สมัยก่อนภาคใต้เขาปลูกยางกันอย่างไร


             พื้นที่ปักษ์ใต้ ปลูกยางพารากันมานานแล้วครับ เท่าที่ผมจำความได้ ต้นยางพาราก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ยางพาราในช่วงก่อนปี 2515 เป็น "ป่ายาง" ครับ คือไม่ได้ปลูกเป็นแถวเป็นแนวอย่างทุกวันนี้ แม่เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเวลาจะปลูกยางพารา เขาจะเอาเมล็ดยาง ซึ่งขนาดพอดีที่จะยิงด้วยหนังสติก ใช้วิธียิงเข้าไปในป่าที่ตัวเองครอบครอง อยู่ไปหลายๆ ปีเมล็ดยางก็จะงอกขึ้นมา ก็เลือกกรีดเอาเฉพาะที่ต้นโตๆ โดยการถางป่าทำเป็นทางเดินลัดเลาะไปตามต้นยาง ไม้อื่นที่อยู่ในป่าก็จะยังอยู่ สวนยางพาราสมัยโน้นจึงมีสภาพเป็นสวนป่าโดยแท้จริง ในป่ายางพารามีทั้งสะตอ จำปาดะและไม้ผลท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งสามารถเก็บมากินมาขายได้  นอกจากนั้นก็ยังมีไม้ยืนต้นอื่นๆ เช่นต้นตำเสา ต้นชะเมา ต้นตะเคียน ต้นก่อ เป็นต้น  สามารถตัดโค่นมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ทำบ้าน ทำกระต๊อบ
           จำได้ว่าช่วงประมาณเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แถวบ้านผมมีโครงการส่งเสริมปลูกยางพาราโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ให้เปลี่ยนพันธุ์ยางพื้นเมืองดังกล่าวให้เป็นยางพันธุ์ดี  มีข้อแม้ว่าต้องเป็นสวนยางเก่า โดยให้โค่นทั้งต้นยางเก่าและไม้อื่นๆ ออกให้หมด แล้วทำให้เตียน ไม้ที่โค่นต้องกำจัดให้หมด สมัยโน้นไม้ต่างๆ ทั้งไม้ยางพาราและไม้ป่าแทบไม่มีราคา การกำจัดก็โดยการเผาเป็นส่วนใหญ่  ตอไม้ก็ไม่มีการขุดออก เพราะสมัยนั้นแทรคเตอร์/แบคโฮ ไม่มี เมื่อเตียนแล้วจึงปัก" ไม้มบ" ซึ่งใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 0.80 - 1.00 เมตร ขนาดประมาณเท่านิ้วมือ ปักเป็นแถว  ตรงไม้มบ นี่คือตำแหน่งปลูกต้นยางครับ  ให้ระหว่างแถวกว้าง 8.00 เมตร ระหว่างต้นในแถวห่าง 3.00 เมตร   ขุดหลุมกว้าง x ยาว x ลึก =50x50x50 เซ็นติเมตร เมื่อขุดเสร็จทั้งหมด ก็ไปแจ้งสำนักงานกองทุนสงเคราะการทำสวนยาง(สกย.) ให้ เขามาตรวจ สัก 4-5 วันเขาก็จะมาตรวจ ถ้าผ่านเขาก็จะแจ้งให้ให้เอาสมุดบัญชีไปเบิกเงิน ซึ่งก็จะเอามาจ่ายเป็นค่าแรงถาง-โค่น-เผา-ปักมบ-ขุดหลุม
             เมื่อผ่านการตรวจคุณภาพจาก สกย. เราก็ดำเนินการหาพันธุ์ยางมาปลูก สมัยก่อนไม่มีพันธุ์ยางชำถุงขายหรอกครับ ต้องเอาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านหรือต้นสองใบปลูกลงไปก่อน แล้วค่อยไปหากิ่งพันธุ์ดีมาติดตาเอาเอง เมื่อปลูกเสร็จหมด ก็ต้องไปแจ้ง สกย. ให้เขามาตรวจอีก ว่าปลูกได้ถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่  ถ้าไม่ถูกต้องเขาจะสั่งให้แก้ไขก่อน ถ้าถูกต้อง เขาก็จะจ่ายเงินให้เป็นค่าพันธ์ยาง

             ระหว่างแถวยางที่ห่า 8.00 เมตร  เขาอนุญาตให้ปลูกพืชล้มลุกได้ เช่นสับปะรด ข้าวไร่ ข้าวโพด มะเขือ ฟัก แฟง แตงกวา  ได้หมด  แต่ต้องให้ห่างจากต้นยางอย่างน้อย 1.00 เมตร และห้ามให้พืชแซมเหล่านี้รุกเข้าไปพัน/คลุมต้นพันธุ์ยางเด็ดขาด
             หลังจากปลูกเสร็จ สกย. จะมีตารางเวลาให้เราบำรุงรักษาโดยการถางแถวยางใส่ปุ๋ย ตามกำหนดเวลา เช่น ปีแรกให้ใส่ปุ๋ยปีละ 4 ครั้ง ก่อนใส่ปุ๋ยให้ถางหญ้าให้เสร็จก่อน แล้วแจ้ง สกย. เขาจะมาตรวจ ถ้าผ่าน เขาจะให้เบิกปุ๋ยไปตามสัดส่วน ซึ่งเขาคำนวณจากพื้นที่ ว่า 1 ไร่ ให้ปุ๋ยครั้งละกี่กิโลกรัม เราก็เบิกปุ๋ยมาใส่ตามคำแนะนำ
ทำอย่างนี้ตามตาราง/แผนของ สกย. ก็จะได้ปุ๋ยได้ค่าแรงตามหลักเกณฑ์ในแต่ละช่วงเวลา ถ้าเป็นสวนที่ขาดการเอาใจใส่ดูแล ไม่ผ่านและไม่แก้ไขทำให้ดี เขาจะไม่สนับสนุนปุ๋ยและค่าแรงงาน อยู่ในวงจรนี้จนต้นยางสามารถเปิดกรีดได้ ภาษาชาวบ้านเรียก "ปิดทุน" ก็คือปิดการสนับสนุนจาก สกย.ด้วยเหตุครบ 5 ปี ยางพร้อมที่จะเปิดกรีดแล้ว ถ้ามีเงินเหลือในบัญชี สามารถเบิกเอาเงินงวดสุดท้ายไปใช้จ่ายได้ตามสบาย แต่ส่วนใหญ่จะเอาไปจ่าเป็นค่าจอกยางและอุปกรณ์เปิดกรีดไงครับ
             สมัยก่อน สกย. สนับสนุนเงินมาไร่ละ 3,500 บาท ตลอดระยะเวลา 5 ปี ในขณะที่ค่าปุ๋ยตกกระสอบละประมาณ 100 บาท ค่าพันธุ์ยางต้นละ 2-4 บาท ค่าแรงขุดหลุมขนาด 50x50x50 ซม. หลุมละ 5 บาท ซึ่งบางหลุมเจอตอต้องขุดออก  ค่าถางหญ้าต้นละ 3 บาท เมื่อรวมกันในระยะเวลา 5 ปี ที่ สกย.มีทุนให้  ก็ยังเบิกค่าปุ๋ยค่าแรงไม่หมดเลยครับ เหลือเป็นเงินสดในงวดสุดท้ายอีกครับ แต่เดี๋ยวนี้ สกย.จ่ายให้ไร่ละ 5,600 บาท ค่าพันธู์ยางต้นละ 40-60 บาท ไรหนึ่งประมาณ 70 ต้น ก็หมดประมาณ 3000-4000 บาทแล้วครับ ค่าปุ๋ยกระสอบละ 850 บาท ค่าจ้างขุดหลุม  หลุมละ 20 บาท เบิกค่าพันธุ์ยางเสร็จจะได้ปุ๋ยอีก 1-2 ปี เงินสงเคราะห์ก็หมดแล้วครับ ที่เหลือต้องซื้อเอง  ดังนั้น วันนี้หากจะไปขอทุนที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เรียกว่าแทบจะไม่มีประโยชน์เลย เพราะค่าใช้จ่ายไม่พอกับที่สนับสนุน  แถมมีเงื่อนไขว่าพื้นที่ปลูกยางต้องเป็นพื้นที่ปลูกยางเก่า ถ้าเป็นพื้นที่ปลูกยางใหม่ เขาให้ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่  แต่ถ้าเป็นพื้นที่ปลูกยางเก่ากี่ไร่ก็ได้
             คราวหน้าจะเล่าเรื่อง ทำไมต้องไปปลูกต่างถิ่น - นอกพื้นที่ปักษ์ใต้  ครับ

คำสำคัญ (Tags): #ปลูกยางพารา
หมายเลขบันทึก: 509784เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2012 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สมัยผมเด็กๆ แถวชุมพรไม่ค่อยมีต้นยางพาราครับ ผมมาเห็นจริงๆ จังๆ ก็ตอนมาอยู่สงขลานี่เองครับ มาถึงตอนนี้แถวชุมพรก็ยังไม่ได้ปลูกยางมากครับ แต่ปลูกปาล์มกันเสียมากครับ แต่เป็นการปลูกแบบเชิงเดี่ยวเหมือนกันครับ

เล่ายาวเลยค่ะ ขอบคุณที่แชร์ประสบการณ์นะคะ

แฮะๆ เจตนาคือ จะถ่ายทอดประสบการณ์ นะครับ  ที่เขียนออกไป เพราะไม่เคยคิดจะ "กั๊กวิชา" ครับ  เพราะบางเรื่อง หาองค์ความรู้ในท้องถิ่นยากจริงๆ  ผมเรียนมาทางการใช้สื่อเพื่อการศึกษา จึงเห็นประโยชน์ของการใช้ IT ในการเผยแพร่ความรู้ทางการเกษาตรที่เราถนัด เพราะชาวนาชาวสวน ส่วนใหญ่ขาดความรู้ในการถ่ายทอดครับ  และคนที่มีความรู้ทาง IT ก็มักจะเป็นผู้ไม่รู้ทางการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้  ผมเลยทำตัวเป็นคนกลางให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท