Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

คำกล่าวในการประชุมนานาชาติเรื่อง พระพุทธศาสนากับกฎหมายรัฐธรรมนูญ


คำกล่าวในการประชุมนานาชาติเรื่อง พระพุทธศาสนากับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ณ เมืองพาราณสี อินเดีย โดย พระอาจารย์อารยวังโส

เจริญพร

อาตมาขอแสดงความยินดีกับมหาโพธิสมาคมของอินเดีย  ที่เป็นองค์กรเก่าแก่ที่สุดที่ตั้งขึ้น  เพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้คืนกลับมาในชมพูทวีป ภายหลังจากการสูญสลายไปของพุทธศาสนา  เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 ด้วยเหตุปัจจัยทางสังคม ศาสนา และการเมือง  การปกครองในสมัยดังกล่าวนั้น...  หากมองย้อนลงไปในเหตุการณ์ดังกล่าว  ของการศึกษากับพระพุทธศาสนาสู่แผ่นดินเกิด  และการที่พระพุทธศาสนาได้เจริญเติบโตไปทั่วเขตแดนในโลก ไม่เว้นแม้ในยุโรป อเมริกา  ซึ่งเป็นสังคมวัตถุนิยม ก็คงจะพบความจริงแท้ที่สำคัญ  อันเป็นแก่นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ที่ไม่เคยมีการต่อเติม ตัดทอน เปลี่ยนแปลง  บนอายุพระพุทธศาสนาที่มีมายาวนาน บัดนี้มากกว่า 2,600 ปีนั้น ได้แก่  การว่าด้วยประโยชน์สุขของพหุชน และการมุ่งอนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์  เพื่อความเกื้อกูล และเพื่อความสุขของเทวดา มนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย  อันเสมอภาคกันภายใต้กฎแห่งกรรม ซึ่งไม่มีสัตว์ใดๆ ที่จะปฏิเสธ หลีกเลี่ยง  หรือวิงวอนเรียกหาให้เป็นอย่างนั้น .. อย่างนี้ได้

ด้วยการประกาศหลักความจริง ที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติ อันเป็นปกติ  ของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พหุชนเข้าถึง เข้าใจ ในสภาวธรรมทั้งปวง  เพื่อจะได้นำไปสู่การสร้างอำนาจดุลยธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมของมนุษยชาติ  จึงก่อเกิดพระธรรมคำสั่งสอนที่เรียกว่า พระธรรมวินัย ในพระพุทธศาสนาขึ้น ซึ่งเป็น  อริยสัจ แสดงความจริงขั้นสูงสุดที่อยู่เหนือกาลเวลา (อกาลิโก) ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย อีกทั้งไม่ได้ร่วมสมัย จึงไม่ใช่ Ancient หรือ Modern ตามที่ชาวโลกชอบคาดคิดปรุงแต่งในศาสตร์ศิลป์ทฤษฎีทั้งหลาย  ที่เปลี่ยนแปลงปรับสภาพกันไปตามกาลเวลา หรือตามเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมและสังคม  พระธรรมคำสั่งสอนจึงอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ที่จะคิดเปลี่ยนแปลง แก้ไข ต่อเติม  หรือตัดทอน เพราะเป็นอมตธรรมที่ไม่ผันแปร สมดังพระพุทธดำรัสที่ว่า ตถาคต  จะอุบัติเกิดขึ้นหรือไม่อุบัติเกิดขึ้น ก็ตาม หลักธรรมเหล่านี้ มีอยู่แล้วอย่างนี้  เป็นธรรมดาหมายถึง ความตั้งอยู่ตั้งขึ้นมีอยู่แล้ว... เป็นธัมมัฏฐิตะตา หมายถึง  ความตั้งอยู่แห่งธรรมดา และ เป็นธัมมะนิยามะตา หมายถึง  ความเป็นกฎตายตัวแห่งความเป็นธรรมดา ซึ่งได้แก่ ความจริงที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติ  คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง!!

ความจริงที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติดังกล่าว สามารถสรุปรวมลงเป็นอริยสัจ ได้ 4 อย่าง จึงนำไปสู่การกำหนดหลักการเพื่อแสดงในรูปพระธรรมคำสอน  เพื่อการศึกษาปฏิบัติให้เข้าถึงความจริง ๔ ประการดังกล่าวนั้น ที่เรียกว่า  อริยสัจสี่ ที่แสดงกฎความจริงแท้ในรูปของ อิทัปปัจจยตา ที่กล่าวว่า เพราะอาศัย  สิ่งนี้ สิ่งนี้ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น.

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงเป็นความจริงแท้ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง  ปรากฏมีอยู่เป็นปกติอย่างนี้ในธรรมชาติ ที่แสดงความ เป็นอยู่อย่างนี้  มีอยู่อย่างนี้ ในทุกกาลสมัย ไม่ว่าโลกจะพัฒนาการเจริญก้าวหน้า  หรือย่ำแย่ทรุดโทรมสูญสลายไปอย่างไร ซึ่งไม่สามารถหลีกหนีกฎธรรมชาตินี้ไปได้เลย  อันแสดงถึงความจริงแท้ของความมิใช่ตัวตน บุคคล เรา เขา ที่เรียกว่า  มันเป็นอนัตตา!

กฎอนัตตา จึงเป็นความรู้รวบยอดของความมีอยู่จริงในธรรมชาติ หรือในโลกนี้  ซึ่งผู้ค้นพบหลักความจริงดังกล่าวที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ  จะได้รับฐานะธัมมาภิเษกเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้า  เป็นศาสดาเอกหรือพระบรมศาสดาของโลก... เป็นบรมครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย... กฎความจริงดังกล่าวจึงเป็นแก่นธรรมที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา มุ่งตรงไปที่กฎอนัตตา  จะไม่เป็นอย่างอื่นเลย  จึงจะได้เชื่อว่า นี่ คือ  พระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างแท้จริง

การสั่งสอนในพระพุทธศาสนา จึงมุ่งไปที่การสร้าง สติปัญญา  เพื่อเข้าให้ถึงกฎอนัตตาดังกล่าว ดังที่ทรงมีพระพุทธดำรัสกับโมฆราชมาณพว่า "ดูก่อน  โมฆราช ท่านจงมีสติพิจารณาเห็นโลก โดยเป็นของสูญ คือ ว่างเปล่า ถอนความตามเห็นว่า  อัตตาตัวตนเสียทุกเมื่อ ก็จะพึงข้ามพ้นมัจจุ คือ ความตาย ได้อย่างนี้  บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่แลเห็น"

การเสริมสร้างสติปัญญาให้แก่กล้า เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ ทุกขสัจ (ความทุกข์ที่มีอยู่จริงในโลก) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการกำหนดให้ ปริญญา  พระพุทธศาสนาจึงสอนให้ปริญญาทุกข์หรือรู้ทุกข์ โดยกำหนดชัดว่า ทุกข์  เป็นสิ่งที่ควรรู้ เพื่ออะไร!? ก็เพื่อไม่หลงเข้าไปในความทุกข์ที่แสดงความมีอยู่จริงในโลกใบนี้  โดยค้นคว้าหาเหตุที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดความทุกข์  อันเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจัยดังที่กล่าวมา  ทั้งนี้ เพื่อไปให้ถึงความดับทุกข์  ด้วยการพึ่งตน-พึ่งธรรม ไม่ได้สั่งสอนให้ไป พึ่งภูเขา ป่าไม้ สถูปเจดีย์ สัตว์  เทวดาทั้งหลาย ทั้งนี้โดยวางหลักการพัฒนาตนเองไว้ 3 ระดับ ได้แก่

1. การพัฒนาความสำนึกให้ประเสริฐ โดยการไม่ทำบาป.. ไม่ทำการอกุศลทั้งปวง  ด้วยกาย-วาจา-ใจ

2. การพัฒนาความสำนึกให้ประเสริฐ โดยการสร้างบุญ.. ประกอบการกุศลทั้งหลาย  ทั้งทางกาย- วาจา และใจ

3. การมุ่งพัฒนามโนธรรมให้เข้าถึงคุณธรรมขั้นอริยธรรม  จนสามารถพัฒนาความสำนึกให้ก้าวถึงขั้นอริยมโน เป็นอริยจิต  ก้าวล่วงซึ่งความทุกข์ทั้งปวงได้จริง ด้วยปัญญาที่แสดงลักษณะความเห็นอันหมดจด  เรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ ขึ้นได้จึงไม่แปลกที่ พระพุทธศาสนาจะเป็นอมตธรรม  ที่อยู่ร่วมสมัยอย่างทันสมัย ไม่ได้ผันแปรไปตามกาลเวลา เพราะเป็นหลัก ธรรมดา  ที่ดำรงอยู่ ตั้งอยู่ด้วยตัวของความจริงแท้แห่งธรรมนั้น ไม่ต้องเสกสร้างเทพเจ้า  บุคคล บริษัทใดๆ ขึ้นมาดูแลรักษา.. มีอยู่ และเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่ว่าในกาลใด  สมัยใด พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ไม่ตาย แต่หมู่สัตว์ที่ขาดสติปัญญา ไร้ศรัทธา  ต่างหาก ที่ได้ตายไปจากพระพุทธศาสนา จึงดูเสมือนว่า พระพุทธศาสนาสูญสิ้นไป... ซึ่งแท้ที่จริง หมู่ชนสัตว์ทั้งหลายสูญสิ้นไปจากพระพุทธศาสนา  เพราะไม่มีค่าคู่ควรที่จะรองรับพระพุทธศาสนา  เพื่อรู้แจ้งเข้าไปในความจริงแห่งหลักธรรม  อันให้ผลถึงความทุกข์ได้สิ้นอย่างแท้จริง!! สัตว์ทั้งหลายจึงพบแต่ความทุกข์  ไร้ความสงบ มีแต่การเบียดเบียนทำลายกัน ความร้อนจึงเกิดในทุกหย่อมหญ้า  โลกจึงต้องเรียกร้องเรียกหาสันติ เพราะขาดการเรียนรู้หลักยุติปัญหาโดยธรรม  แม้จะคิดสร้างหลักกฎหมายขึ้นมา แต่ก็มิได้เป็นยาแก้โรคร้ายของมนุษยชาติ  ที่ดำเนินกระแสชีวิตอยู่ภายใต้อำนาจแห่งตัณหา  อันเป็นเจ้านายตัวจริงของสัตว์โลกทุกเผ่าพันธุ์ ที่ผลักดันให้สัตว์ทะยานอยาก  จนยากจะควบคุมด้วยเพียงแค่กฎหมายหรือกฎสังคม..  ซึ่งหากขาดกฎศาสนาแล้วไซร้  ยากนักที่กฎใดๆ จะดำรงอยู่ได้ หากกฎเกณฑ์เหล่านั้น  ขาดหลักธรรมที่เป็นคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ที่มุ่งสู่การสร้างสติปัญญา  เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมด้วย "ดุลยธรรม" อย่างแท้จริง!!

จึงขออนุโมทนาต่อการจัดประชุมนานาชาติ (The International Conference) ในหัวข้อ BUDDIST JURISPRUDENCE AND THE CONSTITUTIONAL LAW ที่จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ณ Central University of Tibetan Studies, Sarnath  Varanasi /India  อาตมาในฐานะ Vipassana Meditation Master, Thailand  ซึ่งได้รับเชิญเป็น Guests of Honors ร่วมกับท่าน Justice Ashok Bhushan,  Allahabad High Court, India.. ท่าน Justice V.K. Shukla, Allahabad High Court,  India.. และท่าน Justice R.C. Deepak, Retd. Judge, Allahabad High Court, India จึงใคร่ขอโอกาสนี้ ส่งความรู้สึกที่ยินดียิ่งมาถึงทุกท่านที่ร่วมประชุมในครั้งนี้  โดยเฉพาะ ท่าน Samdhong Rinpoche, Former Prime Minister, Tibetan Government in  Exile & Former Vice-Chancellor ฯ และ Mr. Lyonpo Sonam Tobgye Chief Justice  of Supreme Court, Royal Court of Justice, Bhutan. 

โดยเฉพาะ ขอฝากความระลึกถึง  ท่านพระสิวลีเถระ Joint Secretary ของมหาโพธิสมาคมของอินเดีย อาตมาเชื่อมั่นว่า  การประชุมทางวิชาการในหัวข้อดังกล่าว คงจะนำมาสู่ประโยชน์แห่งมหาชนอย่างไม่เลือกว่า  จะเป็นชาติใด ศาสนาใด เพราะอาตมาเชื่อมั่นในหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา  ที่มุ่งสู่สันติภาพของโลกอย่างแท้จริง  และเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล  เพื่อความสุข ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย มิใช่มนุษยชาติเพียงส่วนเดียว....

 

facebook: รวมพลังสวดพระปริตรอธิษฐานจิตเพื่อแผ่นดินไทย

 https://sites.google.com/site/praparitta/

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- ศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556

หมายเลขบันทึก: 518957เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท