เหมาะกับบริบท ชุดความรู้ในอดีตอาจจะใช้ไม่ได้กับปัจุจบัน ชุดความรู้สำหรับกรุงเทพ อาจจะใช้ไม่ได้กับบ้านโคกอีโด่ย ยกตัวอย่างการเรียนรู้เรื่องอาหาร ต่อให้เห็นภาพ อธิบายด้วยคำพรรณาที่เขียนด้วยกวีระดับโลก ก็ไม่สามารถอธิบายความอร่อยของอาหารนั้นๆ ได้ และความอร่อยของแต่ละคนแต่ละพื้นที่ วัฒนธรรม ประเพณีก็ไม่เหมือนกัน เรื่องของการดูหนังฟังเพลงก็เช่นกัน แต่ละคนก็ชอบแนวต่างๆกัน แต่สื่อทุกวันนี้ กลับครอบงำด้วยผลประโยชน์ ที่เรารู้สึกว่าเราสมยอมแล้ว รู้เขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก ทั้งเรื่องลามก ความรุนแรง ชิงรัก หักสวาท อิจฉาริษยา แย่งมรดก ยกย่องคนรวย คนเก่ง บางท่านอาจแย้งว่าสังคมทุกวันนี้มันก็เป็นแบบนี้แหละ การแข่งขันสูง แต่ผมคิดว่าทำไมต้องแข่งขันกัน ทำสังคมให้เป็นสังคมแห่งคนดีจิตอาสาได้มั้ย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องในอุดมคติ ชุมชมอโศกทำสำเร็จมาแล้ว (http://www.asoke.info/)

 

 

เมื่อถึงขั้นนี้แล้วผมจึงคิดพาลไปยังระบบการศึกษาแบบรวมศูนย์ คนร่างหลักสูตรมาจากส่วนกลาง เพื่อให้มาสอนในมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ แล้วก็เรียน/สอบแข่งขันกัน เพื่อมุดรูเล็กๆ เข้ามหาวิทยาลัย ความรู้ที่สอนเป็นความรู้ที่นำไปใช้งานจริงไม่ได้ เป็นความรู้ไกลตัว ที่เรียนเผื่อว่าจะได้ใช้สักวันหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ใช้สักที เช่น รู้ว่านาฬิกา Bigbell อยู่ตรงไหน ถนนชื่ออะไร ความสูงเท่าไหร่ แต่ไม่รู้ว่าดินลูกรังคืออะไร อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ที่กินที่ใช้ไปในแต่ละวันทำมาจากอะไร มีต้นกำเนิดมาจากไหน ทำเองได้มั้ย พึ่งพาตนเองได้มั้ย จะช่วยเหลือคนอื่นๆได้อย่างไร เรียนจบมาแล้วก็ทำงานหาเงินตามวงจรอุบาทว์ของทุนนิยม โดยเชื่อว่าเมื่อมีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้นก็คงจะมีความสุขมากขึ้น

 

ผมรู้สึกว่าตัวเองฟุ้งซ่านกับเรื่องนี้พอสมควรจนไม่อยากให้ลูกเรียนหนังสือกับโรงเรียนอีกต่อไป แต่อยากจะให้เรียนรู้กับสิ่งรอบตัว ตามบริบทของสภาพแวดล้อม ที่เกี่ยวข้อง ที่ทำอย่างไรจะดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่นั่นก็เป็นความฝันที่ไกลเกินเอื้อม เพราะต้องอยู่ในสังคม ต้องทำงาน ต้องหาเงิน เป็นลูกจ้าง ต้องทำตามความคิดส่วนใหญ่ของครอบครัว ญาติพี่น้อง ต้องๆๆๆ อะไรอีกหลายอย่าง เลยกลายเป็นว่าเราเป็นคนขวางโลกไป  อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่ละทิ้งความฝัน ที่มี Idol ด้วยบุคคลตัวอย่างที่นำปราชญ์พระราชามาทำให้สำเร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อ. ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร), แหลมอรหันต์ชาวนา ,พ่อคำเดื่อง , ครูบาสุทธินันท์ , ผู้ใหญ่วิบูลย์ และครูภูมิปัญญาปราชญ์ท้องถิ่น อีกหลายๆ ท่าน ฯลฯ ผมเชื่อว่าในอนาคต ศาสตร์ความรู้และตัวอย่างการปฎิบัติที่บรรดาปราชญ์เหล่านี้ได้กรุยทางเอาไว้จะทำให้เราเอาตัวรอดได้ในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 495749เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2012 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • รู้สึกเช่นกันครับว่า การศึกษาบ้านเรา เป็นการศึกษาแค่ให้ทำข้อสอบได้ เข้าเรียนต่อได้ แค่นั้น อย่างอื่นๆที่สำคัญกว่า ไม่เน้น จะเน้นกันบ้างก็แค่ลมปาก ระยะหลังเหมือนจะรู้ตัว เด็กๆหรือคนของเราตามเขาเกือบทุกเรื่อง จึงมีแนวคิดดีๆใหม่ๆเกิดขึ้นมาบ้าง ซึ่งปรากฏในพรบ.การศึกษาและหลักสูตรฯ แต่การปฏิบัติก็อีกนั่นแหละยังไม่สามารถหลุดพ้นความเคยชินเดิมๆ ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ดูเหมือน ต่างไม่ค่อยอยากแตะ เพราะเห็นผลยาก นาน..
  • ขอบคุณข้อคิดดีๆที่ทำให้ได้คิดต่อ และขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมเยือนด้วยครับ

สวัสดีครับ มาเยี่ยมชม มอบภาพลายเส้นจาก http://www.nature-dhrama.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท