ความต้องการถือเงินกับหลักการใช้จ่ายทรัพย์ในทางพุทธศาสนา


ถึงแม้ว่าในรายละเอียดและจุดมุ่งหมายของการใช้ทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนากับความต้องการถือเงิน (demand for money) ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างในบางส่วนของเป้าหมาย แต่นัยของหลักใหญ่ใจความก็สามารถที่จะเทียบเคียงในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้ และที่น่าสนใจก็คือ กว่า ๒๕ ศตวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า หลักธรรมคำสอนในเรื่องการใช้จ่ายทรัพย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดูจะมีความหมายที่กว้างและครอบคลุมยิ่งกว่าเกี่ยวเนื่องจาก เป็นหลักที่เน้นไปในทางให้ ใช้จ่ายเพื่อประโยชน์แก่ตนและบุคคลอื่น ในขณะที่ศาสตร์ทั่ว ๆ ไปในปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาทรัพย์เพื่อเอาไปในการใช้จ่ายสำหรับประโยชน์ส่วนตน (เจ้าของทรัพย์) เป็นประการสำคัญสูงสุด

ในการมีทรัพย์ (โภคทรัพย์) ไว้เพื่ออะไรนั้น...ครั้งหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสแสดงถึงเหตุผลในการที่จะมีทรัพย์ หรือประโยชน์ที่ควรถือเอาจากทรัพย์สมบัติแก่อนาถบิณฑิกคหบดี โดยตรัสให้เหมาะกับสภาพของสังคมในสมัยนั้น พึงพิจารณาจับสารัตถะตามสมควรดังนี้ (จากหนังสือ พุทธธรรม : ฉบับปรับปรุงและขยายความ โดยพระพรหมคุณาภรณ์  หน้า ๗๘๗ – ๗๘๘.)

 

           “ดูกรคหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะทั้งหลายมี ๕ ประการดังนี้, ๕ ประการคือ

             ๑. ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สะสมขึ้นมาด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมเลี้ยงตัวให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลตนให้เป็นสุขโดยชอบ ย่อมเลี้ยงมารดาบิดา...บุตรภรรยาคนรับใช้กรรมกรคนงานให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบ, นี้คือประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๑

            ๒. อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร...ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมเลี้ยงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลายให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบ, นี้คือประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๒

           ๓. อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร...ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมป้องกันโภคะจากภยันตรายที่จะเกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทร้าย ทำตนให้สวัสดี, นี้คือประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๓

           ๔. อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร...ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมกระทำพลี ๕ อย่างคือ ญาติพลี (สงเคราะห์ญาติ) อติถิพลี (ต้อนรับแขก) ปุพพเปตพลี (ทำบุญอุทิศผู้ล่วงลับ) ราชพลี (บำรุงราชการ) เทวตาพลี (ถวายเทวดาหรือบำรุงศาสนา), นี้คือประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๔

           ๕. อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร...ได้มาโดยธรรม อริยสาวกย่อมประดิษฐานทักขิณาอันส่งผลสูง อันอำนวยอารมณ์ดีงาม มีผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะ ซึ่งฝึกฝนตนเอง ทำตนเองให้สงบ ทำตนเองให้หายร้อนกิเลสได้, นี้คือประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งดภคะ ข้อที่ ๕

         คหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะมี ๕ ประการเหล่านี้แล, ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาอยู่ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ๕ ประการเหล่านี้ โภคทรัพย์หมดสิ้นไป เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า อันใดเป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ประโยชน์เหล่านั้นเราถือเอาแล้ว และโภคะของเราก็หมดสิ้นไป โดยนัยนี้อริยสาวกนั้นก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ; และหากว่าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาอยู่ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ๕ ประการเหล่านี้ โภคทรัพย์เพิ่มพูนขึ้น เขาย่อมมีความคิดว่า อันใดเป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ประโยชน์เหล่านั้นเราก็ถือเอาแล้ว และโภคะของเราก็เพิ่มพูนยิ่งขึ้น โดยนัยนี้ อริยสาวกนั้นก็ไม่มีความเดือดร้อนใจ เป็นอันไม่มีความเดือดร้อนใจทั้งสองกรณี”...

 

ในการใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้นั้น สิ่งสำคัญในหลักการทางพระพุทธศาสนานั้นท่านสอนให้พึงเข้าใจและคำนึงไว้เสมอว่า ให้ใช้จ่ายไปในทางที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น หากใช้จ่ายไปในทางที่ไม่มีประโยชน์แล้วการแสวงหาและได้มาแห่งทรัพย์ดังกล่าวก็เปล่าประโยชน์และอาจจะมีโทษ รวมทั้งไม่มีค่าหรือความหมายใด ๆ โดยแนวทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สวัสดีในชีวิตมี ๕ ประการ กล่าวคือ

         ๑. ใช้ทรัพย์ไปในการเลี้ยงตัว เลี้ยงมารดา บุตร ภรรยา รวมทั้งคนที่อยู่ในการปกครองทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดี

          ๒. ใช้ทรัพย์ไปในการบำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดี

          ๓. ใช้ทรัพย์ไปในการปกป้องรักษาสวัสดิภาพรวมทั้งทำตนให้มั่นคงปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงที่มี

          ๔. ใช้ทรัพย์ไปในการเพื่อพลี เป็นไปในลักษณะที่จะสละเพื่อบำรุงและบูชา ๕ อย่าง

               ๔.๑ ญาติพลี คือ สงเคราะห์ญาติ

               ๔.๒ อติถิพลี คือ ต้อนรับแขก

               ๔.๓ ปุพพเปตพลี คือ ทำบุญหรืออุทิศส่วนบุญกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

               ๔.๔ ราชพลี คือ การบำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น

               ๔.๕ เทวตาพลี (ถวายเทวดา) คือ ทำบุญอุทิศสิ่งที่เคารพบูชาตามความเชื่อถือ

         ๕. อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ รวมถึงเหล่าบรรพชิตผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบและผู้ที่ไม่มีความประมาทมัวเมาทั้งหลาย

 

          จะว่าไปในการมีทรัพย์เพื่อเป็นเครื่องปลื้มใจหากไม่รู้จักใช้จ่ายในทรัพย์นั้น ความปลื้มใจอันที่คิดว่าแน่แท้ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์ระทมขมขื่นใจ ดังในเรื่องที่เคยเกิดขึ้นสมัยพุทธกาลที่ท่านว่าไว้โดยมีเนื้อหาสาระสอนใจดังนี้…

 

           กิระดังได้ฟังมาความว่าไว้ ในสมัยพุทธกาลเนิ่นนานมามีนิคมหนึ่งที่ชื่อว่า “สักกระ” มีระยะทางไม่ห่างไกลจากกรุงราชขคฤห์มากนัก ซึ่งเป็นแหล่งพักอาศัยของเศรษฐีใหญ่นามว่า “โกสิยะ” เป็นที่เล่าลือกล่าวขานกันว่าท่านมีทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) แต่มิพึงต้องการใช้ประโยชน์ใด ๆ ในทรัพย์นั้นเพื่อไปสงเคราะห์ผูใดหรือแม้กระทั่งตัวเอง!

          อยู่มาวันหนึ่งซึ่งเศรษฐีโกสิยะได้ไปเข้าเฝ้าพระราชา ตอนกลับมาจากเข้าเฝ้าระหว่างทางเขาได้พบกับชาวบ้านที่ยากจนคนหนึ่งซึ่งกำลังนั่งกินขนมเบื้องด้วยท่าทางเอร็ดอร่อย ชะลอยเพราะมีความหิวที่บังคับบีบคั้นเริ่มปะทุขึ้นมาทำให้เศรษฐีโกสิยะนึกอยากกินขึ้นมาบ้าง แต่ด้วยความที่มีนิสัยไปในทางตระหนี่จึงคิดหาวิธีที่จะกินขนมเบื่อง (ราคาแสนถูก) นั้นตลอดเส้นทางกลับบ้าน แต่นึกเท่าไรก็นึกไม่ออกเพราะหากจะบอกกับภรรยาว่าอยากกิน ก็เกรงว่าหากได้ยินถึงหูคนอื่นภายในบ้านทุกคนก็จะมีความต้องการเหมือนตนจึงยอมอดทนอดกลั้นต่อความหิวนั้นไว้ อันความทุกข์ใดไหนเล่าจะยิ่งใหญ่เท่ากับกับความทุกข์ใจที่ไม่ได้รับสนองตอบต่อความต้องการ (กิน) ของตน เมื่อจนด้วยปัญญาเพราะว่ากลัวจะเสียทรัพย์ จึงก้มหน้ารับเอาความเศร้าเก็บไว้ในใจเพียงลำพัง จนทำให้ร่างกายผ่ายผอมและทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงไป

        ฝ่ายภรรยาของเศรษฐีโกสิยะเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีเมื่อเห็นสามีของตนหน้าตาหม่นหมอง รวมทั้งร่างกายผ่ายผอมลงนับตั้งแต่วันที่กลับมาจากเข้าเฝ้าพระราชา ดูเหมือนกับว่าสามีกำลังกลุ้มใจในอะไรบางอย่างจึงเลียบเคียงถามว่า

         “ท่านเป็นอะไร หรือว่ามีเรื่องไม่สบายใจหรือเปล่า?”

          โกสิยะเศรษฐีผู้เป็นสามีส่ายหน้าด้วยท่าทีที่เหนื่อยล้า

          “หรือว่าพระราชาทรงกริ้วท่านหรือ?” ผู้เป็นภรรยายังคงคะยั้น

          “ไม่ใช่อย่างนั้น” ผู้เป็นสามีตอบออกไปในที่สุด

          “ถ้ายังงั้น มีใครทำให้ท่านไม่สบายใจหรือเปล่า?” ฝ่ายภรรยายังคงรบเร้าถามต่อ

         “ไม่มี!” ท่านเศรษฐีย้ำอย่างหนักแน่น แต่ในใจข้างในสุดแสนจะทรมาน

         “ถ้ายังงั้น เป็นเพราะอาหารไม่ถูกปากหรือว่าท่านอยากจะทานอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า?” ถามต่อเพราะเห็นร่างกายของสามีที่ผ่ายผอมลงโดยคิดว่าอาจจะเป็นไปได้ที่ไม่เจริญอาหาร ซึ่งก็เข้ากับความต้องการที่มีของเศรษฐีพอดี...แต่เมื่อเขาฉุกคิดดูอีกทีเพราะกลัวเสียทรัพย์จึงได้แต่ทำหน้าบอกบุญไม่รับดังเดิมและไม่ได้กล่าวอะไรออกมา ภรรยาจึงรบเร้าหนักขึ้น ในขณะที่เศรษฐีโกสิยะกลืนน้ำลายลงคอที่แห้งผากด้วยความยากลำบากก่อนที่จะหลุดปากออกมาว่า

      “ใช่! ฉันต้องการทานอะไรบางอย่าง”

        ภรรยาได้ฟังถึงกับอ้าปากค้างด้วยความแปลกใจแต่ก็รู้สึกผ่อนคลาย เพราะเคยคิดว่าคงมีเรื่องคอขาดบาดตายอะไรที่ทำให้สามีเป็นทุกข์ใจได้ถึงเพียงนี้ แต่ที่ไหนได้กลับกลายเป็นเรื่องเล็ก (สำหรับเธอ) นิดเดียวเท่านั้นเอง

 “แล้วท่านอยากทานอะไรหรือคะ” ภรรยาถามขึ้นในทันใดเพื่อที่จะได้จัดหามาให้สามีสุดที่รัก

 “ฉันอยากกินขนมเบื้อง” เขาพูดออกมาเบา ๆ พร้อมกับเหลียวซ้ายแลขวาเพราะกลัวว่าจะมีใครมาได้ยิน ฝ่ายภรรยาเมื่อได้ฟังดังว่าและเห็นกิริยาอาการก็อดที่จะขบขันไม่ได้จึงแสร้งเบือนหน้าไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ไม่อาจรอดพ้นสายตาของสามีไปได้

            “ขำอะไรนักหนา!”

          ภรรยาจึงหยุดและพูดขึ้นว่า “ท่านฝืนทนอยู่ทำไมจนทำให้ร่างกายผ่ายผอม หากแค่ยอมบอกออกมาว่าอยากทานขนมเบื้องเพียงเท่านั้นก็สิ้นเรื่อง ดีเหมือนกันจะได้ทำเลี้ยงคนจนทั้งเมืองไปด้วยพร้อมเลย” ภรรยาเอ่ยขึ้นด้วยความที่เป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารี

       แต่ท่านเศรษฐีถึงกับตกใจเลยสวนขึ้นในทันใด “อย่าว่าถึงคนจนทั้งเมืองเลยแม้แต่ทุกคนภายในบ้านฉันก็ไม่ต้องการให้ทานด้วย ฉันต้องการทานเพียงลำพังแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น!”

      ครั้นภรรยารับคำที่จะทำขนมเบื้องให้เพียงพอเฉพาะสามีที่รับประทานเพียงคนเดียวแล้ว เศรษฐีโกลิยะก็ยังอุตส่าห์วางเงื่อนไขไว้ให้เอาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวสาร น้ำนม น้ำอ้อย น้ำผึ้งและเนยใสโดยที่ให้ใช้ในปริมาณน้อย ๆ เท่านั้นโดยเฉพาะข้าวสารก็ให้เอาข้าวสารอย่างเลวคือแบบหัก ๆ หรือป่น ๆ ไปทำเท่านั้น...

 

         นี่คือเนื้อเรื่องบางส่วนในสมัยพุทธกาล ที่ต้องการหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของการใช้ไปในทรัพย์ ซึ่งจากนิทานจะเห็นได้ว่าท่านเศรษฐีโกสิยะถึงแม้ว่าจะเป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์มากมายกว่า ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) แต่ก็ยอมอดทนอดกลั้นต่อความอยาก (กินขนมเบื้อง) จนทำให้ตัวเองลำบากทุกข์ใจและทุกข์กาย (ผ่ายผอม) ด้วยความตระหนี่

          ถึงแม้ว่าเศรษฐีจะมีจิตใจน้อมไปในการบริโภคใช้สอยแต่น้อยนิด แต่ถ้าวินิจฉัยในหลักพระพุทธศาสนาเกี่ยวเนื่องกับ “การใช้จ่ายไปในทรัพย์” แล้วจะพึงเห็นได้ว่า ไม่ถูกกับคุณค่าที่วางเป็นหลักใหญ่เอาไว้เพราะไม่เป็นไปในลักษณะของการใช้เพื่อเลี้ยงตนเองรวมถึงครอบครัวและบริวารที่อยู่ในการปกครองของตน (ประโยชน์แห่งโภคะข้อที่ ๑) ให้เกิดความสุขสวัสดี ซึ่งในกรณีของเศรษฐีโกลิยะดังกล่าวถือได้ว่า มีทรัพย์ก็เปล่าประโยชน์และยังมีโทษต่อตัวเอง คือ รู้สึกเสียดายที่จะใช้จ่ายไปได้แต่นั่งมองนอนมองทรัพย์สมบัติที่กองอยู่เต็มบ้านแต่ไม่ได้นำมาเพื่อสร้างความเบิกบานและปลื้มใจให้กับเจ้าของนั้นเลย

           

หากว่าใครที่เรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ จะพึงสังเกตได้ว่า การใช้จ่ายทรัพย์ในทางพระพุทธศาสนาสามารถเทียบเคียงได้กับหลักทฤษฎีการเงินของสำนักเคนส์ ซึ่งแบ่งความต้องการถือเงิน (demand for money) ออกเป็น ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

            ๑. เพื่อใช้จ่ายประจำวัน (transaction motive) บุคคลโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคหรือผู้ผลิตจะถือเงินไว้เพื่อจับจ่ายใช้สอยประจำวันจำนวนหนึ่งเสมอ เช่น เป็นค่าหาร ค่าพาหนะ ซื้อวัตถุดิบ ค่าเช่า เป็นต้น

                ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับความสัมพันธ์ในการใช้จ่ายทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วก็คือ ประการที่ ๑  ใช้ทรัพย์ไปในการเลี้ยงตัว เลี้ยงมารดา บุตร ภรรยา รวมทั้งคนที่อยู่ในการปกครองทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดี นั่นเอง

 

           ๒. เพื่อเป็นทุนสำรองเมื่อมีเหตุจำเป็น (precautionary motive) คือ การถือเงินไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ เป็นต้น

               ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับความสัมพันธ์ในการใช้จ่ายทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วก็คือ ประการที่ ๓ใช้ทรัพย์ไปในการปกป้องรักษาสวัสดิภาพรวมทั้งทำตนให้มั่นคงปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงที่มี และประการที่ ๔ ใช้ทรัพย์ไปในการเพื่อพลี เป็นไปในลักษณะที่จะสละเพื่อบำรุงและบูชา ๕ อย่าง นั่นเอง

 

          ๓. เพื่อเก็งกำไร (speculative motive) คือ การที่ประชาชนหรือหน่วยธุรกิจต้องการถือเงินไว้เพื่อเก็งกำไรหรือลงทุนเพื่อหากำไร เช่น การซื้อหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร เป็นต้น

              ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับความสัมพันธ์ในการใช้จ่ายทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนาในแง่ที่เป็นการลงทุนแล้วก็คือ ประการที่ ๒  ใช้ทรัพย์ไปในการบำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดี นั่นเอง

 

       ถึงแม้ว่าในรายละเอียดและจุดมุ่งหมายของการใช้ทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนากับความต้องการถือเงิน (demand for money) ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างในบางส่วนของเป้าหมาย แต่นัยของหลักใหญ่ใจความก็สามารถที่จะเทียบเคียงในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้ และที่น่าสนใจก็คือ กว่า ๒๕ ศตวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า หลักธรรมคำสอนในเรื่องการใช้จ่ายทรัพย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดูจะมีความหมายที่กว้างและครอบคลุมยิ่งกว่าเกี่ยวเนื่องจาก เป็นหลักที่เน้นไปในทางให้ ใช้จ่ายเพื่อประโยชน์แก่ตนและบุคคลอื่น ในขณะที่ศาสตร์ทั่ว ๆ ไปในปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาทรัพย์เพื่อเอาไปในการใช้จ่ายสำหรับประโยชน์ส่วนตน (เจ้าของทรัพย์) เป็นประการสำคัญสูงสุด

 

********************************************************************************************************************

 

หมายเลขบันทึก: 505099เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2012 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2012 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

 

เห็นด้วย นะคะ ... ตอนที่เป็นเรียน MBA ... การจัดการกับการเงิน .... เป็นการเตีรยมความพร้อมของหลักศาสนา ... พระพุทธเจ้าทรง... คิดได้ไกลมากมาย (Vision)  ของพระองค์ ทรงคิด .... ยาวไกลมากนะคะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์คะ

"ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับความสัมพันธ์ในการใช้จ่ายทรัพย์ตามหลักพระพุทธศาสนาในแง่ที่เป็นการลงทุนแล้วก็คือ ประการที่ ๒  ใช้ทรัพย์ไปในการบำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลายให้ได้รับความสุขสวัสดี"

จากข้อความข้างบนหมายความว่าการลงทุนด้วยการค้าขายหุ้นต่างๆ การค้าเงิน การค้าทองคำ ฯ ตามหลักพุทธศาสนาถือว่าเป็นสัมมาอาชีวะ ใช่ไหมคะ?

เคยอ่านผ่านตาท่าน ว วชิรเมธีเคยพูดในทำนองว่า หากหุ้นของบริษัทที่เราซื้อประกอบการด้วยความสุจริต ประกอบการด้วยคุณธรรม เช่นไม่ใช่ธุรกิจขายของมึนเมา ธุรกิจส่งเสริมการพนันฯ ก็ถือว่าเป็นกางทุนโดยชอบธรรม...

ท่านอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ ชวนคุยค่ะ ;)

ขอบคุณค่ะ

ขอบพระคุณ อาจารย์P'Ple มากนะครับสำหรับความคิดเห็นดี ๆ ที่มีมาฝากเสมอ...เห็นด้วยกับP'Ple ครับ...:)

ขอบพระคุณ อาจารย์โสภณ มากนะครับที่แวะมาให้กำลังใจอยู่เสมอ...

     อืม...น่าคิดครับคุณปริม...เป็นการตั้งข้อสังเกตและชวนคุยที่มีคุณภาพคับแก้ว (กาแฟ) มากครับ....(อิ...อิ...ไม่รู้เป็นไงคุยกับคุณปริมแล้ววกหากาแฟอยู่เรื่อยเลย)

     จริง ๆ แล้วการลงทุนเมื่อมองในภาพรวมของทางพุทธศาสนา (ตามความคิดเห็นของผมนะครับ) ก็จัดได้ว่าอยู่ในประเด็นของการ รักษาดีหรืออารักขสัมปทา (ขยันหา รักษาดี ผูกไมตรีกับกัลยาณมิตร ดำรงชีวิตแบบพอเพียง)...

      การรักษาดี (อารักขสัมปทา) มีนัยของการเก็บรักษาทรัพย์สินซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากเงินทองที่เราขยันหามาจากสัมมาอาชีพที่สุจริตนั้น กินลึกลงไปในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้มาดังกล่าวให้งอกเงยออกดอกออกผลตามมาด้วย เป็นไปในลักษณะของการเก็บรักษาและใช้ไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          การใช้ไปในทรัพย์สิน เป็นการบริหารจัดการต่อยอดในส่วนของเงินเก็บเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการบริหารจัดการดังกล่าวก็จักต้องรอบคอบและมีสติ อย่าพึงบริหารจัดการด้วย “กิเลสหรือความโลภ” เป็นตัวตั้ง 

          ทีนี้ประเด็นของการใช้ไปในการลงทุนนั้น...มันก็มีแง่คิดอยู่ว่าในทางพระพุทธศาสนา การค้าขายที่อุบาสกไม่ควรประกอบ ๕ ประการ อันได้แก่

             ๑. สัตถวณิชชา   :   ค้าขายอาวุธภัณฑ์ (เครื่องประหาร)

             ๒. สัตตวณิชชา   :   ค้าขายมนุษย์

             ๓. มังสวณิชชา   :   ค้าขายเนื้อสัตว์ (อรรถกถาว่าไว้ได้รวมถึงเลี้ยงสัตว์ไว้จำหน่าย)

             ๔. มัชชวณิชชา   :   ค้าขายน้ำเมา (รวมทั้งสิ่งเสพติดทั้งหลาย)

             ๕. วิสวณิชชา     :   ค้าขายยาพิษ

    วณิชชาทั้ง ๕ อรรถกถาท่านเรียกว่า “มิจฉาวณิชชา” คือ การค้าขายที่ผิด

   ดังนั้น...หากว่าเราไม่ลงทุน (ซื้อหุ้น) ในธุรกิจเหล่านี้ก็คงไม่เป็นไร...เหมือนท่านอาจารย์ ว. วชิรเมธี ที่กล่าวไว้...

   ปล. ในทัศนะของผมหากเป็น การเก็งกำไรค่าเงิน นั้นผมไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการใช้เงินไปในการสร้างหน้าที่ (เทียม) ที่ผิดวัตถุประสงค์...นำมาซึ่งความวุ่นวายและหายนะ (วิกฤติเศรษฐกิจ)...ดังที่เคยเกิดในอดีตที่ได้สร้างความเจ็บปวดและบาดแผลให้กับประชาชนในประเทศที่ถูกโจมตีค่าเงินดังบทเรียนที่ประธานาธิบดี  มิตเตอรองค์ ของฝรั่งเศสได้รับในทศวรรษ ๑๙๘๐ ตามมาด้วยนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ ของอังกฤษ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียในปี ๑๙๙๒ รัฐบาลประเทศเม็กซิโกในปี ๑๙๙๔ วิกฤตการณ์ค่าเงินหรือต้มยำกุ้งที่เริ่มจากประเทศไทยและขยายตัวไปในภูมิภาคทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งเกาหลีใต้ ในปี ๑๙๙๗ ต่อด้วยวิกฤติค่าเงินของรัสเซียในปี ๑๙๙๘ นับเป็นประสบการณ์ราคาแพงที่ประเทศเหล่านี้ต้องจ่ายให้กับกลุ่มนักเก็งกำไรค่าเงินอย่างมหาศาล...

        ...หากเป็นการลงทุนในหุ้นหรืออาจจะมีพวกที่เข้ามาเก็งกำไรในหุ้นบ้าง...ก็เออน่า...อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการหมุนเวียนและจ้างงานทางเศรษฐกิจได้บ้างทั้งทางตรงและทางอ้อม...ก็พอไหว...พอไหว...ได้อยู่น่า...นะ...:)

 

ขอบคุณมากค่ะท่านอาจารย์สำหรับข้อคิดเห็นคุณภาพคับแก้ว เช่นกันค่ะ (ของปริมขอเป็นชาร้อนละกันค่ะ ;)

การค้าขายที่ผิดที่สอนไว้ในสมัยก่อนยังคงใช้ได้กับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเป็นอย่างดีค่ะ เห็นแล้วรู้สึกอุ่นใจที่ความเชื่อส่วนตัวของเราไปในทางเดียวกันกับคำสอนค่ะ

นอกเหนือไปจากการค้าการลงทุนในธุรกิจที่ถูกที่ควร การจัดการบริหารเงินด้วยสติจึงสำคัญมาก วิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตเกิดมาจากสาเหตุหลายประการก็จริง แต่ล้วนแล้วมาจากการบริหารจัดการด้วยความโลภเป็นที่ตั้ง เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ ;)

สาธุๆๆๆ เหมือนพระเขียนเลย...อาตมาขอนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมนะคร้าบ เจริญพร

      กราบนมัสการพระคุณเจ้านิธิพรรษ นิธินนฺโท

           กราบขอบพระคุณมากครับ...

           ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ...

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นดี ๆ ที่ คุณปริม มีมาเสริมเพิ่มเติมให้อีกครั้งครับ...:)

ขอบคุณสำหรับกำลังใจจากทุกท่านที่มอบผ่านดอกไม้นะครับ... :)


มาเยี่ยมด้วยความระลึกถึง นะครับ


 

 

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๖

ขออวยพรให้มีความสุขความเจริญ สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เบิกบานกายใจ และสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท