คุณค่า และความงามของความเป็นมนุษย์


ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวไว้ว่าการอ่านหนังสือเป็นการอ่านความคิดของคนอื่น
ส่วนการเขียนหนังสือเป็นการอ่านความคิดของตนเอง ดังนั้นการได้อ่านและได้เขียนล้วนเป็นการพัฒนาความคิดทั้งสิ้น และถ้าหากเรื่องราวที่ได้อ่านเป็นเรื่องราวของความดี งาม ความรัก
การแบ่งปันและเอื้ออาทรระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างแม่ ลูก พ่อ แม่
สามีภรรยา หรือแม้กระทั่งลูกเลี้ยง กับพ่อบุญธรรม หรือความรัก ความเอื้ออาทรของเพื่อนบ้าน ล้วนเป็นความงาม
ที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางความคิดให้สูงขึ้น และนอกจากนี้ตนเองยังคิดว่าเปรียบเสมือนเป็นการกล่อมเกลา กะเทาะเปลือกแข็งๆที่ห่อหุ้มจิตใจด้านในของตนเองได้ไม่น้อย


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสอ่านความคิดของโรงพยาบาล ของชาวบ้าน คุณตา คุณยาย ชายหนุ่ม ชายฉกรรจ์ อสม.ที่ได้แบ่งปันความคิด ขีดเขียนลงในกระดาษ คนละ 3 – 4 หน้า จากโครงการ SHA
ที่สรพ.ได้เชิญชวนให้รพ.รพ.สต.ทั่วประเทศ รวบรวมเรื่องเล่าของผู้ดูแล
care giver ที่ได้ดูแลรักและห่วงใยผู้ป่วยที่เป็นพ่อแม่พี่น้อง ญาติหรือบางเรื่องก็ไม่ใช่ญาติ ได้เล่าประสบการณ์การดูแลของแต่ละคนที่แสนจะงดงามและมีความหมาย มายังสถาบัน เพื่อเป็นบทเรียนแก่ชาวสาธารณสุขในเรื่องการดูแลด้วยหัวใจ ความรัก การดูแลอย่างเต็มความสามารถจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วย
ผู้ดูแลจึงเป็นผู้สร้างสะพานใจมาเชื่อมต่อระหว่างการดูแลรักษาในรพ.กับการดูแลที่บ้านได้อย่างสุดยอดจริงๆ

และนอกจากนี้ยังมีหนังสั้น ที่กระตุกต่อมน้ำตา สร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองได้ไม่น้อย อาจารย์บางท่านได้โพสต์แซวมาในเฟสบุ๊ค เป็นคำแซวที่สะกิดใจและสะท้อนความคิดบวกของเขา ว่า “อาจารย์พอลล่า มีบุญได้ชม
ได้อ่าน เรื่องราวจากรพ.ทั่วประเทศ” ซึ่งก็เป็นจริงอย่างที่ถูกกล่าวถึง สิ่งที่ได้รับจากการอ่าน การได้ชมนั้นมากมาย มีมุมมองทั้งมุมบวกและมุมที่เป็นโอกาสพัฒนาของระบบสาธารณสุขไทย ทุกเรื่องที่ได้อ่านได้มองเห็นความงาม ความดี ความทุกข์ยาก ความเอื้ออาทร ทีมงานเข้มแข็ง ความรู้ ความสามารถ ของผู้ดูแล


นอกจากนี้ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยในการดูแลกันและกัน ที่มีอยู่ไม่น้อยกว่าประเทศไหนๆ เราน่าจะวิจัยกันดูบ้างว่า นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการดูแลที่บ้านนั้นมีอะไรและผลลัพธ์เกิดอะไรขึ้นบ้างในภาพรวมของประเทศ
ก็น่าจะดีเพราะได้แอบไปอ่านงานวิจัยต่างประเทศที่ตีพิมพ์ว่าประเทศที่กำลังพัฒนามีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์น้อย อยากจะไปเถียงเขาบ้าง...

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง
นวัตกรรมที่พยายามทำกันนั้น บ่งบอกถึงความขาดแคลน ขัดสนอุปกรณ์เครื่องมือจำเป็นที่ช่วยเยียวยา
รักษาที่บ้าน ที่พบมากๆ จากการอ่าน เช่น สาย suction ล้วนแต่ไม่เพียงพอ มีนวัตกรรมที่เกิดจากการล้าง การทำความสะอาดสายต่างๆ นาๆ จนบางครั้งไม่แน่ใจว่า จะปลอดภัยจริงไหม
บางคนก็เอาไปใส่เครื่องซักผ้าปั่นก็มีค่ะ ...


นวัตกรรม จำพวกรถเข็น เครื่องพยุง ล้อเลื่อน เตียง เครื่องมือช่วยกายภาพบำบัดนั้น มีเกิดขึ้นเกือบทุกราย
ในคนไข้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่สามารถดูแลตนเองได้ ร่วมกับนวัตกรรมการป้องกันแผลกดทับในที่ต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นสะโพก ก้นกบ กกหู เจาะหมอนเป็นรูเพื่อให้หูไม่กดทับก็ยังมีค่ะ

 

มองเห็นศักยภาพของผู้ดูแลที่มีอายุตั้งแต่วัยฉกรรจ์ อายุ 25 ปี จนถึงวัยชรา ล่วงไปถึงอายุ 85 ปี ก็ยังไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ต่อการดูแล บางท่านเขียนเรื่องเล่าได้งดงามไม่แพ้ พวกเราที่ได้อบรมเรื่องเล่า narrative medicine มาเสียอีก ยอมแพ้เลยค่ะ


ผู้ดูแลบางท่านดูแลกันและกันมาอย่างยาวนาน บางรายนานถึง 21 ปี จนเกิดเป็นหลักการดูแล ตามแบบฉบับของตนเอง ที่ท่านได้เปรียบเทียบกับหลักพุทธศาสนาและหลักการดูแล Home care Home ward ได้อย่ากลมกลืน เช่น ต้องจัดยาให้ถูกต้อง รับประทานตามเวลา และตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ดูแลของที่ควรให้ผู้ป่วยรับประทาน
หรือไม่ควรรับประทาน ดูแลพยาบาลด้วยเมตตาจิตไม่รังเกียจที่จะนำสิ่งสกปรกไปทิ้ง เช่น โถอุจจาระเป็นต้นปลอบคนป่วยให้มีความสุข ร่าเริง เป็นต้น (คุณตาเล่ามาเองนะคะ)

 

มองเห็นความทุกข์ซ้ำซ้อนของชาวบ้าน
ทุกข์ของระบบบริการสุขภาพที่ไม่แน่ใจว่าเราจะใช้เวลาสักกี่ปี
ที่จะเยียวยาความเจ็บป่วย ความทุกข์เหล่านี้ได้ โรคเรื้อรังที่พบเจอกันเป็นปกติ
เช่นความดัน เบาหวาน ที่มีภาวะแทรกซ้อน บางรายเกิดกับผู้ป่วยอายุน้อยไม่ถึง 20 ปี เกิดภาวะแทรกซ้อนครบถ้วนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ไตวาย ตาบอดและเป็นแผล
ผู้ป่วยแต่ละรายไม่ได้เป็นโรคเดี่ยวๆ แต่เป็นโรคที่มีความเจ็บป่วยซ้ำซ้อน
จนยากจะเยียวยา เช่นมีความพิการร่วมด้วย นอกจากตนเองพิการ ยังมีลูกที่พิการ
มีลูกหรือภรรยา สามีที่เป็นโรคจิตเวชก็มีไม่น้อย โรคมะเร็งระยะสุดท้าย ออทิสติก
พิการทางสมอง หรืออัมพาตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตกจากที่สูง ก็มีจำนวนไม่น้อยเลย

ความจริง
เกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่พอได้อ่านรวมๆ กันหลายเรื่องราว
ทำให้ตนเองเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่างที่อยากจะช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นบ้าง
โรค มีอยู่ก็จริง แต่ถ้าการส่งเสริมป้องกัน เข้มแข็งกว่านี้
อาจจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ก็อาจจะเป็นได้ บางโรคบ่งบอกถึงการรักษาล่าช้า
ไม่เหมาะสมจนเกิดผลที่ผู้ป่วย การส่งต่อไปมาหลายโรงพยาบาล
แต่สุดท้ายได้รับคำตอบว่า “มาช้าไปแล้ว” ...กลับไปเยียวยาที่บ้านเกิด...

นอกจากความทุกข์ของคนไข้แล้ว ยังมองเห็นความทุกข์ยากของผู้ดูแล
ที่เราเอง มองว่าเป็นความทุกข์ของเขา แต่ผู้ดูแลที่ได้เล่ามานั้น ล้วนบอกว่าเป็นความสุขที่เขาได้ทำเพื่อคนที่ตนเองรักและเคารพ
เป็นสิ่งตอบแทนที่จะทำให้คนที่ตนเองรักได้ ในโอกาสสุดท้าย เพื่อตอบแทนคุณงามความดีที่เขามีอยู่
บางคนทิ้งครอบครัวจากกรุงเทพ เพื่อมาดูแลแม่ที่ต่างจังหวัด อยู่กับแม่สองคน
บางคนยอมถูกลดเงินเดือนเพื่อสละเวลาส่วนหนึ่งมาอยู่กับแม่ มาดูแลแม่ และมีผู้ดูแลไม่น้อยที่อาจจะเสียพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งไปแล้ว
บอกถึงความไม่สมบูรณ์ของครอบครัว บ้างก็ต้องอดทนทำงานที่หนักขึ้นเพื่อรับภาระค่าใช้จ่ายแทนผู้ป่วย
บางคนเคยใช้ชีวิตในชนบท แต่ยอมมาใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพเพื่อมาดูแลลูก ลิฟต์
รถไฟฟ้าและสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย มาตั้งแต่เกิดไม่เป็นอุปสรรคสำหรับแม่ ผู้ที่จะต้องดูแลลูกให้ได้

ความพยายามอย่างไม่สิ้นสุดของเหล่าผู้ดูแลอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
ที่จะค้นคว้าหาตำรา สอบถาม เสาะแสวงหาทุกสิ่งอย่างเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาสมุนไพร
กายภาพ ฝังเข็ม ยาหม้อ..หรือโรงพยาบาลบอกว่าอย่างไร ทำอย่างไร  ก็ยินยอมทำตามทุกอย่างเพื่อให้ผู้อันเป็นที่รักกลับคืนสูสภาพปกติให้เร็วที่สุด  ผลลัพธ์ บางรายอาการดีขึ้น แต่บางรายเสียชีวิตท่ามกลางการดูแลที่อบอุ่นจากญาติ

ท่ามกลางความทุกข์นั้น...เราได้มองเห็นความงาม
ที่เบ่งบานในหัวใจ  มองเห็นความคิดที่งดงามของผู้คนที่เห็นคุณค่า เห็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

และสิ่งเหล่านี้มีคุณค่าและมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับความเป็นมนุษย์ที่แท้

คำสำคัญ (Tags): #caregiver#sha
หมายเลขบันทึก: 509024เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2012 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ขอบคุณค่ะ ...คิดถึงค่ะ ...บทความดีจังเลย....

 

สวัสดีค่ะ คุณพอลล่า

ขอบพระคุณมากค่ะที่กรุณาให้ GotoKnow ได้เข้าร่วมงานด้วยอีกในรอบปีนี้ นอกจากบูธที่ทาง GotoKnow จะพยายามให้เห็นขุมความรู้ของ SHA ใน GotoKnow แล้ว หากได้ Mini stage ด้วยอีกสักครึ่งชั่วโมงเพื่อให้ตัวแทนสมาชิก GotoKnow ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ได้ขึ้นมาพูดกันสักคนละเล็กละน้อยถึงประโยชน์ของการบันทึกทางออนไลน์เพื่อบูรณาการงานกับชีวิตน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ

หากทาง สรพ. ไม่ติดขัดประการใด อ. รบกวนขอให้ช่วยระบุวันเวลาที่ GotoKnow จะจัด mini stage ด้วยนะคะ จะได้หาอาสาสมัครและจองตัวไว้ให้ขึ้นเวทีก่อนล่วงหน้าค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

อ.จัน

เป็นบันทึกที่ ให้ความรู้สึกถึงความรักค่ะ

^______^

มาเยี่ยมด้วยความระลึกถึงครับ

คิดถึงจัง น้องคำหล้า มีงานตลอดนะคะ ส่งใจไปร่วมค่ะ

ขอบพระคุณ อ.จัน และ ทุกๆ ท่านมากค่ะ คิดถึงทุกท่านมากๆ ค่ะ มีโอกาส คงได้พบกันนะคะ จุ๊บๆๆ

พรทั้งหล้า พบกันอีกที ปีนี้ที่ HA เชื่อมั่น ศรัทธา ว่าHA คือการพัฒนาคุณภาพ

ขอบพระคุณเว็บบล็อกดีๆให้ความรู้มากมายจริงๆค่ะ รบกวนอีกนิดตามประสาผู้ไม่รู้ไม่เคยไปเปิดโลกทัศน์ ทำนวัตกรรมเหมือนกันค่ะหัวหน้าบอกว่าได้รับเกียรติให้เข้าร่วมงาน 19-21 ธันวาคม 2555 ตื่นเต้นมากค่ะ เตรียมตัวอย่างไรบ้างคะไปในส่วนของจัดแสดงโปสเตอร์นวัตกรรมน่ะค่ะ เราอยู่ที่เขาสวนกวาง ขอนแก่น เขตรอยต่อกับจังหวัดอุดรน่ะค่ะ นอกจากไวนิลแล้วต้องเตรียมตัวในการจัดเตรียมสถานที่อย่างไรคะ หัวหน้าบอกให้หัดจัดสวนถาด ไม้ประดับอะไรประมาณนี้น่ะค่ะ เด็กบ้านนอกเข้ากรุงเลยตื่นเต้น

สวัสดีค่ะ คุณแม่นม LR รายละเอียดนิทรรศการ แจ้งไว้แล้วทางหน้า web สรพ.นะคะ มีรายละเอียดการเตรียมและการเตรียม นำเสนอ poster ด้วยค่ะ ในวันที่ 19 ธค เวลา 14.30 น. นะคะ ต้องเรียนว่าพื้นที่มีจำกัดมากๆค่ะ เป็นโรงแรมที่มีพื้นที่แสดงนิทรรศการไม่มากนักค่ะ แนะนำว่าถ้าจะจัดบริเวณด้านหน้าควรชวนเพื่อนๆ ที่มาจากพื้นที่เดียวกันจัดด้ยกันจะได้ไม่รุกล้ำเพื่อนๆ นะคะ ขอบคุณมากค่ะสำหรับการเข้าร่วมเสนอผลงานค่ะ

  • มาเยี่ยมเยือนคุณพรหล้า ด้วยความระลึกถึงครับ

อ่านมาก เขียนมาก รู้มาก พูดมาก บ่นมาก จริงๆ ด้วย....ค่ะ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท