ไม่มีวุฒิครู-สอบครู, 38 ค.(2) ปรับวุฒิ, วุฒิสูงเรียน EP ได้ แต่., กรอบงาน กศน.จ., IT 26 พย., เงินเดือนทะลุแท่ง+สายสะพาย, อนุญาตประกอบวิชาชีพ อาจสอบครูไม่ได้, ครูคนพิการ, ต่อใบอนุญาตฯ, ประเมินคุณธรรม, ลาศึกษาต่อต่างประเทศ


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  10  เรื่อง ดังนี้


         1. คืนวันที่ 21 พ.ย.55 คุณ “ครูผู้ช่วย” ส่งอีเมล์ผ่าน gotoknow.org มาถึงผม  ขอกรอบภารกิจงานกลุ่มงานต่าง ๆ ของกศน.จังหวัด (กลุ่มงานแต่ละงานมีหน้าที่อะไรบ้าง)

             ผมตอบว่า   ดูในเอกสาร "แนวทางการปฏิบัติงานของ สนง.กศน.จ./กทม. ที่  https://dl.dropbox.com/u/109014048/PvNFE.rar


         2. คืนวันเดียวกัน ( 21 พ.ย. ) คุณ “ข้าราชการน้อย” ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org ว่า  บรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่ 5 ก.ค.53  แล้วโอนลงตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ ณ กศน.จังหวัด เมื่อ มี.ค.55 รับเงินเดือนวุฒิ ป.ตรี ขั้น 13,400 แต่จบ ป.โท ตั้งแต่ มิ.ย.54 ( เอกบริหารธุรกิจ ซึ่งกำหนดเป็นสาขาเฉพาะตำแหน่งได้ )
             เมื่อสอบถามไป กจ. ได้คำตอบว่า ยังปรับเป็น ป.โทไม่ได้ เพราะต้องอยู่ในตำแหน่งให้ครบ 1 ปี ก่อน 
             จึงมีข้อสงสัยว่า กรณีที่อยู่ในตำแหน่งให้ครบ 1 ปีก่อนจึงปรับวุฒิเป็น ป.โท นั้น เฉพาะในกรณีที่จบหลังจากลงตำแหน่งไม่ใช่หรือ แต่นี่จบ ป.โทก่อนลงตำแหน่ง เข้าเกณฑ์นี้ด้วยหรือไม่   จะสามารถขอปรับวุฒิ ป.โท ได้เลยหรือไม่ หรือต้องรอให้อยู่ในตำแหน่งครบหนึ่งปีก่อน

             ผมตอบว่า   บุคลากรทางการศึกษาอื่นใช้ระเบียบ ก.พ.  ซึ่งกฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2551 ข้อ 2 (3) (ข) กำหนดว่า "ผู้ได้รับปริญญาโทเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นจากปริญญาตรีจะต้องดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยใช้วุฒิปริญญาตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี" ไม่ได้ระบุว่าจบก่อนหรือจบหลังจากดำรงตำแหน่ง ฉะนั้น จบตอนไหนก็ต้องดำรงตำแหน่งให้ครบ 1 ปีก่อนครับ  ( ถ้าเป็นข้าราชการครู ได้วุฒิสูงขึ้นก่อนบรรจุ จะปรับวุฒิไม่ได้ )
           ดู กฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2551 ข้อ 2 (3) (ข) ได้ที่  https://dl.dropbox.com/u/109014048/Salaryrules2551.pdf

           ( บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. ( 2 ) เช่น นักจัดการงานทั่วไป บรรณารักษ์  สามารถปรับเงินเดือนให้ได้ตามวุฒิที่จบสูงขึ้นได้ แต่ต้องจบในสาขาวิชาเอกที่ตรงตามมาตรฐานตำแหน่ง เช่น บรรณารักษ์ ถ้าจบปริญญาโทสาขาบรรณารักษ์ศาสตร์หรือสารนิเทศศาสตร์ และเงินเดือนยังต่ำกว่าเงินเดือนวุฒิปริญญาโท ก็สามารถยื่นขอปรับเงินเดือนให้ได้ตามวุฒิปริญญาโทได้)


         3. วันเดียวกัน ( 21 พ.ย. ) คุณสุขุม  ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม IT  ส่งลิ้งค์ดาวน์โหลดโปรแกรม ITw 2.0 ( หลักสูตร 51 ทั่วประเทศ ) รุ่น 21 พ.ย.55  มาให้ผม  ผมนำไปให้ดาวน์โหลดในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ  แต่ คุณฉลาด ดวงดี แจ้งว่าโปรแกรมใหม่นี้อ่านคะแนน NT ภาค 1/55 จากไฟล์คะแนน N-NET ของ สทศ.ไม่ได้

             เรื่องนี้ เดิมผมเป็นผู้ส่งไฟล์คะแนน N-NET ของ สทศ. ภาค 2/54 ไปให้คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ( ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw ) ใช้พัฒนาโปรแกรมรุ่น 21 พ.ย.55   ที่มีปัญหาอ่านแฟ้มคะแนน 1/55 ไม่ได้นี้ เป็นเพราะ สทศ.เปลี่ยนฟอร์มแฟ้มคะแนน 1/55 ให้ต่างจากฟอร์มแฟ้มคะแนน 2/54 ( เปลี่ยนแปลงตำแหน่งข้อมูล )
             วันที่ 26 พ.ย.56 ผมได้ส่งไฟล์คะแนน N-NET ภาค 1/55 ไปให้คุณสุขุมดู คุณสุขุมได้แก้ไขโปรแกรมใหม่ เป็นรุ่น 26 พ.ย.55 ให้เช็คตำแหน่งของข้อมูลโดยค้นหาตำแหน่งเอง ไม่ได้กำหนดตำแหน่งตายตัว  ทำให้สามารถอ่านข้อมูลได้ทั้งไฟล์แบบเก่า ( 2/54 ) และแบบใหม่ ( 1/55 ) ครับ
             ผมนำ link สำหรับ download โปรแกรมติดตั้ง ITW51 2.0 รุ่น 26 พ.ย. 55  ไปรวมไว้ให้ผู้สนใจดาวน์โหลดในข้อ 4.1.2 (1) ที่  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/481848 
             รุ่นนี้มีการปรับปรุงพัฒนาดังนี้
            
- เพิ่มรายงานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (เมนู 1-A-1-4) ตามตัวบ่งชี้ที่ 1.5 ของการประกันคุณภาพภายใน ออกมาเป็นคะแนนทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพให้เลย ไม่ต้องเสียเวลายุ่งยากในการคำนวณ ( ใส่ค่าขีดจำกัดล่างของภาคเรียน 2/53 ถึง 1/55 ไว้ให้แล้ว )
             - ปรับตัวแปรระบบเกณฑ์การตัดสินคะแนนปลายภาควิชาบังคับ เป็นต้องผ่าน 30% (โปรแกรมปรับให้อัตโนมัติ)
             - เพิ่มแผนการลงทะเบียนสำหรับ การเทียบโอนทหาร และ เทียบโอน ป.4
             - เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย English Program (หมายเลข 23)
             - ปรับใบ รบ. ให้เรียงตามภาคเรียน วิชาบังคับ/เลือก รหัสวิชา
             - ปรับคะแนน NT ให้ใส่ทศนิยมได้
             - เพิ่มการอ่านคะแนน NT จากแฟ้มข้อมูลของ สทศ. (เมนู 1-5-3)  ให้อ่านได้ทั้งแฟ้มภาค 2/54 และภาค 1/55 ( ทุกภาค )
             - แก้ไขการตรวจสอบ GPA ระดับจังหวัด ให้คิดหน่วยกิตตามค่าตารางรหัสวิชาของอำเภอ
             - เพิ่มรายงานตารางสอบ (เมนู 1-6-7) และแก้ไขให้พิมพ์ตารางสอบได้ในหน้าจอสอบถามข้อมูล
             - แก้ไขการสร้างข้อมูลสถิติในส่วนที่เป็นรายงานผู้คาดว่าจะจบให้ถูกต้อง
             - แก้ไขการบันทึกข้อมูลผู้คาดว่าจะจบ ให้เลือกช่วงรหัสสถานศึกษาและระดับชั้นได้
             - แก้ไขข้อผิดพลาดอื่นๆ เช่น เรื่องการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ลบข้อมูลซ้ำไม่ถูกต้อง
             - แก้ไขพิมพ์ใบรบ.ภาษาอังกฤษ โดยเพิ่มช่องใส่สัญชาติ ศาสนา วุฒิเดิม โดยดึงจากตารางรหัส


         4. วันที่ 22 พ.ย.55 กศน.อ.ผักไห่ ติดจัดประชุมกรรมการสถานศึกษา ผอ.กศน.อ.ผักไห่จึงให้ผมเป็นตัวแทนไปร่วมต้อนรับท่านรอง ผอ.สนง.กศน.จ.อยุธยา ( นางสุรีรัตน์ ดียิ่ง ) ย้ายมาจาก รอง ผอ.สนง.กศน.จ.สุพรรณบุรี ( ขอต้อนรับด้วยความยินดียิ่งนะครับท่าน )   ในระหว่างรอต้อนรับ ผมได้พูดคุยกับบางท่าน ดังนี้

             4.1  ผอ.กศน.อ. 3-4 ท่าน พูดคุยกันเรื่อง ไม่มีวุฒิครู ไม่เรียน ป.บัณฑิต แต่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะสมัครสอบครูผู้ช่วยได้หรือไม่  ( ครู กศน.อยุธยา หลายคน เคยเรียน 9 วิชา ( 9 มาตรฐาน ) ที่ มรภ.อย. หลักสูตร 2 ภาคเรียนซึ่งไม่ได้ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ( ป.บัณฑิต ) แต่สามารถใช้ขอใบอนุญาตปฏิบัติการสอนได้ และเมื่อสอนครบ 1 ปี ก็ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้  จึงมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่ไม่มีวุฒิครูและไม่ได้ ป.บัณฑิต  ครูเหล่านี้จะสมัครสอบครูผู้ช่วยได้หรือไม่ )

                  เรื่องนี้  ครูเหล่านี้สามารถสมัครสอบครูผู้ช่วย ได้ เพราะ
                  คุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย มี 2 ข้อ ( ดูในหนังสือ ก.ค.ศ.ฉบับใหม่ล่าสุดที่เพิ่งแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ พ.ย.55 นี้ ก็ได้ ที https://dl.dropbox.com/u/109014048/MasterTeacher55.pdf ) คือ
                 1) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครู
                 2) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน

                 จะเห็นว่าในข้อ 1. มีคำว่า "หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด" ด้วย โดย ก.ค.ศ.กำหนดไว้มากมายหลายวุฒิ ซึ่งจริง ๆ แล้ว คุณสมบัติข้อ 1. นี้ เป็นคุณสมบัติของพนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาฯ และครู กศน.ตำบล ด้วย ( จังหวัดต้องตรวจสอบตั้งแต่ตอนมาสมัครสอบเป็นครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบลแล้ว ไม่ทราบว่ามีจังหวัดใดไม่ตรวจสอบหรือไม่ )
                ฉะนั้น ครูอาสาฯและครู กศน.ตำบล ทุกคน จึงมีคุณสมบัติตามข้อ 1. อยู่แล้ว

                ถ้าใครไม่แน่ใจว่าวุฒิของตน เป็นไปตามคุณสมบัติข้อ 1. หรือไม่ ให้ไปเช็คในเว็บ ก.ค.ศ. ที่ http://203.146.44.131/qual55/login.php  โดย
                - ทั้งชื่อผู้ใช้ และรหัสผ่าน ให้พิมพ์ว่า guest
                - คลิก ล็อกอิน เข้าไปแล้ว ชี้ที่ "รับรองก่อน 6 ก.ย.54"
                - คลิกที่ "คุณวุฒิ (รับรองก่อน 6 ก.ย.54)"
                - ใส่ชื่อมหาวิทยาลัยในช่อง ค้นหา
                - คลิกที่ปุ่มค้นหา (รูปแว่นขยาย) ก็จะโชว์วุฒิที่ ก.ค.ศ.กำหนด ( อาจมีหลายหน้า ให้คลิกดูทีละหน้า )  ถ้าดูทุกหน้าแล้วไม่มีวุฒิที่หา ให้กลับออกมาแล้วคลิกเข้าไปหาที่ "คุณวุฒิ (รับรองหลัง 6 ก.ย.54)" ด้วย  ถ้าไม่มีอีก แสดงว่าวุฒินั้นสมัครไม่ได้

        4.2  คุยกับ อ.ศิริพรรณ ขรก.ครูชำนาญการพิเศษ กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา เรื่องการเลื่อนไหลเงินเดือนทะลุแท่ง และเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ของผู้ที่เงินเดือนตัน ว่า ไปถึงไหนแล้ว มีผลบังคับใช้หรือยัง 

               4.2.1  เรื่องเงินเดือนเลื่อนไหลทะลุแท่ง  กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555  ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 21 ธ.ค.55 มีผลบังคับใช้แล้ว  มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 โดยมีผลให้
                        1)  ครูผู้ช่วยเมื่อผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มแล้ว ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ คศ.1 ตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยไม่ต้องใช้ตารางเทียบขั้นเงินเดือนเหมือนเดิม
                        2)  กรณีครูผู้ช่วย เมื่อได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วยแล้ว ให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วยได้ โดยให้ไปอาศัยรับเงินเดือนอันดับ คศ.1 ในขั้นหรืออัตราเงินเดือนเท่าเดิม รวมทั้งกรณีผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ ( วุฒิปริญญาตรี 15,000 บาท )  ตัวอย่างเช่น ข้าราชการครูวุฒิปริญญาเอก เมื่อเงินเดือนถึงขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วยแล้ว ซึ่งปัจจุบันได้แก่อัตรา 17,690 บาท เมื่อมีคำสั่งเลื่อนเงินเดือนก็ไปอาศัยเบิกอันดับ คศ.1 อัตรา 17,910 บาท และเลื่อนสูงต่อไปได้
                        3)  ครูที่เงินเดือนถึงขั้นสูงสุดของอันดับ (ตัน) คศ.2  คศ.3 หรือ คศ.4 แล้วแต่กรณี จะได้รับการเลื่อนเงินเดือนต่อไปได้โดยให้ไปอาศัยรับเงินเดือนในอันดับถัดไปได้อีกหนึ่งอันดับ  ตัวอย่างเช่น ข้าราชการครูที่เงินเดือนตันอันดับ คศ.3 ที่อัตรา 53,080 บาทแล้ว เมื่อกฎ ก.ค.ศ.นี้มีผลใช้บังคับจะได้เลื่อนเงินเดือนสูงขึ้นต่อไปได้อีก โดยอาศัยเบิกในอันดับ คศ.4 อัตรา 53,820 บาท และเลื่อนต่อไปได้จนถึงขั้นสูงของอันดับ คศ.4 คืออัตรา 62,760 บาท เป็นต้น
                       ( แต่ วิทยฐานะ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ยังคงเป็นไปตามอันดับเงินเดือนเดิม )

             4.2.2  ผู้ที่เงินเดือนเต็มขั้น คศ.3 สายการสอน ต่อไปสามารถขอเครื่องราชฯ ชั้นสายสะพาย ( ป.ม. ) ได้ ไม่ต้องรอเกษียณ ซึ่ง มติ ก.ค.ศ.อนุมัติแล้ว ขณะนี้ ( ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย.55 ) อยู่ในระหว่างรอเข้า ครม.อนุมัติ
                      ปัจจุบัน ถ้าได้รับเงินเดือนต่ำกว่า คศ.4 จะขอ ป.ม. ได้เฉพาะ ผู้ที่
                     
- ได้รับเงินเดือนเต็มขั้นของ คศ.3 ตั้งแต่ 1 ต.ค. ของปีก่อน
                      - ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย และไม่อยู่ระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย/อาญา
                      - ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา (ผู้อำนวยการ)
                      - ได้ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์
                     และ ให้ขอในปีก่อนเกษียณอายุราชการหรือปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น

                     ถ้า ครม.อนุมัติ   ทั้งผู้บริหาร และสายผู้สอน จะขอ ป.ม. ได้โดยไม่ต้องรอเกษียณ

                     ( ในปี พ.ศ.2555 นี้ ข้าราชการครูสายผู้สอนที่เงินเดือนเต็มขั้น คศ.3 และเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ก็ขอ ป.ม.ได้แล้ว โดยวิธีให้ต้นสังกัดดำเนินการเสนอสำนักอำนวยการ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ   ถ้ากฎหมายผ่าน ครม.มีผลบังคับใช้เมื่อไร จะขอได้โดยทั่วไปเหมือนผู้บริหาร และไม่ต้องรอเกษียณ )


         5. ตอนนี้ ก.ค.ศ.กำหนดให้ใช้ "ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน" สมัครสอบครูผู้ช่วยได้ ( มีผลบังคับใช้แล้ว ดูได้ที่ https://dl.dropbox.com/u/109014048/MasterTeacher55.pdf )

             แต่ข่าวไม่ดี คือ เจ้าหน้าที่คุรุสภาบอกผมเมื่อวันที่ 23 พ.ย.55 ว่า "ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน" นี้ ไม่รวมถึง "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" ที่ขอโดยสถานศึกษา
            ( บุคคลที่จะขอใบอนุญาตปฏิบัติการสอนได้ จะต้องผ่าน 9 มาตรฐานแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ปฏิบัติการสอน 1 ปี เท่านั้นเอง )


        6. วันที่ 23 พ.ย.55 กลุ่มแผนงาน กศน. โทร.มาบอกผมว่า ได้รับข้อมูลจาก กศน.เขต ใน กทม. ว่า นศ.ที่จบไปแล้ว มาสมัครเรียน EP แต่โปรแกรม ITw ไม่ยอมให้ลงทะเบียน ฟ้องว่า รหัสประจำตัวประชาชนซ้ำ

             ผมบอกกลุ่มแผนงานว่า กลุ่มแผนงานต้องบอกคุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw ให้แก้ไขโปรแกรม โดยในช่วงนี้ก็ต้องหาวิธียืนยันการลงทะเบียนไปก่อน

             เรื่องนี้ ผมคุยกับคุณสุขุม  คุณสุขุมบอกว่า จะแก้ไขโปรแกรมในรุ่นต่อไป ส่วนในช่วงนี้ให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดังนี้
            1)  เข้าไปแก้ไขข้อมูลการจบหลักสูตรเดิม ของ นศ.คนนั้น ที่เมนู 1 - 1 - 5 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน - บันทึกประวัตินักศึกษา - แก้ไขข้อมูลการจบ/ออก ) โดยแก้ สาเหตุที่จบ/ออก จาก 1.จบหลักสูตร เป็น 2.ลาออก แล้วกดปุ่ม "บันทึก" ออกมา
            2)  บันทึกประวัติลงทะเบียนการเรียนใหม่แบบ EP นี้
            3)  เมื่อบันทึกประวัติลงทะเบียนการเรียนใหม่แบบ EP ได้เรียบร้อยแล้ว ก็กลับเข้าไปแก้ไขข้อมูลการจบหลักสูตรเดิม จาก 2.ลาออก ให้เป็น 1.จบหลักสูตร เหมือนเดิม


         7. วันที่ 23 พ.ย.55 ผมถามกลุ่มแผนงาน กศน.ว่า แจ้งอัตราค่าตอบแทนครูสอนคนพิการหรือยัง กลุ่มแผนงานบอกว่ายังไม่เสร็จ จะเสร็จภายในเดือนนี้

             ผมบอกว่าบางจังหวัดยังไม่ทำสัญญา ทำให้ขาดหลักฐานไปสมัครเรียน ป.บัณฑิต หลายมหาวิทยาลัยปิดรับสมัครไปแล้ว
             กลุ่มแผนงานบอกว่า ถ้าจ้างคนเก่าต่อเนื่อง ทำสัญญาได้เลย ( 11,680 บาท ) โดยระบุในการทำสัญญาว่า "จะสมบูรณ์และมีผลพูกพันต่อเมื่อ ได้รับเงินประจำงวดจากสำนักงบประมาณ"

 


         8. วันที่ 24 พ.ย.55 คุณ “วันวาน ยังหวานอยู่” เขียนในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  อยากทราบว่ากรอกประเมินคุณธรรมในโปรแกรม IT เราต้องกรอกทุกเทอมที่นักศึกษาลงทะเบียน ใช่หรือไม่ แล้วโปรแกรมสรุปรวม 4 เทอมให้หรือเปล่า เท่าที่ดูโปรแกรมนำภาคเรียนสุดท้านที่จบมาพิมพ์ลง รบ. เท่านั้น

             ผมตอบว่า  โปรแกรมออกแบบตรงตามระเบียบแนวปฏิบัติ คือตามระเบียบแนวปฏิบัติจะมีการประเมินคุณธรรมทุกภาคเรียน เพื่อนำผลการประเมินมาพิจารณาปรับปรุงพัฒนาในภาคเรียนต่อไปให้ดีขึ้น ( ที่ถูกที่ควร คือ ควรกรอกผลการประเมินทุกภาคเรียน เพื่อให้สามารถดูพัฒนาการได้ชัดเจน )
             เมื่อเราปรับปรุงพัฒนาคุณธรรมของเขาไปจนถึงภาคเรียนสุดท้าย เราก็จะดูเฉพาะผลสุดท้ายหลังการปรับปรุงพัฒนา โดยยึดผลการประเมินภาคเรียนสุดท้ายไปลงในใบ รบ. ถึงแม้ว่าภาคเรียนแรก ๆ เขาจะคุณธรรมต่ำแค่ไหนก็ไม่เอามาเฉลี่ยด้วย”


         9. คืนวันเดียวกัน ( 24 พ.ย. ) คุณนาวี ขรก.ครู กศน.ข.ป้อมปราบฯ ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหมดอายุ จะต่อใหม่ต้องดำเนินการอย่างไร

             ผมตอบว่า   ต้องขอต่ออายุ ก่อนวันหมดอายุไม่น้อยกว่า 180 วัน ดูวิธีดำเนินการในคู่มือที่ www.ksp.or.th/ksp2009/th/download/download.php?LinkPath=../../upload/download/uploadfile/115-20090515.pdf&DownloadFile=115-20090515.pdf&DownloadID=115

             ต่อโดยใช้โปรแกรมฯ แล้วอัพโหลดไฟล์ส่งคุรุสภา ก็ได้ ศึกษาวิธีการที่ http://upload.ksp.or.th/ 

 

        10. วันที่ 25 พ.ย.55 คุณณัฐทินี ครูผู้ช่วย กศน.อำเภอเบตง  ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  ปัจจุบันเป็นครูผู้ช่วย 3 จังหวัดชายแดนใต้  บรรจุได้ 14 เดือน อยากจะลาศึกษาต่อต่างประเทศ ในระดับปริญญาโทสาขาบริหารการศึกษา สามารถทำได้หรือไม่ โดยใช้ทุนส่วนตัว จะต้องดำเนินการอย่างไร

             ผมตอบว่า  การลาศึกษาต่อต่างประเทศต้องพ้นจากการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มก่อน
             ศึกษาข้อมูลการลาศึกษาต่อต่างประเทศได้จากเอกสารของ สพฐ.ได้โดยอนุโลม ( เวลาอ่าน ให้เปลี่ยนโรงเรียนเป็น กศน.อำเภอ   เปลี่ยน สพท.เป็น สนง.กศน.จังหวัด   เปลี่ยน สพฐ.เป็น กศน.สป. เป็นต้น ) ที่ 
https://dl.dropbox.com/u/109014048/StudyAbroad.pdf   หรือสอบถามข้อมูลจาก กจ.กศน.

             ( จะมีโควต้าการลาศึกษาต่อโดยใช้เวลาราชการ ของแต่ละจังหวัดอยู่  การลาศึกษาต่อต้องมีโควต้าเหลืออยู่ ถามได้ที่จังหวัด ถ้าโควตาจังหวัดไม่เหลือแต่โควตาทั้งประเทศยังเหลือก็อาจลาไปศึกษาต่อได้ ถ้าส่วนกลาง เห็นความสำคัญมาก )

 

         11.วันที่ 29-30 พ.ย.55 ผมไปเข้าร่วมประชุมชี้แจงเตรียมความพร้อมให้กับสถานศึกษาที่จะเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ปีงบประมาณ 2556  ( สำนักงาน กศน. แต่งตั้งผมเป็นกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบประกันคุณภาพฯ )  ที่ โรงแรมภูเขางามรีสอร์ท จ.นครนายก 
               ( วันที่ 28 พ.ย.55 ผมไปสังเกตการประชุมเตรียมความพร้อมรับการประเมินฯ กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ที่จัดโดย สมศ.  ณ อิมแพค เมืองทองธานี )

 

 

           

หมายเลขบันทึก: 510281เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณที่แบ่งปัน ได้ความรู้เยอะเลยค่ะท่าน

- มาอ่านแล้วดีจัง โดยเฉพาะเรื่องการเลื่อนไหลเงินเดือน คศ.3 เต็มขั้น ชอบจังๆ

- ไปฟังการเตรียมความพร้อมรับการประเมินฯ กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ที่จัดโดย สมศ. ณ อิมแพค เมืองทองธานี ก็ชัดเจนขึ้น (ที่ โรงแรมภูเขางามรีสอร์ท จ.นครนายก ไม่มีโอกาสได้ไปมีอะไรน่าสนใจมาเล่าให้ฟังบ้าง นะ)

โดยเฉพาะตอนบ่าย ผอ.กิตติศักดิ์ พูดถึง ตัวบ่งชี้ที่ 2.1 ผู้เรียนเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและชุมชน อยากให้ พี่เอก อธิบายหน่อย ที่ว่า สมาชิกที่ดีของครอบครัว ใครจะเป็นผู้ประเมินให้ (ในเอกสาร หมายเหตุ กรณีเป็นทั้งลูกและเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองพิจารณาประเด็น 1 - 6) กับประเด็น ชุมชน

เพิ่งรู้ว่าหมายถึง นศ. ที่ไม่ได้อยู่กับครอบครัว (สถานพินิจ, เรือนจำ, สถานบำบัด ฯลฯ) อยากทราบว่า สถานศึกษาที่ผ่านประเมินแล้ว ตัวบ่งชี้ 2.1 ใช้อะไรเป็นหลักฐาน

ตอบ ศน.สุพจน์

อยากให้ทำความเข้าใจก่อน ( บุคลากร กศน.จำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจ ) ว่า ข้อมูลเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการประเมินฯ ของทุกตัวบ่งชี้ แบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

1) ข้อมูลเอกสารหลักฐาน เกี่ยวกับการดำเนินการ สอน/ปลูกฝัง/ส่งเสริม/พัฒนา/ประชุม/อบรม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดลักษณะที่ต้องการ ( ลักษณะตามตัวบ่งชี้ )
เช่น โครงการ/กิจกรรม/แผนการจัดการเรียนรู้/แผนงาน/โครงงาน/กพช.

2) ข้อมูลเอกสารหลักฐาน เกี่ยวกับการ "วัดผลประเมินผล" ว่า หลังจากดำเนินการตามข้อมูลเอกสารหลักฐานในข้อ 1) ไปแล้ว กลุ่มเป้าหมายเกิดลักษณะที่ต้องการ ( ลักษณะตามตัวบ่งชี้ ) หรือไม่ อย่างไร ร้อยละเท่าไร ( กลุ่มเป้าหมาย 100 คน เกิดลักษณะตามตัวบ่งชี้กี่คน )
เช่น แบบประเมิน/แบบติดตาม/แบบบันทึก/แบบสอบถาม/แบบสำรวจรายการ/แบบทดสอบ

ข้อ 1) นั้น สำคัญ เพราะเป็นงานของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคุณภาพ จะเกิดคุณภาพแค่ไหนก็อยู่ที่การดำเนินการในข้อ 1.
ส่วนข้อ 2) แม้จะเป็นเพียงการวัดผลประเมินผล แต่ก็เป็นส่วนที่จะนำไปคำนวณออกมาเป็นคะแนนแต่ละตัวบ่งชี้ และโดยปกติต้องวัดผลประเมินผลจากกลุ่มเป้าหมาย "ทุกคน" จึงเป็นข้อมูลเอกสารหลักฐานที่สิ้นเปลืองกระดาษมาก ( ใช้แบบประเมิน แบบติดตาม ฯลฯ มาก )

ในส่วนของตัวบ่งชี้ที่ 2.1 ผู้เรียนเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและชุมชน ก็เช่นเดียวกัน คือมีข้อมูลเอกสารหลักฐาน 2 ส่วน โดยส่วนของการวัดผลประเมินผล ไม่กำหนดเครื่องมือวัดไว้ตายตัว แต่ละสถานศึกษาสามารถพัฒนาเครื่องมือวัดเองได้ แต่ต้องเป็นเครื่องมือที่ผู้ประเมินเชื่อถือ
มีผู้ออกแบบเครื่องมือวัดตัวบ่งชี้ที่ 2.1 ไว้เป็น "แบบประเมินการปฏิบัติตนของการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว/ชุมชน" โดย "ให้นักศึกษาประเมินตนเอง" ครับ
ไม่ว่านักศึกษาจะมีบุตรหรือไม่ อยู่คนเดียวหรือไม่ อยู่ในเรือนจำหรืออยู่กับญาติ ก็ให้นักศึกษาประเมินตนเอง เพียงแต่ถ้าไม่มีบุตรหรืออยู่คนเดียวให้ตอบเพียงบางข้อ ( เวลาคำนวณ เมื่อตอบจำนวนข้อไม่เท่ากัน ตัวหารก็ต้องไม่เท่ากัน ) เรานำแบบประเมินนี้ไปใช้ก็ได้

ในเอกสารของ สมศ. ที่เขาพิมพ์ว่า "กรณีตนเองเป็นทั้งลูกและพ่อแม่ ผู้ปกครอง พิจาณาประเด็น 1-6 " นั้น ไม่ได้แปลว่าให้ผู้ปกครองประเมินนะครับ ( จะให้ใครประเมิน แล้วแต่สถานศึกษาจะออกแบบ ) แต่หมายถึง "กรณีตนเองเป็นทั้งลูกและ "เป็นทั้งพ่อแม่หรือผู้ปกครอง" ให้พิจารณาประเด็น 1-6"

ถ้าถามว่า ให้นักศึกษาประเมินตนเอง แล้วจะเชื่อถือได้หรือ เรื่องนี้ กรรมการเขาจะดูข้อมูลเอกสารหลักฐานตามข้อ 1) เป็นสำคัญ ถ้าเขาเห็นว่าเราดำเนินการปลูกฝังพัฒนาต่าง ๆ ตามข้อ 1) เข้มข้นดี เขาก็จะเชื่อผลการวัดผลประเมินผลจามข้อ 2) เองครับ

ขอขอบคุณอาจารย์เอกมากๆเลยที่่นำความรู้มาเผยแพร่

ขอบคุณมากครับสำหรับคำอธิบาย ตาม ตัวบ่งชี้ที่ 2.1ผู้เรียนเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและชุมชน ผมจะนำไปเผยแพร่และชี้แจงให้ น้องๆที่ กศน.อำเภอ อีกครั้ง...ขอบคุณมั๊กๆ พี่เอก ผู้น่ารัก แล้วจะถามมาอีกนะ อย่าเพิ่งเบื่อซะก่อน นะครับ

  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • ขอบคุณมากค่ะสำหรับข้อมูลที่มีสาระและเป็นประโยชน์ค่ะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ Ico48 Ico48 Ico48 Ico48 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท