ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

จากอัตลักษณ์อาเซียนสู่อนัตลักษณ์พระพุทธศาสนา




          เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๕๕ รับนิมนต์จากณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ไปเป็นวิทยากรอภิปรายร่วม เรื่อง "อัตลักษณ์อาเซียนและการดำรงอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม" ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุึงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ศ.ศิวรักษ์ มล.ปนัดดา ดิษกุล นางเตือนใจ ดีเทศน์ และผู้ดำเนินรายการ คือ นายภัทร จึงกานต์กุล จ
ากช่อง ๗ ในการจัดงานครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้หัวข้อหลักเรื่อง "ประชาสังคมและวัฒนธรรมนำสันติสุขสู่ประชาคมอาเซียน" ซึ่งมีผู้สนใจข้าร่วมงานกว่า ๕๐๐ รูป/คน

          พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. ตั้งข้อสังเกตว่า "วันนี้สังคมไทยมีปัญหาการตีความคำว่า "อัตลักษณ์" แตกต่างกันคนละประเด็น และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถตีโจทย์คำว่า "One Identity" ว่ามีแง่มุมอะไร กินพื้นที่มากน้อยเพียงใด ฉะนั้น เมื่อไม่สามารถอธิบายให้สังคมไทย หรือสังคมอาเซียนได้เข้าใจแง่มุมดังกล่าวได้อย่างสอดรับกันจะทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ หน่วยงานด้านการศึกษามองว่า อัตลักษณ์คือผลลิตของผู้เรียนคือนิสิต ในขณะที่นักสังคมวิทยา และมานุษยวิทยามองว่าอัตลักษณ์คือลักษณะเฉพาะของชาติเชื้อ ภาษา วัฒนธรรม และศาสนา"
          "เมื่อวิเคราะห์ที่มาของอัตลักษณ์ที่ประกาศใช้ในประชาคมอาเซียนมีท่าที่ที่สอดรับกับประเด็นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่ประกาศในปฏิญญาว่าด้วยอัตลักษณ์ของยุโรป (Declaration on European Identity) ให้เน้น "อัตลักษณ์ร่วม" (Collective Identity) ซึ่งให้ความสำคัญแก่จุดยืนร่วม (Common Position) นโยบายร่วม (Common Policy) และ มรดกร่วม (Common Heritage) ซึ่งวิธีการการให้คุณค่าของยุโรปหรือเจตนารมณ์ของการก่อตั้งอาเซียนเน้นไปที่ลักษณะร่วม หรืออัตลักษณ์ร่วมมากกว่าลักษณ์เฉพาะ หรือข้อปลีกย่อยที่เป็นลักษณ์เฉพาะของกลุ่มคน ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม"
          "จุดเด่นของอัตลักษณ์ร่วม (Collective Identity) คือการยอมรับรับการมีอยู่ของผู้อื่น และอยู่ร่วมกันบนฐานความแตกต่างระหว่าง "เรา" กับ "เขา" ในประชาคม สังคม และชุมชน จากหลักการนี้สอดรับอย่างมีนัยสำคัญกับท่าทีของพระพุทธศาสนามุ่งเน้นให้พัฒนาจาก "อัตลักษณ์" ไปสู่ "อนัตลักษณ์" กล่าวคือ แม้ว่าการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมจะเป็นสิ่งที่ดีและงดงาม แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ "อัตตวาทุปาทาน" คือ การยึดมั่นว่า แนวคิด ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมของตัวเอง กลุ่มตัวเองดีกว่า วิเสสกว่ากลุ่มคนอื่นๆ ในประชาคม และสังคม ซึ่งท่าทีเช่นนี้จะนำไปสู่การดูถูก เหยียดหยาม ชิงชัง อัันจะส่งผลต่อการเข้าไปทำลาย ลดทอน ครอบงำ หรือกินพื้นที่ของกลุ่มคนอื่นๆ วัฒนธรรมอื่นๆ ด้วยเข้าใจว่าล้าสมัย ป่าเถื่อน และโบราณ"
          "ฉะนั้น คำถามคือ เราอยู่ร่วมร่วมกันในสภาพของความแตกต่างได้อย่างไร? (๑) จำเป็นต้องศึกษาเรียนธรรมชาติของความแตกต่างอย่างมีสติ โดยมองให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ว่าเชื่อมโยงสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวมีลักษณะการพึ่งพาอาศัยกันและกัน (๒) ความพร้อมที่จะเปิดใจกว้างรับฟัง เคารพ ให้เกียรติต่อความต่างๆ ของกลุ่มคนอื่นๆ วัฒนธรรมอื่นๆอย่างมีขันติธรรม (๓) การปรับวิธีคิด และท่าทีของตัวเอง หรือกลุ่มตัวเองให้สามารถอยู่ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ที่มีความแตกต่างได้อย่างสันติ ไม่พยายามที่จะเข้าไปลดทอน หรือครอบงำโดยชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรม หรือความเืชื่อของตัวเองดีกว่า วิเสสกว่า"
          ศ.ศิวรักษ์ได้แสดงความห่วงใยต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า "มุ่งเน้นและให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมวัตถุนิยมและบริโภคนิยมโดยเน้นที่เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากเกินไป จนทำให้กลุ่มคนในอาเซียนหลงลืมเสาด้านสังคมและการศึกษา ซึ่งทำให้เกิดวัฒนธรรมตกค้าง โดยเฉพาะการมีท่าที่เชิงลบระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศพม่า กัมพูชา และประเทศลาว รวมไปถึงชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยในประชาคมอาเซียน" ยิ่งกว่านั้น ท่านได้ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า "สหภาพยุโรปที่รวมตัวกันนั้นมีจุดเสียในฐานะที่เป็นสโมสรของกลุ่มคนรวยซึ่งมีความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างคนจนจำนวนมาก แต่จุดเด่นของยุโรปคือสามารถช่วยกันลบบาดแผลจากสงครามการแย่งชิงมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติจนได้รับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพปีนี้"
          ในขณะที่ มล.ปนัดดา ดิสกุล รองปลัดกระทรวงมหาไทยชี้ว่า "ประเทศไทยมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างมากในอดีตไม่ว่าจะเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การเอื้ออาทร และยิ้มสยาม แต่สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับสังคมไทยคือ เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งแล้ว ไม่สามารถที่จะนำทุนทางสังคมดังกล่าวมาปรับใช้ให้สอดรับอัตลักษณ์ของตนเอง" ซึ่งประเด็นนี้นางเตือนใจ ดีเทศน์ได้กล่าวเสริมว่า "ลักษณะที่ดีงามที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ดังกล่าวนั้น สามารถประเมินได้จากกลุ่มคนต่างๆ จังหวัด แต่ปัจจุบันนี้ สังคมไทยได้ละเลย และไม่ให้ความใส่ใจแก่กลุ่มคนชายขอบต่างๆ ที่แตกต่างกันกับชาติเชื้อกระแสหลัก เ่ช่น ชาวเขา ชาวดอยกลุ่มต่างๆ ซึ่งเข้าไปสัมพันธ์กับการพัฒนาประชาคมอาเซียนในประเด็นเรื่องทางเชื่อมต่อถนน R3A ที่ตัดตั้งแต่ประเทศไทยลงไปถึงประเทศสิงค์โปร์ คนเหล่านี้ต้องอพยพหนีจากเส้นทางดังกล่าว และการดำเนินการดังกล่าวได้นำมลภาวะไปสู่พื้นที่เหล่านั้นด้วย"

หมายเลขบันทึก: 512566เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นมัสการท่าน ประเทศไทยมีอะไรโดดเด่นมากเลยครับ

กราบนมัสการ พระอาจารย์ธรรมหรรษา

พร้อมกับขอพรปีใหม่กับพระอาจารย์ ครับ




นมัสการท่าน หายไปนานมากๆเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท