ซื้อสิทธิ์ขายเสียง


         วันนี้เป็นวันเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น สจ. (สมาชิกสภาจังหวัด)  และคิดว่าหลายจังหวัดคงมีการเลือกตั้งพร้อมกันกับจังหวัดสระบุรี  เมื่อเตรียมตัวพร้อม ฉันกับแม่จึงชวนกันออกไปเลือกตั้ง  ปีนี้แม่เดินไม่ค่อยแข็งแรงเพราะอายุมาก  บวกกับโรคประจำตัวที่แม่มีเกี่ยวกับปลายประสาทชา  เราสองคนแม่ลูกที่มีสิทธิ์เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญไทย  จึงนั่งรถยนต์ออกไปเลือกตั้ง ส่วนคุณสามี  มีชื่ออยู่ในจังหวัดทหารบกจึงต้องออกไปเลือกตั้งที่นั่น

       

        “เอามั้ย  เบอร์....เค้าให้เงินมาเนี่ย”  แม่ถามฉัน  เพราะรู้อยู่แล้วว่าฉันไม่เคยรับเงินของใครทั้งสิ้น เพราะฉันไม่ขายเสียงที่มีศักดิ์ศรีของฉัน  

         “อ้าว!  แม่ไปเอาของเค้ามาทำไม”  ฉันถามแม่อย่างรู้เหตุผลของเงินที่ได้มาทันที

          “เปล่าเค้าเอามาฝากป้าไว้  ป้าเลยนำมาให้”  ฉันได้แต่นึกในใจ....”ทุกทีซิน่า”  จะต้องมีการซื้อเสียงกัน  ไม่เบอร์ใดก็เบอร์หนึ่งจะต้องซื้อเสียง  บางครั้งซื้อกันทุกเบอร์ด้วย  งานนั้นชาวบ้านตาดำๆ  ได้มีเงินเลี้ยงครอบครัวกันเลยทีเดียว  และส่วนใหญ่เขาจะรู้ว่า  ถ้าบ้านไหนเป็นข้าราชการเขาจะใช้วิธีฝากเงินไว้กับเพื่อนบ้านไว้ให้  และเพื่อนบ้านก็ซื่อสัตย์นำมาให้แม่ทุกครั้ง  หัวคะแนนเขาก็ทำหน้าที่ของเขาอย่างดีเหมือนกัน  และหากใครกล่าวว่า อำเภอนั้น  จังหวัดนั้นปลอดการซื้อสิทธิ์ขายเสียง  ฉันขอเถียงเลยว่าไม่มียุคสมัยใดที่ไม่ซื้อเสียง  และเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ฉันรับรู้เรื่องนี้มา   ทุกครั้งที่แม่รับเงินมาฉันก็จะบอกกับแม่ทุกครั้งว่า “หนูซื้อเสียงต่อนะแม่  แม่จะเลือกใครก็ได้  แต่อย่าเลือกคนที่มาซื้อเสียง”  ฉันไม่ได้จะซื้อเสียงแม่หรอกนะ  แต่นึกโมโห  บางครั้งหัวคะแนนก็เป็นคนรู้จักมักคุ้นกัน  แม่ตอบว่า  “ช่างเค้าเถอะเขาจะซื้อก็ซื้อไป  แต่เราจะเลือกใครมันเรื่องของเรา  เขาไม่ได้จับมือเรามากาเลือกคะแนนนี่”  นั่นแน่  แม่นะแม่  ฉันโล่งใจ  ว่าเงินซื้อแม่ไม่ได้  แต่ช่วยไม่ได้ที่อยากมาให้เอง  และฉันก็เชื่อว่าชาวบ้านหลายคนเป็นเช่นนี้  แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่แม่เคยพูดว่า

 

        “เลือกมันหน่อยเถอะ  คนรู้จักมักคุ้นกัน  สงสารมัน”  และฉันก็เชื่อว่าคนแก่หลายคนที่รับเงินมา  แล้วต้องออกไปเลือกคนๆนั้น  เพราะเขาซื่อสัตย์ต่อเงินที่ได้รับมา  แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า  เมื่อเขาใช้เงินซื้อเสียง  เขาต้องไปโกง  (เสียงขาวบ้านพูดกันอย่างนี้จริงๆ)  กันต่อไป 

 

         

        บ่ายแล้วคนเริ่มน้อย  บรรยากาศไม่คึกคัก  เพราะหน่วยเลือกตั้งนี้ที่ตั้งอยู่ใน  รพ.สต.ตาลเดี่ยว  มีเพียง  ๒  หมู่บ้านเท่านั้น  คือหมู่ที่ ๔ และ หมู่ที่ ๕  ของ ต.ตาลเดี่ยว  อ.แก่งคอย  ฉันและแม่  รวมถึงคนอื่นที่มาใช้สิทธิ์ประมาณ ๔-๕ คนเริ่มทยอยเดินเข้าคูหา   กรรมการเลือกตั้งมีด้วยกันทั้งหมด  ๖  คน  เราส่งยิ้มทักทายกัน  เพราะกรรมการก็เป็นตัวแทนของคนในหมู่บ้านที่พวกเรารู้จักมักจี่กันเป็นอย่างดี  และมีตัวแทนของหน่วยงานราชการอีก ๒ คนเดาว่าน่าจะเป็นคุณครู  แต่หน้าตาไม่คุ้น  เมื่อตรวจบัตรและเข้าไปใช้สิทธิ์เรียบร้อย  พี่จิตรหนึ่งในกรรมการในคูหาคนสุดท้าย  ได้กล่าทักทายฉันว่า

          “ไปไหนกันต่อเหรอ”

         “เข้าตลาดซักหน่อยพี่  แม่จะไปซื้อผ้าอาบน้ำฝน  และของทำบุญวันเข้าพรรษาที่จะถึงนี้”  ฉันตอบพี่จิตรไป  ทั้งแม่ ฉัน  และพี่จิตร  กล่าวทักทายกันและกล่าวลากัน

          “เลือกเบอร์อะไรเหรอ”  เมื่อเข้ามานั่งในรถ  แม่ถามฉัน 

         “ความลับแม่”  ฉันตอบแม่แบบขำๆ  ในใจนึกว่าแม่ต้องเลือกคนที่ซื้อเสียงแม่มาแน่ๆ

          “แม่เลือกเบอร์...ไม่ได้เลือกเบอร์...หรอก”  ฉันโล่งใจทันที  เย้ๆ  แม่ฉันไม่ขายเสียง  เงินซื้อเสียงแม่ฉันไม่ได้

 

       

        เงินทำให้คนระงับการใช้วิจารณญาณอิสระของตนเอง ที่จะเลือกตำแหน่งสาธารณะต่างๆ การใช้วิจารณญาณอิสระเป็นเงื่อนไขสำคัญในระบอบประชาธิปไตย หากทว่าการพิจารณาว่าจะขายเสียงแก่เบอร์ไหนถึงจะได้ "กำไร" สูงสุด (ในทุกความหมาย ทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่)  แต่การที่คนทั่วไปเลือกเบอร์ใด พรรคใดก็เพราะเห็นว่านโยบายของเบอร์นั้น หรือของพรรคที่เบอร์นั้นสังกัดอยู่ ให้ประโยชน์แก่ตัว และอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ตัว ก็ง่ายที่จะตัดสินใจ  แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้ใช้วิจารณญาณอิสระอยู่นั่นเอง  ฉันยังมองเห็นว่าหากปัญหาปากท้องยังมาเป็นอันดับหนึ่ง  หรือปัญหาความยากจนยังไม่หมดไปโดยเฉพาะในสังคมชนบท  ที่ทั้งขาดการศึกษา  ขาดการสื่อสารจากภาครัฐอย่างแท้จริง  ปัญหาการคอรัปชั่น  การเอารัดเอาเปรียบของคนบางพวก  ที่มุ่งใช้เงินเป็นเครื่องมือ  ปัญหาการขายเสียงก็จะยังคงคู่กับสังคมไทยต่อไป

 

ขอบคุณภาพประกอบทั้งหมดจาก Internet

๒๙  กรกฎาคม  ๒๕๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 500081เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • อ่านแล้วเข้าใจความรู้สึกผู้เขียน
  • วิถีชุมชน  กับวิชาการราชการนั้นเดินสวนทางกัน

ขอบคุณค่ะท่านมหา เหรียญชัย มาวงษ์

วิถีชุมชน  กับวิชาการราชการนั้นเดินสวนทางกัน  มันเป็นเช่นนั้นจริงๆค่ะ

ขอแชร์เรื่องราวนะครับ
20 ธันวาคม 2563 เลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศ อีกครั้ง ในรอบกว่า 8 ปี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท