อภัย ขอบคุณ ชื่นชม


อภัย ขอบคุณ ชื่นชม

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราเชื่อมโยง มีชีวิต และมีความสุขทุกข์จากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง สิ่งแวดล้อม ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในระดับต่างๆกันอยู่ตลอดเวลา มนุษย์จึงมีเครื่องมือ และพัฒนาเครื่องมือ ในการมีปฏิสัมพันธ์นี้เป็นความสำคัญโดยสัญชาติญาณอันดับต้นๆ

วันนี้ขอรำพึงรำพันถึงเครื่องมือสามชิ้น คือ อภัย ขอบคุณ และชื่นชม อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์ใช้ไม่เพียงแต่เพราะคุณสมบัติเฉพาะหน้า ณ ขณะเวลา สถานที่ เหตุการณ์นั้นๆแล้ว ยังมีนัยยะไปถึงเรื่องราวที่ละเอียดอ่อน และระยะยาวนานได้อีกด้วย

อภัย ขอบคุณ ชื่นชม

เป็นกิริยาที่เราทำกันอยู่ทุกวัน เพราะเป็นเครื่องมือ "รักษาสมดุล" ระหว่างพลังงานของตัวเราให้เข้ากันได้กับสิ่งรอบข้าง รวมทั้งในด้านของการ "ดูดซับรับรู้" พลังงานเสริม ให้ตัวเราเองเติบโต และยกระดับตัวตนของเราให้สูงขึ้นอีกด้วย การทำงานของทั้งสามประการนั้น อาศัยทั้งกายวิภาคของกิริยาเหล่านี้ และอาศัยทั้งสรีระ หรือ "ความหมาย" ของกิริยาเหล่านี้ การใช้เครื่องมือทั้งสามชนิดเพียงแค่ผิวเผิน ถึงแม้จะได้ประโยชน์เบื้องต้น แต่ก็จะไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ "สื่อสารแบบ advance" มาก ก็เพราะเราสามารถจะให้ความหมายในสิ่งที่เราทำได้ลึกซึ้งกว่าสิ่งที่ปรากฏจากการกระทำนั้นๆด้วยตัวมันเอง

อภัย

อภัย มาจาก อ แปลว่า "ไม่" และ ภย แปลว่า "กลัว หรือทำให้กลัว" อภัยอาจจะกระทำได้สองทิศทาง คือ ขออภัย และให้อภัย ผมไม่แน่ใจว่าอีกคำอีกชุดหนึ่งที่มีความหมายคล้ายกัน คือ "ขอโทษ" นั้นมีที่มาอย่างไร แต่เรามักจะเห็นการใช้สลับกันไปมาได้ แทนกันได้ แต่โดยส่วนตัวผมชอบจะชอบใช้ "ขออภัย ให้อภัย" เป็นคู่ที่น่าจะเหมาะ น่าใช้กว่า "ขอโทษ" (ซึ่ง ไม่ค่อยใช้คู่กับการ "ให้โทษ"!!) และเมื่อรวมความหมายเดิมของ "ภัย" เข้าไป คำๆนี้ยิ่งลึกซึ้งและมีนัยยะที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีก นั่นคือ ทั้งคนที่ขออภัย และคนที่ให้อภัยนั้น กำลังวนเวียนกับ "ความไม่กลัว (fearless or no fear)" อันเป็นสภาวะจิต อารมณ์ขั้นสูง

คนเราจะขออภัยก็ต่อเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างไม่ค่อยจะดีนัก กับ "ผู้อื่น" เกิดขึ้น ที่เราเอง "อาจจะ หรือเป็น" ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเกิด มี เป็น ของสิ่งที่ไม่ค่อยดีนั้น ที่สำคัญคือเมื่อเกิดขึ้นแล้ว คนนั้นๆอาจจะมีความปราถนาจะทำอะไรบางอย่าง "ที่ทำให้เรากลัว" กับเรา

"กลัว" ในที่นี้ ไม่ได้เป็นแค่กลัวระดับต่ำๆ คือกลัวตาย กลัวเจ็บ อันเป็นอารมณ์ขั้นพื้นฐานของสัตว์ แต่สำหรับมนุษย์ เรากลัวสิ่งอื่นๆ เช่น กลัวสูญเสีย กลัวพรากจาก ไปถึงการกลัวและละอายในการกระทำบาป กระทำผิดต่อผู้อื่น (หิริโอตัปปะ) ดังนั้น ขออภัย ไม่ได้แปลทื่อๆเพียงว่า "อย่าทำให้ฉันกลัวเลย" เฉยๆ แต่ในระดับที่อาจจะหมายถึง "สิ่งที่ฉันทำ ไม่ได้เป็นบาป คือทำให้เธอเกิดทุกข์ เกิดความลำบาก"

และตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความหมายที่น่าสนใจมาก

เพราะหลายๆครั้ง การกระทำที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ผู้อื่นทุกข์จริงๆ และลำบากจริงๆ จู่ๆจะมาขออภัยนั้น จะต้องมีกระบวนการอะไรบางอย่างมาเกิดขึ้นกับ "ทุกขสภาวะ" ที่เกิดขึ้นแล้วนั้นก่อน จึงจะมีกระบวนการตามมาคือ "ให้อภัย" ที่แท้จริง (ไม่ใช่เพียงให้อภัยตามมารยาท ตาม protocol เท่านั้น) เกิดตามมาได้

ดังนั้น กระบวนการของ "อภัย" มี 10 ปัจจัยคือ

  1. awareness ว่ามีทุกขสภาวะเกิดขึ้นกับผู้อื่น (ผู้ขออภัย)
  2. ทุกขสภาวะนั้น อาจจะเกิดจาก หรือเกิดจากเรามีส่วนในการทำให้เกิด
  3. ขั้นตอนที่สำคัญตอนนี้คือ เราต้องการแสดงออกว่าเรารับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น และแสดงออกว่าเราไม่ได้ปราถนาจะให้เกิดขึ้น (no evil intention) เช่นนั้น หรือเพราะเหตุจำเป็นอื่นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลตาม
  4. การแสดงออก "ขออภัย"
  5. awareness ว่าทุกขสภาวะของเรานั้นเกิดขึ้น (ผู้ให้อภัย)
  6. ทุกขสภาวะนั้นมีผู้แสดงตนว่าอาจจะมีส่วน หรือทำให้เกิดขึ้น
  7. เกิด การพินิจพิจารณาในทุกข์นั้น และปรากฏการณ์ว่ามีผู้แสดงตนขออภัย การพิจารณาตรงนี้ อาจจะเป็นเพียงชั่วพริบตา หรืออาจจะเป็นการเพ่งพินิจ พิจารณาอย่างยาวนาน (เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปีๆ)
  8. เกิดปัญญา และปลดจิตจากความปราถนาจะให้โทษแก่ใครๆ รู้เหตุปัจจัยแห่งทุกข์นั้นแล้ว
  9. เห็นถึงความกระวนกระวาย ของผู้แสดงออก และกล่าวขออภัยแก่ตน เกิดกรุณา เมตตา มุทิตา และอุเบกขา
  10. "ให้อภัย"

ผลที่อาจจะเกิดจากกระบวนการของ "อภัย" ที่สมบูรณ์นั้นยิ่งใหญ่นัก เริ่มตั้งแต่ "สติ และสมาธิ" อันได้ผ่านการครุ่นคิดใคร่ครวญอย่างแยบคายจนเห็น สาเหตุ การเกิด และผลของการเกิด (โยนิโสมนสิการ) เกิดการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าหากัน การยอมรับความ "พร่อง" หรือความเป็นไปได้ว่าเรานั้นยังพร่องอยู่ เป็นการก้าวข้ามความกลัวของตัวเราเองที่ดีที่สุด เพราะต่อเมื่อเราเห็นว่าเราพร่อง เราจึงจะทำอะไร หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะเติมให้มันเต็ม พื้นที่ปลอดภัยของเราจะขยายออก พื้นที่ที่เราเคยกลัว (เพราะต้องยอมรับว่าเรายังไม่งาม ไม่ดี ไม่สมบูรณ์ อันเป็นสิ่งที่น่ากลัว) ก็จะหดหายไป ทุกๆครั้งที่เราขออภัย เราจะมองเห็นพื้นที่ที่เราสามารถแก้ไข ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง และพื้นที่นั้นที่เดิมเป็นพื้นที่แห่งความไม่รู้ แห่งอวิชชา ก็จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นที่เราเข้าไปเดิน เข้าไปดู เข้าไปอยู่ได้ เราจึงเติบโต กว้างขึ้นและลึกขึ้นในเวลาเดียวกัน

ไม่เพียงแค่นั้น เรายังเรียนรู้ที่จะเกิดความไม่สบายใจเมื่อ "คนอื่น" เป็นทุกข์อีกด้วย

การขออภัย เป็นการมองเห็นและรับทราบว่าผู้อื่นกำลังเกิดทุกข์ แต่เพิ่มการ "เชื่อมโยง" กับตัวเราว่า "แล้วเราจะทำอะไรดี? เมื่อเขากำลังทุกข์" การฝึกความรู้สึกนี้ เป็นรากฐานสำคัญของการเกิดจิตสาธารณะ จิตอาสา ที่ทุกข์ของคนอื่นเป็นภาระของเราประการหนึ่ง เพราะทุกคนนั้นเชื่อมโยงกัน

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในตัวของผู้ที่กำลังจะให้อภัยก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน สาเหตุสำคัญที่คนเราจะ "ไม่ให้อภัย" ก็เพราะความกลัวที่ยังมีอยู่นั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นกลัวทุกข์ที่เกิดขึ้น จะมีต่อไป หรือเกิดใหม่ หรือคนข้างหน้าจะกลับมาทำให้ทุกข์ใหม่ ฯลฯ แต่การที่ "ไม่สามารถอภัยได้" นั้น เป็นหลุมพรางใหญ่สำหรับชีวิตของเรา แต่เมื่อเราได้หยุดเพื่อพิจารณาทุกข์เหล่านั้น คำขออภัยของคนอีกคน และตัดสินใจว่าเราจะก้าวต่อไปอย่างไร นี่เป็น big step ของการเป็นเราในอนาคตได้ทีเดียว

การได้มองความทุกข์ของเรา และตัดสินใจให้อภัยต่อคนที่ทำให้เกิดขึ้น ก็เป็นการขยายพื้นที่ปลอดภัยของเราเช่นเดียวกัน พื้นที่แห่งทุกขสภาวะนั้นเปลี่ยนจากพื้นที่ที่ทำให้เรากลัว กลายเป็นพื้นที่ที่เราสามารถแปลงเป็นธัมมวิจัย ใคร่ครวญ พิจารณา และปล่อยวางได้ รักได้ เมตตาได้

ตรงนี้ก็มีประเด็นน่าสนใจ เพราะฝรั่งนอกจากจะมีคำ Apology ที่แปลว่าขออภัยตรงๆแล้ว แต่ที่เค้าใช้พูดๆกัน เขาจะพูดว่า "I am sorry" แปลว่า "ผม/ฉัน เสียใจด้วย...." ซึ่งเนื้อหา ไม่ได้เกี่ยวกับขออภัย ให้อภัย แต่เป็น "คำที่นำไปสู่...." การให้อภัยได้อย่างดี และการให้อภัยที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะเราเกิด awareness ว่า คนข้างหน้านี้เขามี "อารมณ์ร่วม" หรือมี empathy กับที่ที่เรากำลังรู้สึกอยู่ การ empathy เป็นกลไกที่ทำให้เกิดการ healing (เยียวยา) อันทรงประสิทธิภาพ เพราะเป็นการยื่นความเป็นมนุษย์ ความเห็นอกเห็นใจ มอบให้ เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย แม้ในความทุกข์ ก็ยังมีคนเห็นใจ คนทราบว่าเราทุกข์อยู่

ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราๆทุกวันนี้ ผมคิดว่าเราใช้คำ "ขอโทษ ขออภัย และผมเสียใจ" ยังไม่เป็น และอาจจะทำให้เข้าใจผิดไปได้ไกลทีเดียว ในการให้การบริการสุขภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างหมอ พยาบาล บุคลากร กับคนไข้นั้น โดยส่วนใหญ่ "สภาวะทุกข์" นั้นมาจากภายนอกอยู่ก่อนแล้ว และเราทำงานเต็มที่เพื่อให้ทุกข์นั้นบรรเทาหรือหายไป ยกเว้นในกรณีจำเพาะแล้ว ที่เรา "เป็นคนทำให้เกิด..." (ซึ่งก็มีไม่น้อย) ผมคิดว่าที่เราควรจะรู้สึกคือ "I am sorry" ไม่ใช่ขออภัย และที่แน่ๆไม่ใช่ขอโทษ!! นั้นคือเรารู้สึกเสียใจด้วย ที่แม้ว่าเราพยายามจะช่วยแล้ว แต่เขาก็ยังทุกข์อยู่

แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เรามีส่วนทำให้เขาทุกข์ ก็น่าจะขออภัยได้ตามกลไก เหตุผล ที่ว่ามาแต่ต้น ขอเพียงอย่าลืมความหมายและพลังงานมิติต่างๆของ "การอภัย" ทั้งสิบปัจจัยให้เกิดอย่างครบถ้วนก็แล้วกัน

ขอบคุณ

ขอบคุณ เป็นการกระทำอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อระดับจิตใจของเราได้มาก หากเรากระทำด้วยความตั้งใจ และให้เวลาในการพินิจพิจารณาให้ดี

ชีวิตของมนุษย์นั้นเป็น dependent คือ "พึ่งพาอาศัย" เป็นกิจกรรมสำคัญ มนุษย์เป็นสัตว์ที่กายภาพอ่อนแอ กว่าเราจะโต กว่าเราจะเป็น independent (ซึ่งไม่เคยถึงระดับ absolute independent จริงๆด้วย) นั้น เราได้รับการดูแลประคบประหงม จากผู้อื่นมามากมายสุดคณานับ แม้ว่าเราจะโตแล้ว เติบโตแล้ว มีพลังความสามารถพอควร แต่ด้วยความที่เราอยู่อย่างเป็นสังคม อยู่กับ ใน และเพื่อสังคม การพึ่งพาอาศัยกันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดจนตายก็ว่าได้

การขอบพระคุณเป็นการที่เราได้มาทบทวน review ต้นทุนความสุขของตัวเราเอง และ "มองเห็น" ว่า สิ่งที่เรามี เราเป็น และเราได้กระทำไปนั้น แท้จริงแล้ว มีปัจจัยเสริมอีกมากมายเข้ามาช่วย

กระบวนการขอบคุณ มี 4 ปัจจัยคือ

  1. awareness ของสุขภาวะที่เรามี มองเห็น และรู้สึกถึง happiness ของตัวเราได้
  2. ครุ่นคิด เชื่อมโยงว่า สุขภาวะของเรานั้นมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดขึ้น นั้นคือ การทำความเข้าใจใน "สุขภาวะกำเนิด (salutogenesis)"
  3. เกิดความ อ่อนน้อมถ่อมตน รับรู้ว่า สิ่งที่เรามี เราเป็น และเรากระทำนั้น มีผู้ให้ความรักและเมตตาเรามากมาย เราจึงกระทำได้ มีได้ เป็นได้
  4. การ ประกาศขอบคุณ เป็น "พิธีกรรม" ที่เราสามารถจะให้ความหมายว่า เรานั้นสุขจากอะไร เราทราบและซาบซึ้งต่อที่มาของความสุขนั้น และเกิด "กิจกรรม" ที่สำคัญตามมาคือ หลังจากเรารับทราบแล้ว เรา "จะทำอย่างไรต่อไป" กิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ จากการรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตน humble and modest จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเราได้อย่างไร เกิด resolution อะไรบ้าง

ผลของการขอบคุณประการแรกคือ เรามองเห็นต้นทุนชีวิตของเรา ว่าที่จริงแล้ว เราก็มีความสุข มีสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราอยู่เหมือนกัน เพราะการขอบคุณเกิดจากการที่เรามี awareness ต่อสิ่งดีๆเหล่านี้ และเมื่อใคร่ครวญเรื่องนี้ต่อไปให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราจะลดความอหังการ์ลงได้อย่างมาก เพราะไอ้ที่เราอาจจะเคยคิดว่าเราเป็นผู้ทำ ผู้มี ผู้ทำให้เกิดขึ้น หรือเป็นโน่นเป็นนี่นั่น เราต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นช่วยมากมายเหลือเกิน ไม่ใช่ว่าเราจะทำได้คนเดียว

ทุกวันนี้ใครจะเขียนโปรเจค เขียนโครงการอะไรๆ ก็ต้องเขียนประกอบไปว่า "ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น" จนบางทีเราก็หลงเชื่อไปตามสิ่งที่เราเขียนขึ้น จนมองไม่เห็น "เหตุปัจจัยแห่งความสำเร็จ" นั้น มีอะไรอย่างอื่นอีกเยอะ ที่ช่วยให้สำเร็จ (หรือไม่สำเร็จ) และหากเราไปคิดติดพันแต่ว่าเป็น "ของเราๆ" เท่านั้น เราก็จะอาศัยอยู่อย่างคับโลก คับจักรวาล เพราะในสายตาของเราหาได้มีผู้อื่นไม่

การอ่อนน้อมถ่อมตน จึงเป็นอีกประโยชน์หนึ่งจากการที่เราฝึกขอบพระคุณบ่อยๆ ขอบคุณเพื่อน พี่ น้อง พ่อแม่ แม้กระทั่งขอบคุณตัวเราเองก็ย่อมได้ ขอบคุณฝ่าเท้าของเรา นิ้วเท้าของเรา มือเรา แขนเรา ขอบคุณอากาศ ขอบคุณน้ำ ฯลฯ เมื่อเราเห็น "ต้นทุน" ทั้งหมดของเรา เราจะเริ่มรู้สึก "รุ่มรวย" ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เรียกว่าเกิด prosperity mentality หรือทัศนะรุ่มรวย แต่โชคร้ายที่บางคนไม่สามารถจะมองเห็นสิ่งที่เรามีมากมาย แต่เห็นแต่สิ่งที่เราไม่มีและเราคิดว่าเราอยากจะได้ อยากจะมี ก็เลยเกิด poverty mentality หรือทัศนะขัดสน มาครอบงำ ระบบ Capitalism หรือทุนนิยมนั้น ผลักดันด้วย poverty mentality คนมีช่วงเวลาชื่นชมกับสิ่งที่เรามีน้อยมาก และไปให้เวลาไขว่คว้าดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ยังไม่มีอยู่ตลอดเวลา

การชื่นชม

การอยากได้สิ่งต่างๆนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรงอะไร ตราบใดที่เรายัง "ครองสติ" และมีสัมมาทิฎฐิปกป้องรักษาอยู่ โดยเฉพาะหากสิ่งที่เราอยากได้นั้น เป็นสิริมงคล เป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ เป็นเรื่องงดงาม เรื่องดีงาม เรื่องความจริง สัจจธรรม

การ "มองเห็น" สิ่งที่เราอยากจะได้ เป็นขั้นตอนสำคัญที่เราจะเป็นคนทำให้ "ความอยาก" อันนี้ดีแค่ไหน (หรือแย่แค่ไหน) ที่ต้องเน้นเรื่องนี้ เพราะการ "มองเห็น" ของเรามีนัยยะรวมไปถึง "การให้ความหมาย" ด้วย คือ เห็นแล้วก็แปล หลังจากนั้นจึงจะกลายเป็นคุณค่า กลายเป็นพฤติกรรม

"การชื่นชม" เป็นกิจกรรมเบื้องต้นที่จะทำให้เรา "ได้มา" ซึ่งสิ่งต่างๆที่เราอยากจะได้ อยากจะมี อยากจะเป็น อาจจะเป็นตัวแทนของ "ฉันทะ" คือ ความพึงพอใจนั้นเอง การทำความเข้าใจในฉันทะของตนเองจึงสำคัญ เพราะเราจะมี awareness ว่าที่จริงที่เราทำ (หรือไม่ทำอะไร) ทุกวันนี้ มันมีที่มาลึกๆเชื่อมโยงไปถึงฉันทาคติอยู่เกือบทุกเรื่องก็ว่าได้ ชัดหรือไม่ชัดเจนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

มนุษย์มีจินตนาการเป็นเครื่องมือสุดยอดอีกประการหนึ่ง การชื่นชมนั้นเป็นการเสริมพลังด้าน "กำเนิด" ก่อเกิด นั่นคือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การกระทำได้ คนเราไปชมภาพยนต์ก็เพราะลึกๆแล้ว เรามี fantasy หรือ จินตนาการนี่เอง ที่อยากจะให้มันชัดขึ้น (หรืออาจจะแปลว่า "จริงขึ้น") อยู่เยอะ และชั่วขณะหนึ่งที่เราได้ชมภาพยนต์ การแสดง concert หรืออะไรเหล่านั้น fantasy ของเราก็ "จริงขึ้น" ได้ เราก็มีความสุข เพียงแต่ว่ามันจะจางหายไปในเวลา เราก็จะไปแสวงหาใหม่ เติมพลังใหม่

การ "กล่าวคำชื่นชม" ซึ่งเป็นกิริยาเสริมกับความรู้สีึกชื่นชม จึงมีพลังพิเศษแอบแฝงอยู่

เมื่อเรากล่าวคำชื่นชมอะไรบ่อยๆ ซ้ำๆ มากๆ โดยไม่รู้ตัว พฤติกรรมเราก็จะมีการปรับอย่างละเอียดอ่อนที่จะทำให้ เสริมให้ เอื้อให้ เราใกล้ไปสู่บริบทที่เราจะได้ จะมี จะเป็น สิ่งที่เราชื่นชมนั้นๆ หากแรงกระตุ้นนี้แรงมากพอ เราก็จะเกิด dramatic changes ที่สัมผัสได้ เห็นได้ การที่เรามีอะไรที่เราชื่นชมได้ กล่าวคำชื่นชมได้ เป็นเคล็ดในการใช้ชีวิตที่ตั้งความหมาย เพราะมีความหมาย

วงจรการชื่นชมจะสมบูรณ์ก็เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างที่มี "ให้" ก็ต้องมี "รับ"

เมื่อเราทราบว่าการชื่นชมเป็นสิ่งดีงาม การกล่าวคำชื่นชมสามารถนำไปสู่สิ่งดีงาม ของดีๆมีที่ไหน เราควรจะอยากให้คนอื่นๆก็มีด้วย มีทุกคนยิ่งดี เราก็ต้องทำตัวให้เป็นการส่งเสริมกิจกรรมและพฤติกรรมดีๆเหล่านั้นไว้ เราอยากจะให้มี "วงจรแห่งฉันทาคติ" ไม่เพียงแค่เรากระทำเองบ่อยๆ แต่เราก็สามารถจะเป็น "ผู้รับคำชมที่สง่างาม" น่ารักได้ด้วย ก็จะเป็นการส่งเสริมวงจรอันเป็นมงคลเช่นนี้  เพราะหากมีคนชม แต่เราไปห้าม หรือทำให้เกิด negative energy วงจรนี้ก็จะแผ่วลง หรือไม่เกิดสภาวะสัมบูรณ์ optimal condition ของฉันทาคติได้

อภัย ขอบคุณ และชื่นชม นั้นจึงมีความวิจิตรพิศดาร ที่เราใช้ประจำแต่อาจจะไม่ได้อะไรที่เราพึงได้ เพราะว่าเรากระทำไปโดยอัตโนมัติเกินไป ไม่ได้ครุ่นคิดใคร่ครวญให้ความหมาย หาความเชื่อมโยง ให้กำเนิดเป็น better-self หรือตัวเราที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากกิจกรรมที่ธรรมดาที่สุดทั้งสามประการไป

หมายเลขบันทึก: 506158เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์เขียนเรื่องที่กำลังกระทบใจอยู่พอดีเลยค่ะ ได้เห็นวุฒิภาวะของนักศึกษากลุ่มหนึ่งในเรื่องนี้แล้ว กำลังรู้สึกยินดีในใจอยู่พอดีเลย ถ้าเราเป็นตัวอย่างที่ดีในการมีสติระลึกรู้ถึงสิ่งที่เราทำ คำที่เราใช้อยู่เสมอ ก็จะยิ่งทำให้สังคมเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้นนะคะ

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะอาจารย์ ได้ข้อคิด ได้ตอกย้ำ และจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นี้ไปปรับใช้กับตัวเอง กับงานที่รับผิดชอบค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท