dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

การจัดการเรียนรู้ปฐมวัยโดยความร่วมมือของครอบครัวและชุมชน


การจัดการเรียนรู้ปฐมวัยโดยความร่วมมือของครอบครัวและชุมชน

     การศึกษาในระดับปฐมวัยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์เพราะเป็นการวางรากฐานชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมหรือสติปัญญา หากเราได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพตั้งแต่เด็กแล้วก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมในด้านดังกล่าวจนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และในทางตรงกันข้ามหากเด็กไม่ได้รับการพัฒนาตั้งแต่ยังเล็กเขาก็จะเป็นคนที่ขาดตกบกพร่องในด้านความพร้อมดังกล่าว การศึกษาระดับปฐมวัยมีลักษณะเป็นการอบรมเลี้ยงดูเด็กดังนั้นบทบาทของครอบครัวมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการเรียนรู้ หากปล่อยให้โรงเรียนดำเนินการด้านเดียว สังคมหรือประเทศของเราคงจะไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคนไทย นับตั้งแต่นี้ครอบครัว ชุมชนและโรงเรียนจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยอย่างจริงจังและให้เป็นรูปธรรม ถึงแม้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542 กำหนดสาระบัญญัติให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ไว้ในมาตรา 24 (6) คือ จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ  ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวครอบครัว ชุมชนและโรงเรียนมีบทบาทร่วมกันในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ความร่วมมือนั้นเกี่ยวข้องในเรื่องของการจัดทำหลักสูตร การสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษา การประเมินคุณภาพการศึกษา เป็นต้น สำหรับแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับธรรมชาติและวัฒนธรรมของคนไทยในแต่ละท้องถิ่นโดยมีเป้าหมายของการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์ในทุกด้าน การพัฒนาคนไทยในระบบการศึกษาของเราแต่ก่อนนั้นครอบครัวและชุมชนเป็นหลักสำคัญในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิต การถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม และพัฒนาระบบค่านิยมเพื่อการดำเนินชีวิตในสังคมไทย จากการพัฒนาการศึกษาปฐมวัยเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเราต้องยอมรับว่ายังมีครอบครัวส่วนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย พ่อแม่ส่วนมากยังต้องการเร่งเรียนเขียนอ่านซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ทางราชการโดยกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการให้ความรู้กับพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยด้วยการจัดทำโครงการคาราวานเสริมสร้างเด็กแต่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการอบรมเลี้ยงดูเด็กยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เรื่องหรือเนี้อหาที่ต้องรณรงค์ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังพอจะกล่าวได้ดังนี้

    -  การเป็นพ่อแม่ที่ดี

    -  ปฐมวัย ช่วงวัยที่สร้างคุณภาพชีวิต

    -  วิธีเลี้ยงเด็กด้วยการกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง

    -  การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีและฉลาด

    -  วิกฤตที่ครอบครัวควรรู้

    -  เด็กขาดสารอาหารเป็นอย่างไร มีผลร้ายอย่างไร

    -  พัฒนาเด็ก 0-5 ปีมีวิธีการอย่างไร

    -  การพัฒนาเด็กด้วยการอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง

    -  การทำหนังสือเด็ก

    -  การเล่านิทาน

    -  EQ IQ คืออะไร ทำอย่างไรเด็กจะมีทั้งสองอย่าง

    -  การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็ก เช่น ความมีวินัย ความอดทนอดกลั้น ความขยัน ฯลฯ

      การให้ความรู้ดังกล่าวข้างต้นจะต้องร่วมมือกันกับครอบครัว ชุมชนและโรงเรียนคือทุกหน่วยของสังคมต้องประสานกันทุกรูปแบบทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยไม่ต้องคอยงบประมาณแต่อย่างเดียวไม่เช่นนั้นการพัฒนาเด็กของเราก็จะเป็นไปตามกระแส เราจะต้องร่วมมือกันพัฒนาเด็กปฐมวัยให้อยู่บนพื้นฐานของหลักการและแนวการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ของทุกคนในสังคมไทย  

หมายเลขบันทึก: 511739เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท