ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

การศึกษาเปลี่ยนชีวิตได้: Education changes lives


       เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฏาคม ๕๕ รับนิมนต์จากสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพ และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย โดยมีท่าน ผศ.ดร. วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี ม. ศรีปทุม เป็นผู้ประสานงาน ไปเป็นวิทยากรในการจัดประชุมนานาชา ติ "Across the Global Higher Education Learning and Teaching" ณ ห้องประชุมดอกบัว โรงแรมเซนทารา แกรนด์ ซึ่งหัวข้อใหญ่ (Main theme) ในการจัดงานคือ "East Meets West" โดยรับเป็นวิทยากร (Speaker) ในหัวข้อ (Sub-theme) เรื่อง "Buddhism and Education"

       "การศึกษาเปลี่ยนชีวิตได้" (Education changes lives) นี่เป็นประโยคสำคัญ (Key Message) ที่พยายามจะนำเสนอในวันนี้ ซึ่งคุณค่าแท้ของการเปลี่ยนนั้นมิได้หมายถึงการเปลี่ยนผู้เรียนให้ เป็นผู้วิเศษ หรือมียศถาบรรดาศักดิ์ หากแต่เปลี่ยนคนๆ หนึ่งๆ ให้กลายเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ (Education is the principal tool for transforming a man to be a simple man, not super man or noble man) ที่สามารถเรียนรู้ มองเห็น เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงที่ประจักษ์ด้วยตัวเอง (สิกขา) และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างสันติสุข

       การที่จะเข้าถึงเป้าหมายของการศึกษา ในลักษณะดังกล่าวนั้น พระพุทธศาสนาใช้เครื่องมือ คือ "ไตรสิกขา" (The threefold training) มาเป็นแนวทางในการพัฒนา (๑) ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาพฤติกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกับกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างสันติสุขโดยไม่เบียดเบียนคนอื่นๆ ทั้งกาย และวาจา (Training in higher morality) (๒) ใช้สมาธิมาเป็นเครื่องมือในการฝึกใจให้คุณภาพจิตดี สมรรถภาพจิตดี และสุขภาพจิตดี (Training in higher mentality) (๓) ใช้ปัญญามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการคิด วิเคราะห์ เพื่อให้สามารถเข้าใจ และรู้เท่าทันสิ่งๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง (Training in higher wisdom)

       จะเห็นว่า เนื้อแท้ของการศึกษาที่แท้จริงคือการมุ่งเน้นให้ผู้เรียน "เปิดพื้นที่ของตาใน" เพื่อให้สามารถเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงอย่างรอบด้านตามครรลองของโยนิโสมนสิการ และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ได้อย่างสันติสุข (Education is to understand things as they really are and to live together peacefully and happily) โดยไม่พยายามที่จะบิดความจริง (Abuse of Reality) ให้เป็นไปตามที่เรามุ่งหวังจะให้มี หรือเป็น

       จากแง่มุมดังกล่าวนี้ จึงเป็นที่มาของบทสรุปที่ว่า เพราะเหตุใด? การศึกษาจึงสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้เรียนได้อย่างน่าอัศจรรย์ดังที่เนลสัน เมนเดลาพยายามสรุปว่า "การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังมากที่สุด ซึ่งคุณสามารถใช้เปลี่ยนโลกได้" (Education is the most powerful weapon which you can use to change the world) ถ้าเราอยากจะทราบว่า การศึกษานำไปสู่การเปลี่ยนโลกภายใน (Inner World) และ โลกภายนอก (Outer World) อย่างไร? กลับไปเริ่มต้นศึกษาได้จากความคิดของเราดังที่พระพุทธศาสนาได้เน้นว่า "การศึกษานั้นไซร้เริ่มต้นจากใจที่เป็นสัมมาทิฐิ" (Education starts from the right view)

หมายเลขบันทึก: 496215เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2012 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมากราบนมัสการพระอาจารย์ครับ เห็นด้วยกับหัวข้อการศึกษาเปลี่ยนชีวิตได้ครับ ขอบพระคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท