คุยเฟื่อง(หัวใจฟู) เรื่องการสื่อสารภายในกองกลาง


คือกิจกรรมแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นเรื่องการสื่อสารภายในกองกลาง

กิจกรรมการจัดการความรู้ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลของฉัน ได้พาทีมงานร่วมขับเคลื่อน จนเห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมาแล้วค่ะ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2555 เวลา 11.30 – 13.30 น.  ณ ห้องบัวเรศ คำทอง ตัวแทนบุคลากรจากงานต่างๆ ภายในกองกลาง ได้มาร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นเรื่อง

“อยากเห็นอยากให้การสื่อสารภายในกองกลางเป็นเช่นไร”

ภายใต้วงล้อมอาหารมื้อกลางวัน หรือศัพท์ทางการจัดการความรู้เรียก  Lunch Talk โดยเรามีกิจกรรมรับประทานอาหารไป คุยไป ฟังกันไปค่ะ

เปิดวงแชร์นัดแรก

เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในฐานะมือใหม่เล็กน้อย คณะกรรมการจัดการองค์ความรู้ (KM Team) เกริ่นเล่าที่มาที่ไปของกิจกรรมดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการองค์ความรู้ของกองกลางค่ะ นั่นคือ นอกเหนือจากการเปิดวงแชร์ (Share-แลกเปลี่ยนประสบการณ์) รายสองเดือน แล้ว แผน KM เรายังมีระบบพี่เลี้ยงสอนการใช้งานเทคโนโลยีด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ภายในกองกลาง  และการเรียนรู้เครื่องมือสำคัญๆ อาทิเช่น การทำ SWOT Analysis   การเขียนแผนบริหารงานและประเมินผลงานโดยดุลดัชนี  Balanced Scorcard -BSC ที่ต้องอาศัยการระดมสมองคิดร่วมกันภายในงานผ่านผู้มีประสบการณ์ซึ่งได้คลุกคลีมาโดยตรงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 4-5 ปี และมีการสร้างคลังความรู้ภายในกองกลาง (Website KM เพื่อการจัดการความรู้)

กลับมาที่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การติดต่อสื่อสาร กิจกรรมนัดแรกของชาวกองกลาง ทีมงานเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนหมุนเวียนผลัดกันเล่าเรื่องวิธีการสื่อสารภายในงานของแต่ละงาน ทำอย่างไร ได้ผล มากน้อยแค่ไหน ปัญหาอุปสรรคจากการลองผิดลองถูก วิธีที่คิดว่าดีที่สุด ใช้ประจำ ซึ่งทีมงานสรุปสิ่งดีๆ ที่แต่ละงานใช้วิธีการสื่อสารภายในงานและข้ามสายงาน มีดังนี้ค่ะ

งานเลขานุการผู้บริหาร  สมาชิกจากงานบอกเล่าว่าการสื่อสารภายในงานที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มีลักษณะดังนี้คือ

  • ระหว่างผู้บริหารและเลขานุการผู้บริหาร คอมพิวเตอร์สั่งการในระบบเครือข่าย  LAN (ลักษณะการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ถึงกันภายในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน)
  • ระหว่างเลขานุการผู้บริหารด้วยกันใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางเชื่อมข้อมูลภารกิจผู้บริหารแต่ละท่านให้เพื่อนเลขานุการรับทราบ ผ่านสังคมออนไลน์ Facebook กลุ่ม(ปิด) หลังจากพบอุปสรรคปัญหาการใช้งานเว็บไซต์เป็นทางการอยู่บ้าง เนื่องจากภารงานเลขานุการผู้บริหารแทบไม่มีเวลาปฏิบัติงานภารกิจประจำ เช่น การลงเวลานัดหมายผู้บริหาร ส่วนในกรณีการคุยเรื่องทั่วไปจะใช้รูปแบบการประชุมเป็นเครื่องมือสื่อสาร  ทีมงานภายในงานเห็นความสำคัญการสื่อสารอันประกอบด้วยแหล่งข้อมูล source—ข้อมูล message-ช่องทาง Channel -ผู้รับข้อมูล receiver สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ส่งสารและผู้รับสาร ต้องให้เข้าใจตรงกันค่ะ

งานสารบรรณและธุรการ บุคลากรจากงานสองคนแจ้งว่างานส่วนใหญ่เป็นงานเอกสาร การสื่อสารจึงออกมาในรูปแบบเป็นทางการ ใช้ลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก มีการถ่ายเอกสารหนังสือราชการเพื่อการแจ้งเวียน และพบอุปสรรคปัญหาของผู้ปฏิบัติงานเองคือความไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ตลอดจนกรณีที่เกิดจากการเขียนชื่อ-ที่อยู่ ไม่ครบถ้วนเป็นเหตุให้มีการตีกลับ เกิดความล่าช้า วิธีการแก้ไขคือโทรศัพท์สนทนากัน กับบุคคลในงานที่เกี่ยวข้อง

งานรักษาความปลอดภัย  ในทีมงานนี้มีกรรมการจัดการความรู้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การติดต่อสื่อสารให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า มีเครื่องมือสื่อสารสำคัญใช้ในการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในงาน  ข้ามสายงาน หลากหลาย ได้แก่ การพูดคุย การใช้วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์ โดยเฉพาะข้อจำกัดของผู้ปฏิบัตงานภายในงาน มีจำนวน 40 คน ทำงาน 3 ช่วงเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง  ดังนั้นการสื่อสารเรื่องสำคัญจะมีศูนย์กลางที่สำนักงาน โดยการจัดตั้งพื้นที่ส่วนกลาง มีบอร์ดข่าวสาร คอมพิวเตอร์ส่วนกลางเพื่อให้บุคลากรทั้งหมดที่เข้ามาลงชื่อปฏิบัติงานประจำช่วงเวลาได้ทราบข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งในเชิงพัฒนาวิชา ชีพ วิชาการ รวมทั้งการเรียนรู้ความรู้ตามอัธยาศัย

งานประชุมและพิธีการ ผู้แทนจากงานนี้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนมากเป็นเรื่องเอกสารประกอบการประชุม จะพลาดไม่ได้เลยเรื่องความละเอียด ชัดเจน แม่นยำ ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้คอยแนะนำหลักในการทำงานไว้เสมอ ด้านการติดต่อสื่อสารสองทาง (Two ways communication)

งานประชาสัมพันธ์  สมาชิกวงแชร์รวมสองคนแบ่งกันเล่าการสื่อสารภายในงานมีหลากหลายรูปแบบและวิธีการ ตั้งแต่การล้อมวงประชุมกองบรรณาธิการข่าวเป็นประจำทุกบ่ายวันจันทร์ หลังตกลงภารกิจต้นฉบับแล้ว ใครมีอะไรมาพูดคุยสื่อสารกัน นอกจากเวลานี้หากมีเรื่องด่วนต้องการมติตัดสินใจดำเนินการเราจะนัดกันปุปปับ ซึ่งทุกคนให้ความร่วมมือขับเคลื่อนกระบวนการสื่อสาร นอกจากนั้นภายในงานยังอาศัยช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสื่อกลางให้ทุกคนเปิดรับ-ส่งข่าวสารถึงกันได้  ถ้ามีเรื่องสำคัญของแต่ละคน ในงานจะมี Post-it ติดที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ อันเป็นธรรมชาติการทำงานของทีมงานที่ต้องประจำอยู่หน้าจอตลอดเวลา ส่วนอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ต่อยอดการสื่อสารจากหนังสือราชการที่เวียนแจ้งบุคลากรทราบ เนื่องจากอุปสรรคการเวียนหนังสือรายบุคคลล่าช้า งานจะจัดตระกร้าเอกสารแจ้งเวียนวางไว้ให้บุคลากรหมุนเวียนมาเปิดอ่านและมีผู้รับผิดชอบตรวจสอบว่ามีการลงชื่อรับทราบเรื่องแจ้งเวียนครบแล้วหรือยัง  ก่อนนำเก็บรวมเข้าแฟ้มเอกสารตามระบบต่อไป

ส่วนงานศูนย์ประสานงานมหาวิทยาลัย (กทม.) แม้ว่าจะไม่ได้มาร่วมวงแลกเปลี่ยนด้วยกันครั้งนี้ ทีมงานได้สื่อสารทางไกลเพื่อทราบเทคนิควิธีการติดต่อสื่อสารมาไว้ด้วยดังนี้ค่ะ

โดยทั่วไปจะมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนคติและความคิดเห็นการปฏิบัติงานร่วมกัน รวมถึงเรื่องของปัญหาและอุปสรรคต่างๆในการปฏิบัติงานซึ่งต้องปรับเปลี่ยนและแก้ไขตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น ทั้งที่เกิดในส่วนของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  อีกทั้งยังมีในส่วนของเรื่องการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ รูปแบบและวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำงานศูนย์ประสานงานฯ โดยจะมีการพูดคุยกันตลอดทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างเจ้าหน้าที่ด้วยกันเองในเรื่องของงานแต่ละคน ซึ่งเจ้าหน้าที่แต่ละคนนั้นจะมีภารกิจที่จะต้องออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ จึงทำให้เจ้าหน้าที่อยู่ไม่พร้อมหน้ากัน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนจึงสามารถปฏิบัติหน้าที่หรือทดแทนกันได้ตลอดเวลา ส่วนการสื่อสารระหว่างงานจะใช้วิธีการติดต่อสื่อสารกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยใช้โทรศัพท์เป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นก็จะใช้โทรสาร E-mail internet website และอะไรก็ตามซึ่งสามารถสื่อสารแล้วพร้อมปฏิบัติได้ ณ ตอนนั้น เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างงานบรรลุผลสำเร็จได้

สมาชิกวงแชร์ทางไกลยังสรุปไว้ด้วยค่ะว่า ปัจจุบันกองกลางมีการติดต่อสื่อสารที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นอยากได้ก็คือความร่วมมือและความเอาใจใส่กัน ที่สำคัญความเป็นห่วงกันและกันมากขึ้น โดยเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าสิ่งนี้จะทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันภายในกองกลางบรรลุประสิทธิผลตามที่คาดหวังไว้

จากนั้นวงแลกเปลี่ยนฯ ได้ผลัดกันเล่าเรื่องการสื่อสารระหว่างงานไปยังงาน ทำอย่างไร ได้ผล มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งเราช่วยกันระดมคิดว่าการสื่อสารภายในกองกลางน่าจะเป็นเช่นไรค่ะ

คุยรอบสอง อยากให้การสื่อสารภายในกองกลางเป็นอย่างไร?

เรี่มต้นกันที่จุดอ่อนของการสื่อสารภายในกองกลาง ที่เราไม่มีจุดกลาง เหมือนเช่นงานรักษาความปลอดภัยดำเนินการ แต่สิ่งที่เราดำเนินการกันไปบ้างแล้วคือ การจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์ “ข่าวสารกองกลาง” เป็นใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารถึงบุคลากรทุกคนในกองกลาง แต่เป็นการเผยแพร่ข่าวสารรายเดือน และเน้นที่กิจกรรมการจัดการความรู้ การพัฒนาคน พัฒนางาน จึงอาจมีความล่าช้าไม่ทันเหตุการณ์กับข้อมูลข่าวสาร การมีบอร์ดประชาสัมพันธ์ข่าวสารกลางอาจเป็นทางออกที่ดีวิธีหนึ่ง

สมาชิกในวงแชร์ยังได้แลกเปลี่ยนเรื่องการใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดภาระเวลาและความสิ้นเปลืองกระดาษถ่ายเอกสารไม่ว่าจะเป็น

  1. ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบ MIS และ e-Office  ซึ่งสามารถศึกษาเรียนรู้จากหน่วยงานอื่นภายในมหาวิทยาลัยที่ได้มีการพัฒนาใช้งงานแล้ว
  2. ช่องทางกระดานข่าวในเว็บไซต์ของกองกลางที่ทีมงานจัดการองค์ความรู้กำลังพัฒนามาเป็นเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันแบบไม่เผชิญหน้า (Blog to Blog)

ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติงาน อาจมีอุปสรรคปัญหาขัดข้องด้าน server ที่จะรองรับระบบ การวางแผนการอัพเดทฐานข้อมูลบุคลากรให้ทันสมัยเพื่อให้แน่ใจว่าข่าวสารถึงแต่ละบุคคลอย่างแน่นอน แผนการพัฒนาความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่บุคลากร ล้วนมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องพิจารณา รวมถึงการสร้างแรงกระตุ้นจูงใจให้เกิดความกระตือรือร้นในการเข้าไปใช้งานระบบสม่ำเสมอ

ปิดวงแชร์

ก่อนปิดวงรับประทานอาหาร/คุยไป/ฟังไป ทีมงานสอบถามความเห็นการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และครั้งหน้า อยากให้มีจัดลักษณะใด พบว่าผู้มาร่วมกิจกรรมเห็นชอบกับกิจกรรมนี้ที่ทำให้รู้และเข้าใจการทำงานต่างสายงาน และได้ทราบแนวคิดเรื่องการจัดการความรู้ผ่านประสบการณ์ลงมือปฏิบัติมากขึ้น

ทีมงานร่วมสรุปสิ่งที่ได้จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้

  1. เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคลากรภายในกองกลาง
  2. บุคลากรภายในกองกลางมีโอกาสทราบวิธีการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในแต่ละงาน และสามารถนำมาต่อยอดโดยการทบทวน ปรับใช้รูปแบบวิธีการติดต่อสื่อสารของงานได้ต่อไป
  3. กองกลางทราบช่องทางการติดต่อสื่อสารที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารไปยังบุคลากรในสังกัด แม้ว่าจะอยู่ต่างงานกัน
  4. ทำให้มีโอกาสในการสร้างและก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ทางการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะในด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

และสำหรับการ AAR ตัวฉันเองครั้งนี้ ได้เรียนรู้ เพิ่มประสบการณ์อะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนการทำหน้าที่ผู้นำ จากที่เคยตาม เคยเก็บ มาเป็นคนนำทาง คนคอยเคลียร์ให้เข้าในกรอบหรือประเด็นที่ทีมงานร่วมกำหนดไว้

สนุกดีเหมือนกันค่ะกับบทบาทหน้าที่ใหม่ๆ ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว อย่างเลี่ยงไม่ได้.

หมายเลขบันทึก: 503742เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2012 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • พี่ดาวครับ
  • เห็นการทำงานทั้งหมด
  • ดีใจที่เกิดวงแบบนี้
  • ขอชื่นชมพี่สบายดีนะครับ

แวะมาส่งกำลังใจให้คนเก่ง คนดีค่ะ

  • ชอบคำว่าปิดวงแชร์มากค่ะ...โดนใจค่ะ

สวัสดีค่ะน้องอาจารย์

Blank ขจิต ฝอยทอง

เป็นก้าวที่1 ของพี่ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ สบายดีเช่นกันนะคะ เมื่อไรมีข่าวดีๆคะ

 

สวัสดีครับ

ภาพแลกคงแชร์ไม่ลงนะครับ ไม่มีคนยิ้มเลย แต่พอลงตัวภาพสองก็ยิ้มได้นะครับ

 

 

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๖

ขออวยพรให้พี่ต๋อยมีความสุขความเจริญ สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เบิกบานกายใจ และสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการนะครับ

สวัสดีค่ะทุกๆ ท่าน

ขอบคุณค่ะ ขอโทษนะคะที่เข้ามาบันทึกนี้ช้ามาก ภารกิจอีรุงตุงนังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท