เห็ดตับเต่า...หน้ากุฏิพระ


 เมนูบ้านนา :

เห็ดตับเต่า...หน้ากุฏิพระ




อาหารเย็นวันนี้ คือ "แกงส้มเห็ดตับเต่า" ครับ





          บ่ายวันนี้(7/12/55) หลังจากติดต่อธุระกับลูกค้าในตัวเมืองเชียงใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมก็ตั้งแวะเข้าไปเยี่ยมพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนสนิทที่คุ้นเคยกันมากกว่า 20 ปี ที่วัดอุโมงค์(สวนพุทธธรรม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยท่านเพิ่งจะเดินทางกลับมาจากการปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศเบลเยี่ยมเมื่อเดือนก่อน หลังจากที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศมาเกือบ 10 ปี

          วัดอุโมงค์แห่งนี้ ชาวเชียงใหม่รู้จักกันในนามของ "วัดอุโมงค์เชิงดอย" หรือ "วัดอุโมงค์ หลัง มช." นะครับ  เนื่องจากตั้งอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ ด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีอายุมากกว่า 700 ปี และเป็นวัดที่มีความสงบและร่มรื่นมาก

          แต่เนื่องจากผมไม่ได้โทรไปนัดหมายท่านไว้ก่อน เมื่อผมไปถึงวัดก็เลยไม่ได้พบท่าน เพราะท่านเดินทางนำเอาผ้าห่มกันหนาวและสิ่งของต่างๆ ไปบริจาคให้กับชาวเขาที่อำเภอฮอดพร้อมกับท่านเจ้าอาวาสและพระรูปอื่นๆ ผมเลยเข้าไปเยี่ยมพระอีกรูปหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ของผมแทน

          หลังจากสนทนากับพระลูกศิษย์เป็นเวลาพอสมควรแล้ว  ผมก็กราบลาท่านเพื่อจะกลับบ้าน  แล้วก็เดินเลียบริมสระน้ำไปที่รถยนต์ซึ่งจอดเอาไว้ที่ค่ายคุณธรรม

          ในระหว่างที่ผมเดินเลียบริมสระน้ำของวัดอยู่นั้น ช่วงหนึ่งผมบังเอิญมองเห็น "เห็ดฮ่า" หรือ "เห็ดตับเต่า" ขึ้นอยู่ริมทางเดินหนึ่งดอก เพื่อความแน่ใจ ผมก็เลยเข้าไปดูใกล้ๆ ให้กระจ่างชัด แล้วผมก็พบว่าในบริเวณนั้นมีเห็ดตับเต่าขึ้นอยู่เยอะแยะเลย

          เมื่อมองไปรอบๆ ก็พบว่ามี "ต้นหว้า" หนึ่งต้นอยู่หน้ากุฏิของพระสงฆ์ ซึ่งต้นหว้าหรือต้นฮ่านี้เองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เห็ดฮ่าหรือเห็ดตับเต่าเกิดขึ้น  โดยฝนที่ตกมาอย่างหนักเมื่อหลายวันก่อนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เห็ดตับเต่าเกิดขึ้นมา

          เนื่องจากเห็ดมีปริมาณมาก  ผมก็เลยเดินไปเอาตะกร้ากับมีดมาจากโรงครัวของค่ายคุณธรรม จากนั้นผมก็ลงมืดเก็บเห็ดด้วยความระมัดระวัง พลางคิดอยู่ในใจอย่างอารมณ์ดีว่า  "ลาภปากแท้ๆ เลยตรู วันนี้  555"

          ในขณะที่ผมกำลังเก็บเห็ดอยู่เพลินๆ นั้น  เสียงหนึ่งก็ดังขึ้นมา  "กำลังทำอะไรอยู่เหรอโยม?"

          เมื่อผมหันไปมอง ก็พบพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังมองมาที่ผมด้วยความสนใจ

          "กำลังเก็บเห็ดตับเต่าอยู่ครับผม"  ผมตอบท่านไป

          "เห็ดชนิดนี้ทานได้หรือเปล่าโยม? อาตมาเคยเห็นมันขึ้นบริเวณนี้ทุกปีเลยน่ะ  ปีละหลายครั้งด้วย  แต่ไม่รู้ว่าเห็ดอะไร เห็นดำๆ นึกว่าทานไม่ได้  ก็เลยไม่ได้สนใจ ปล่อยให้มันเน่าเปื่อยไปเองตามธรรมชาติ"

          "เห็ดชนิดนี้ ทางภาคกลางเรียกว่า เห็ดตับเต่า ครับ  ส่วนทางภาคเหนือเรียกว่า เห็ดฮ่า  สามารถทานได้ครับ ทำเมนูอาหารได้หลายอย่างเลยทีเดียว"  ผมบอกท่าน

          "รสชาติอร่อยไหม? "  ท่านถามแบบยิ้มๆ

          "อร่อยมากพอสมควรครับ" 

          "แล้วทำเมนูอะไรได้บ้าง?"

          "ทำแกงส้ม ผัดน้ำมันหอย หรือต้มเค็มก็ได้นะครับ อร่อยเหมือนกันครับ"

ท่านถามผมเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง โดยมีผมเป็นคนคอยตอบคำถามให้ท่านฟังอย่างกระจ่างแจ้ง

          "โยม! สงสัยโยมคงจะมีโอกาสได้เก็บเห็ดตับเต่าบริเวณนี้ครั้งนี้เพียงครั้งเดียวเท่านี้แหละน่ะ" ท่านพูดขึ้นมาอย่างน่าสงสัย

          "อ้าว! ทำไมละครับ ท่าน?" ผมถามด้วยความสงสัย

          "ก็เพราะว่าต่อไปอาตมาจะเป็นคนเก็บเห็ดเองนะซิ  โยมอยู่ไกลถึงสันกำแพงคงมาเก็บเห็ดตรงนี้ไม่ทันอาตมาหรอกน่ะ จะบอกให้   หะ ห่ะ ห้า "   ท่านเฉลยปริศนาอย่างอารมณ์ดี

          "คิ คิ คิ"  ผมพลอยหัวเราะตามท่านไปด้วย


          ตกลงแล้ว  วันนี้ผมเก็บเห็ดตับเต่าที่หน้ากุฏิของพระรูปนั้นได้เกือบเต็มตะกร้านะครับ  โดยผมนำกลับมาทำอาหารกินที่บ้านเพียง 4-5 ดอก  ส่วนที่เหลือผมนำไปมอบให้กับแม่ครัวของค่ายคุณธรรม ซึ่งแม่ครัวจะนำไปทำอาหารถวายให้พระภิกษุสงฆ์และสามเณรได้ฉันต่อไป  ในฐานะที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพและเป็นเมนูแปลกที่หาได้ยากอย่างหนึ่ง

          Happy Ba...จริงๆ เลยครับ  วันนี้    555






หน้ากุฏิพระสีขาวๆ มีต้นหว้าขึ้นอยู่หนึ่งต้น

ส่วนบริเวณที่เห็นโล่งๆ คือ จุดที่เห็ดตับเต่าหรือเห็ดฮ่าขึ้น

มีเห็ดขึ้นอยู่เยอะแยะเลย

ตรงนี้ขึ้นเป็นกลุ่ม

ผมดึงใบไม้ที่คลุมอยู่บนดอกเห็ดแรงไปหน่อย เลยทำให้เห็ดถลอกอย่างที่เห็น

เลือกเก็บเอาเฉพาะดอกที่ยังไม่แก่และยังกินได้นะครับ

เก็บได้เกือบเต็มตะกร้าเลย

น่าทานไหมเอ่ย?


หมายเลขบันทึก: 511297เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2012 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

หารับประทานอยาก ไม่ค่อยมีใหัพบเห็น

สวัสดีครับ คุณหมออนามัย

 

เห็ดชนิดนี้มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยนะครับ

ที่ไหนมี "ต้นหว้า" อยู่ ที่นั่นก็จะมีเห็ดชนิดนี้อยู่ด้วยครับ

เพียงแต่ต้องให้ฝนตก และอากาศชื้นสักหน่อยเท่านั้นเองนะครับ

  • ยังไม่เคยกินเห็ดตับเต่าเลยจ้ะ
  • แถว ๆ บ้านคุณมะเดื่อมีหรือเปล่าก็ไม่รู้

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

 

* ที่ภาคใต้ก็มีเหมือนกันนะครับ เพียงแต่บางทีที่นั่นอาจจะไม่ค่อยนิยมทานกันเท่านั้นเอง

ที่ไหนมี "ต้นหว้า" อยู่ ที่นั่นก็จะมีเห็ดตับเต่าอยู่ด้วยเสมอครับ

** รสชาติอร่อยพอสมควร ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคลนะครับ

-สวัสดีครับ

-เห็ดตับเต่าหรือเห็ดฮ่า

-ชอบกินแกงเห็ดฮ่าครับ

-ที่กำแพงเพชรราคาแพงมาก

-มันจะชอบขึ้นแถว ๆลำห้วยที่ชื้น ๆ น่ะครับ

-ตอนเป็นเด็กชอบเก็บเห็ดถึงตอนนี้ก็ยังชอบแต่ไม่ค่อยมีโอกาสไปซักที ฮ่า ๆ 

-วันหยุดนี้จะไปเที่ยวบ้านพี่สาวที่จังหวัดพิจิตร

-คงจะมีอะไรดีๆ อีกแน่ ๆ ฮ่า ๆ 

-จะเก็บภาพมาฝากนะครับ

-สบายดีวันหยุดนะคร๊าบ!!!!

 

สวัสดีครับ  คุณเพชรน้ำหนึ่ง

 

* ที่ไหนมี "ต้นหว้า" หรือ "ต้นฮ่า" อยู่  ที่นั่นก็มักจะมีเห็ดฮ่าหรือเห็ดตับเต่าอยู่ด้วยเสมอนะครับ แม้แต่ที่หน้ากุฏิพระ    555

** ขอให้แอ่วเมืองพิจิตรอย่างมีความสุขนะครับ   อย่าลืมกลับมาเขียนบันทึกเกี่ยวกับพิจิตรให้อ่านด้วยนะครับ

อยากชิมมากเลยหมดหรือยังค่ะพรุ่งนี้จะได้ชิมไหม ยังไม่เคยชิมเลยค่ะเจ้าเห็ดตับเต่านี้ ธรรมชาติ เยี่ยม พี่ดาว่านะใครมาชมบันทึกนี้ คงแวะไปดูว่าเห็ดขึ้นบ้างหรือเปล่าแน่ๆ ดีมากเลยค่ะ ต่อไปพระได้นำเห็ดไปให้แม่ครัวทำอาหารได้ทุกปี ขึ้นตลอดปีไหม ดอกหนาดี ทำอาหารอร่อยแน่นอน

ตามข้อมูลที่ทราบ  เห็ดตับเต่ามี 2 อย่าง ขาวและดำ

เห้ดตับเต่าดำ   เกิดจากตอไม้ตับเต่า รสเย็นเบื่อ แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ แก้ไข้ตักศิลา

เห็ดตับเต่าขาว  เกิดตามพื้นดิน รสเย็นขื่นๆ บำรุงร่างกาย กระจายโลหิต

                      ปรุงเป็นอาหาร ดับพิษร้อนภายใน

 

วัดอุโมงค์มีพิพิธภัณฑ์ของท่านพุทธทาส ด้วยแต่ห้ามถ่ายภาพ พี่ดาเคยถ่ายโดยไม่เห็นป้ายบอกพอทราบแล้วก็ลบภาพออกหมด เป็นสถานที่ในเมืองที่ไม่ไกล น่าเข้าเที่ยวกราบไหว้พระ มากอีกแห่งหนึ่ง

 

สวัสดีครับ  พี่กานดาน้ำมันมะพร้าว

 

* ตอนนี้หมดแล้วครับ   พี่ดาบอกช้าไป 2 วันนะครับ   555

** เห็ดชนิดนี้ขึ้นไม่เป็นเวลานะครับ  หน้าร้อน หนาว หรือฤดูฝน สามารถขึ้นได้หมดครับ  ขอเพียงให้มีฝนตกลงมาแล้วอากาศชื้นๆ  ร้อนๆ  เห็ดก็จะขึ้นทันทีครับ (ขนาดเดือนธันวาคมเป็นหน้าหนาวแท้ๆ เห็ดยังขึ้นที่หน้ากุฏิพระเลยนะครับ)

*** วัดอุโมงค์(สวนพุทธธรรม) เป็นวัดที่ผมเคยจำพรรษาอยู่ถึง 11 ปีนะครับ  เงียบสงบและร่มรื่นมากๆ  หากใครได้ไปเที่ยว รับรองจะประทับใจอย่างแน่นอนครับ

น้องเพลินเจ้า เห็ดห้า จะออกใต้ต้นมะห้า (ต้นหว้า) น้อ แกงแล้วสีออกเหลืองไข่แดง ลำแต้ๆเจ้า ...กินประจำเพราะตะก่อนหน้าบ้านพักครูมีต้นมะห้าแล้วเห็ดก็ออกมาแกงใส่ใบมะขามหรือใบมะเม้าเน้อ ลำแต้ลำว่า ...

สวัสดีครับ คุณ Tawandin

 

แซบคักขนาดเลยละครับ 555

สวัสดีครับ  พี่ krutoom

 

เห็ดฮ่า เกิดจากเชื้อรา "ไมคอร์ไรซ่า" ที่มีอยู่ใน "ลูกหว้า" นะครับ

ดังนั้น ที่ไหนมีต้นหว้า ที่นั่นก็เลยมี "เห็ดฮ่า" หรือ "เห็ดตับเต่า" อยู่ด้วยครับ

แกงส้มเห็ดฮ่าลำแต้ๆ เลยละครับ

คิดถึงเพลง ...

"เห็ดตับเต่าขึ้นอยู่เถาย่านาง"

ครับ ;)...

เสร็จอาตมาภาพเสียแล้วโยม 555

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ด เก็บเสร็จนำมาแกง ต้ม ปรุงอาหารได้หลากเมนู

ใจไม่แข็งพอต้องกลืนน้ำลายทุกครั้งที่มาอ่านค่ะ

 

อยากกิน

สวัสดีครับ อาจารย์ Wasawat Deemarn

 

*เพลงที่ว่า คือเพลง  "มนต์รักลูกทุ่ง" นะครับ  ซึ่งทำให้มองเห็น "เห็ดตับเต่า" ได้อย่างชัดเจนเลยละครับ

**  เป็นลาภปากทั้งของผมและของพระคุณเจ้าเลยนะครับ  555

สวัสดีครับ  อาจารย์ ภูสุภา

 

*อาศัยการเรียนรู้จากชาวบ้านนะครับ  ก็เลยทำให้พอมีความรู้เกี่ยวกับเห็ดอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เชี่ยวชาญเหมือนชาวบ้านอีกหลายๆ คนเลยนะครับ อาจารย์

** ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมชมและแอบกลืนน้ำลายตามทุกครั้ง  555

ที่ใดมี "ต้นหว้า" จะมี "เห็ดตับเต่า" ...เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมากครับ...และรางวัลผู้ที่ช่างสังเกต..เช่น "พี่เพลิน" ครับ

สวัสดีครับ  คุณหมออดิรเก(ทิมดาบ)

 

ดูเหมือนว่าผมจะได้รับรางวัลพิเศษจากคุณหมอหลายสาขาแล้วนะครับเนี่ย

ยกเว้นเพียงรางวัลสุดคนึงเท่านั้นเอง   555

อยากบอกว่า ชีวิตของน้อง อักขณิช เป็นชีวิตที่มีความฟาร์มสุขที่สุดในโลกเลยค่ะ มีครอบครัวที่น่ารัก ลูกน่ารัก แถมมีอาหารพื้นถิ่นให้เก็บกิน มีสายลมบริสุทธิ์ให้หายใจค่ะ ขอบคุณที่แชร์ความสุขมาให้ค่ะ ขอให้น้องและครอบครัว .. สุขยิ่งๆ ขึ้นไปนะจ๊ะ

สวัสดีครับ คุณ Bright Lily

 

*ความสุขมีอยู่ในทุกหนทุกแห่งนะครับ  หากเรารู้จักมองหา ก็จะมองเห็นเองครับ

** ขอบคุณมากๆ ครับ  ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจผมกับครอบครัว

แสดงว่าผมจะมีโอกาสได้กินแล้วครับ เพราะผมปลูกต้นหว้าไว้ในบ้านต้นหนึ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท