ทำอย่างไรให้คัมภีร์อยู่ในใจของศาสนิกชน


              นับเป็นโอกาสที่ดีมากของประเทศไทย (ประเทศที่เอาเป็นเอาตายเรื่องประชาธิปไตย แต่หย่อนยานในเรื่องของศาสนา) เพราะว่าการเข้าสู่เดือนรอมะฎอน ของพี่น้องมุสลิม ได้ไม่นาน ก็เข้าสู่การเข้าพรรษาของพี่น้องชาวพุทธอีก ที่บอกว่าเป็นโอกาสดีของประเทศไทยก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ศาสนิกของทั้งสองศานาในประเทศนี้ต่างก็เข้าสู้การถือศิล ปฏิบัติธรรม
              ผมเองอยู่ในสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ แต่เห็นศาสนิกชาวพุทธโดยทั่วไป ยังหย่อนยานในกิจกรรมเข้าพรรษาอย่างเป็นรูปธรรม ผมได้เห็นขบวนแห่ เทียนเข้าพรรษา ที่คนในขบวนแห่เต้นรำกันอย่างคนขาดสติ ด้วยท่าทางเย้ายวนทางเพศ ในฐานะที่เป็นคนที่มีศาสนาก็รู้สึกเป็นห่วง จนผมหลุดคำพูดกับเพื่อนๆที่เป็นครูว่า “ช่วยบอกเด็กๆด้วยหากพวกเธอ ไม่สนใจในศาสนา วันสำคัญทางศาสนายังต้องเกณฑ์กันไป หากวันหนึ่งศาสนาพุทธหายไปจะโทษใครไม่ได้นะ” ฟังแล้วดูว่าแรง แต่ผมก็พูดด้วยความเป็นห่วงนะครับ
              แต่คนมุสลิมก็ไม่ต่างกันครับ เดือนรอมะฎอน แทนที่คนมุสลิมจะถือศิลอด มีหลายคนเช่นกัน ที่เกิดโรครอมะฎอนแทรกซ้อน ถือศิลอดไม่ได้ ด้วยข้ออ้างสาระพัด ปวดท้อง เป็นไข้ ไม่สบาย ปวดหัวตัวร้อน ฯลฯ
    มีประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็นกับท่านระหว่างศาสนิกนั้นคือเรื่องของพระคัมภีร์ ผมเคยร่วมงานกับพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ จ.เชียงใหม่ ท่านบอกผมว่า คนพุทธน้อยคนนักที่จะได้สัมผัสคัมภีร์พระไตรปิฎก อย่าว่าแต่อ่านหรือศึกษาเลย ท่านบอกต่อไปว่าแม้แต่พระเองก็ไม่ค่อยได้สัมผัสกันอย่างจริงจัง
              ตรงนี้แหละครับที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยนสิ่งนี้กับท่าน...อัล-กุรอ่าน คือชื่อของพระคัมภีร์ของอิสลาม พระคัมภีร์ในอิสลามมีมาหลายยุคหลายสมัย พระผู้เป็นเจ้าได้ประราชทานให้ท่านศาสดา(รอซู้ล-ผู้สื่อสาสน์)  ตลอดมา เช่น ศาสดาอิบรอฮีม(อับราฮัม) นุฮ์(โนอา) มูซา(มูเสด) อีซา(เยซู) มาสู่ยุคสุดท้ายคือท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.) เป็นคัมภีร์ที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะได้สรุปคัมภีร์ทุกเล่มมาไว้ในคัมภีร์เล่มนี้แล้ว คัมภีร์อัล-กุรอ่าน คือกาลามุลลอฮ์(พระบัญชาของพระเจ้า) ภาษาของพระเจ้าจะเป็นอย่างไรนั้นไม่มีใครรู้ได้ แต่หากว่าศาสดาเป็นชนชาติใด พระคัมภีร์ก็จะถ่ายทอดออกมาเป็นภาษานั้นๆ
              ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.)เป็นชนชาติอรับ(อาหรับ) คัมภีร์อัล-กุรอ่านจึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาอรับหรือภาษาอารบิก คัมภีร์อัล-กุรอ่าน ถูกพระราชทานมาครั้งแรก ในค่ำคืนแห่งเกียรติยศ ที่คัมภีร์อัล-กุรอ่านเรียกค่ำคืนนั้นว่า “ลัยลาตุลก็อดรฺ”(อ่านว่า ลัย-ลา-ตุล-กอด-รุ) พระคัมภีร์อัล-กุรอ่านได้ยืนยันว่า ใครก็ตามได้ทำความดีในค่ำคืนนั้น มันมีคุณค่ามากกว่า 1,000 เดือน (เท่ากับ 83 ปี4 เดือน)
            คืนแห่งเกียรติยศอยู่ในค่ำคืนใดคืนหนึ่งในเดือนรอมะฎอนอันประเสร็ฐนี้ ในความเชื่อส่วนใหญ่ของมุสลิมนั้น เชื่อว่าไม่มีผู้ใดรู้ได้ แต่ท่านศาสดาก็บอกเป็นนัยยะให้มุสลิมรู้ว่า น่าจะอยู่ในสิบคืนสุดท้ายของเดือน โดยเฉพาะวันคี่ แต่มุสลิมส่วนมากก็จะมั่นใจว่าน่าจะเป็นค่ำที่ 27 ฉะนั้นท่านจึงเห็นว่า ในเดือนรอมะฎอนนี้มุสลิมส่วนใหญ่จะทำความดีทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ยิ่งในสิบคืนสุดท้ายจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น ในขณะที่กลางวันก็ถือศิลอด จบเดือนรอมะฎอนท่านจะเห็นว่าคนมุสลิมรูปร่างจะดูดีขึ้น เพราะโรงงานอุตสาหกรรมในร่างกายจะมีโอกาสพักผ่อน ศิลอดถือว่าเป็นการดีท็อกร่างกายโดยอัตโนมัติ
            มุสลิมจะให้ความสำคัญกับคัมภีร์อัล-กุรอ่านมากที่สุด เพราะมันคือพระบัญชาของพระเจ้า ท่านจึงเห็นว่า คัมภีร์อัล-กุรอ่าน จะถูกเคารพ ยกย่องสูงยิ่ง คัมภีร์อัล-กุรอ่านไม่มีการสังคยนา เพิ่มเติมตัดตอนใดๆทั้งสิ้น จะมีผู้ที่รักษาคัมภีร์อัล-กุรอ่านที่เรียกว่า ฮาฟีซ(นักท่องจำ) ใครก็ตามที่มาเปลี่ยนแม้แต่อักษรเดียวก็ไม่ได้ ถ้าใครตัดหรือเพิ่มเติม ลักษณะการอ่านและความหมายจะเปลี่ยนทันที
          อันลักษณะของคัมภีร์อัลกรุอานนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง คัมภีร์อัลกรุอานจึงเป็นสิ่งท้าทายที่พิศดารสำหรับชาวอาหรับ เพราะเป็นร้อยแก้วมีความไพเราะได้โดยไม่ต้องใช้มาตราสัมผัสและบทวรรคตาม กฏของกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอาหรับฉงนใจว่า คนที่ไม่เคยแต่งโคลงกลอนและอ่านเขียนไม่ได้อย่างมุฮัมมัด จะต้องไม่ใช่ผู้แต่งอัลกุรอานเป็นแน่
          อัลกุรอานแบ่งออกเป็นบท เรียกว่า ซูเราะฮฺ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๑๔ ซูเราะฮฺ แต่ละซูเราะฮฺ แบ่งเป็นวรรคสั้นยาวไม่เท่ากัน เรียกว่า อายะหฺหรือตอน (แปลว่า สัญลักษณ์) ซึ่งอัลกรุอานมีอายะหฺทั้งหมด 6236 อายะฮฺ ตามการนับมาตรฐาน (ดู คัมภีร์มาตรฐานที่พิมพ์โดยรัฐบาลซาอุดีอารเบีย) เนื้อหาในอัลกุรอานนั้นแบ่งได้สามหมวดคือ หนึ่งเกี่ยวกับหลักการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า ความเร้นลับที่มีอยู่ในและนอกกาละและเทศะ หมวดที่สองคือพงศาวดารของประเทศชาติก่อนอิสลาม และคำพยากรณ์สำหรับอนาคตกาล หมวดที่สามเป็นนิติบัญญัติสำหรับมนุษย์ที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในแต่ละซูเราะฮฺหรือแม้ในแต่ละวรรคอาจจะมีที่ระบุถึงสามหมวดในเวลาเดียวกัน
คัมภีร์อัลกรุอานมีความมหัศจรรย์หลายอย่าง ประการแรกก็คือความไพเราะที่กวีทุกคนต้องยองสยบ ประการที่สองคือการเปิดเผยความลี้ลับของศาสตร์และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ที่คนสมัยนั้นยังไม่ทราบ การเปิดเผยพงศาวดารในอดีต การพยากรณ์อนาคต การเปิดเผยความลี้ลับที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ ดั่งเช่น การระบุถึงการขยายตัวของจักรวาล คลื่นใต้น้ำ และบทบาทของลมในการผสมพันธ์ของต้นไม้เป็นต้น
          การที่ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ไม่แก่หรือตายเหมือนภาษาอื่น ๆ และการที่วิทยาการที่มีระบุในคัมภีร์อัลกรุอานไม่เคยล้าสมัย อีกทั้งคำสั่งสอนของอัลกุรอานก็เอาหลักตรรกวิทยาและปัญญาเป็นพื้นฐาน  คัมภีร์ที่เก่าแก่นานถึง 1500 ปีนี้จึงไม่ได้เก่าแก่ตามอายุ ทว่ายังใช้การได้ประดุจดังคัมภีร์นี้เพิ่งพระราชทานลงมาเมื่อวันนี้นี่เอง
          ตามความเชื่อของมุสลิม ด้วยความมหัศจรรย์ของคัมภีร์อัล-กรุอานดังที่กล่าวมาคือปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ ที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด เพื่อยืนยันว่า อัล-กรุอานเป็นโองการของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงไม่ใช่กวีนิพนธ์ของมนุษย์
          การเรียบเรียงโองการนั้นไม่ได้ถือหลักระดับก่อนหลังเป็นหลัก ทว่าอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงกำหนดวิธีการเรียง โองการที่ลงมาตอนท่านศาสดาอพยพ ซึ่งที่เรียกว่า มักกียะหฺ ก็อาจจะเข้าไปอยู่ในบทที่มีโองการที่ลงมาหลังอพยพไปมะดีนะฮฺ คือทีเรียกว่า มะดะนียะฮฺ
          เนื่องด้วยอัล-กุรอานเป็นธรรมนูญของอิสลาม จึงเกิดมีวิทยาการใหญ่ ๆ แตกแขนงมาจากคัมภีร์อัลกุรอานหลายสาขา เช่น วิชาตัจญ์วีด ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานให้ถูกต้อง วิชาอุลูมอัล-กุรอาน หรือที่เรียกว่า อุศูลอัลกุรอาน เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของคัมภีร์อัล-กุรอาน ศึกษาว่าโองการแต่ละโองการลงมาที่ไหนเมื่อไหร่และเหตุใด อันเป็นส่วนช่วยในการตีความหมายคัมภีร์อัล-กุรอาน หรือที่เรียกว่า ตัฟซีรอัลกุรอาน
ตั้งอดีตจนกระทั่งปัจจุบันได้มีนักปราชญ์อิสลามหลายสิบคนที่ได้แต่งหนังสือตีความหมายอัล-กุรอาน เรียกหนังสืออรรถาธิบายนี้ว่า หนังสือตัฟซีร และเรียกผู้แต่งว่า มุฟัซซิร การตีความหมายอัล-กุรอานจะใช้หลักของอุลูมอัล-กุรอานดังกล่าวบวกเข้ากับวจนะ ของศาสดา ภาษาศาสตร์ และวิทยาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันนี้ชาวมุสลิมจะอ้างอิงหนังสือตัฟซีรเก่า ๆ เป็นหลักในการเขียนตัฟซีรใหม่ หรือในการแปลความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาอื่น ๆ
ผมให้ความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์อัล-กุรอ่านโดยสังเขป เพื่อที่จะนำท่านมาร่วมคิด วิเคราะห์ ว่าเหตุใดคัมภีร์อัล-กุรอ่าน จึงเป็นคัมภีร์ที่อยู่ในใจของอิสลามิกชนตลอดเวลา เพื่อให้ท่านได้นำไปทบทวนว่า แล้วคัมภีร์ของศาสนาท่านอยู่ในใจศาสนิกของท่านหรือไม่...??
          ประการแรก...ใครก็ตามที่มาทำมิดีมิร้าย ดูถูกเหยียดหยามกับคัมภีร์อัล-กุรอ่านมุสลิมยอมรับไม่ได้เด็ดขาด ท่านจึงได้ยินข่าวเสมอๆว่า มุสลิมจะประท้วงด้วยความรุนแรงยิ่งหากมีใครมาทำอะไรกับคัมภีร์อัล-กุรอ่าน บางครั้งถึงมีคำฟัตวา(วินิจฉัยทางศาสนา)ให้ประหารบุคคลผู้นั้นไปเลย ท่านลองเช็คดูว่าแล้วคัมภีร์ของท่าน ความสำคัญเป็นเช่นนี้หรือไม่..???
ด้วยเนื้อที่จำกัด ผมจะนำเสนอประการต่อไปในภายหลัง แต่ขอย้ำว่า ผมมีเจตนาที่จะให้บรรดาศาสนิกต่างๆได้ตระหนักในเรื่องนี้ มากกว่าจะมาโทษกันว่าใครทำลายใคร อย่างที่มีคนบางกลุ่มชอบกล่าวอ้าง...

หมายเลขบันทึก: 497429เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณคะ สำหรับความรู้ดีๆ และมุมมองที่แตกต่าง

ความแตกต่าง คือความสวยงาม ของมวลมนุษย์

ศาสนาเป็น เรื่องที่น่าเรียนรู้ และน่าศรัทธาคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท