เรียนรู้จากความประทับในหนังเรื่อง “Dolphin Tale มหัศจรรย์โลมาหัวใจนักสู้”


การเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยตัวใดตัวหนึ่งอย่างเด่นชัด แต่หากมีปัจจัยหลายที่เกื้อหนุนกันและกันจนแทบจะแยกไม่ออก ทั้งควบคุมได้และไม่ได้ ทั้งเป็นระเบียบและไม่เป็นระเบียบ


ห่างหายจากการเขียนบันทึกเกี่ยวกับการจุดประกายเหนี่ยวนำความรู้จากการดูหนังไปนานกว่า 2 ปี เพราะหลังๆ ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ดูหนังเป็นเรื่องราวมากนัก แม้กระทั่งเรื่องที่กำลังเขียนนี้ก็เกือบจะหลุดวงโคจรไปแล้ว เพราะผมซื้อเรื่องนี้ DVD ไว้นานแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้ดูเต็มๆ เมื่อวานนี้เอง ถ้านับจากวันที่หนังออกฉายจนถึงวันนี้ หนังเรื่องนี้ก็มีอายุเกินกว่า 1 ปีแล้ว (เริ่มฉายในโรงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2011) ความรู้สึกที่ได้รับจากการเสพหนังเรื่องนี้มันเต็มไปด้วยพลังความรักและสร้างแรงบันดาลใจได้มากจริงๆ และยิ่งทราบว่าเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริงแล้ว ก็ยิ่งทำให้มีผลต่อการเรียนรู้มากๆ เลยทีเดียว สำนวน อ. ไชยยศ เรียกว่ามันสร้าง “Impact” ได้มากจริงๆ (ดูข้อมูลชีวิตจริงของโลมาตัวนี้ ที่เป็นแรงบันดาลใจของหนังได้ที่ http://webboard.sanook.com/forum/?topic=3503456)



ภาพจาก http://www.adintrend.com/show_admovie.php?id=6114 


เนื้อหาในหนังเรื่องนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความผูกพันระหว่างโลมาพิการหางขาดและเด็กชายผู้ขาดความมั่นใจคนหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่เชื่อว่าเป็นคนขี้เกียจ ไม่สนใจเรียน ไม่สนใจผู้คนสังคมรอบข้าง แต่ด้วยพลังของความรัก ความเมตตาทำให้ทั้งสองได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันจนทำให้เด็กชายกลายเป็นคนมั่นใจ เข้าใจชีวิตมากขึ้น และโลมาก็มีชีวิตอยู่รอดอย่างมีความหมายต่อไป หนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นหนังที่มีพลังในการสร้างแรงบันดาลใจได้มากทีเดียว ดูแล้วมีความสุข ส่วนตัวผมถือว่าทั้งรูปแบบการดำเนินเรื่องและเนื้อหาของเรื่องเป็นสิ่งที่สามารถจุดประกายความรู้ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ของเด็ก การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ การเรียนรู้ของครูผู้สอน การเลี้ยงดูลูก จิตวิทยาการเรียนรู้ และปรัชญาการศึกษา ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้


ในเรื่องของการเรียนรู้ หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้สามารถทำได้ในทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่ในห้องเรียนเท่านั้น และยิ่งได้พบกับบรรยากาศจริตการเรียนรู้ที่ตรงกับตัวเอง ที่ชอบ ที่รัก ก็จะทำให้การเรียนรู้นั้นทรงพลังอย่างมาก หนังได้สื่อให้เห็นถึงการเรียนรู้ของเด็กแบบบูรณาการที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และรู้จักที่จะแก้ปัญหา กล้าคิด กล้าทำ จนประสบความสำเร็จ เรื่องนี้ครูผู้สอนมีบทบาทน้อยมากจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวถ่วงการเรียนรู้ของเด็กเลยก็ว่าได้ เพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก และเอาความคิดที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดไปครอบงำความคิดเด็ก เป็นลักษณะ I in me/I in it


บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองในเรื่อง ได้สื่อให้เห็นถึงความสำคัญในการเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานของตนด้วยความเข้าใจ ในช่วงแรกแม่ของเด็กชายคิดว่าเข้าใจลูกชาย พยายามบังคับให้ลูกเรียนหนังสือไปโรงเรียน โดยเห็นว่าการไม่ไปโรงเรียน การไม่ตั้งใจเรียนเป็นความผิดอันร้ายแรง ด้วยความเชื่อในระบบการศึกษา เชื่อในความเก่งกาจของครู โดยหารู้ไม่ว่า ระบบการศึกษา และความมั่นใจของครูนั่นแหละ กำลังจะทำลายชีวิตลูก


จากการที่ได้ลองเชื่อมโยงกับแนวคิดของหนังกับทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ แล้ว ผมพบว่าการเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยตัวใดตัวหนึ่งอย่างเด่นชัด แต่หากมีปัจจัยหลายที่เกื้อหนุนกันและกันจนแทบจะแยกไม่ออก ทั้งควบคุมได้และไม่ได้ ทั้งเป็นระเบียบและไม่เป็นระเบียบ ทำให้ผมอดเปรียบเทียบไปยังทฤษฎีไร้ระเบียบไม่ได้ ที่ดูมันเหมือนจะไม่มีระเบียบ แต่ความไม่มีระเบียบนี่แหละมันสวยงามจนดูเหมือนมันมีระเบียบในภาพรวม หลายฉากหลายตอนในหนังยังแฝงไปด้วยปรัชญาการเรียนรู้ และปรัชญาทางศาสนาโดยเฉพาะปรัชญาแนวพุทธที่สอน เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างมีความสุข ไม่จมปลักอยู่กับความทุกข์ ไม่หลงระเริงอยู่กับความสุข ความสำเร็จ ไม่ถอย ไม่ดันทุรัง ทุกอย่างมีจังหวะของมัน 


เข้าไปเยี่ยม Fanpage FB  ของหนังเรื่องนี้ได้ที่ http://www.facebook.com/dolphintalemovie 



http://www.youtube.com/watch?v=Jdpg9NsgEaI 



หมายเลขบันทึก: 515395เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2013 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2013 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท