เมื่อสาวน้อยไม่สบายในมหานคร


ตลอดระยะเวลาสามปีผ่านมาที่สาวน้อยของเราเรียนรู้อยู่ในกล่องแห่งมหานคร เรียนรู้การดูแลและใช้ชีวิตอยู่อย่างไรให้เข้มแข็ง สามปีที่เธอได้สั่งสมพลังแห่งการเรียนรู้ พลังแห่งการตัดสินใจ และพลังแห่งมิตรภาพ  แต่บางครั้งหัวใจก็มีอ่อนล้า สุขภาพร่างกายมีเวลาอ่อนแอ


ช่วงเวลาการปรับเปลี่ยนจากเด็กเรียนชั้นมัธยมเป็นเด็กอุดมศึกษา  ฉันจำได้ว่าเราได้เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพให้สาวน้อยอย่างไรบ้าง  ดูเหมือนว่าหลายเรื่องเกิดจากการต้องศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์และการวางแผนแทบทั้งสิ้น

__ดัดฟันตามกระแสนิยมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมสี่ เพื่อจะได้ใช้เวลาแสนวุ่นวายกับการไปพบหมอฟันตามนัดตลอดระยะเวลา 1 ปี และช่วงเวลาการสวมใส่รีเทรนเนอร์อีกระยะเวลาหนึ่ง ให้จบสิ้นพร้อมกับการเปลี่ยนจากถุงเท้าหนารองเท้าสีดำไปเป็นถุงเท้าบางรองเท้าสีขาว

__ปวดฟัน/ฟันคุด  งานนี้เป็นภารกิจเจ็บไข้ได้ป่วยที่บอกล่วงหน้าไม่ได้ว่าจะให้เกิดเมื่อไร เป็นที่รู้กันดีใช่ไหมคะว่ามันจะเจ็บปวดมากเพียงใด  ฟันคุดเลือกเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สาวน้อยของเราไปอยู่ในมหานครแล้ว  เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพิ่งจะเริ่มฝึกฝนการอยู่คนเดียว  (อ่าน เรื่องเมื่อลูกรักหลุดอาการ...โฮมซิก!  ตามรอยลูกรักไปปฏิบัติภารกิจกล่อง(1))  พ่อแม่ลูกร่วมวิเคราะห์อาการปวดฟัน/สถานการณ์รอบด้าน/ทันตแพทย์ที่เรารู้จัก และคาดว่าสามารถขอนัด/รับ(ลัด)คิวได้เร็วที่สุด  เราจึงตัดสินใจให้สาวน้อยเดินทางกลับบ้านมาถอนฟันคุด กว่าสาวน้อยจะได้ถอนฟันคุดครบทั้งสี่ เราก็ได้ผ่านภารกิจซ้อนกันเรื่องการเดินทาง การรักษาความเจ็บป่วยเลยค่ะ

__เมื่อบอกว่าไม่สบายมากๆ กลางดึกคืนหนึ่งฉันได้รับโทรศัพท์งอแงมาตามสายว่าหนูไม่สบาย ปวดหัว ตัวร้อน เจ็บคอ ทำไงดี ปกติสาวน้อยเคยไม่สบายเวลาอยู่ในมหานคร แต่เป็นไม่มาก เราเตรียมหยูกยาสำคัญไว้ให้พร้อม ค่อยๆดูแลรักษากันไป บางครั้งฉันก็จะโทรศัพท์ฝากให้ญาติๆ รวมทั้งเพื่อนฝูงที่สนิทๆ ช่วยดูแลฟังเสียงโทรศัพท์กลางดึกให้ด้วย แต่รอบนี้ท่าทางจะเป็นหนัก  เราปรึกษากันทางโทรศัพท์ สรุปตรงที่ให้สาวน้อยไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่พักมากที่สุด จากการถามไถ่เพื่อนฝูง สุดท้ายสาวน้อยได้ไปโรงพยาบาลแถวๆพญาไท  ตรวจนิดเดียวคุณหมอจ่ายยาแก้ปวด เหมือนพาราเซตตามอล กับยาแก้อักเสบทีซื้อได้ตามร้านขายยา หมดเงินไปพันห้าร้อยบาท แถมด้วยอาการหลงลืมเวลาใช้บัตรเอทีเอ็มกดเงินแล้วไม่ดึงบัตรเก็บกลับ  เป็นเหตุให้ได้เพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิต ต้องรี่ไปทำธุระแจ้งความบัตรนิสิตหาย เสียเวลาไปทำบัตรนิสิตใหม่และที่สำคัญอาการเจ็บป่วยไม่ได้บรรเทาลงเลย และงานนี้พ่อแม่ได้กลับมาศึกษาลู่ทางที่จะทำได้เมื่อสาวน้อยเกิดจะไม่สบายในมหานครอีกค่ะ

เราได้ข้อสรุปการดูแล ปกป้องรักษาสาวน้อย แม้ว่าเราจะอยู่ห่างไกลกันตามสไตล์พ่อแม่บ้านนอก(เมือง)  นั่นคือ เมื่อไรก็ตามที่ได้รับสัญญาณอาการไม่สบาย โดยเฉพาะเจ็บคอ คอแดง (หลอดลมอักเสบแต่บางทีก็ไม่ใช่) เราสองคนพ่อแม่ หรือถ้าใครว่าง จะไปหาคุณหมอประจำตัวที่คลินิก เข้าคิวรอพบ กดโทรศัพท์ ส่งให้คุณหมอ และคนไข้คุยกับคุณหมอเองค่ะ  หลังจากได้ยามาเราก็จะไปไปรษณีย์ส่งยาด่วนไปให้ ระหว่างยายังไปไม่ถึงก็ต้องอาศัยยาจากร้านขายยาเภสัชไปก่อน (มันจำเป็นนี่คะ เพราะเธอกินยาไม่เหมือนชาวบ้าน) การรักษาเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดระยะเวลาสามปีค่ะ  และทุกครั้งที่กลับบ้าน เราจะต้องพาเธอไปพบคุณหมอ ป่วยไม่ป่วยก็ต้องเตรียมการเตรียมยาให้พร้อมค่ะ ทุกอย่างราบรื่น เรียบร้อย  ปฏิบัติเป็นกิจวัตร จนกระทั่ง...มีอีกอาการหนึ่งค่ะ

__ท้องผูก ในปีนี้เองค่ะ ปีที่สี่ของการพักอาศัยในมหานคร เมื่อสาวน้อยโอดโอยน้ำตาเล็ดมาตามสายโทรศัพท์คราวนี้เธอเจ็บท้อง คลื่นไส้ ถ่ายไม่ออก อาการแบบนี้หัวอกพ่อแม่ก็เป็นกังวลหนักแล้วค่ะ เพราะกลัวโรคหลายโรคที่ชอบมาแบบด่วนๆ อย่างเช่น ไส้ติ่งอักเสบ ร้อนถึงการวินิจฉัยและการบริหารจัดการ รอบนี้โชคดีที่เพื่อนฝูงของสาวน้อยหลายคนมาร่วมด้วยช่วยกันพาสาวน้อยไปโรงพยาบาล มีการวิเคราะห์ด้วยนะคะว่าไปโรงไหนดี ถ้าไปโรงของราชการเค้าคงไม่รับรักษาทันทีแน่ๆ ไปโรงเอกชนก็แล้วกัน แต่ที่ไหนดีล่ะ?  พ่อแม่อยู่ห่างไกลก็นอนไม่หลับรอฟังอาการเจ็บป่วย ร่ำๆจะเก็บกระเป๋าเตรียมตัวเดินทางไปหาสาวน้อยด้วย  สุดท้ายทุกอย่างผ่านไปด้วยดีโดยมีเพื่อนฝูงของสาวน้อยช่วยเหลือดูแลห่วงใยให้กัน ผลสรุปอาการครั้งนี้คือ...ท้องผูกค่ะอาการท้องผูกเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เด็ดขาดนะคะ ฉันเองก็ลืมนึกเรื่องนี้ไปนาน เพราะสาวน้อยไม่ชอบจะรับประทานผักผลไม้และยังรับประทานอาหารไปเป็นเวลาอีกด้วย เราเคยหาสารพัดอย่างที่จะช่วยให้อาการปวดท้องเพราะถ่ายไม่ออกบรรเทาลง แม้กระทั่งมีผู้แนะนำให้กินน้ำมันละหุ่ง ซึ่งได้ผลดีแต่ไม่อร่อยค่ะ

นอกจากอาการเจ็บป่วย ปวดฟัน ปวดศีรษะ เป็นไข้ คออักเสบ ท้องเสีย ท้องผูกเรื้อรัง ยังมีอาการที่มาแบบไม่คาดคิดอาทิเช่น  หกล้มหัวเข่าเจ็บกลางบนพื้นที่สาธารณะเพราะความรีบร้อน ทั้งที่มันเป็นเรื่องปกติ แต่ฉันรู้สึกไม่สบายใจเลยค่ะ


ท้ายที่สุดนี้ ความรู้สึกคนเป็นแม่พ่อ เรื่องอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของลูกหลานเวลาที่เขาหรือเธออยู่ห่างไกลสายตา  มันไม่ใช่ข่าวดีอะไรเลยนะคะ เราจะเตรียมพร้อมอะไรได้บ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับเครือญาติ  และถ้าเป็นการเริ่มต้นไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียวเองใหม่ๆ ยังไม่มีเพื่อนฝูงที่รักผูกพันเป็นเพื่อนรักเพื่อนเรียน เที่ยวเล่นและทำกิจกรรมร่วมกัน โจทย์เลี้ยงดูลูกรักบทนี้คงต้องให้ผู้ปกครองเก็บไปคิดวิเคราะห์กันเองแล้วค่ะ หากถึงเวลาที่ต้องปล่อยให้ลูกหลานไปเรียนหนังสือในมหานคร เมืองที่ต่างคนต่างอยู่และชีวิตดูรีบร้อนรีบเร่งวุ่นวาย ว่าท่านจะคิดเตรียมการอย่างไรดี.

หมายเหตุ เรื่องราวที่บันทึกไว้นี้เป้นเรื่องราวเล่าถึงลูกสาวหนึ่งเดียวในดวงใจของดาวลูกไก่  เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลเลี้ยงดู เฝ้ามองตั้งแต่แรกเริ่มเป็นแม่มือใหม่ ไม่มีสิทธิแก้ตัวเพราะมีลูกเพียงคนเดียว  จึงมีผิดบ้างถูกบ้าง อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่น่าทำตาม จึงขอให้ท่านที่อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการตัดสินนะคะ

หมายเลขบันทึก: 519834เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เทคนิคการไปคลีนิคแล้วให้คุยกับคุณหมอที่เราสนิทนี่ดีจริงๆ ครับ ในอนาคตอาจจะผ่าน FaceTime หรือ Skype ก็จะยิ่งดูอาการกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ ขอจำไว้ใช้ (แต่อีกหลายปีกว่าจะได้ใช้ครับ)

มีอะไรให้ช่วยก็โทรมาได้ตลอดเวลานะคะพี่ต๋อย 

สวัสดีค่ะอาจารย์ธวัชชัย

  • จริงด้วยค่ะ และยุคสมัยน้องต้นไม้คงจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่า Face Time / Skype ด้วยค่ะ
  • กลับมาอ่านบันทึกแล้วได้อีก 1 ข้อสรุปว่า เลี้ยงลูกก็มีกระบวนการจัดการ/มีทางเลือกให้ตัดสินใจเยอะเหมือนกันนะคะ

สวัสดีค่ะน้องอิง ชาดา ~natadee

  • สี่ปีแป๊บเดียว เพิ่งขนข้าวของเข้าที่พักไม่นาน นี่ได้เวลาขนย้ายข้าวของกลับบ้านแล้วนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ ลืมน้องอิงไปได้ยังไงเนี่ย

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ

+ สวัสดีค่ะท่านพี่ต๋อย...

+ ตามมาแล้วนะค่ะ...

+ อ่านบันทึกนี้ของท่านพี่แล้วพาให้คิดถึงบันทึกนี้ของตัวเองค่ะhttp://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/189292

+ ถ้าได้คิด...เช่นที่พี่ต๋อยบันทึกเยี่ยงนี้...ก็คงไม่ต้องเสี่ยงออกไปเช่นในบันทึก

+ เพราะเราก็มีญาติที่เป็นหมอ  เป็นพยาบาล ...โทร.ถามก่อนก็ได้

+ อีกไม่กี่ปีก็คงได้ใช้ตามบันทึกนี้ของท่านพี่ค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท