Project-based Learning ของ ครูสลักจิต


วันนี้ขอเอาการสอน Project-based Learning (PBL) ของครูสลักจิต  ใจน้อย   หนึ่งในครูแกนนำเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี  จ.ลำปาง  มาฝากกันนะคะ

....................................................................................................................................................................

                  เริ่มต้นจากการพูดคุยกับเพื่อนครูเรื่อง PBL แล้วชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ โดยพูดคุยกับครูวิทยาศาสตร์ และนักเรียนแกนนำ ซักถามถึงโครงการ “รักษ์น้ำวัง”(1) ซึ่งเป็นโครงการศึกษาปัจจัยที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำบริเวณแม่น้ำวังที่เคยดำเนินการมา ก่อนเริ่มทำกิจกรรมอาจารย์คิดถึงอะไร อาจารย์เล่าว่าคิดถึงบริบทของโรงเรียนที่ตั้งติดกับแม่น้ำวัง น้ำเคยท่วมโรงเรียนท่วมหนักประมาณ 2-3 ครั้ง ปีที่ท่วมหนักที่สุด คือปี 2548 น้ำท่วมชั่วข้ามคืนเสียหายประมาณ 800,000 บาท จึงซักถามนักเรียนว่าทำไมน้ำถึงท่วม น้ำนั้นมาจากไหน แล้วเรามีวิธีการจัดการอย่างไร (2) นักเรียนเสนอความเห็นว่าต้องลงไปสำรวจแหล่งน้ำครับ เมื่อลงไปสังเกตแหล่งน้ำวังเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน พบว่าน้ำในแม่น้ำขุ่น มีสีน้ำตาลเหลือง มีเศษขยะลอยมากับน้ำ บางปีมีน้ำมาก บางปีมีน้ำน้อยขึ้นอยู่กับอะไร นักเรียนตอบว่าขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและการเก็บกักน้ำของเขื่อนกิ่วลม หลังจากนั้นครูลองให้นักเรียนได้เสนอกิจกรรมว่าควรทำอะไรกับสิ่งที่สังเกตเห็น(2) นักเรียนจึงเสนอกิจกรรมศึกษาการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำวังที่เกิดจากปัจจัยต่างๆมีวิธีการดำเนินกิจกรรมดังนี้ คือ ร่วมประชุมครู ม.4 วางแผนการดำเนินโครงการ ประชุมนักเรียนเพื่อชี้แจงจุดมุ่งหมายของการจัดทำโครงการ(3) ให้นักเรียนช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์มัธยมปลาย แนะนำและสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์อย่างถูกวิธีโดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานการประปาจังหวัดลำปางมาเป็นวิทยากรให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริงใช้อุปกรณ์หาค่าปริมาณออกซิเจนในน้ำ (DO) ร่วมสังเกตการเปลี่ยนแปลงและบันทึกเก็บข้อมูลเพื่อนำเสนอสิ่งที่ค้นพบ(4) จากการติดตามผลการดำเนินกิจกรรมนักเรียนรายงานว่าน้ำในแม่น้ำวังมีค่า PH สูง แสดงว่าน้ำมีความสกปรกมาก เป็นอันตรายต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในน้ำ และมีผลกระทบต่อชุมชนตามมาด้วย จากการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวนักเรียนรายงานว่าได้เรียนรู้จากประสบการณตรง ได้ลงมือปฏิบัติการการไปวัดระดับน้ำ พบความขุ่น ความใสที่แตกต่างกันในแต่ละวัน วัดความเป็นกรดเป็นด่าง กิจกรรมมีความน่าสนใจ ได้เห็นสภาพของแม่น้ำวังว่าเป็นอย่างไร มีส่วนในการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์แหล่งน้ำในท้องถิ่นของตนเอง นำสิ่งที่ได้เรียนรู้เผยแพร่ในชุมชนของตนเอง รู้สึกภาคภูมิใจเมื่อได้ทำกิจกรรมนี้(5,6) ครูจึงกระตุ้นด้วยคำถามต่อไปอีกว่านักเรียนอยากทราบไม่ว่าสาเหตุของความสกปรกมาจากไหน และน้ำที่ไหลผ่านหน้าโรงเรียนของเรามีต้นน้ำมาจากไหน จากนั้นจึงนำนักเรียนเข้าร่วมโครงการ “นักสืบสายน้ำ”(2,7) ก่อนลงพื้นที่ไปสำรวจพื้นที่ต้นน้ำ ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกแจ้ซ้อน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ทางโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปางเข้ารับการอบรมโครงการนักสืบสายน้ำ(3) ผลของการดำเนินงานสรุปได้ว่านักเรียนมีความพึงพอใจต่อกิจกรรม มีความเห็นด้วยกับการนำความรู้ที่ได้รับมาขยายผลในโรงเรียน(8) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจิตสำนึกในการร่วมมือดูแลรักษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมพร้อมการอนุรักษ์แหล่งน้ำและยินดีถ่ายทอดความรู้แก่สมาชิกในชุมชนด้วย สิ่งที่นักเรียนรายงานเมื่อลงไปสำรวจพื้นที่ต้นน้ำพบว่า น้ำใสสะอาด ไม่มีสิ่งปฏิกูล และมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่หลายชนิด เมื่อลงมาสำรวจบริเวณแหล่งชุมชนเลาะเรียบแม่น้ำวัง พบว่า แม่น้ำเริ่มสกปรกเนื่องจากมีขยะมูลฝอยจากครัวเรือน ครูจึงตั้งคำถามว่า “เราควรจัดการอย่างไรกับสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นในแหล่งน้ำ  นักเรียนเสนอว่าควรช่วยกันรักษาความสะอาด ไปเก็บขยะรอบแม่น้ำวัง ทำ Em เทลงในแม่น้ำ สำรวจจำนวนครัวเรือนในชุมชน และวิธีการทิ้งขยะของครัวเรือน รณรงค์การทิ้งขยะที่ถูกวิธี จัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์แม่น้ำวัง เผยแพร่ความรู้เรื่องคุณค่าของน้ำแก่นักเรียนในโรงเรียน สำรวจจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ(9) นำคำถามและข้อเสนอของนักเรียนดังกล่าวมาพูดคุยกับครูศิลปะว่าหลังจากที่นักเรียนได้ทำเรื่องนี้ อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร ควรจะจัดการอะไรกับน้ำและสิ่งที่เกิดขึ้น ได้รับข้อเสนอแนะว่าสิ่งที่ครูศิลปะอยากทำ คือ จะนำนักเรียนไปนั่งดูน้ำที่แม่น้ำวังแล้วให้วาดภาพเสมือนจริงที่นักเรียนสังเกตเห็น จากนั้นจึงนำผลงานของนักเรียนมาจัดแสดง โดยจะเชิญคนในชุมชนใกล้เคียงมาร่วมวิพากษ์ผลงาน

 ผลที่เกิดกับนักเรียนที่ผ่านการจัดการเรียนแบบ PBL
1. นักเรียนมีความสุขกับการเรียนที่ได้ทำงานเป็นทีม
2.มีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง เน้นทักษะกระบวนการมากกว่าคำตอบ
3.นักเรียนมีทักษะชีวิต เป็นคนคิดเป็น ทำเป็นแก้ไขปัญหาเป็นจากการฝึกลงมือปฏิบัติ
4. เปิดโอกาสให้เด็กได้การเรียนรู้ตามความถนัด
5.นักเรียนรู้จักสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม
6. รู้จักการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
7.ได้เรียนรู้เนื้อหาครบทุกด้าน

การดำเนินงานประสานงานระหว่างตนเองกับครูในพื้นที่
 
เริ่มต้นจากการพูดคุยกับเพื่อนครูเรื่อง PBL แล้วชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ โดยพูดคุยกับ ครูวิทยาศาสตร์ ที่ได้เริ่มทำกิจกรรมโครงการ “รักษ์น้ำวัง” อาจารย์เล่าถึงบริบทของโรงเรียนที่ตั้งติดกับแม่น้ำวัง พบปัญหาว่าน้ำในแม่น้ำขุ่น มีสีน้ำตาลเหลือง มีเศษขยะลอยมากับน้ำ เมื่อนักเรียนเสนอกิจกรรมศึกษาการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำวังที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ จากนั้นร่วมประชุมครู ม.4 วางแผนการดำเนินโครงการ ประชุมนักเรียนเพื่อชี้แจงจุดมุ่งหมายของการจัดทำโครงการ ให้นักเรียนช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์มัธยมปลาย แนะนำและสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์อย่างถูกวิธีโดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานการประปาจังหวัดลำปางมาเป็นวิทยากร นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง พบปัญหา เกิดคำถาม นำคำถามและข้อเสนอของนักเรียนมาพูดคุยกับครูศิลปะ ได้รับข้อเสนอแนะว่าสิ่งที่ครูศิลปะอยากทำ คือ จะนำนักเรียนไปนั่งดูน้ำที่แม่น้ำวังแล้วให้วาดภาพเสมือนจริงที่นักเรียนสังเกตเห็น จากนั้นจึงนำผลงานของนักเรียนมาจัดแสดง โดยเชิญคนในชุมชนใกล้เคียงมาร่วมวิพากษ์ผลงาน

ความประทับใจในแง่มุมต่างๆที่อยากแบ่งปัน
 
ก่อนเข้ารับการอบรมฝึกทีมแกนนำยังไม่ทราบว่ากระบวนการเรียนรู้ PBL คืออะไร เหมือนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) หรือไม่ เมื่อได้ศึกษาเรียนรู้ทั้งผ่านการอบรม ศึกษาจากเอกสาร อ่านจากเว็บไซด์แล้วพบว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใน 4 ด้าน ได้แก่1. ด้านเนื้อวิชา (Subject Matter) 2. ทักษะชีวิตและการทำงาน (Life and Professional Skill) 3. ทักษะและความรักในการเรียนรู้ 4. ทักษะด้านสารสนเทศ (ICT Skill) อย่าลืมว่าจะทำให้เกิดการเรียนรู้ทักษะ 4 ด้านนี้ได้ต้องไม่ลืมส่วนประกอบ 4 มิติได้แก่ มาตรฐานและการประเมินในยุคศตวรรษที่ 21 หลักสูตรและการเรียนการสอนในยุคศตวรรษที่ 21 การพัฒนาครูในยุคศตวรรษที่ 21 และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนในยุคศตวรรษที่ 21 ว่าเราแต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับมิติใด กำลังทำอะไร อยู่ตรงไหนและสามารถเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ใน 4 ด้านได้อย่างไร (ตามกรอบแนวคิดเพื่อการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21)

หมายเลขบันทึก: 507397เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2012 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีจังเลยค่ะน้องอ้อ..เห็นแนวคิดที่เป็นระบบของน้องๆและการถอดบทเรียนที่ดีจากการจัดการเรียนรู้ PBL..ฝากนำไป  post ที่ SCBF Website ด้วยนะคะ

ถอด บทเรียนได้ดี นะคะ ... เกิด KM นะคะ .... ดีใจด้วย นะคะ

เป็นประโยชน์ให้ผมได้นำไปปรับใช้สอนนศ. ขอบคุณมากครับผม สบายดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท