ทักษะสื่อบุคคลบวกเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มพลังสื่ออวจนภาษาและปฏิสัมพันธ์การเรียนรู้


บทบาทในความเป็นครู ในสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาการเรียนรู้รูปแบบต่างๆทั้งในและนอกความเป็นทางการนั้น นอกจากเป็นผู้สอนและผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ตามความคุ้นเคยโดยทั่วไปแล้ว ก็กล่าวได้ว่าเป็นผู้ให้ชีวิตความงอกงามและการเติบใหญ่ขึ้นด้วยวิชาความรู้ ความมีสติปัญญา ความมีคุณธรรม และมีความรู้ความสามารถสำหรับการดำรงตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอย่างเหมาะสมตามอัตภาพ จึงไม่เกินจริงเลยที่มีการกล่าวว่าครูนั้นเป็น ‘พ่อแม่คนที่สอง’ ของเรา

เมื่อมองกลับไปอีกทีหนึ่ง ก็จะเห็นได้ว่า ครูนั้น ไม่ได้มีความสำคัญเพียงเป็นผู้สอนและถ่ายทอดความรู้เท่านั้น ทว่า เป็นผู้ให้ ‘การเรียนรู้เพื่อการเติบโตงอกงาม’ ทั้งความมีวิชา การประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนการนำไปใช้ดำเนินชีวิตและทำการงานให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้คนในสังคม นอกจากการสอนและทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้แล้ว การจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูเพื่อสร้างคน จึงต้องมุ่งให้การบ่มเพาะความลึกซึ้งแยบคายต่อโลกและชีวิตแก่ศิษย์และผู้เรียน สอนคนให้เข้าถึงจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้การเติบโตงอกงามทั้งชีวิตจิตใจ สามารถออกไปเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและสร้างความหมายแห่งชีวิตตามศักยภาพตนเองได้อย่างเต็มที่

การให้ชีวิตและการได้ปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้กับครู รวมทั้งการได้มีประสบการณ์ต่อสังคมและโลกกว้างภายใต้สถานการณ์การเรียนรู้ด้วยการดูแลของครูในฐานะกัลยาณมิตรของชีวิต จึงมีความสำคัญเป็นที่สุด ซึ่งสื่อ และสถานการณ์เงื่อนไข ตลอดจนเทคโนโลยีการศึกษาต่างๆ หากมีการนำเข้ามาสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอน และนำเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการจัดการศึกษารูปแบบต่างๆแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากครู ทดแทนการได้ปฏิสัมพันธ์กับครูที่มีชีวิต ในบางสถานการณ์ก็จะเชื่อมโยงผู้เรียนให้มีกำลังเข้าถึงสิ่งที่ต้องการเรียนรู้แบบเร่งด่วนอย่างไร้ขีดจำกัด ได้เรียนรู้จากความจริงเสมือนและเรียนความรู้สำเร็จรูปที่ผู้อื่นสร้างอย่างปราศจากครู แต่ลดทอนการได้เห็นและได้ประสบการณ์เชิงสัมผัสกับการเรียนรู้โดยอยู่กับครูและได้สัมผัสความจริงของชีวิตกับผู้อื่นในสถานการณ์การเรียนรู้

สภาพดังกล่าวนี้ จะทำให้การศึกษาเพื่อสร้างคน ขาดมิติการมีคนกล่อมเกลาและให้ชีวิตในส่วนที่จะเกิดจำเพาะกับกัลยาณมิตรทางการเรียนรู้ที่เป็นครูมีชีวิต ทำให้เราอาจจะสามารถสร้างคนฉลาดและมีความรู้ได้ แต่จะขาดการเข้าใจโลกและความเป็นจริงที่อยู่ในความเป็นชีวิต ไม่สามารถเข้าใจสังคมที่ต้องฝึกฝนให้รู้จักด้วยความรู้คิดที่จะได้จากครูและสังคมการเรียนรู้ในกลุ่มที่มีครูเอาใจใส่ดูแล ไม่รักในการเรียนรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่มีความอดทนรอคอยต่อความริเริ่มและเรียนรู้สร้างความเป็นจริงให้เกิดขึ้นด้วยความยากลำบากบนความเป็นตัวของตัวเองของสังคม ไม่รู้กาลเทศะในการใช้ความรู้เพื่อสนองตอบต่อความจำเป็นให้สอดคล้องกับสถานการณ์อันหลากหลายในโลกความเป็นจริง รวมทั้งอาจจะสามารถสร้างผู้เรียนให้เป็นคนมีการศึกษาและมีวิชาความรู้ได้ แต่ก็เป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ชีวิต ไม่รู้จักโลกและชีวิต เป็นเพียงแรงงานใช้ความรู้ได้ แต่ไม่เพียงพอที่จะมีความเป็นพลเมืองและเป็นกำลังความริเริ่มสร้างสรรค์ต่างๆให้กับสังคม เหล่านี้เป็นต้น

การใช้เทคโนโลยีการศึกษา ในแนวทางที่มุ่งเสริมบทบาทครูและสร้างศักยภาพการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ในการปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้อย่างมีความหมายกับครู ตลอดจนสร้างปฏิสัมพันธ์กับแหล่งให้ประสบการณ์ชีวิตและเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ เกิดความรอบรู้และได้เพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับศักยภาพและความสนใจของตนเอง โดยมีครูกับกัลยาณมิตรทางการเรียนรู้เป็นสภาพแวดล้อม จึงเป็นแนวทางที่ควรให้การส่งเสริม ซึ่งครู ตลอดจนคนทำงานความรู้ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษา ครอบครัวและผู้นำชุมชน จะต้องรู้จักพัฒนาวิธีคิดและรู้จักพัฒนาทักษะสำหรับนำเอาเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาทางวิทยาการต่างๆ มาใช้ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความจำเป็นภายใต้ขีดจำกัดของทรัพยากร  เหมาะสมกับทักษะส่วนบุคคล เท่าทันและทัดเทียมความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมีความกลมกลืนกับสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีวัฒนธรรม

เมื่อมองในแง่นี้ ก็พอจะเห็นได้ว่า ในทางการเรียนการสอนและในการจัดกระบวนการทางการศึกษา ตลอดจนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ต่างๆนั้น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิตอลในปัจจุบัน ในด้านความเป็นเทคโนโลยีการศึกษาแล้วละก็ ไม่ได้มีเพียงด้านความเป็นเครื่องมือกลไกและความเป็นคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่เราจะต้องให้ความสนใจ แต่อีกด้านหนึ่ง ที่จะต้องให้ความสำคัญมากกว่าก็คือ ความเป็นเงื่อนไขการเรียนรู้ (Learning Conditions Situation) ที่อยู่ในความเป็นคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิตอล และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงการนำเอาเทคโนโลยีในความหมายทั่วไป มาใช้เป็นเทคโนโลยีการศึกษา

เงื่อนไขที่จะมีและควรให้ความสนใจซึ่งจะมีอยู่ในความเป็นเทคโนโลยีดังกล่าว  ที่สำคัญ ก็คือ ความสามารถส่งเสริมบทบาทความสำคัญของครู เสริมศักยภาพแก่ผู้เรียนในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับแหล่งประสบการณ์และลดข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ ซึ่งทำให้ริเริ่มสร้างสรรค์ ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ออกแบบ และนำเสนอสถานการณ์เพื่อการเรียนรู้ได้หลายอย่างไปพร้อมกัน อย่างที่ไม่สามารถทำได้มาก่อน เช่น

  • การสื่อสารแบบสองทางและสร้างปฏิสัมพันธ์ของครูกับกลุ่มผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนได้เข้าถึงสถานการณ์และสื่ออวจนภาษาในความมีชีวิตและความเป็นประสบการณ์ของจริงซึ่งเทคโนโลยีและความจริงเสมือนจะให้ไม่ได้ 
  • การนำเสนอข้อมูลและสื่อการเรียนการสอนอย่างผสมผสาน ทั้งข้อมูล เอกสาร เนื้อหาจากตำรา สื่อภาพนิ่ง ภาพถ่าย ภาพกราฟิค ภาพเคลื่อนไหว เสียง ตลอดจนโมเดลจำลองสถานการณ์จริง
  • การย้อนและการซ้ำมีความรวดเร็วและแม่นยำสูง ทำให้แก้ปัญหาการลืมและความมีมาตรฐานเชิงเนื้อหา
  • ความสามารถกำกับและควบคุมจากระยะไกล 
  • ความสามารถเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ด้วยตนเองและครูสามารถเป็นพี่เลี้ยงแนะนำสอนเสริมให้แก่ผู้เรียนได้เป็นรายบุคคล 
  • ความสามารถสื่อสารและริเริ่มสร้างการเรียนรู้ขึ้นได้จากผู้เรียน 
  • ความสามารถสื่อสารและเข้าถึงการเรียนรู้ได้ผ่านระบบออนไลน์ 

เหล่านี้เป็นต้น  

ดังนั้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา นำเอาวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆมาใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทางการศึกษา ให้สอดคล้องกับจุดหมายดังกล่าวของผู้เรียนและครูผู้สอน แนวทางหนึ่งที่มิใช่เป็นการมุ่งให้จัดหาเทคโนโลยีการศึกษามาใช้ตามกันไปอย่างไม่มีความหมาย โดยที่หลายแห่งก็ยังไม่มีความจำเป็นและสภาพแวดล้อมก็ไม่เอื้อให้ใช้ อีกทั้งไม่ใช่วิธีสร้างระบบตายตัวซึ่งทั้งทำได้ยากและเป็นวิธีที่ตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ยาก ก็น่าจะเป็นวิธีที่มุ่งไปยังการพัฒนาปัจจัยด้านความเป็นสื่อบุคคลและสร้างความเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษาของครูนั่นเอง

ในแนวทางดังกล่าวนี้ ก็จะช่วยให้ครูสามารถเดินออกจากสิ่งที่มีอยู่ในตนเอง เพื่อนอกจากการต้องสามารถใช้เทคโนโลยีโดยไม่ลดทอนความหมายการปฏิสัมพันธ์กันของมนุษย์และของครูกับผู้เรียน หรือไม่ใช่พยายามใช้เทคโนโลยีให้เข้ามาแทนครู พ่อแม่ กับการกล่อมเกลาของชุมชนและสภาพแวดล้อมแล้ว ก็จะสามารถพึ่งตนเองในการเป็นนักบริหารจัดการทรัพยากรการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนผลสัมฤทธิ์ในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาทักษะอย่างใหม่ทางด้านต่างๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับโลกยุคปัจจุบันที่แวดล้อมไปด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น

  • ทักษะในการคิดค้นวิธีของตนเองสำหรับใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อจัดและนำเสนอเงื่อนไขการเรียนรู้ 
  • การฝึกฝนความเป็นธรรมชาติและความกลมกลืนในการนำเอาเทคโนโลยีการศึกษาต่างๆเข้ามาสู่สถานการณ์การเรียนการสอน 
  • ทักษะการจัดแหล่งข้อมูลและแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่สามารถบริหารจัดการแบบพึ่งตนเองเป็นหลัก ไม่ใช่การนำเอาเทคโนโลยีมาลดความสามารถทำสิ่งต่างๆได้เองของครูหรือทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสัญลักษณ์ตีตราและสร้างความเป็นผู้ด้อยความสามารถให้แก่ครู  
  • ทักษะปฏิบัติการการสอน อธิบาย นำเข้าสู่การเรียนการสอน และถ่ายทอดสื่อสารบนเทคโนโลยี

เหล่านี้เป็นต้น 

การนำเอาเทคโนโลยีการศึกษามาใช้โดยคำนึงถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ของครูกับผู้เรียน รวมทั้งการสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับแหล่งการเรียนรู้เพื่อมีประสบการณ์อันกว้างขวางต่อโลกแห่งการเรียนรู้ โดยไม่ขาดจากการที่จะมีครูและกัลยาณมิตรทางการเรียนรู้ ได้คอยเป็นสภาพแวดล้อมกล่อมเกลา ให้ได้ความเติบโตงอกงามของชีวิตจิตใจไปด้วย เป็นสิ่งที่ต้องเห็นและมีวิธีคิดในการกำหนดรู้ด้วยปัญญาให้แยบคายมากทีเดียว

เทคโนโลยีต่างๆ โดยตัวเทคโนโลยีเองนั้น ก็มักจะกำกับกิจกรรมมนุษย์และจัดความสัมพันธ์ของคนที่ปฏิสัมพันธ์กันบนเทคโนโลยี ให้มีแบบแผนจำเพาะที่จะเป็นไปตามระบบของเทคโนโลยีต่างๆ นำไปสู่การก่อเกิดกระบวนการเชิงสังคมวัฒนธรรม ซึ่งถ้าหากเราไม่พัฒนาแนวคิดและออกแบบการจัดกระบวนการ เพื่อนำเอาเทคโนโลยีการศึกษามาจัดวางลงไปบนระบบดำเนินการอย่างเหมาะสมและใช้เพื่อช่วยการบรรลุจุดหมายร่วมกันอย่างดีที่สุดของมนุษย์แล้ว เงื่อนไขเชิงโครงสร้างวัฒนธรรมตามคุณลักษณะดังกล่าวของเทคโนโลยีแต่ละอย่างที่นำเข้ามาสู่ชีวิตการเรียนรู้ ก็จะกำกับกระบวนการปฏิบัติและควบคุมมิติชีวิตจิตใจของมนุษย์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขบนเทคโนโลยีเองอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งหากผู้คนและสังคมจัดความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีในลักษณะนี้ เทคโนโลยีก็จะมีบทบาทเสมือนเป็นนายคน กระบวนการศึกษาเรียนรู้ก็จะอยู่ในฐานะเป็นกลไกทำหน้าที่เผยแพร่สร้างการยอมรับทางเทคโนโลยี ซึ่งในบางสถานการณ์ ก็จัดว่าเป็นอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย แต่ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมความจำเป็นอีกด้านหนึ่ง ด้านที่มุ่งให้เทคโนโลยีเป็นตัวคูณให้แก่การสร้างศักยภาพออกจากคน

การนำเอาเทคโนโลยีการศึกษามาใช้บนพื้นฐานของการคำนึงถึงบทบาทของครู และเห็นนัยสำคัญของสิ่งต่างๆที่สืบเนื่องอยู่กับการปฏิสัมพันธ์ของครูกับผู้เรียน เป็นวิธีคิดเพื่อนำเอาเทคโนโลยีการศึกษาต่างๆมาใช้ อย่างส่งเสริมความเป็นนายเทคโนโลยีให้แก่ครู ผู้สอน ผู้เรียน ตลอดจนพ่อแม่ ชุมชน และผู้ปกครอง หรือเน้นที่จะส่งเสริมการพัฒนาคนให้ทั้งเป็นเป้าหมายและเป็นปัจจัยหลักการแก้ปัญหาอยู่เสมอๆ ไม่ใช่เน้นที่เทคโนโลยี แต่จะมีวิทยาการและเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือและวิธีการที่มาช่วยขยายกำลังแก่คนตามความเหมาะสมของระดับการพัฒนาซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ และน่าจะเป็นอีกด้านหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการเชิงสังคมวัฒนธรรม เพื่อเลือกสรรเทคโนโลยีเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและพอเพียง ที่ต้องมีควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี.

หมายเลขบันทึก: 496527เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

บ้านท่านพี่แน่ ๆ เลย ;)...

แม่นแล้วอาจารย์  Wasawat Deemarn ครั
ในภาพเป็นการนั่งเล่าเรื่องของอาจารย์ยุทธภูมิ สุประการ เครือข่ายคนเมืองน่าน
ระหว่างที่ไปนั่งถอดบทเรียนและนำเอาประสบการณ์ต่างๆมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครั้งหนึ่ง
หน้าบ้าน อาคารหลังนี้นี่มีระเบียงที่สามารถดัดแปลงเป็นเวทีกลางแจ้ง แวดล้อมด้วยทิวไผ่
ที่อาจารย์สามารถไปนั่งพลิ้วกีตาร์กับเพลงโปรดให้มิตรรักแฟนเพลงฟัง ได้เหมือนกันนะครับเนี่ย  

สวัสดีค่ะอาจารย์

พระคุณเจ้า ป.อ.ปยุตฺโต เคยบรรยายประมาณว่า การศึกษาควรสร้างเด็กให้มีปฏิสัมภิทา 4 เพื่อให้นอกจากจะมีปัญญาเฉียบแหลม เข้าใจทั้งหัวข้อ ทั้งใจความ สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย

"การนำเอาเทคโนโลยีการศึกษามาใช้โดยคำนึงถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ของครูกับผู้เรียน รวมทั้งการสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับแหล่งการเรียนรู้เพื่อมีประสบการณ์อันกว้างขวางต่อโลกแห่งการเรียนรู้ โดยไม่ขาดจากการที่จะมีครูและกัลยาณมิตรทางการเรียนรู้ ได้คอยเป็นสภาพแวดล้อมกล่อมเกลา ให้ได้ความเติบโตงอกงามของชีวิตจิตใจไปด้วย เป็นสิ่งที่ต้องเห็นและมีวิธีคิดในการกำหนดรู้ด้วยปัญญาให้แยบคายมากทีเดียว"

อ่านบทความท่อนนี้แล้ว เห็นความเชื่อมโยงถึงกันเลยค่ะ

อาจารย์คงสบายดีนะคะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
สบายดีครับ ขอบคุณครับ งานของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ หรือ ป.อ.ปยุตโต โดยเฉพาะว่าด้วยทางด้านการศึกษานั้น ลึกซึ้ง และให้แนวคิดที่มีความผสมกลมกลืนกัน ทั้งวัฒนธรรมทางวัตถุและวิถีวัฒนธรรมทางจิตใจ เห็นความเชื่อมโยงเข้าสู่หลักพุทธธรรม ได้เป็นอย่างดีอยู่เสมอเลยละครับ

ขอขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนและทักทายกันบนหัวข้อนี้ครับ อาจารย์หมอ ป. , ดร.ปริม, อ.นุ , อาจารย์ Wasawat Deemarn และคุณณัฐรดา มีความสุขเสมอทุกๆท่านครับ

  • อาจารย์ครับ
  • เครือข่ายทางเหนือหนาแน่นมาก
  • คิดถึงชมชนแถบน่านของคุณหมอชาตรี เจริญศิริ

ทุนทางสังคมของภาคเหนือ มีคนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนและการทำงานแนวประชาสังคมเยอะครับ คนเก่งๆดีๆหลายคนเกิดขึ้นบนการเดินออกไปทำงานหลากหลายทั้งประเด็นที่ทำและแนวการทำงานที่สั่งสมขึ้นจากการทำงานเชิงพื้นที่ คุณหมอชาตรีก็น่าจะจัดว่าเป็นผู้ทำงานในแนวนั้น เป็นคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีอุดมคติ นอบน้อมถ่อมตนแต่ยืนหยัดชัดเจน เป็นตัวของตัวเอง มีความเก่งเฉพาะตนหลายอย่างครับ โดยเฉพาะการทำงานเชิงพื้นที่ทั้งบนความเป็นเมืองและในระดับชุมชน ที่เป็นการทำงานในแนวยุทธศาสตร์ชุมชนและกระบวนการมีส่วนร่วม เวลาฟังท่านคุยนี่ ผมชอบที่มักจะได้เห็นเรื่องที่สื่อความมีรสนิยมชีวิตกับเรื่องราวที่กลั่นออกมาจากชีวิตด้านใน สอดแทรกผสมผสานไปด้วย อาจารย์ ดร.ขจิตก็มีมิตินี้มากเหมือนกันนะครับ น่าทึ่งดี

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนกันครับ
อ.นุ, ดร.ปริม, อาจารย์หมอ ป., บังวอญ่า, อาจารย์ ดร.จันทวรรณ, อาจารย์ Wasawat Deemarn,อาจารย์ ดร.ขจิต, คุณณัฐรดา และ EGA ครับ 
มีความสุขและได้แรงบันดาลใจดีๆทุกท่านครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท