๑๐๒. วิธีคิดและคำถามสู่กระบวนทัศน์ที่หลากหลายทางประชากรศึกษา การศึกษาเพื่อพลเมือง และประชาสังคมศึกษา (Civic Education)


๒๓ ตุลาคม* ในฐานะเป็นวันปิยะมหาราชและนอกจากเราจะทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นวันรำลึกถึงการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงประกาศเลิกทาสในสังคมไทยแล้ว ในอีกความหมายหนึ่งของวันดังกล่าวนี้ ก็เป็นสัญลักษณ์และวาระการส่งสัญญาณให้พึงได้ความตระหนักว่า ความเป็นการเลิกทาส  นั้น ก็เป็นเหมือนการได้สถาปนาและจัดวางจุดเริ่มต้นของการใช้ความสำนึกใหม่ต่อตนเอง ให้มุ่งสู่ ความเป็นประชาสังคม  (Civil Society) ของสังคมไทย  ต้องมุ่งสร้างระบบสังคมที่ยกเลิกระบบไพร่ทาสและสำนึกความเป็นไพร่ราษฎรในความหมายเดิม สู่การเป็นพลเมืองและประชาสังคมไทย-ประชาสังคมสยาม มีความเป็นสังคมวัฒนธรรมที่มีความเป็นประชาธิปไตยโดยเนื้อหา ก่อนที่ในกาลต่อมา ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งและความเป็นประชาธิปไตยโดยรูปแบบ จะได้รับการสถาปนาขึ้นในสังคมไทย

ในอีกด้านหนึ่ง ก็หมายความว่า สังคมไทยยังคงมีพลเมืองประชากรในดินแดนจำนวนคงที่อยู่เช่นเดิม แต่หลังจากการเลิกทาสแล้ว สำนึกและความเป็นพลเมือง  (Citizenship) ที่ปวงประชาราษฎร์จะมีบทบาทหน้าที่ต่างๆต่อสังคมของผู้คนควรจะต้องไม่เหมือนเดิม หรือไม่ควรจะเหมือนกับในยุคก่อนกระบวนการเลิกทาสจะเกิดขึ้น ดังนั้น กระบวนการทางสังคมเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองขึ้นมาแทนความเป็นสังคมไพร่ทาสแบบยุคก่อน จึงต้องนับว่าเป็นการมุ่งเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพอย่างขนานใหญ่ ถอนรากถอนโคนราวกับเป็นการเปลี่ยนแปลงถึงระดับวัฒนธรรมกันเลยทีเดียว แต่สิ่งเหล่านี้สั่งให้เกิดขึ้นในวันสองวันไม่ได้ และเชื่อว่าสมเด็จพระปิยะมหาราชก็จะทรงใช้พระราชอำนาจได้เพียงสถาปนาและจัดระบบกลไกให้ใหม่ได้ แต่การที่จะสร้างความเป็นประชาสังคมให้บังเกิดขึ้นมาแทนความเป็นสังคมไพร่ทาสนั้น ไม่มีใครจะสามารถสั่งการและสร้างให้ได้ นอกจากต้องร่วมกันสร้างขึ้นจากความสำนึกและความเป็นพลเมืองของประชากรทุกผู้ทุกคน แง่มุมดังกล่าวนี้ จึงสามารถทำให้เป็นมิติหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพประชากรของสังคมไทยไปด้วยได้ เพราะ 'การมีพลเมืองและประชากรบนดินแดนเป็นของตนเอง' นั้น เป็นองค์ประกอบพื้นฐานอย่างหนึ่งของความเป็นประเทศและความเป็นรัฐชาติทั้งหลายในโลก

การก่อเกิดนโยบายทางประชากรและการดำเนินงานประชากรศึกษาของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก นับแต่อดีตกระทั่งปัจจุบันกว่าครึ่งศตวรรษแล้วนั้น กล่าวโดยรวมในทรรศนะผู้เขียนได้ว่า กระแสความคิดและกระบวนทัศน์หลัก จะมุ่งไปยังการทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ทางประชากรและความหมายหรือนัยสำคัญที่จะมีผลต่อสิ่งต่างๆของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น โดยเฉพาะภาวะกดดันและโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนการพัฒนาระบบต่างๆของสังคม ทำให้การวางแผนและการดำเนินนโยบายทางประชากร และการดำเนินโครงการทางประชากรศึกษา ดูประหนึ่งเหมือนกับมีสมมุติฐานว่า การได้เข้าถึง เข้าใจ ตลอดจนการสามารถวางแผนและกำกับควบคุมปรากฏการณ์ทางประชากร ทั้งการเกิด ตาย ย้ายถิ่น การเพิ่มจำนวนขึ้น การมีจำนวนประชากรเด็กลดลง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุและการเป็นสังคมสูงอายุเพิ่มขึ้น  รวมไปจนถึงกระบวนการเชิงสังคมวัฒนธรรมอันสืบเนื่องกับพลวัตรทางประชากรต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ ได้เป็นอย่างดีนั้น ก็จะทำให้สังคมต่างๆ สามารถทำการป้องกันและควบคุมแรงกดดันที่จะไปบังเกิดเป็นปัญหาต่างๆได้ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น ซึ่งในระดับความร่วมมือกันของทั้งโลก ก็จะมีผลต่อการได้มีความศานติสุข ทรัพยากรพอเพียงต่อพลเมืองประชากรของทั้งโลก และการพัฒนาต่างๆก็จะมีความมั่นคงยั่งยืนร่วมกันมากยิ่งๆขึ้น

ดังนั้น ในอดีต กระบวนการทางประชากรศึกษาจึงมุ่งให้การศึกษาเพื่อเห็นความหมายของปรากฏการณ์และภาวะกดดันต่างๆ เพื่อย้อนกลับมาทำการกำกับและควบคุมตนเองของประชากรและสังคม เหมือนเป็นการตอบโจทย์และให้คำตอบแก่สังคมต่างๆทั่วโลกว่า ปรากฏการณ์ทางประชากรของสังคมต่างๆนั้นเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร หากไม่สนองตอบและจัดการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสภาวการณ์เหล่านั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เลวร้ายที่สุดเป็นอย่างไร  ปานกลาง และเบาบางที่สุดเป็นอย่างไร และหากทำการปฏิบัติการต่างๆขึ้นมาจะบังเกิดผลอย่างไรบ้าง แนวคิด ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ มาตรการและทางเลือกต่างๆเป็นอย่างไร การให้การศึกษาแก่ประชาชนเป็นอย่างไร ดังนี้เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม หากศึกษาประสบการณ์ของประเทศต่างๆทั่วโลกแล้ว เราจะพบความเป็นจริงบนความไม่แน่นอนบางประการว่า แม้บางประเทศที่จำนวนประชากรน้อยจะอ่อนแอ พัฒนาได้ช้า และเกิดความล่มสลาย แต่ก็ไม่พอที่จะใช้เป็นตรรกะได้ว่าการมีจำนวนประชากรน้อยจึงไม่เข้มแข็งและพัฒนาได้ช้า รวมทั้งกล่าวไม่ได้ว่าจะต้องปล่อยให้มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงจะมีพลังอำนาจและประสบความสำเร็จในการพัฒนาดีขึ้น เพราะในอีกหลายประเทศเช่นกันที่มีประชากรมาก แต่บ้างก็มีความสำเร็จ บ้างก็ล้าหลัง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ประเทศแคนาดา และสาธารณรัฐเกาหลีใต้ มีพลเมืองประชากรเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย  (แคนาดาประมาณ ๓๒ ล้านคน ลำดับจีดีพี ๗ เกาหลีใต้ ๔๙ ล้านคน ลำดับจีดีพี ๓๔) แต่ระดับการพัฒนาและสวัสดิภาพโดยรวมของสังคมนั้นดีกว่าไทยมาก ทั้งจัดว่าเป็นประเทศที่พัฒนาได้ก้าวหน้ากว่าประเทศไทย ดังนั้น ก็เหมือนกับจะเป็นตัวอย่างให้ได้ภาพสะท้อนว่าเป็นเพราะประเทศไทยมีจำนวนประชากรมากเกินไปหรือไม่ จึงได้ทำให้พัฒนาได้ต่ำกว่า แต่ครั้นนำเอาแนวคิดดังกล่าวนี้มองไปยังอีกหลายประเทศ เป็นต้นว่าประเทศญี่ปุ่น  (๑๒๗ ล้านคน ลำดับจีดีพี ๒๕)   อเมริกา (๓๑๓ ล้านคน ลำดับจีดีพี ๑๗) ก็กลับจะพบกับสภาพการณ์ที่เป็นไปในอีกทางหนึ่งและยังสรุปอย่างรวบรัดดังมุมมองแรกไม่ได้ เพราะเราจะพบว่าประเทศเหล่านี้ล้วนมีพลเมืองประชากรทั้งมากกว่าและมีความหนาแน่นต่อพื้นที่มากกว่าประเทศไทย แต่ก็กลับเป็นผู้นำในการพัฒนาทุกด้านของโลกมากกว่าไทย ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดในตอนแรก

หรือมองไปยังประเทศที่มีพลเมืองประชากรพอๆกับไทย เช่น อังกฤษ (๖๙ ล้านคน ลำดับจีดีพี ๑๓) ฝรั่งเศส (๖๔ ล้านคน ลำดับจีดีพี ๒๔) ก็มีระดับการพัฒนาทางด้านต่างๆดีกว่าไทยมากเช่นกัน รวมทั้งมองไปยังประเทศชิลี (ประชากร ๑๖ ล้านคน จีดีพีลำดับที่ ๘๙ ของโลก) ประเทศภูฏาน (ประชากรประมาณ ๖.๗ แสนคน จีดีพีลำดับที่ ๑๒๔ ของโลก แต่เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีตัวบ่งชี้ความสุขมวลรวมดีที่สุดในโลก) ซึ่งพลเมืองประชากร พื้นที่ และทรัพยากร ล้วนน้อยกว่าประเทศไทยทุกด้านอย่างเทียบไม่ได้ แต่ระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศและการพัฒนาต่างๆ หลายด้านก็ดีกว่าและก้าวหน้ากว่าไทย

จากบทเรียนของประเทศที่หยิบยกมาพิจารณาพอได้เป็นตัวอย่างนี้ หากจะถือกันว่าเพราะความมีจำนวนประชากรมากจึงจะมีกำลังพัฒนาตนเองได้ดีกว่า ประเทศไทยก็ต้องพัฒนาตนเองได้ดีกว่าแคนาดาและเกาหลี เพราะประเทศไทยนั้นเป็นรัฐเอกราชที่มีจำนวนประชากรมากกว่าถึงสองเท่า โดยมีประมาณ ๖๗ ล้านคน ลำดับจีดีพีประมาณลำดับที่ ๘๔ ของโลก และหากพิจารณาว่าการมีจำนวนประชากรน้อยจึงจะพัฒนาสิ่งต่างๆให้ส่งผลดีครอบคลุมคนส่วนใหญ่ได้ดีกว่าแล้วละก็ ประเทศไทยก็จะต้องมีระดับการพัฒนาทุกด้านได้ดีกว่าญี่ปุ่น อเมริกา หรือย่างน้อยก็ควรจะอยู่ในระดับที่ไม่ทิ้งห่างจากกันมากนักกับประเทศที่มีจำนวนประชากรเท่าๆกันดังเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่

โดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้น ในช่วงเริ่มต้นฟื้นฟูและพัฒนาประเทศสมัยพระจักรพรรดิเมจิซึ่งตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ของไทยเช่นกันนั้น หลายอย่างเริ่มต้นพร้อมกับไทย หลายอย่างล้าหลังกว่าไทยเสียอีก สาธารณรัฐเกาหลีใต้เมื่อไม่กี่ทศวรรษมานี้ก็ยังต้องได้รับความช่วยเหลือจากประเทศไทยและอยู่นอกการรับรู้ของสังคมโลก อีกทั้งอเมริกานั้นก็เป็นประเทศก่อตั้งใหม่ ร่วมสมัยกับยุครัตโกสินทร์ของไทยเท่านั้นเอง หลายอย่างไทยมีอยู่เป็นพื้นฐานมั่นคงยาวนานกว่าและหลายอย่างต้องสร้างขึ้ันมาใหม่ แต่ในระยะเวลาไม่นาน ก็เป็นประเทศมหาอำนาจและเป็นผู้นำในการพัฒนายิ่งกว่าไทย การที่ไทยมีจำนวนประชากรน้อยกว่า จึงไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจะพัฒนาตนเองได้ดีกว่าสังคมที่มีจำนวนประชากรมากกว่าอีกเช่นกัน

ดังนั้น จึงพอจะกล่าวได้ว่า จำนวนประชากรมากหรือน้อย ทั้งเป็นปรากฏการณ์ทางประชากรที่ดำรงอยู่เป็นต้นทุนมาแต่เดิม หรือการมีความสำเร็จที่สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ในภายหลังนั้น สรุปไม่ได้ว่าจะมีผลหรือไม่มีผลโดยตรงอย่างแน่ชัดนักต่อความสำเร็จและความล้าหลังของการพัฒนาสุขภาวะทางสังคม

แต่การให้การศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ในสังคมที่จัดให้แก่ประชากรนั้น กลับมีงานวิจัยและผลการศึกษาที่เชื่อถือได้เป็นจำนวนมากว่าจะเป็นวิธีทำให้จำนวนประชากรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเท่ากันหรือมากน้อยแตกต่างกัน ให้มีคุณภาพเป็นกำลังการพัฒนาประเทศ รวมทั้งสามารถเป็นสมาชิกของสังคมโลกอย่างมีความหมายอย่างแตกต่างกันได้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อไปถึงระดับการพัฒนา การสร้างสวัสดิภาพ และการยกระดับคุณภาพของความมีสุขภาวะทางสังคมให้สูงขึ้น จึงบอกถึงความเป็นจริงบางประการให้เราทราบได้ว่า ปรากฏการณ์ทางประชากร จำนวนประชากร และความมีพลเมืองในดินแดน เหล่านี้ จะมีความหมายและมีบทบาทต่อการพัฒนาทางด้านต่างๆของสังคมอย่างไร จะเป็นแรงกดดันก่อให้เกิดปัญหาหรือจะเป็นโอกาสและต้นทุนศักยภาพเพื่อการพัฒนาต่างๆต่อไป หรือไม่และอย่างไรนั้น ก็จะอยู่ที่การศึกษาและการเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองประชากรให้มีความหมายดังที่พึ่งประสงค์ต่อสังคม ว่าจะดำเนินการในลักษณะใดและสามารถดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้มากน้อยอย่างไรหรือไม่นั่นเอง

ดังนั้น วิธีการที่มุ่งศึกษาและเข้าถึงปรากฏการณ์ทางประชากรและความหมายที่จะมีต่อมิติอื่นๆของสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ ดังที่เป็นกระบวนทัศน์หลักในอดีตนั้น ถึงปัจจุบันนี้แล้ว วิธีดังกล่าวนั้นก็อาจกลายเป็นการสนองตอบต่อปัญหาความจำเป็นต่างๆแบบปฏิกริยาสนองตอบ  (Reaction) ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์แบบตั้งรับ (Passived Participation Paradigm) ไปเสียแล้ว แต่ถ้าหากพิจารณาว่าประชากรในจำนวนที่มีอยู่ในช่วงเวลาต่างๆจะมีความหมายอย่างไรต่อการสร้างสุขภาวะสังคม ก็อยู่ที่กระบวนการประชากรศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาในเชิงคุณภาพของพลเมืองประชากร รวมทั้งการส่งเสริมความเป็นประชาสังคมให้แข็งแรงขึ้นมากกว่าความเป็นสังคมแบบไพร่ทาสรอรับแต่การหยิบยื่นสิ่งดีให้จากผู้อื่นและรอแต่ได้เจ้าขุนมูลนายดีๆโดยไม่ศรัทธาต่อการปฏิบัติและพึ่งตนเองแล้วละก็ ก็จะต้องค่อยทำให้เกิดพัฒนาการเคลื่อนย้ายไปสู่กระบวนทัศน์เชิงรุก  (Active Participation Paradigm) โดยอยู่กับความเป็นจริงของตนเองและในเงื่อนไขแวดล้อมความเป็นปัจจุบันว่า จำนวนคนและพลเมืองประชากรที่ดำรงอยู่จริงในหน่วยทางสังคมต่างๆนั้น จะทำให้มีคุณค่า มีความหมาย  เป็นทั้งเป้าหมาย (Ends) และเป็นพลังนำการเปลี่ยนแปลง (Means) เพื่อสร้างความเป็นจริงให้เกิดขึ้นต่อสิ่งต่างๆให้ดีที่สุดได้อย่างไร ปัจเจกและพลเมืองประชากร จะสามารถจัดการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อเห็นตนเองว่ามีความหมายและมีส่วนร่วมในการสร้างความเป็นจริงทางสังคมดังที่พึงประสงค์ต่างๆให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เห็นตนเองว่าจะเป็นโอกาสปฏิบัติการและทำสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้น มากกว่าจะทำให้เห็นแต่เพียงว่าสภาวการณ์ประชากรและสังคมเป็นอย่างไร และประชาชนจะต้องรู้จักตั้งรับแรงกดดันต่างๆอย่างไร 

เป็นต้นว่า เมื่อสังคมไทยต้องเคลื่อนเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ แทนที่สังคมจะเรียนรู้แต่เพียงว่าจำนวนและขนาดปรากฏการณ์ของสังคมผู้สูงอายุ จะนำไปสู่การมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นของกลุ่มภาวะ Degenerate Health หรือสุขภาพที่สืบเนื่องอยู่กับภาวะเสื่อมถอยของร่างกายที่แฝงมากับการขยายความเป็นสังคมสูงอายุ นำไปสู่ระบบสุขภาพ ระบบการผลิตและบริการทางสุขภาพอีกแบบหนึ่ง นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราการพึ่งพิงประชากรวัยแรงงาน และนำไปสู่การลดลงของอัตราการเจริญพันธุ์กับกำลังการผลิตของประเทศ รวมทั้งในบางมุมมองทางสังคมวัฒนธรรมของบางประเทศ ก็เห็นไปไกลถึงความล่มสลายของเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ จึงต้องเตรียมสังคมเพื่อเตรียมการสนองตอบต่อปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการเชิงตั้งรับมาก อีกทั้งเมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงภายใต้จำนวนประชากรที่มีอยู่ดังที่กล่าวมาในข้างต้นแล้วก็จะพบว่าสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เกิดตามมาอย่างอัตโนมัติเมื่อปรากฏการณ์ทางประชากรต่างๆเกิดขึ้นก็ได้

ดังนั้น เราก็สามารถที่จะพัฒนากระบวนการทางประชากรศึกษา ให้เป็นวิธีบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง แปรวิกฤติให้เป็นโอกาสต่างๆไปได้เลยว่า ผลิตภาพและทุนศักยภาพของสังคมสูงอายุนั้นอยู่ตรงไหน เป็นกำลังขับเคลื่อนการผลิตและระบบสังคมต่างๆอย่างไร นอกจากนี้ การพัฒนาเด็กและประชากรทุกกลุ่มอายุ เพื่อเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นสังคมสูงอายุได้อย่างดี มีความหมายที่สุด จะต้องดำเนินการกันเสียแต่วันนี้อย่างไร การที่จำนวนประชากรเด็กลดลง คนหนุ่มคนสาวลดลง ผู้สูงอายุเป็นพลังการบริโภคและพลังขับเคลื่อนอุปสงค์การผลิตต่างๆมากขึ้น พลเมืองประชากรของสังคมดังกล่าวนี้จะต้องพัฒนาในเชิงคุณภาพ ให้เข้ามาแทนจำนวนปริมาณที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่างไร  เหล่านี้เป็นต้น  ซึ่งก็จะนำไปสู่การพัฒนาระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนาระเบียบวิธีทางประชากรศึกษา เพื่อให้การศึกษาความเป็นพลเมืองประชากร  เรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมและสร้างความหมายแห่งตนให้เกิดขึ้น สามารถร่วมสร้างสังคมและเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์ต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ได้ ทั้งเพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม  เป็นการดำเนินงานทางประชากรศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพประชากร ในสภาวการณ์จำเพาะที่เกิดขึ้นของสังคมซึ่งก็ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต

ในอีกทางหนึ่ง เมื่อมองย้อนกลับไปในสิ่งที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ที่กล่าวว่ารัชกาลที่ ๕ ได้เลิกทางและทำการสถาปนาความเป็นประชาสังคมขึ้นในสังคมสยามนั้น เราก็จะตระหนักรู้ความเป็นจริงได้อีกเช่นกันว่า สังคมไทยในหลายๆสถานการณ์นั้น นอกจากยังเป็นทาสที่ปลดปล่อยอย่างไรก็ไม่ไปอีกตั้งหลายเรื่องแล้ว หลายอย่างก็กลับมุ่งทำตนเองให้เป็นเหยื่อและเป็นทาสทั้งในระบบสังคมของตนเองและต่อต่างประเทศอีกด้วย ดังนั้น หากถือเอาการเลิกทาสของรัชกาลที่ ๕ เป็นหมุดหมายแล้วละก็ เราก็ต้องยอมรับความเป็นจริงของตนเองว่า ยุติและล้มเลิกระบบทาสนั้นพอทำได้ แต่ทำให้ไพร่ทาสและปวงราษฎร มีความตื่นตัวและลุกขึ้นมาสร้างประชาสังคมและมีสำนึกความเป็นพลเมือง มากกว่ารอคอยแต่ให้มูลนายเลี้ยงดูให้มีความสุขนั้น สั่งให้เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนไม่ได้ 

ดังนั้น ประเด็นคำถามหลักของกระบวนการทางประชากรศึกษา กับประชาสังคมศึกษา และกระบวนการให้การศึกษาความเป็นพลเมือง จึงมีความเชื่อมโยง อิงอาศัย สามารถผสมผสาน ทำแต่น้อยให้มีความสำเร็จแต่ปลายมือบนวิถีชีวิตและการงานที่เราทำอยู่ตรงหน้า แต่มุ่งให้เกิดพื้นฐานระบบวิธีคิดใหม่ๆ จิตวิญญาณ และความสำนึกใหม่ทางสังคมไปด้วยได้เป็นอย่างดี โดยแทนที่จะมุ่งเพียงศึกษาและพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ให้ปัจเจกและสังคมเข้าถึงความเป็นจริงและเข้าใจความหมายของปรากฏการณ์ต่างๆทางประชากรเพื่อวางแผนและดำเนินการต่างๆให้บรรลุจุดหมายดังที่ต้องการแล้ว ก็สามารถปฏิบัติการเชิงสังคม เพื่อให้การศึกษาและสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้เห็นว่าปัจเจกและพลเมืองประชากร จะสามารถเรียนรู้เพื่อมีคุณค่าและมีความหมายต่อสิ่งต่างๆของสังคมไทยและสังคมโลก ด้วยการปฏิบัติของตนเองอย่างไรได้บ้าง

สิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการมีจำนวนประชากรมากหรือน้อยอย่างไร รวมทั้งการได้เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆทางประชากรเป็นอย่างดีอยู่เสมอนั้น ก็คือการจัดการศึกษาและการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเชิงคุณภาพของพลเมืองประชากรทุกคนของจำนวนที่มีอยู่ในหน่วยทางสังคมระดับต่างๆ รวมทั้งทำให้ปัจเจกและพลเมืองประชากร สามารถเรียนรู้และยกระดับการพัฒนาตนเองไปอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองของปัจเจกและพลเมืองประชากรจะมีความหมายต่อสิ่งต่างๆของสังคมอย่างไรนั่นเอง

เมื่อมองอย่างเชื่อมโยงกับการเลิกทาสและเสมือนเป็นการสถาปนาความเป็นประชาสังคมขึ้นในท่ามกลางเหล่าประชาชนทุกหมู่เหล่าไปด้วย กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ ก็มีความเป็นกระบวนการประชากรศึกษา ที่ให้การศึกษาความเป็นพลเมืองและเป็นประชาสังคมศึกษา (Civic Education) อย่างหนึ่งในบริบทของสังคมไทยอยู่ในตัวเอง หากแนวคิดและวิธีดำเนินโครงการทางประชากรศึกษา สามารถบูรณาการแนวคิดดังกล่าวนี้ไปด้วย โดยมุ่งให้ปัจเจกและพลเมืองประชากรได้รับการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อมีความหมายต่อสังคมที่ออกมาจากสำนึกทางสังคมและการมีส่วนร่วมบนวิถีปฏิบัติตามศักยภาพของตนเอง มีพลวัตรและพัฒนาการต่อเนื่องอยู่เสมอๆตลอดอายุขัย ซึ่งนอกจากจะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพประชากรจากกระบวนทัศน์แบบตั้งรับเป็นกระบวนทัศน์แบบเชิงรุกดังที่กล่าวมาโดยลำดับแล้ว ก็จะเป็นโอกาสทำให้กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม มีความคืบหน้าสู่ความเป็นประชาสังคมด้วยพลังความเป็นพลเมืองของประชากร ครอบคลุมการบรรลุจุดหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมกันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย.

..........................................................................................................................................................................


หมายเหตุบันทึก
บันทึกนี้ขยายประเด็นที่ผู้เขียนได้ร่วมเสวนาวิชาการ บทเรียนและแนวคิดทางประชากรศึกษาเพื่อการพัฒนาคุณภาพประชากร ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งของการสัมมนาพัฒนาหลักสูตรและจัดเป็นกิจกรรมวิชาการเนื่องในวาระเกษียณอายุราชการของรองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย จัดโดย หลักสูตรประชากรศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๕ ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร      


หมายเลขบันทึก: 506752เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 08:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณอาจารย์ขจิตที่แวะมาเยือนและทักทายกันครับพ๊ม

ขอบคุณคุณจักรพันธ์เช่นกันด้วยครับ มีความสุขครับ

ขอบคุณดร.โอ๋-อโณด้วยเช่นกันครับ

ขอขอบคุณคุณครู noktalay, Dr.Ple และบังวอญ่าครับ ที่แวะมาเยือนและทักทายกันครับ

สวัสดีครับคุณกานดาน้ำมันมะพร้าวครับ

เหมือนมีต้นมะพร้าวปลูกเป็นแนวยาวเลยนะครับ ภูเขาซ้อนกันลดหลั่นสวยงามอย่างนี้เหมือนกับแนวเขาแถวเชียงใหม่ มีนาข้าวเป็นผืนอย่างนี้ก็เหมือนในประเทศไทย สภาพท้องฟ้า เมฆ และบรรยากาศ ก็เหมือนในไทย แต่การปลูกพืชยึดพื้นที่บนเขาเตี้ยๆอย่างนี้นี่ ผมไม่ค่อยได้เห็นในไทยเลยนะครับ  ดูสดชื่นดีนะครับ ขอบพระคุณที่นำมาแบ่งปันให้ได้ชมและได้มีความสุข ขอให้มีความสุขเสมอๆเช่นกันครับ

ขอขอบคุณ อ.นุที่แวะมาเยือนครับ มีความสุขมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท