The Great Father : พ่อผู้ยิ่งใหญ่


เรื่องเล่าสุดยอดผู้ดูแล จากรพ.ลำพูน ส่งมาที่สรพ. เพื่อเรียนรู้การดูแลด้วยหัวใจของพ่อ.....นำมาสร้างการเรียนรู้ในโอกาสเดือนแห่งวันพ่อค่ะ เป็นเรื่องจริง...ที่ยาว แต่ขอเตือนว่า...สายน้ำที่ไหลจากตานั้น ยาวไม่น้อยกว่าหากท่านได้อ่านเรื่องนี้จนจบค่ะ ..ขอบพระคุณ คุณศรีสมร การ่อน  เวชกรรมสังคม รพ.ลำพูน  เจ้าของเรื่อง ค่ะ

คุณตาเสาร์คำ ชายชราผู้ที่อุทิศช่วงบั้นปลายของชีวิตตลอดเวลา ๒๑ กว่าปีที่ผ่านมา ในการดูแลบุตรผู้พิการและภรรยาผู้เจ็บป่วย ด้วยสองมือหนึ่งแรงกายและพลังใจที่เปี่ยมล้นด้วยความรักและความผูกพัน

ภาพของชายชรา ร่างกายสูงผอม ผิวหนังค่อนข้างบางและเหี่ยวย่น
คอยกุลีกุจอทั้งหยิบ จับ ยก ดึง และช่วยเหลือลูกชายวัยกลางคนที่ป่วยจนพิการ
ให้ลุกนั่ง เปลี่ยนอิริยาบถหรือทำกิจกรรมต่างๆ อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เป็นที่ประทับใจผู้พบเห็นและทีมเยี่ยมบ้านอย่างพวกเรามากมายเกินคำบรรยาย
แม้สายตาคุณตาจะดูเศร้าสร้อย แต่ก็ยังสังเกตเห็นรอยยิ้มจากคุณตาเวลาพูดเสมอ

คุณตาเสาร์คำ อาศัยอยู่ด้วยกันกับบุตรชายวัยกลางคนซึ่งป่วยและพิการเพียง ๒ คน
ในบ้านหลังเล็กกระทัดรัด บ้านของคุณตาปลูกอยู่หลังบ้านของบุตรชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งสร้างครอบครัวอยู่ในรั้วเดียวกัน หากย้อนเวลาไปเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ชาวบ้านตำบลป่าสักไม่มีใครที่ไม่รู้จักผู้ใหญ่บ้านแม่สารบ้านหลุกนามเสาร์คำ
ผู้มีจิตใจอ่อนโยน โอบอ้อมอารี มีความขยันหมั่นเพียร บุกบั่นสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่นด้วยหยาดเหงื่อและแรงงานตนเองแม้จะเรียนหนังสือจบแค่ชั้นประถมปีที่ ๔ แต่ในฐานะผู้นำหมู่บ้าน ท่านได้ทุ่มเวลาในการพัฒนาบ้านเกิดเป็นผู้นำในการสร้างสะพาน ถนนหนทาง อ่างเก็บน้ำ สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด
สถานีอนามัย จนทำให้ลูกบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ท่านสร้างครอบครัวกับคุณแม่กัณหา นำปูนสัก มีบุตรชาย ๓ คน ท่านและภรรยาส่งลูกทุกคนเรียนหนังสือจนมีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดี บุตรคนโตรับราชการเป็นครู บุตรคนที่สองเป็นตำรวจ
และบุตรคนสุดท้องทำธุรกิจเปิดอู่ซ่อมรถ ทั้งฐานะชีวิตความเป็นอยู่และครอบครัวจึงมีความสุข
สมบูรณ์ทุกอย่าง ท่านได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชนให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อเนื่องมาเป็นเวลา
๑๒ ปี และแล้วในปี ๒๕๒๕ ขณะที่ท่านอายุได้ ๔๘ ปี ก็ได้ล้มป่วยลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
ท่านจึงต้องลาออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้านเพื่อเข้ารับการรักษาตัว สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่ลูกบ้านเป็นอย่างมาก ภรรยา บุตรและญาติพี่น้อง จึงพาท่านไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลต่างๆ หลายแห่ง แต่อาการไม่ดีขึ้นเมื่อชีวิตเกือบสิ้นหวังขณะนั้นมีแพทย์ทางตะวันตกท่านหนึ่งเข้ามาศึกษาวิจัยโรคมะเร็งร่วมกับทีมแพทย์ของไทยที่กรุงเทพฯ

และได้เดินทางขึ้นไปที่เชียงใหม่ และพบกับผู้ป่วยชื่อเสาร์คำ ซึ่งกำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
แพทย์ท่านนี้ได้ให้การวินิจฉัยว่าท่านเป็นโรคมะเร็งที่ม้ามและต่อมทอนซิล การรักษาต้องใช้เงินจำนวนมาก ครอบครัวจึงตกลงใจแบ่งที่นาขาย เพื่อรักษาชีวิตบิดาไว้ คุณตาเสาร์คำได้รับการรักษาซึ่งเป็นแบบผสมผสานจากแพทย์หลายโรงพยาบาลร่วมกัน เวลา ๓ ปีอันยาวนานผ่านไป อาการท่านค่อยๆดีขึ้นและหายจากโรคร้าย กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับครอบครัวท่ามกลางกำลังใจและการดูแลของทุกๆคน

๕ ปี ต่อมา ครอบครัวต้องเผชิญกับข่าวร้ายอีกครั้ง เมื่อบุตรชายคนที่สอง ขณะที่อายุได้ ๒๖ ปี ประสบอุบัติเหตุตกเสาไฟฟ้าขณะปฏิบัติงานในหน้าที่สร้างค่ายรามคำแหงมหาราช ที่ จ.สุโขทัย ทางการได้ส่งตัวบุตรชายคุณตาเสาร์คำเข้ารับการรักษาที่รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก ได้รับบาดเจ็บสาหัสไม่รู้สึกตัว กระดูกต้นคอที่ ๓–๗
หักแตกละเอียด ทำให้ร่างกายตั้งแต่ระดับคอลงมาไม่มีความรู้สึก
เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ คุณตาเสาร์คำและทุกคนในครอบครัว ทั้งตกใจและเสียใจเป็นที่สุด
ท่านและบุตรชายคนโตได้เดินทางไปดูแลอาการ ส.ต.ท.สุระศักดิ์ ขณะรับการรักษาตัวอยู่ที่
จ.พิษณุโลก หลังพ้นวิกฤตจึงพา บุตรชายที่ป่วยมารับการรักษาและฟื้นฟูอาการต่อที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่
ใช้เวลารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่า ๖ เดือนกว่า โดยมีคุณตาเสาร์คำ ดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา จนแพทย์เห็นว่าอาการคงที่ และไม่มีโอกาสที่จะรักษาจนหายเป็นปกติได้ จึงอนุญาตให้กลับมาอยู่ที่บ้าน  ตอนนั้น ส.ต.ท.สุระศักดิ์ กันทะศักดิ์ แม้จะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ แต่ร่างกายตั้งแต่คอลงมาไม่มีความรู้สึกใดๆ
ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ให้อาหารทางสายยาง ใส่สายปัสสาวะ คาไว้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย
มีผู้ดูแลหลัก ก็คือ คุณตาเสาร์คำ 

คุณตาให้การดูแลบุตรชายเป็นอย่างดี
และไม่เคยหมดหวังที่จะช่วยบุตรชายคนที่สองที่ป่วยให้หายเป็นปกติ ท่านตัดสินใจแบ่งนาที่เหลือขายเพื่อใช้จ่ายในการรักษาลูก  เมื่อทราบข่าวเกี่ยวกับการรักษาโรคทั้งแผนโบราณหรือแผนปัจจุบัน
ไม่ว่าจะไกลแค่ไหนและมีค่าใช้จ่ายมากเพียงใด คุณตาเสาร์คำก็ไม่เคยย่อท้อที่จะพาบุตรชายไปรับการรักษาให้ได้ 

หลังตระเวนรับการรักษาครั้งแล้วครั้งเล่า พบว่า ส.ต.ท.สุระศักดิ์ ไม่มีอาการดีขึ้น
คุณตาเสาร์คำก็ไม่ย่อท้อต่อชะตาชีวิต ส่วนบุตรอีก ๒ คน ต้องออกไปทำงานเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือครอบครัว
ท่านจึงมีภรรยาคือคุณยายกัณหาเป็นผู้ช่วยเหลือและคอยเป็นกำลังใจ  คุณตาเสาร์คำต้องลดบทบาททางสังคมลง
และหันมาเรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วย และเมื่อมีปัญหา

ก็จะปรึกษาหมออนามัยใกล้บ้าน ท่านให้การดูแลบุตรชายทุกอย่างตั้งแต่การทำความสะอาดร่างกาย
การให้อาหารทางสายยาง ดูแลการขับถ่าย การช่วยพลิกตัว
การให้ยา การบริหารร่างกาย ตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด  โดยมีเจ้าหน้าที่อนามัยและพยาบาลจากเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลลำพูนคอยให้คำแนะนำ ส.ต.ท.สุระศักดิ์ ไปรับการรักษาตัวตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ  บางครั้งอาการป่วยมีภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากการนอนนาน จนแพทย์ต้องสั่งให้นอนโรงพยาบาล คุณตาก็ไม่เคยห่างบุตรชาย ท่านจะนอนเฝ้าบุตรชายที่ป่วย คอยให้กำลังใจ อยู่ข้างๆตลอดเวลา  ส.ต.ท. สุระศักดิ์  จึงได้รับการดูแลจากคุณตาเสาร์คำและครอบครัวเป็นอย่างดี
ด้วยภาวะการเจ็บป่วยที่เรื้อรังและยาวนาน ทำให้บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมีความหงุดหงิด แสดงอารมณ์โกรธ
โมโหและก้าวร้าวต่อผู้ใกล้ชิด แต่สิ่งเหล่านั้นไม่เคยทำให้คุณตาเสาร์คำ
รู้สึกโกรธหรือย่อท้อ ท่านยังคงปรนนิบัตร ดูแลบุตรชาย ด้วยความรักความเข้าใจตลอดเวลา
ท่านทุ่มเทเวลาทั้งหมดในแต่ละวันเพื่อการดูแลบุตรชาย โดยมีสมาชิกในครอบครัวคอยเป็นกำลังใจและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จนอาการบุตรชายดีขึ้นตามลำดับและในช่วงนั้นบุตรชายอีกสองคนที่เหลือได้แยกตัวออกไปสร้างครอบครัว บุตรคนโตย้ายไปอยู่ที่ จ.เชียงใหม่  ส่วนคนสุดท้องสร้างบ้านอยู่ในบริเวณรั้วเดียวกัน
เพื่อได้ช่วยเหลือบิดามารดาได้ บ้านหลังนั้นจึงเหลือแค่ ๓ คน คือ คุณตาเสาร์คำ คุณยายกัณหาและ ส.ต.ท.สุระศักดิ์ผู้ป่วย  จากภาวะเลวร้ายที่ครอบครัวเผชิญตลอดเวลา ทำให้เกิดความเครียด

ในปี ๒๕๓๘ (๓ ปี ต่อมา) เคราะห์ที่ ๓ ได้กระหน่ำซ้ำเติม เมื่อคุณยายกัณหา ได้ล้มป่วยอย่างกระทันหัน ด้วยภาวะหลอดเลือดสมองแตก ต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดสมองที่ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ วันเวลาที่แสนยากลำบากได้เวียนมาอีกครั้ง คุณตาเสาร์คำจึงต้องเดินทางไปมาระหว่างลำพูน เชียงใหม่
เพื่อเป็นกำลังใจให้ภรรยาและดูแลบุตรคนที่ป่วยที่บ้าน โดยมีบุตรชายอีก ๒
คนและครอบครัว ช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยความรักและผูกพันกัน จนกระทั่งแพทย์อนุญาตให้คุณยายกัณหากลับบ้านได้
ผลจากการเจ็บป่วยทำให้คุณยายไม่สามารถขยับร่างกายใดๆได้เลย หลังพาคุณยายกลับมาบ้าน
ในขณะนั้นคุณตาเสาร์คำในวัยชราอายุเลย ๖๐ ปี ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ๒ คน
พร้อมกัน และที่สำคัญคือเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ยังโชคดีที่คุณตา
มีครอบครัวบุตรชายคนเล็กที่อยู่ใกล้ๆคอยแบ่งเบาภาระการดูแล
และลูกชายคนโตช่วยเหลือเกื้อกูลเรื่องค่าใช้จ่าย คุณตาจึงใช้ชีวิตทุกนาทีในแต่ละวันในการดูแลทั้งบุตรและภรรยาที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างใกล้ชิด
ทุกๆวันท่านจะตื่นแต่เช้า หุงหาอาหาร ป้อนข้าว ป้อนน้ำ ให้ยา ทำความสะอาดร่างกาย ดูแลการขับถ่าย ซักผ้าและทำความสะอาดบ้านเท่าที่ชายชราวัยล่วง ๖๐ ปีจะทำได้ โดยไม่มีความหงุดหงิดหรือท้อแท้ 
ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้าน ทุกคนจึงสามารถสัมผัสถึงความรักความผูกพันที่ท่านมีต่อบุตรและภรรยาได้
หลังต่อสู้กับการเจ็บป่วยที่แสนสาหัส ปี ๒๕๔๐ คุณยายกัณหาผู้เป็นภรรยาก็จากไปอย่างสงบ
เป็นเวลา ๖ ปีเต็มๆ ที่คุณตาเสาร์คำได้ทำหน้าที่ ผู้ดูแลผู้ป่วยและในช่วง ๓ ปีหลังนี้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย
๒ คนพร้อมๆ กัน

การเสียชีวิตของคุณยายกัณหา นำพาความเศร้าโศกมายังครอบครัวและคุณตาเสาร์คำเป็นอย่างยิ่ง
ตอนนั้นที่บ้านเหลือแค่ ๒ คน คือ พ่อในวัยชราและลูกชายวัยกลางคนที่ป่วยและพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
คุณตาเสาร์คำพยายามสลัดความเศร้าออกไป ลุกขึ้นใหม่อีกครั้งและตั้งปฏิธานที่จะดูแลลูกชายของท่านต่อไปอย่างดีที่สุด โดยหวังว่าลูกชายจะหายและกลับมาดูแลตนเองได้ในวันที่ท่านชรามากจนไม่มีแรงที่จะดูแลต่อไป  ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้จะทำให้เป็นพลังให้บุตรชายที่ป่วยมีกำลังใจ ไปรับการรักษาตามนัดทุกครั้ง บางครั้งก็มารับการักษาที่โรงพยาบาลลำพูน การนอนป่วยนานๆ ทำให้เกิดแผลกดทับ ทีมเยี่ยมบ้านของโรงพยาบาลลำพูนร่วม กับ รพ.สต.เครือข่าย ได้ได้ติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อช่วยทำแผล และสอนคุณตาทำแผลและการช่วยพลิกตัวอย่างสม่ำเสมอ
รวมทั้งการบริหารอวัยวะอย่างถูกวิธี คุณตารับฟังและปฏิบัติได้ดีอย่างคล่องแคล่ว อีกทั้งผู้ป่วยก็มีกำลังใจและมีแรงในการขยับ เคลื่อนไหวดีขึ้น อาการของ ส.ต.ท.สุระศักดิ์ดีขึ้นตามลำดับ

ทีมเยี่ยมบ้านและคุณตานั่งคุยกันถึง การสร้างอุปกรณ์ช่วยดึงให้ ส.ต.ท.สุระศักดิ์ได้กำลังกายแขน
คุณตาเสาร์คำฟังอย่างตั้งใจ ต่อมาท่านและบุตรชายคนเล็กซึ่งเป็นน้องคนป่วยได้ช่วยกันคิดและประดิษฐ์โครงไม้
และปรับปรุงมาเรื่อยๆ จนได้อุปกรณ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับช่วยออกกำลังแขน คือ
ห่วงโซ่โหนตัว 
การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
ฝึกปฏิบัติวันแล้ววันเล่า ประกอบกับกำลังใจจากผู้คนรอบข้าง ทำให้ในที่สุด ส.ต.ท.สุระศักดิ์สามารถโหนตัวลุกขึ้นในท่านั่งได้ เริ่มฝึกหัดหยิบจับของ และต่อมาก็สามารถรับประทานอาหารเอง สร้างความปลาบปลื้มให้กับบิดาวัยชราเป็นอย่างยิ่ง การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มามีส่วนร่วมในการดูแล
มากยิ่งขึ้น เนื่องจากคุณความดีที่คุณตาได้สร้างไว้ในวัยหนุ่ม ทุกหน่วยงานยินดีหยิบยื่นความช่วยเหลือ หลังได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้พิการ ก็ได้รับการสนับสนุนล้อเข็นนั่งสำหรับใช้ในการเคลื่อนย้าย
จนถึงวันที่ ส.ต.ท.สุระศักดิ์สามารถลุกขึ้นนั่งด้วยความช่วยเหลือของคุณตาเสาร์คำได้สำเร็จ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อบต.ป่าสัก) และศูนย์พัฒนาสังคมลำพูน ยื่นมือเข้ามาให้การช่วยเหลือช่วยปรับปรุงซ่อมแซมบ้านทำห้องนอนให้มิดชิด
เนื่องจากเสียงรบกวนจากร้านค้าคาราโอเกะข้างบ้านสร้างทางลาด ปรับพื้นบ้านให้เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายล้อเข็นภายในบ้าน จนกระทั่งคุณตาสามารถพาบุตรชายไปอาบน้ำ ทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ ได้สะดวกและเหมาะสมกับกำลังของสังขารที่ล่วงเลยการทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำซึ่งมักใช้เวลานานกว่าคนปกติ
ทำให้คุณตาเกิดความคิดในการประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยยึดและพยุง เพื่อป้องกันการล้ม
ท่านจึงปรึกษากับบุตรชายคนเล็กที่เป็นน้องชายของผู้ป่วย ช่วยกันสร้างวงเหล็กกันล้ม
นับเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ยิ่งสำหรับผู้ป่วย คุณตาใช้เงินที่เหลืออยู่ในการปรับห้องนอนของบุตรชายให้มีความสะดวกสบาย ท่านพยายามคิดประดิษฐ์อุปกรณ์เล็กๆน้อยๆ ที่จะช่วยสร้างความสะดวกสบายแก่บุตรชาย เพื่อให้บุตรอันเป็นที่รักได้มีความสุขให้มากที่สุด
ท่านมีความหวังเสมอว่าบุตรจะสามารถเดินได้ จึงพยายามคิดและประดิษฐ์เครื่องช่วยพยุงกายซึ่งดัดแปลงมาจากล้อเข็นของเพื่อให้บุตรชายสามารถลุกขึ้นยืนในบางครั้ง แม้ ส.ต.ท.สุระศักดิ์จะไม่สามารถเดินได้
ตามที่คุณตาหวังแต่ท่านก็บอกอย่างภูมิใจว่าช่วยออกกำลังขาให้เลือดไหลไปเลี้ยงขาดีขึ้น
คุณตาจึงมีพอใจกับสิ่งประดิษฐ์ที่ได้ทำให้บุตรชาย

วันเวลาผ่านไปจากวันเป็นเดือนเป็นปี
ปีแล้วปีเล่า ส.ต.ท.สุระศักดิ์ ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เมื่ออาการทั่วไปปกติ
มีสุขภาพกายคงที่ สุขภาพจิตดี ารเยี่ยมบ้านของเราเริ่มห่างออกไป
เพื่อจะได้ดูแลผู้ป่วยอื่นๆ อีกมากมายในชุมชน จนกระทั่งปีที่ผ่านมา ๒๕๕๔
ก็เกิดสิ่งไม่คาดฝันขึ้นกับ เมื่ออยู่ๆ ส.ต.ท.สุระศักดิ์ มีอาการชักเกร็งและไม่รู้สึกตัวคุณตาและญาติพี่น้องจึงรีบพาส่งโรงพยาบาลลำพูน ผลการวินิจฉัยพบว่ามีภาวะหลอดเลือดสมองแตก การเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งและครั้งนี้ทุกอย่างมีความยากมากกว่าเดิม เพราะสภาพร่างกายที่ป่วยเรื้อรังมานาน
ประกอบกับอายุที่สูงขึ้นของผู้ป่วยครอบครัวและญาติพี่น้องจึงขอเลือกรับการรักษาแบบประคับประคอง
ทำให้การรักษาต้องใช้เวลานานต่างจากเดิม แต่สิ่งที่ไม่ต่างคือข้างกายของผู้ป่วยชื่อ สุระศักดิ์ กันทะศักดิ์ มีคุณตาเสาร์คำ บิดาในวัยชราย่างใกล้ ๘๐ ปี นั่งเป็นกำลังใจเฝ้ามองและสัมผัสบุตรชายด้วยความรักและห่วงใย คอยดูแลเป็นกำลังใจตลอดเวลา ทีมแพทย์พยาบาลได้ให้การรักษาอย่างสุดความสามารถ จนอาการฟื้นพ้นภาวะวิกฤตและมีอาการคงที่ หลังใช้เวลานานหลายเดือนในโรงพยาบาลลำพูน แพทย์ก็อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้

กระบวนการดูแลพักฟื้นที่บ้านหลังออกจากโรงพยาบาลของ caregiver วัยชรา จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง คุณตาเสาร์คำแม้จะอายุมากแล้ว และผ่านวิกฤตมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังยืนหยัดเข้มแข็งเหมือนเดิม ท่านเริ่มลงมือดูแลปรนนิบัตรบุตรชายด้วยความรักและความผูกพันเหมือนเดิม  แม้จะได้รับการบอกเล่าจากแพทย์ว่า บุตรชายอาจอยู่ได้อีกไม่นานและอาจมีภาวะแทรกซ้อนหรือมีอาการชักตามมาได้ แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อหรือหมดกำลังใจ ใช้เวลาทุกนาทีใน ๒๔ ชั่วโมงของแต่ละวัน ดูแลบุตรชายด้วยความรักและเมตตา  ท่ามกลางกำลังใจและการสนับสนุนผลัดเปลี่ยนของบุตรหลานญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน รวมทั้งทีมสุขภาพของโรงพยาบาลลำพูน ที่กลับมาเยี่ยมบ้านอย่างสม่ำเสมออีกครั้ง
ทำให้อาการของ ส.ต.ท.สุระศักดิ์ ดีขึ้นตามลำดับ จนกลับมาใช้ชีวิตเหมือนก่อนการผ่าตัดสมองอีกครั้ง แม้จะมีอาการชักเกร็งต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นบางครั้ง  จนกระทั่งต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส.ต.ท.สุระศักดิ์ก็มีอาการชักเกร็งและไม่รู้สึกตัวซึ่งเกิดจากจากพยาธิสภาพของโรคที่ป่วยเรื้อรังมานานลุงล่วงเลย ๒๐ ปี คุณตาเสาร์คำและญาติพี่น้องจึงพาเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลลำพูนอีกครั้ง และท่านก็ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือบุตรชายตลอดเวลา การป่วยครั้งนี้ดูเหมือนคุณตาจะรับทราบว่าอาจเป็นวาระสุดท้ายของชีวิตบุตรชาย คุณตานอนเฝ้าดูอาการของบุตรชายอย่างใกล้ชิด แม้ลูกหลานจะขอร้องให้ท่านหยุดพักบ้าง แต่ท่านก็ยินดีที่จะอยู่ดูบุตรชายด้วยความเต็มใจ ระหว่างการนอนพักเฝ้าดูแลบุตรที่โรงพยาบาล ท่านก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากทีมงานโรงพยาบาลลำพูนเป็นอย่างดี ทุกคนรู้สึกซึ้งกับความรักความผูกพันที่ท่านมีต่อบุตรชาย ในขณะเดียวกันทางทีมงานโรงพยาบาลลำพูนก็ได้เตรียมความพร้อมของคุณตา ที่อาจต้องเผชิญความสูญเสียที่อาจเกิดจากการพลัดพรากจากบุตรอันเป็นที่รักในวาระสุดท้าย  คุณตาใช้เวลาว่างในขณะอยู่ที่โรงพยาบาลในการอ่านหนังสือธรรมะ และใช้เวลาในการพูดคุยและจับต้องสัมผัสบุตรชาย แม้บางครั้งเหมือนเป็นการพูดคนเดียวแต่ท่านมีความมั่นใจว่าบุตรชายจะรับรู้ถึงกำลังใจและความรักที่ท่านได้มอบให้ จนกระทั่งวันที่ สุระศักดิ์
ก็จากไปอย่างสงบ ท่ามกลางความอาลัยรักของ ญาติ พี่น้อง
และคุณตาเสาร์คำ รวมเวลาที่คุณตานอนเฝ้าดูแลบุตรชายที่โรงพยาบาล ๑ เดือน ๖ วัน


ทีมเยี่ยมบ้านกลับไปเยี่ยมคุณตาอีกครั้งด้วยความห่วงใย
เมื่อนั่งพูดคุยกับคุณตา จึงทราบว่าในท่าทางที่สุภาพ อ่อนโยน คุณตาเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็ง มีความอดทนและเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ดีเสมอ ท่านสามารถยอมรับกับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับบุตรชาย ท่านบอกทีมงานอย่างภูมิใจว่า ชีวิตนี้ที่เกิดมาท่านเป็นผู้ที่โชคดีที่สุด ที่ได้มีโอกาสกระทำสิ่งดีดีให้กับบ้านเกิด ได้ดูแลครอบครัวอย่างเต็มที่
และที่สำคัญที่สุด คือ ได้มีโอกาสและใช้โอกาสที่ได้รับในการกระทำสิ่งดีที่สุดให้กับบุคคลอันเป็นที่รักเป็นเวลานานถึง ๒๑ ปี ๑๐ เดือนและ ๑๓ วัน ทีมเยี่ยมบ้านโรงพยาบาลลำพูน จึงสดุดีความดีงามอันทรงคุณค่านี้แด่
..คุณตาเสาร์คำ  ...
The Great Father

คำสำคัญ (Tags): #caregiver#พ่อ
หมายเลขบันทึก: 511544เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2012 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

พ่อผู้ยิ่งใหญ่ พ่อทำเพื่อลูกได้ทุกอย่างคะน้องพอลล่า

น้องพอลล่าคะ ชอบเรื่องนี้มากเลยค่ะ แต่ขออนุญาตบอกว่าไม่ชอบเจ้าฟองน้ำพ่นๆนี่เลย มันรบกวนการอ่านมากเลยค่ะ พี่โอ๋ว่าจะทำลิงค์ให้คนคณะแพทย์ม.สงขลานครินทร์มาอ่าน กลัวว่าเขาจะไม่ยอมอ่านให้จบเพราะเจ้าฟองน้ำนี่แหละค่ะ ต้องขอโทษจริงๆที่ขอละเมิดสิทธิความชอบส่วนบุคคลสักนิดนะคะ ถ้าไม่มีน่าจะอ่านแล้วได้อารมณ์ร่วมมากกว่านี้แน่ๆค่ะ ขอบคุณนะคะ 

เห็นด้วยมาก ๆคะ รบกวนการอ่านมากคะ ตาลาย กว่าจะอ่านจบ

ตั้งใจอ่านและอ่านแบบอยากรู้ค่ะ สงสารและเข้าใจความรักของพ่อที่มีต่อลูกและคนที่ตนเองรักค่ะ ขอบคุณที่นำมาบันทึกไว้ค่ะ น้องคำหล้า

The Great Father คุณตาเสร์คำ ขอร่วมสดุดีความรักของพ่อด้วยค่ะ

เราล้วนยังต้องเรียนรู้บทเรียนชีวิต
และความเป็นโลกใบนี้
ผ่านมุมมองของ ผู้คน
โดยเฉพาะคนที่ผ่านร้อน ผ่านหนาว...มาก่อนเรา

...

ขอบคุณครับ

บางความรู้สึก มันยากเกินกว่าที่พยาบาล หัวใจ ที่ไม่ได้เสริมใยเหล็กรับได้

มีเรื่องราว มากมายในพื้นที่ ที่เต็มไปด้วยความจริงที่เจ็บปวด

และ คนในพื้นที่ สีแดง อย่างเรา คงไม่ต้อง ไปหาความเจ็บปวด ณ ที่แห่งใด

เพราะที่แห่งนี้ มัน มีเรื่องราวแห่งความเจ็บปวด ของหลายชีวิต ให้เรียนรู้ และเจ็บปวด มากมาย

ขอโทษ นะคะ คอมของพอลล่า ไม่มีฟองน้ำแล้วค่ะ เอาออกไปแล้ว ค่ะ เลยไม่ทราบว่าจะแก้ตรงไหน อ่ะค่า ..ขออภัยทุกท่านนะคะ

ต้องขอยอมรับเลยว่าคุณตาทั้งเก่ง ใจดีมากๆ  ที่อดทนทำ ทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว เพื่อลูกได้ยาวนานขนาดนี้ รักคุณตามากเลย...

นับถือคุณตามากเลย เลี้ยงดูแลลูกได้ยาวนานมาขนาดนี้ ยังแข็งแรงอยู่เลย


น้องพอลล่าคะ หายไปแล้วค่ะเจ้าฟองน้ำ พี่โอ๋ขอทำลิงค์จากเว็บบอร์ดคณะแพทย์ม.สงขลานครินทร์ให้คนดูแลสุขภาพได้มาอ่านบันทึกดีๆนี้นะคะ ขอบคุณมากค่ะ


เป็นเรื่องที่ดีมากครับ เห็นถึงจิตใจอันดีงาม และเข็มแข็งของผู้เป็นพ่อ เหนือสิ่งอื่นใดไม่สามารถบรรยายความรู้สิ่งดี ๆ ได้หมดครับ..


สวัสดีปีใหม่ ครับ คุณพอลล่า

  • สวัสดีปีใหม่ 2556 ครับ...ขอให้คุณพอลล่า มีความสุข ความสมหวังตลอดปีและตลอดไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท