โรงเรียนพ่อแม่ในคลินิกเด็กดีคุณภาพสอนอะไรบ้าง


      อย่างที่เคยเขียนบันทึกที่ผ่านมาว่าการทำกิจกรรมในเด็กเล็กๆ จะไม่เหมือนในหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงหลังคลอดที่เค้ารอได้ ทนได้กับการทำกิจกรรมนานๆ บรรยากาศจะต่างกันมาก เด็กจะร้อง โดยเฉพาะเด็กเล็กๆที่ติดเปล เพราะเด็กจะตื่นแต่เช้ามืด เดินทางมารพ.เพื่อตรวจพัฒนาการและฉีดวัคซีน  พอเวลาประมาณ 8 โมงกว่าเนี่ยจะเป็นเวลานอนรอบเช้าแล้ว คุณเธอทั้งหลายก็จะเริ่มร้องประสานเสียง ผู้ใหญ่ก็อยากฟังนะ แต่ลูกหลานไม่ไหวแล้ว เราก็ต้องให้อุ้มเดินในห้องบ้าง  ให้ญาติที่มาด้วยอุ้มออกไปเดินข้างนอกห้องบ้าง ก็แล้วแต่สถานการณ์

    ประเด็นสำคัญของเราก็ต้องบอกให้รู้ก่อนเลยว่าวันนี้จะคุยเรื่องอะไร  เวลาประมาณเท่าไหร่ แล้วสุดท้ายให้สรุปของแต่ละคนที่ควรกลับไปส่งเสริมพัฒนาการลูกต่อ

     เด็ก 2-6 เดือนเนี่ย เรารวมกันได้ ...เรื่องที่คุยก็จะมีเรื่องกิน กอด เล่น เล่า

- แก้ปัญหาที่พบในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ที่เจอประจำคือ ลูกกัดนม  ลูกสำลักนม น้ำนมไม่พอ

- อีกเรื่องที่คุยคือการเตรียมให้อาหารเสริม ที่เจอปัญหาบ่อยๆ ก็คือ ความเชื่อว่าซีรีเลคเป็นสุดยอดอาหารเสริมที่ต้องให้ลูกกิน  กับอีกเรื่องคือลูกจะมองแล้วทำปากมุมมิบตามผู้ใหญ่เวลาเห็นผู้ใหญ่กินอะไร ก็ทำตาม ก็เข้าใจว่าเด็กอยากกินก็จะป้อนอาหารก่อน 6 เดือน ส่วนอีกเรื่องสำคัญคือ การเริ่มป้อนอาหารเสริมจะพยายามป้อนวันแรกที่เริ่มให้ได้มากๆ ตามสมุดบันทึกสุขภาพกำหนด 3 ช้อนโต๊ะ ก็จะให้ได้ตามนั้น ก็จะพยายามป้อนทั้งวัน เด็กเลยกินข้าววันนึงไม่รู้กี่มื้อ เพราะผู้ใหญ่กลัวขาดอาหาร

- การใช้ยาในเด็ก  ที่บางทีเรานึกไม่ถึงว่าพ่อแม่จะคิดแบบนี้ คือ ยาพาราเซตตามอลลดไข้ของน้องหมด ก็เอาของพี่มาให้กินแทน เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร ซึ่งที่จริงขนาดยาต่างกัน  หรือแม้กระทั่งการป้อนยาทุกครั้งที่จับตัวแล้วตัวอุ่นๆ โดยไม่มีการวัดปรอท  แถมบางครั้งยาซื้อตั้งแต่ตอน 1 เดือน จนกระทั่งตอนนี้ลูก 9 เดือนแล้วก็ยังไม่ทิ้งกินไปเรื่อยจนกว่ายาจะหมดขวด

- การฝึกลูกหลับด้วยตัวเองไม่ให้ติดดูดนมคาเต้า หรือขวดจนหลับ แล้วก็ฝึกลูกให้รู้เวลาไม่ตื่นมาเล่นกับตอนกลางคืน เพราะเราเตรียมป้องกันการติดนมขวด และฝึกงดนมมื้อดึกด้วย

เด็ก 6-9 เดือน เราก็จะคุยเรื่องกิน กอด เล่น เล่า โดยย้ำประเด็นที่แตกต่างคือ

- กินนมแม่ต่อถ้ายังกินอยู่  และฝึกการดื่มนมจากถ้วยหัดดื่ม 2 หู แล้วสอบถามถึงการกินอาหารเสริม ว่าปรับลักษณะอาหารให้หยาบขึ้นหรือยัง กี่มื้อ กินอะไรได้บ้าง

- กอด ก็เช่นเคยให้กอดและอุ้มลูกบ่อยๆ อย่ากลัวเด็กติดมือ

- เล่น กับลูกให้เหมาะกับวัย เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นดูกระจก ซ่อนของ จับลูกฝึกนั่ง แล้วก็งดใช้รถหัดเดินเพราะเป็นการเพิ่มอุบัติเหตุและสร้างปัญหาทำให้เด็กเดินเขย่งได้

- เล่า ปัญหาเรื่องเล่านิทานที่เจอบ่อยคือ ลูกไม่ฟัง ลูกกัด ลูกอม ลูกขว่้างหนังสือนิทาน  เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ชอบคิดว่าลูกต้องนั่งฟังนิทานเป็นเรื่องเป็นราวแบบเด็กโต  ซึ่งไม่ใช่ ก็ต้องอธิบายให้ฟัง แล้วนำตัวอย่างหนังสือนิทานที่เป็นพลาสติกปลอดภัยสำหรับเด็กให้ดู เผื่อเลือกซื้อ

 ส่วนเด็กโตเกิน 1 ปี เราจะใช้เกมให้เล่น  แล้วให้ผู้ใหญ่เรียนรู้ไปร่วมกับเราจากพฤติกรรมที่เห็นระหว่างเล่นเกมของเด็กแต่ละคน โดยไม่เปรียบเทียบกัน  โดยประเด็นที่สอดแทรกไว้คือ

- ฝึกให้เด็กเล่นร่วมกัน โดยเรียนรู้ลำดับคิว จะได้รอคอยเป็น

- ฝึกให้เล่นทีละเกม เพื่อให้เด็กฝึกรับผิดชอบทำให้สำเร็จเป็นเรื่องๆ

- ฝึกผู้ใหญ่ให้เรียนรู้ที่จะเลือกเล่นเกมที่เหมาะกับวัยของเด็ก เด็กเล็กเล่นเกมง่ายๆ ผู้ใหญ่แอบช่วย  เด็กโตก็ยากขึ้นเรื่อยๆ

- ฝึกการชมให้กำลังใจ และการห้ามพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กเวลาถูกขัดใจ เช่น โมโหแล้วทำร้ายตัวเอง โมโหแล้วทำร้ายคนอื่น โมโหแล้วทำร้ายข้าวของ

- เตรียมฝึกการช่วยเหลือตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก

      ทั้งหมดนี้ไม่ยากเกินไป ถ้าเราโยนประเด็นให้กลุ่มช่วยกันเอง แล้วเราแค่เสริมในบางส่วนที่ขาดเท่านั้น เวลา 30นาทีที่เราใช้แต่ละครั้ง ก็จะคุ้มค่าต่อการพูดคุยกับผู้ปกครองมาก  ส่วนใหญ่ชอบนะที่ได้มาพูดคุย น้อยมากๆๆๆ ที่รู้สึกว่ารีบไม่มีเวลาจะฟังแล้ว  พ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูกฉลาดอยู่แล้ว

หมายเลขบันทึก: 515157เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2013 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2013 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยี่ยมมากครับ

ชัดเจน ได้ประโยชน์ ปรับใช้ได้

อยากให้ต่อเรื่อง ขวบครึ่ง, ๒ขวบครึ่ง, ๔ขวบ ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท