ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

โรงเรียนวิถีพุทธกับความท้าทายโตไปแล้วไม่โกง!!!



      วันนี้เดินทางมามหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นงานดุษฏีนิพนธ์ เรื่อง "ยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาในโรงเรียนวิถีพุทธ: พหุกรณีศึกษา" ของท่านพระมหาอำนวย มีราคา ซึ่งวันนี้ท่านมหาอำนวยนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ เช่น หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชธรรมสารสุธี รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และพระอาจารย์ทั้งจากมหาจุฬาฯ และมหามกุฏฯ มาร่วมให้ข้อสังเกตจำนวนมาก พร้อมกันนี้ ผู้นำในวงการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธในเขตจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และศรีสะเกษ และ ผอ.สพฐ. ในเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ รวมถึง ผอ. โรงเรียนต่างๆ จำนวนมาก


          พระมหาอำนวย มีความตั้งใจในการนำผลที่ได้จากการศึกษาไปพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการศึกษาโรงเรียนวิถีพุทธให้สามารถใช้งานได้จริง และเป็นแม่แบบในการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธในยุคปัจจุบัน เชื่อมั่นว่า งานนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้บริหารนโยบายได้นำไปกำหนดเป็นนโยบายพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธในภาพรวม และเชื่อมั่นว่า จะเกิดประโยชน์ต่อฝ่ายปฏิบัติการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          สภาพปัญหาของเยาวชนไทยในปัจจุบันนี้ คือ "ความอ่อน" ของวิถีคิด และวิถีปฏิบัติของเยาวชน จึงทำให้เยาวชนขาดไส้กรองจนทำให้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ความอ่อนไม่ได้มีปัญหาที่ตัวของเด็กเอง หากแต่จะนำไปสู่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เพราะหากเยาวชนอ่อน ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติจะได้รับผลกระทบจากความอ่อนด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนวิถีพุทธเน้นหนักตามกรอบที่หลวงพ่อพระพรหมคุณาภรณ์ได้ให้หลักการ "กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น" เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ กรอบใหญ่ที่ถอดรูปออกมาคือ "หลักไตรสิกขา" คือ ศีล สมาธิ และปัญญา แนวทางเช่นนี้ ถือว่าเป็นการจัดการศึกษาที่ทวนกระแสวัตถุนิยม และบริโภคนิยมที่กำลังถาโถมสังคมไทย โดยเฉพาะเยาวชนของไทยเพื่อให้มีภูมิต้าน และรู้เท่าทันกระแสวัตถุนิยมมากยิ่งขึ้น 

          ส่วนตัวมีความห่วงใยต่อประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาโรงเรียนวิถีพุทธในบางแง่มุม และมุ่งหวังจะแลกเปลี่ยน และแบ่งปันว่า 

          (๑) โรงเรียนวิถีพุทธเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลยุคต่างๆ พยายามที่จะชูขึ้นเป็นทางเลือกในการจัดการศึกษา เมื่อกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่กำกับมาก และบ่อยที่สุดเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ จะทำให้มีผลต่อดำเนินนโยบายการจัดการศึกษาในโรงเรียนวิถีพุทธหรือไม่ อย่างไร 

          (๒) ในขณะที่เรากำลังจะเดินเข้าไปสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๕๘ เราจะจัดวางโรงเรียนวิถีพุทธเอาไว้อย่างไร? จึงจะสอดรับกับความเป็นไปของวิถีของการพัฒนาสังคม และประเทศในประชาคมอาเซียน 

          (๓) โรงเรียนวิถีพุทธจะทานกระแสของโรงเรียนทั่วไปที่ไม่ได้เน้นวิถีพุทธอย่างไร? จึงจะอยู่รอด บางท่านเคยตั้งข้อสังเกตว่า "โรงเรียนวิถีพุทธเน้นเป็นคนดีมาก่อนความเก่ง" แต่คำถามคือ เมื่อสังคมไทยจะพัฒนาไปสู่การแข็งขันกันนั้น การแข็งขันเพื่อความอยู่รอดในสังคมโลกาภิวัตน์นั้น คือ "ความเก่ง" เราจะให้ความมั่นใจได้อย่างไรว่า เมื่อพัฒนาให้เด็กดีแล้ว ต่อไปเด็กเหล่านั้นจะเก่งเอง!!!  

          (๔) ใครคือตัวแบบตัวแบบของโรงเรียนวิถีพุทธที่เยาวชนใช้อ้างอิง??? คนจำนวนมากตอบว่า คือ "ครูและบุคลากรทางการศึกษา" แต่เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ปัจจุบันคนจำนวนมากเช่นกันที่ห่วงใยต่อเบ้าหลอมทั้งในแง่ของพฤติกรรม อารมณ์ และปัญญาของครู และบุคลากรทางการศึกษา หากเป็นเช่นนั้น การพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธจึงไม่ได้หมายถึงเน้นไปที่ตัวเยาวชน หากแต่จำเป็นต้องเน้นมิติอื่นๆ ด้วย เช้น ครู บุคลาการทางการศึกษา สถานที่ หลักสูตร สื่อการสอน วิธีการสอน และกิจกรรมต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ 

          (๕) การที่เยาวชนยอมรับวัฒนธรรม "โกงได้แต่ขอให้ทำงานเก่ง" วัฒนธรรมเช่นนี้ถือว่าเป็นการท้าทายต่อการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธอย่างยิ่ง คำถามคือ โรงเรียนวิถีพุทธจะเข้ามาช่วยปลูกฝังอุดมการณ์ "โตไปแล้วไม่โกง" ได้อย่างไร??

หมายเลขบันทึก: 509534เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2012 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท