เหตุใดคัมภีร์ของศาสนาต่างๆ จึงเขียนแบบเรื่องเล่า?


ผมสังเกตว่าคัมภีร์ของศาสนาใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎก พระคัมภีร์ไบเบิล หรือคัมภีร์อัล กุรอาน เต็มไปด้วยเรื่องเล่า เช่น ในพระคัมภีร์ไบเบิลมีเรื่องที่นักบุญ (ผู้อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนา) เช่น นักบุญเปโตร เล่าเรื่องและคำสอนของพระเยูซูในเหตุการณ์ต่างๆ   

ผมเห็นว่าเหตุที่คัมภีร์ของศาสนาต่างๆ เขียนแบบเรื่องเล่าก็เพราะ

          ๑. ในเรื่องเล่ามีคำสอน (วาทกรรม) ของพระศาสดาหรือพระสาวกแทรกอยู่

          ๒. เรื่องเล่าทำให้เราได้เห็นบริบทอันเป็นที่มาของคำสอน

ในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระสูตรต่างๆ ก็เป็นเรื่องเล่า และเรื่องเล่าจำนวนมากมักขึ้นต้นด้วยข้อความ " ข้าพเจ้าได้สดับมา..." ตัวอย่างเช่น "ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน ..."   คำ "ข้าพเจ้า" ในที่นี้จำนวนมากหมายถึงพระอานนท์ที่เล่าเรื่องของพระพุทธเจ้าที่ทรงเสด็จไปในที่ต่างๆ และทรงสนทนาธรรม หรือแสดงพระธรรมเทศนา   ข้อความที่พระพุทธองค์ทรงตรัสที่ปรากฏอยู่ในเรื่องที่พระอานนท์รวมทั้งพระเถระองค์อื่นๆ เล่านั่นเอง ที่เป็นพุทธวจนะ (หรืออาจเรียกว่า วาทกรรม ในยุคปัจจุบัน) ชี้นำการปฏิบัติตนสำหรับพุทธบริษัททั้งหลายสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ที่พระอานนท์เล่าได้เยอะมากกว่าพระเถระองค์อื่นๆ ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎกในส่วนของพระสูตร (ในส่วนของพระวินัยนั้น ส่วนใหญ่เล่าโดยพระอุบาลี   ส่วนปิฎกที่ว่าด้วยพระอภิธรรมนั้นเป็นพุทธอภิปรัชญาล้วนๆ ไม่เป็นเรื่องเล่า) ก็เพราะพระอานนท์เป็นพระอุปฐากของพระพุทธเจ้า   เหตุที่พระพุทธองค์จำเป็นต้องมีพระอุปฐากก็เพราะพระองค์ต้องปฏิบัติพระภารกิจในฐานะพระพุทธเจ้า ที่แต่ละวันมีผู้มาขอเข้าเฝ้ามากมาย ก่อนที่พระอานนท์จะรับตำแหน่งนี้ หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ๒๐ พรรษา (หากในปัจจุบันอาจเรียกว่าเลขานุการ) ต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์   พระอานนท์ได้ขอพร (ในลักษณะเป็นเงื่อนไขในการรับตำแหน่ง) ๘ ประการจากพระพุทธองค์ หนึ่งในนั้น คือ "เมื่อพระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนาในที่ใดแก่ผู้ใด ซึ่งข้าพระองค์มิได้อยู่ด้วย ขอได้โปรดเล่าพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีกครั้งหนึ่ง" 

เหตุผลของพระอานนท์ที่ขอพรข้อนี้มีปรากฏในพระไตรปิฎกว่า "ข้าพระองค์ทูลขอพรข้อนี้เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ดูเถิด พระอานนท์เฝ้าติดตามพระศาสดาอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่เมื่อถามถึงพระสูตร หรือชาดก หรือคาถา ว่าสูตรนี้ ชาดกนี้ คาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหนก็หารู้ไม่ เรื่องเพียงเท่านี้ยังไม่รู้ จะมัวติดตามพระศาสดาอยู่ทำไม เหมือนกบอยู่ในสระบัว แต่หารู้ถึงเกสรบัวไม่" 

นอกจากพรข้อนี้แล้ว พรข้ออื่นๆ ก็มีข้อสอนใจเช่นเดียวกัน เช่น ขอให้พระพุทธองค์ไม่ประทานจีวรอันประณีตที่มีผู้ถวายให้พระองค์แก่ข้าพเจ้า ไม่ประทานบิณฑบาตร(อาหาร)อันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพเจ้า ไม่ให้ข้าพเจ้าอยู่ในที่ๆ เดียวกันกับที่พระองค์ประทับ ฯลฯ 

การได้อ่านเรื่องเล่าอย่างนี้ มีข้อสอนใจแทรกอยู่อย่างนี้ ทำให้เราเหล่าพุทธบริษัทให้ประกอบกิจการงานใดๆ ให้แก่ผู้ใดด้วยความบริสุทธิใจเป็นที่ตั้ง ยกจิตยกใจเราให้สูงขึ้นอย่างพระอานนท์  

ข้อความในพระไตรปิฎกได้เล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ประชุมสงฆ์กำลังหาพระพุทธอุปฐากนั้น พระสารีบุตรได้แสดงความจำนงขอทำหน้าที่นี้เป็นองค์แรก พระพุทธองค์ทรงขอบใจพระสารีบุตรและทรงปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า "สารีบุตร! อย่าเลย - เธออย่าทำหน้าที่อุปฐากเราเลย เธออยู่ ณ ที่ใด ที่นั้นก็มีประโยชน์มาก โอวาทคำสั่งสอนของเธอเป็นเหมือนโอวาทของพระพุทธเจ้า เธอสามารถหมุนธรรมจักรให้เป็นประโยชน์สุขแก่ปวงชนเช่นกับด้วยเรา ผู้ได้เข้าใกล้เธอเหมือนได้เข้าใกล้เรา ผู้ที่สนทนากับเธอเหมือนได้สนทนากับเรา" 

ซึ่งก็ทำให้ได้ข้อคิดอีกว่า พุทธบริษัทอย่างเราๆ ท่านๆ ในกาลปัจจุบัน ควรหมั่นฝึกตนเพื่อเป็นวิญญูชนที่มีส่วนร่วมในการหมุนธรรมจักรเพื่อประโยชน์แก่ปวงชนดังที่พระพุทธองค์และพระสาวกได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้แล้วอย่างไร

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๐ พ.ย.๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 508238เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

กำลังอ่านพระไตรปิฎกฉบับประชาชน อยู่ และเห็นดังที่อาจารย์กล่าวค่ะ

ชาวพุทธ อันที่จริง ทุกคน ควรได้อ่าน เพราะเป็นเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วย สาระ ที่แท้ของการเป็นมนุษย์

ขอบคุณค่ะ

เรื่องเล่า (myth) แบบมีโครงสร้าง มีอิทธิพลเชิงวัฒนธรรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท