::การจัดการความรู้ในสถานศึกษา 122::


      การรับรู้เรื่องอาเซียนของคนไทย

      จากคอลัมน์ รู้จักอาเซียน โดย คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

 

      กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียนณ กรุงจาการ์ตา รายงานผล "การสำรวจความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน" (Survey on ASEAN Community Building Efforts) ซึ่งจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ Ipsos Business Consulting การสำรวจครั้งนี้เป็นการวิจัยในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยผลการสำรวจความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนแสดงว่า ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมีความเข้าใจพื้นฐาน และมีความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับอาเซียน โดยคาดหวังว่าเออีซีจะมีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีผ่าน การรับรู้จากสื่อต่าง ๆ  ส่วน ผลสำรวจของภาคธุรกิจกลุ่มประเทศ CLMV กลับชี้ว่า มีความรู้สึกในเชิงลบ โดยมองว่าประเทศที่พัฒนามากกว่าจะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากประเทศที่พัฒนา น้อยกว่าในการรวมตัวของเออีซี

   ด้านผลสำรวจของบุคคลทั่วไปนั้นเห็นว่า ประโยชน์สูงสุดจากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน คือ "สันติภาพและความมั่นคง" รองลงมาคือ การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเปิดภาคบริการอย่างเสรี ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการทำงานในอาเซียน ขณะเดียวกันจะส่งผลให้อัตราค่าแรงของแรงงานต่างด้าวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อแรงงานท้องถิ่น อันอาจจะเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา ส่วนภาคประชาสังคมมองว่า ภายหลังจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ภาคการท่องเที่ยวจะเติบโตมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา แต่ก็จะยกระดับเศรษฐกิจในภาพรวมได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

     ทั้งนี้คนที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษาจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มของอาเซียนมากที่สุด

     นอกจากนี้ยังมีการสำรวจเรื่อง"ความเข้าใจอันดีต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" พบว่าคนไทย 25% มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งอยู่ในอันดับ 5 โดยที่อันดับ 1 คือ มาเลเซีย อยู่ที่ 56%

    ผลการสำรวจพบว่าไทยรั้งท้ายในเรื่อง "ความเข้าใจในแนวโน้มการสูญเสียอุตสาหกรรมหลัก" (potential loss of core industry) และนอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การรับรู้ข้อมูลผ่านสื่อโทรทัศน์ของไทยนั้นสูงถึง 100% แต่กลับรับรู้ข้อมูลผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตต่ำที่สุดในภูมิภาค

    อย่างไรก็ตาม รายงานการวิจัยของ Ipsos นี้ถูกตั้งคำถามจากประเทศสมาชิกในหลายประเด็น คณะผู้แทนถาวรไทยฯเห็นว่า รายงานนี้ยังคงมีส่วนที่ต้องปรับปรุงในหลายประเด็น เช่น ส่วนการนำเสนอผลการสำรวจซึ่งควรแยกให้เป็นรายประเทศ เพื่อจะได้สามารถแก้ไขการดำเนินงานได้ตรงจุดมากขึ้น อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า การสำรวจยังไม่ครอบคลุมเสาสังคมและวัฒนธรรมมากนัก ทั้งนี้ การสำรวจควรทำผ่านช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดใน แต่ละประเทศ โดยผลการสำรวจทั้งหมดควรมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมกว่านี้ เช่น ควรมีการแนะนำการสื่อสารเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนที่ประสบ ผลสำเร็จ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปปฏิบัติและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป (ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 6 ธ.ค.55)

   อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีผลการสำรวจเกี่ยวกับอาเซียนออกมาเช่นกัน คือ การสำรวจความรู้และความเข้าใจของนักศึกษา จากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศต่อพัฒนาการของประชาคมอาเซียน อาจเป็นตัวบ่งชี้อันหนึ่งว่า สังคมใดมีความตระหนักรับรู้และเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นมาก น้อยเพียงใด นักศึกษาคือปัญญาชนที่ในอนาคตจะทำหน้าที่ผู้นำของสังคม มุมมองของคนเหล่านี้จึงอาจเป็นพื้นฐานของการปรับตัวของแต่ละสังคมในอนาคตได้ จากงานศึกษาเรื่อง Attitudes and Awareness toward ASEAN: Findings of a Ten Nation Survey (ทัศนคติและการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน: ข้อค้นพบจากการสำรวจสิบประเทศ) ของ ASEAN Foundation (มูลนิธิอาเซียน) เมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยนักวิจัยหลักสองท่าน ได้แก่ Dr. Eric C. Thompson จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และ ผศ.ดร.จุลนี เทียนไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำรวจนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสมาชิกอา เซียนทั้งสิบประเทศ (อาทิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยมลายา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น) จำนวนประเทศละ 200-220 คน รวมทั้งสิ้น 2,170 คน ทำให้เราทราบถึงความรู้ความเข้าใจและทัศนคติต่ออาเซียนของปัญญาชนทั้งสิบ ประเทศ โดยมีข้อค้นพบที่สำคัญ ดังนี้

  1.  ภาพรวมต่ออาเซียน นักศึกษาส่วนใหญ่รวมทั้งไทยมองอาเซียนในด้านบวก ส่วนนักศึกษาจากกัมพูชา ลาวและเวียดนามจะกระตือรือร้นเป็นพิเศษต่อความร่วมมือกับอาเซียน ส่วนสิงคโปร์จะมองอาเซียนทั้งบวกและลบควบคู่กัน ขณะที่พม่าจะมีทัศนคติในทางลบหรือความแคลงใจกับอาเซียนมากกว่าประเทศอื่น

  2. ความเป็นพลเมืองอาเซียน นัก ศึกษาร้อยละ 88.5 คิดว่าประเทศของตนได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอาเซียน และประมาณร้อยละ 70 คิดว่าตนจะได้ประโยชน์จากอาเซียน โดยนักศึกษาจากกัมพูชา ลาวและเวียดนามมีมุมมองเชิงบวกมากที่สุด ขณะที่นักศึกษาจากสิงคโปร์และพม่าเห็นด้วยในเรื่องนี้น้อยกว่าชาติอื่น ส่วนไทยเห็นด้วยร้อยละ 89.5 และร้อยละ 74.5 ตามลำดับ ส่วนประเด็นที่ว่า ตนเป็นพลเมืองอาเซียน (ASEAN Citizen) หรือไม่นั้น ร้อยละ 76.8 ของนักศึกษาอาเซียนทั้งหมดเห็นด้วยว่าตนเป็นพลเมืองอาเซียน ส่วนนักศึกษาไทยเห็นด้วยร้อยละ 67 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ

       

  3. ความรู้ความเข้าใจต่ออาเซียน โดยเฉลี่ยนักศึกษาส่วนใหญ่สามารถระบุชื่อประเทศสมาชิกอาเซียนได้ 9 ประเทศจาก 10 ประเทศ และสามารถระบุตำแหน่งประเทศอาเซียนในแผนที่ได้ 7 จาก 10 ประเทศ และร้อยละ 75 สามารถจดจำธงของอาเซียนได้ ยกเว้นกัมพูชา (ตอบถูกร้อยละ 63.1) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 38.6) และไทย (ร้อยละ 38.5) และ นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศที่จดจำปีที่มีการก่อตั้งอาเซียนได้น้อยที่สุดแม้ ว่าอาเซียนจะถือกำเนิดในประเทศไทยก็ตาม โดยตอบถูกเพียงร้อยละ 27.5 เท่านั้น ขณะที่ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคคือร้อยละ 49.5

 

   จากผลการสำรวจข้างต้น สรุปได้ว่า เราคนไทยจำเป็นที่ต้องพัฒนาตนเอง และขวนขวายที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้มากขึ้น เพื่อให้รู้จักอาเซียนอย่างจริงจัง ก่อนที่เราจะเป็นประเทศเบี้ยล่างของประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนกับที่เราเคยใช้น้ำเสียง ท่าทาง ดูผิด ประเทศและคนของประเทศเหล่านั้้นมาโดยตลอด สุดท้ายเราเองที่ไม่พัฒนาตนเอง

 

ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมเรียนรู้ครับ และอ่านต้นฉบับได้จากที่นี่

หมายเลขบันทึก: 511609เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2017 05:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Large_picture708998

สวัสดีปีใหม่นะครับคุณบินหลาดงครับ

  • สวัสดีปีใหม่ 2556 ครับคุณบินหลาดง
  • ปีใหม่นี้ ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลให้คุณบินหลาดง ..และครอบครัว. พบแต่ความสุข ความสมหวังตลอดปีและตลอดไปครับ

มาสวัสดีปีใหม่ค่ะ

หวังว่าจะมีสุขภาพดี มีความสุข สงบ ตลอดปีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท