หลักสูตรอาเซียนศึกษาไม่ใช่หลักสูตรสู่อาเซียน


มิติของหลักสูตรเชิงเนื้อหาอาเซียน ทำให้ลืมนึกถึงหลักสูตรสรรถนะอาเซียนและสมรรถสากลของคนไทย


หลักสูตรอาเซียนศึกษาไม่ใช่หลักสูตรอาเซียน

 



เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ฝ่ายมัธยม

  คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

          กระแสหลักด้านการศึกษาในขณะนี้ เห็นจะไม่มีกระแสใดที่มีรุนแรงไปกว่าการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน  เรากำลังเกิดความเชื่อว่า การศึกษาไทยมีหน้าที่เตรียมเยาวชนให้พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมทางเศรษฐกิจประชาคมหนึ่ง  ที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี  เปิดเขตเสรีการค้าและเสรีทางการศึกษา  ด้วยหวังว่า จะนำประเทศชาติและประชาชนให้เจริญสวัสดิ์พิพัฒนาไปกับการเข้าร่วมประชาคมนั้น

 

            นโยบายส่วนใหญ่ในขณะนี้ของหน่วยงานด้านการศึกษาและการพัฒนา มักจะกล่าวถึง หลักสูตรอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies)   ว่าจะเป็นแนวทางหรือกลยุทธ์หนึ่งที่จะพัฒนาผู้เรียนไทยให้พร้อมต่อการก้าวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า หลักสูตรอาเซียนศึกษาในที่นี้หมายถึงอะไร และมีโครงสร้างอย่างไรบ้าง  และคำถามที่ควรจะพิจารณาต่อมาคือ เราเชื่อจริงๆหรือไม่ว่า หลักสูตรอาเซียนศึกษาทึ่มีอยู่ขณะนี้ และที่จะสร้างขึ้นใหม่ จะสามารถทำให้เยาวชนที่เรียนตามหลักสูตรนี้ มีความรู้ความสามารถเพียงพอต่อการแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่นๆ  ด้วยเหตุนี้    คำว่าหลักสูตรอาเซียนศึกษา เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่น่าจะเป็นหลักสูตรอาเซียน หรือหลักสูตรที่จะเตรียมคนให้มีทักษะสำหรับการใช้ชีวิตในประชาคมอาเซียน เพราะเป้าหมายของหลักสูตรทั้งสองนั้นแตกต่างกัน

 

            หลักสูตรอาเซียนศึกษา มีลักษณะเป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาและบูรณาการในลักษณะกว้าง (broadfield curriculum)  ลักษณะสำคัญของหลักสูตรอาเซียนศึกษา คือ การจัดหมวดหมู่เนื้อหาองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับมวลประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์  การเมือง การปกครอง ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี นวัตกรรมและภูมิปัญญาในด้านต่างๆ มารวมไว้ ให้ผู้เรียนศึกษาในมิติต่างๆ อย่างสัมพันธ์กัน  เมื่อพิจารณาลงไปแล้วจะพบว่า  แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรอาเซียนศึกษามิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นองค์ความรู้ที่ได้วางรากฐานมานานกว่าศตวรรษแล้วในทวีปยุโรป  ดังจะเห็นได้จากการสร้างหลักสูตรเกี่ยวกับทวีปเอเชียและแอฟริกาของวิทยาลัยบูรพศึกษาและแอฟริกาศึกษา  มหาวิทยาลัยลอนดอน (School of Oriental and African Studies) เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า  การที่ยุโรปให้ความสำคัญกับเอเชียนั้น จุดเริ่มต้นคงมิได้เป็นเรื่องของการพัฒนา และน่าจะเป็นเรื่องของการแสวงหาประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก การศึกษาสรรพวิทยาหรือศิลปวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น    จึงมิได้ส่งผลต่อประเทศที่ได้รับการศึกษามากเท่าใดนัก  คุณค่าของหลักสูตรอาเซียนศึกษาเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้  จึงน่าจะอยู่ที่ความพยายามที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนชาติอื่นๆ แต่มิได้มุ่งเน้นที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงกลไกหรือวิถีที่ได้ดำเนินมานั้น กล่าวจำกัดลงมาถึงหลักสูตรอาเซียนศึกษาในประเทศไทย  หลักสูตรอาเซียนศึกษาจึงเป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความเข้าใจวิถีและความเป็นไปของคนในประเทศสมาชิกอาเซียน แต่มิได้ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ ต่อคนในอาเซียนหรือแม้แต่ตัวของผู้ศึกษาเอง เพราะกรอบแนวคิดหลักสูตรเป็นกรอบที่เน้นเนื้อหาความรู้ และผู้เรียนจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นหลัก


          จากแนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรอาเซียนศึกษาข้างต้น  จะเห็นได้ว่า หลักสูตรอาเซียนศึกษามีลักษณะไม่ต่างจากหลักสูตรของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมที่เดิมเรามีอยู่แล้ว  และในหลักสูตรสำหรับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาในปัจจุบัน  ก็มีสาระการเรียนรู้ทั้งในส่วนของประเทศและทวีปต่างๆ ที่มากว่ากลุ่มประเทศอาเซียน  จนน่าจะครบทุกทวีปในโลกเลยก็ว่าได้  คำถามคือ  เหตุใดผู้เรียนของเราที่ศึกษาเรียนรู้เนื้อหา “มากกว่า” 10 ประเทศอยู่แล้ว   จึงยังไม่มีสมรรถนะในการสร้างความเข้าใจหรือแข่งขันกับผู้เรียนในภูมิภาคเดียวกันได้  โดยนัยนี้  หลักสูตรอาเซียนศึกษา จึงไม่น่าที่จะเป็นหลักสูตรอาเซียน หรือกล่าวให้ชัดเจนขึ้นคือ หลักสูตรสำหรับพลเมืองอาเซียน (curriculum for ASEAN citizen)  ที่เราคาดหวังว่าจะเป็นพิมพ์เขียวสำหรับสร้างผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะในการเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2558

 

            ที่จริงแล้ว  หากจะมีสถานศึกษาสักแห่งหนึ่ง บอกว่าได้พัฒนาหลักสูตรอาเซียนศึกษาขึ้นแล้ว  ผู้รับผิดชอบคงต้องตอบให้ชัดเจนเสียก่อนว่า หลักสูตรอาเซียนศึกษาดังกล่าวนั้น  ต่างจากหลักสูตรสังคมศึกษาที่มีอยู่แล้วอย่างไร เพราะการบรรจุเพียงเนื้อหาใหม่ๆ เกี่ยวกับประเทศในกลุ่มอาเซียน  หรือบรรจุรายวิชาภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียน  ยังไม่น่าจะถือว่าเป็นหลักสูตรที่เพียงพอต่อการเป็นพลเมืองอาเซียน และถ้าหลักสูตรอาเซียนศึกษาที่มีอยู่ ไม่ได้พูดถึงประเด็นสำคัญที่เป็นประเด็นสาธารณะ เช่น  ความขัดแย้งและปัญหาระหว่างภูมิภาค ทั้งในเรื่องศาสนา  ทรัพยากรและเขตแดน  ความเลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจของประชากรในประเทศต่างๆ  ปัญหาประชาธิปไตยและการปกครอง  ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน   แต่กลับไปพูดถึงการแต่งกาย อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ประเพณี  ความเชื่อ ฯลฯ  อันเป็นประเด็นปลีกย่อยมาก เมื่อเทียบกับความเปลี่ยนแปลงของประเทศสมาชิก  ที่นับวันจะยิ่งมีความสัมพันธ์ซับซ้อนขึ้นไปทุกทีแล้วละก็  หลักสูตรอาเซียนศึกษาดังกล่าวก็มีนัยสำคัญน้อยมากต่อผู้เรียน  เพราะไม่สามารถที่จะไปใช้ในการปรับความสัมพันธ์หรือสร้างสมรรถนะในการอยู่ร่วมกับอีก 9 ประเทศได้แต่อย่างใด

 

            หลักสูตรที่นักหลักสูตรกำลังแสวงหาแนวทางในการพัฒนาสำหรับอาเซียนในขณะนี้   จึงไม่ใช่หลักสูตรภาษาต่างประเทศ หรือหลักสูตรที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอาเซียน ซึ่งที่จริงแล้วเป็นประเด็นที่ผู้รับผิดชอบได้ดำเนินมาอยู่แล้วเป็นปกติ แต่หลักสูตรที่ควรจะพัฒนาขึ้นควรเป็นหลักสูตรที่ว่าด้วยสมรรถนะหรือคุณลักษณะของคนในประชาคมอาเซียนที่ควรจะเป็น  ซึ่งสามารถที่จะยืนหยัดและร่วมมือกับคนในประชาคมอื่นๆ เช่น ประชาคมยุโรป โลกอิสลาม หรือโลกแอฟริกาได้  ซึ่งก่อนที่จะสร้างหลักสูตรเช่นที่ว่าได้ คงจะต้องตอบโจทย์สำคัญให้ได้ก่อนว่า  อาเซียนต้องการประชากรหรือพลเมืองที่มีคุณลักษณะและสมรรถนะอะไรเป็นหลัก  จะเห็นได้ว่า เป้าหมายของหลักสูตรสำหรับอาเซียนดังกล่าว  มิได้เน้นไปที่การสร้างความเข้าใจผู้อื่นเป็นอันดับแรก  แต่มุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนตนเองให้เกิดความรู้ ทักษะ สมรรถนะ ค่านิยมใหม่ๆ  อันเป็นการสร้างความเข้าใจ หรือเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนตนเองก่อน  ซึ่งอุปสรรคสำคัญที่สุดในขณะนี้  คือ เราไม่มีฉันทามติจากประชาคมเลยว่า  คนในอาเซียนควรจะเป็นอย่างไร และที่คาดหวังให้เป็นนั้น ต่างจากที่กำหนดในหลักสูตรของชาติอย่างไร ต่างจากคนในประชาคมอื่นอย่างไร และถ้าไม่ต่างก็แสดงว่า หลักสูตรในปัจจุบันต่างหากที่เป็นปัญหา ไม่ใช่ประเด็นว่าจะสร้างหลักสูตรขึ้นใหม่ใช่หรือไม่  ที่เป็นเช่นนี้ เพราะทุกฝ่ายอาจมองข้ามประเด็นความร่วมมือของอาเซียนว่า ที่จริงแล้วประชาคมนี้มุ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และการพัฒนาคนหรือการจัดการศึกษาเป็นเพียงกลไกเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจในภูมิภาคเท่านั้น

 

            การพัฒนาหลักสูตรอาเซียนศึกษาไม่ใช่การสร้างหลักสูตรสำหรับอาเซียน เพราะหลักสูตรอาเซียนศึกษามีอยู่แล้วในสาระการเรียนรู้ส่วนที่ว่าด้วยข้อมูลในด้านต่างๆ ของประเทศสมาชิก  แต่อาจจะยังขาดในเรื่องของหลักสูตรภาษาของประเทศอาเซียน  ซึ่งที่จริงมีเปิดสอนแล้วบางภาษาในระดับอุดมศึกษา  การโหมและเกาะกระแสที่ไม่ถูกต้อง และการละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลักสูตรที่มีอยู่เดิมต่างหากที่เป็นปัญหาของวงการศึกษาไทย และในที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมประชาคมโดยที่เราอาจจะต้องมาเสียใจในภายหลังก็เป็นได้

_____________________________________

หมายเลขบันทึก: 497583เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้าใจและชัดเจนในเรื่องหลักสูตรอาเซียนศึกษา  แล้วค่ะ  ขอบคุณอาจารย์มาก


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท