หนังสือเรียน ม.6 ใน 8 เดือน, ประกันคุณภาพ, ตัวบ่งชี้ที่ 12, โปรแกรมเทียบระดับ v 3.03, ปรับ งด.ขรก.ครู 1 ม.ค.55, ฟอร์มบันทึกข้อความ, โครงงาน, ประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษ


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  9  เรื่อง ดังนี้


         1. คืนวันที่ 13 ก.พ.56 คุณวรวรรณ ขรก.ครู กศน.อ.บ้านโป่ง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ฟอร์ม "บันทึกข้อความ" ต้องมีเส้นคั่นระหว่าง เรื่อง กับ เรียน หรือไม่

             เรื่องนี้  ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ ( ดูระเบียบ ในหน้า 30 ที่ https://dl.dropbox.com/u/109014048/MethodistArchives.pdf )  ไม่มีเส้น นะ
             แบบฟอร์มจะกำหนดถึงแค่ เรื่อง  ต่อจากนั้นว่างเปล่า ( ไม่ได้กำหนดอะไร ) ไม่มีแม้แต่คำว่า เรียน
             การที่ไม่ได้กำหนด ( ว่างเปล่า ) นี้ ไม่ได้แปลว่าถ้ามีคำว่า เรียน หรือมีเส้นแล้วผิด
             ผมคิดว่า มีเส้นหรือไม่มี ก็ได้
             แต่ที่ถูกต้องเหมาะสมกว่า คือ ไม่มีเส้น  ( เทียบเคียงกับ หนังสือราชการ "ภายนอก" ซึ่งไม่มีเส้นคั่นระหว่าง เรื่อง กับ เรียน )


         2. เย็นวันที่ 14 ก.พ.56 คุณบีบีฮวา สะมัท ครู กศน.ตำบล กศน.อำเภอบ้านแพ้ว ถามผมในเฟซบุ๊ค ว่า  โครงงานนักศึกษา จำเป็นต้องทำทุกเทอมหรือเปล่า

             ผมตอบว่า  ไม่จำเป็นต้องทำทุกภาคเรียน  ตลอดหลักสูตรให้ทำโครงงานอย่างน้อย 3 หน่วยกิต  (ตลอดหลักสูตรแต่ละระดับ เลือกทำโครงงานในวิชาเดียวก็ได้ ถ้าวิชานั้นไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต )  ในเรื่องโครงงานนี้ มีบางคนเข้าใจผิดว่าหมายถึงให้เรียนรายวิชาการทำโครงงาน ซึ่งเป็นรายวิชาเลือกวิชาหนึ่ง  ที่ถูกต้องคือการทำโครงงานจะทำในรายวิชาใดก็ได้ ( ในหลักสูตรกำหนดให้ทำโครงงานในรายวิชาเลือก แต่มีการประชุมกันแล้วว่าทำโครงงานในรายวิชาบังคับก็ได้ )  สำหรับวิชาเลือกรายวิชาการทำโครงงานนั้น จะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ แต่น่าจะให้เรียน เพื่อจะได้ทำโครงงานเป็น


         3. วันที่ 15 ก.พ.56 คุณนราภรณ์ ครูอาสาฯ กศน.อ.บางซ้าย โทร.มาถามผม เรื่อง การออกประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษ

             เรื่องนี้ สถานศึกษาสามารถออกประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษ ฉบับแปลจากภาษาไทย ให้ผู้เรียนได้ตามความต้องการของผู้เรียน  แต่ เนื่องจากโปรแกรม ITw ยังไม่มีเมนูให้ออกประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษ  มีแต่เมนูออกใบ รบ.ภาษาอังกฤษ  ( วันเสาร์ที่ 16 ก.พ.56 ผมได้เสนอคุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw  ให้พิจารณาว่าจะเพิ่มเมนูออกประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษได้หรือไม่ )  สถานศึกษาจึงไม่ออกประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษกัน ( ผมถาม กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ลาดบัวหลวง ที่ออกใบ รบ.ภาษาอังกฤษบ่อย  ทั้ง 2 แห่งนี้ก็ไม่เคยออกประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษเช่นกัน )
              ถ้าผู้เรียนต้องการมากกว่าใบ รบ.ภาษาอังกฤษ จะให้ใบรับรองการจบหลักสูตรฉบับภาษาอังกฤษแทน  ซึ่งต้องออกโดยสำนักงาน กศน.  มีขั้นตอนดังนี้
              - สถานศึกษาเสนอเรื่องถึง สนง.กศน.จังหวัด  พร้อมจัดส่งสำเนาใบ รบ.ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปด้วย
             - นายทะเบียน สนง.กศน.จังหวัด ลงนามรับรองสำเนาใบ รบ. และพิมพ์ร่างใบรับรอง เสนอเรื่องถึงสำนักงาน กศน.
             - เมื่อเลาขาธิการ กศน.ลงนามในใบรับรองแล้ว จะส่งคืน สนง.กศน.จังหวัด


         4. วันที่ 15-16-17 ก.พ.56 คุณอาคม ครู กศน.ตำบล กศน.อ.สามโคก เผยแพร่ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ( หลังจากการประเมินผ่านไป 2 และ 3 วัน  ซึ่งกรรมการประเมิน กศน.อ.สามโคก เป็นชุดเดียวกับการประเมินใน จ.พระนครศรีอยุธยา )  ว่า  สมศ.เข้า กศน.ตำบลหลายแห่ง แห่งสุดท้าย กศน.ตำบลบางโพธิ์เหนือ มีคำถามคร่าวๆ ดังนี้
              - ขอดูยอดผู้เข้าใช้สื่อ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ท ยืมคืนหนังสือ
              - สอบถามความสำเร็จของผู้เรียน ว่าจบไปแล้ว ไปประกอบอาชีพที่ดีหรือไม่
              - สอบถามการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย เคยแวะมาดูมั่งมั้ย
              - ดูหลักฐานการตรวจงานที่มอบหมายของครู ใบงาน ครูมีการให้คะแนนในใบงานหรือไม่  ( สมศ.พูดว่า ควรจะให้คะแนนเขาบ้าง เขาทำใบงานแทบตายส่งครู ก็หวังคะแนนนี่แหละ สมศ.ตรวจเอกสาร, กรต. ทุกหน้าตรวจคำผิดทุกคำ )
             - ครูมีการตรวจคำผิดของรายงาน ใบงานหรือไม่ ( การตรวจคำผิดคือการพัฒนาผู้เรียน )  ขอดูตารางคะแนนและการใช้ปากกาตรวจงาน บัญชีลงเวลาพบกลุ่มต้องเป็นแบบฟอร์ม ไม่ใช่กระดาษเปล่า ใครไม่มาก็ทำเครื่องหมายไว้ ว่าไม่มา
             - ดูแผนการสอนทั่วไป ถ้ามีวางไว้ก็ไม่ถามต่อ ถ้าไม่มีก็โดนถาม  ( ถ้าเป็นแผนบูรณาการ ต้องทำรวมกันเป็นคณะ )
             - มีการบันทึกหลังการสอนย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ภาค 1/53 ถึง 2/55  บันทึกด้วยลายมือท้ายแผนไปเลย กรรมการบอกผู้ที่บันทึกไม่ครบ ให้บันทึกย้อนหลังให้เสร็จในช่วงที่ประเมินนี้
             - ดูการสอน ดูวิธีการนำเข้าสู่บทเรียน
             - สอบถามชาวบ้าน ถ้าเดินผ่านมา
             - สอบถามเรื่องหนังสือพิมพ์ กศน.ตำบล
             - ตัวบ่งชี้ที่ 9-10 ของ สมศ. ต้องตอบได้โดยละเอียดว่า
               1)  อัตลักษณ์คืออะไร และอัตลักษณ์ของสถานศึกษานี้กำหนดไว้ว่าอย่างไร  ( “อัตลักษณ์สถานศึกษา" คือความดีที่สถานศึกษามีอยู่แล้ว และทำมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นจุดเด่น )
               2)  เอกลักษณ์คืออะไร และเอกลักษณ์ของสถานศึกษานี้กำหนดไว้ว่าอย่างไร
               3)  วิสัยทัศน์ของสถานศึกษานี้กำหนดไว้ว่าอย่างไร ใครรู้บ้าง  ( ต้องประกาศให้ผู้เรียน ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทราบและตอบได้ )
               4)  ทั้ง 3 ข้อเกี่ยวข้องกันอย่างไร  ( วิสัยทัศน์ เอกลักษณ์ เป็นที่มาของอัตลักษณ์ )
                     ( วิสัยทัศน์สำคัญที่สุด รองลงมาคือเอกลักษณ์ และรองลงมาอีกคืออัตลักษณ์  เจตนาของการประเมินรอบสามคือดูการพัฒนาตามวิสัยทัศน์  การพัฒนาตามวิสัยทัศน์-เอกลักษณ์จะปรากฏผลเป็นอัตลักษณ์ สมศ.ดูผลที่เกิดเป็นอัตลักษณ์จากแผนฯและ SAR ปี 54  โครงการที่พัฒนาตามวัสัยทัศน์-เอกลักษณ์ให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ต้องปรากฏอยู่ในแผนฯและมีผลอยู่ใน SAR  มีหลักฐานที่มาของผลใน SAR  โครงการไหนที่ไม่ปรากฏใน SAR อย่าเอามาอ้างถึง "อัตลักษณ์สถานศึกษา" )

             สรุปข้อดีของ กศน.อำเภอสามโคก เช่น
             - ผู้เรียนมีความสุข ( ดูจากการสังเกตและสัมภาษณ์ )
             - ชุมชนนำความรู้ที่เรียนจาก กศน.ไปใช้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีการเผยแพร่ต่อไปยังชุมชนอื่น ( ดูจากการสัมภาษณ์ผู้เรียน สัมภาษณ์ชุมชน และรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับ 5 )
             - มีการส่งเสริมการอ่านเคลื่อนที่ มีการส่งเสริมการใฝ่เรียนรู้ด้วยคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนท  (สมศ.บอกว่าข้อนี้ดีมากๆ)

             วันที่ 15 ก.พ. ( เป็นวันแรกของการประเมินที่ กศน. อ.สามโก้ )  คุณ “Jutarop Aiemsaard” มาโพสต์บอกว่า  วันแรกกรรมการเรียกครูมาสอบ 8 ข้อ เรียบร้อยแล้ว ( 8 ข้อ ในเกณฑ์ตามตัวบ่งชี้ที่ 6.2 ของ สมศ. )


         5. เช้าวันเสาร์ที่ 16 ก.พ.56 ผมนำลิงค์ดาวน์โหลดหนังสือเรียน “การยกระดับการศึกษา จบ ม.6 ใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ” ทั้ง 10 เล่ม ของกลุ่มพัฒนา กศน. ไปโพสท์ในเฟซบุ๊ค
             ( ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลด  มีขนาดไฟล์รวม 10 เล่ม ใหญ่ถึง 58 MB เป็นต้นฉบับให้ สนง.กศน.จังหวัด ทุกจังหวัด ใช้จัดจ้างพิมพ์ให้ผู้สมัครทุกคนอยู่แล้ว )
             แต่สำหรับผู้สมัครที่ขยัน จะดาวน์โหลดไปอ่านล่วงหน้าเพื่อความได้เปรียบก็ได้ เพราะเมื่อสมัครแล้วจะมีการประเมินรอบแรก ถ้าใครไม่ผ่านวิชาไหนก็ต้องเรียนวิชานั้น การประเมินรอบแรกในภาคทฤษฎี ข้อสอบก็จะออกในแนวตามหนังสือนี้ ( ประเมินรอบแรกถ้าผ่านภาคทฤษฎีต้องประเมินภาคประสบการณ์ด้วย วิชาไหนผ่านทั้ง 2 ภาคก็ไม่ต้องเรียนวิชานั้น )
             ปกติจะมี 9 วิชา แต่วิชาภาษาต่างประเทศ ให้เลือกระหว่าง ภาษาอังกฤษ กับภาษาจีน จึงแยกหนังเรียนวิชาภาษาต่างประเทศเป็น 2 เล่ม รวมทั้งหมดเป็น 10 เล่ม
             ใครสนใจ ดาวน์โหลดได้ที่
             http://www.pattanadownload.com/download/g.6/g6.8.rar


         6. วันเดียวกัน ( 16 ก.พ. ) คุณบดินทร์ ผลเพิ่ม ครู ศรช.มุกดาหาร ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org ว่า  อยากทราบแนวทางการตอบคำถาม พร้อมกับเอกสารที่จะต้องให้คณะ สมศ.ตรวจ ในตัวบ่งชี้ที่ 12 “ผลการส่งเสริม พัฒนาสถานศึกษาเพื่อยกระดับมาตรฐาน รักษามาตรฐาน และพัฒนาสู่ความเป็นเลิศที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา”

             ผมตอบว่า  วิธีเตรียมที่ตรง คือ รวบรวมหลักฐานเอกสารตาม "เกณฑ์การพิจารณา"ของแต่ละตัวบ่งชี้ ( ถ้าจะให้ตรง ให้ได้คะแนน ก็เน้นที่เกณฑ์ของ สมศ. )
             โดยหาให้ได้ว่า เกณฑ์ "แต่ละข้อ" จะใช้หลักฐานเอกสารอะไร
             "เกณฑ์การพิจารณา" ตามตัวบ่งชี้ที่ 12 มี 4 ข้อ  ก็ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานให้ได้ครบทั้ง 4 ข้อ
             ข้อ 1 ให้นำเล่มเอกสารสรุปผลการประเมินภายนอกของ สมศ.ในรอบสองมาดูตรงหน้า "ข้อเสนอแนะ" แล้วสรุปข้อเสนอแนะออกมาเป็นประเด็น เป็นเรื่อง ๆ ว่า เขาเสนอแนะเรื่องอะไรบ้าง  แล้วนำมาเทียบกับงาน/โครงการในแผนปฏิบัติงานที่ทำหลังจากได้รับข้อเสนอแนะนั้นแล้ว ว่ามีงาน/โครงการใดที่ตอบสนองข้อเสนอแนะแต่ละข้อ  พิมพ์ออกมาเป็นตารางเลยว่า ข้อเสนอแนะข้อ 1 ตอบสนองด้วยงาน/โครงการใด   ข้อ 2 เสนอแนะว่าอะไร ตอบสนองด้วยงาน/โครงการใด ( ถ้าชื่องาน/โครงการ มันกว้าง ไม่ชัดเจน ก็ระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะ ไว้ด้วย )  หลักฐานในข้อนี้ก็คือแผนพัฒนาคุณภาพ และแผนปฏิบัติการประจำปี
             ข้อ 2 หลักฐานเอกสารคือ ข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กศน.อำเภอกับ กศน.จังหวัด หรือหน่วยงานอื่น ที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือข้อมูลเชิงประจักษ์  ข้อนี้หมายถึง "งาน/โครงการที่เราอ้างในข้อ 1  นั้น ดำเนินการเกี่ยวข้องกับ กศน.จังหวัดและหน่วยงานอื่นอย่างไร เช่น
                   - หลักฐานการอนุมัติแผนปฏิบัติงาน หรืออนุมัติโครงการ ของ กศน.จังหวัด, บันทึกข้อตกลงการปฏิบัติงาน
                   - เอกสารหลักฐาน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU ) หรือภาพถ่าย ที่เกี่ยวข้องว่ามีการร่วมกันดำเนินงานโครงการนั้น กับ กศน.จังหวัดหรือหน่วยงานอื่น ๆ
             ข้อ 3 เอกสารหลักฐานคือ สรุปผลการดำเนินงานโครงการนั้น โดยในสรุปผลนี้ต้องมีครบ P D C A คือ
                    - P  มีโครงการ และองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน กำหนดการ หนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ
                    - D  มีหลักฐานการดำเนินงาน เช่น คำกล่าวรายงาน-คำกล่าวเปิด บัญชีลงเวลาเข้าร่วมโครงการ ภาพถ่ายกิจกรรมการทำโครงการ ฯลฯ
                    - C  มีหลักฐานการประเมินผลโครงการ ( ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการ ) เช่น แบบประเมิน เครื่องมือประเมินต่าง ๆ ผลการประเมิน
                    - A  มี "สรุปผลการดำเนินโครงการ + ปัญหาอุปกสรรค + ข้อเสนอแนะ" และมีตัวอย่างการนำ "ข้อเสนอแนะ" ในเล่มนี้ ไปดำเนินการจริง หรือนำไปใช้ในการจัดโครงการลักษณะนั้นในครั้งต่อไป ( ตัวอย่างนี้อยู่นอกเล่มสรุปผลการดำเนินงาน )
             ข้อ 4. หลักฐานเอกสารคือ นำ "สรุปผลการดำเนินโครงการ" ในส่วนของ A ของข้อ 3 แต่ละโครงการ มารวมสรุปว่าโครงการเหล่านี้ส่งผลดีก่อให้เกิดคุณภาพในการจัดการศึกษา/ผลดีต่อชุมชน อย่างไร พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ ( ถ้ามี ) เช่น ภาพถ่าย, โล่-รางวัล-เกียรติบัตรที่สถานศึกษาและบุคลากรได้รับ, โล่-รางวัลเกียรติบัตรที่กลุ่มเป้าหมาย/ผู้รับบริการได้รับ ฯลฯ


          7. วันที่ 18 ก.พ.56 คุณ “หนึ่งกำลังใจ น๊ะ” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  คอมฯที่ สนง. ข้อมูลหายหมด จึงลงโปรแกรมเทียบระดับใหม่ v 3 เลย แต่บันทึกข้อมูลเก่าลงไม่ได้  จะบันทึกลงในโปรแกรม v.2 ก่อน จะหาโปรแกรม v.2 ได้ที่ไหน
              ผมตอบว่า  คุยกับผู้เขียนโปรแกรมเลยดีกว่า ( อ.สวรรค์ กศน.อ.เมืองอุทัยธานี )  โดยเข้าไปที่ http://oniela.blogspot.com/p/blog-page.html  ตรงเมนู "ติดต่อผู้พัฒนาโปรแกรม" จะมีอีเมล์และเบอร์โทรศัพท์ของอาจารย์อยู่  ถามอาจารย์เลยว่ากรณีนี้ต้องลง V.2 ก่อนไหม หาโปรแกรม V.2 ได้ที่ไหน  ( ตอนนี้โปรแกรมพัฒนาถึง v. 3.03 แล้วนะ ดาวน์โหลดได้ในเว็บตามลิงค์นี้แหละ )


         8. วันที่ 19-20 ก.พ.56 ผมไปราชการดังนี้
              - ช่วงเช้า 19 ก.พ. ไปเป็นกรรมการคัดเลือกสุดยอด กศน.ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ สนง.กศน.จ.อย.
              - ช่วงบ่าย 19 ก.พ. ร่วมไปนิเทศความพร้อมรับการประเมินภายนอกรอบสาม ที่ สนง.กศน.อ.อุทัย อย.
              - 20 ก.พ. ไปร่วมรับฟังกรรมการประเมินฯ สรุปการประเมินภายนอกรอบสามของ กศน.อ.บ้านแพรก อย.   ผลสรุปคือ "สบายใจได้" ( ผ่าน )   กรรมการท่านหนึ่ง ( นางวัลย์ภา ) บอกผมว่า ในตัวบ่งชี้ใด ถ้าเราคำนวณ "ร้อยละของผู้เรียนที่ผ่านเกณฑ์" ไว้สูงมาก กรรมการก็จะขอดูหลักฐานและขอสัมภาษณ์มาก


         9. วันที่ 20 ก.พ.56 ผมคุยกับ กจ. เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการปรับเงินเดือนของรัฐบาล เมื่อ 1 ม.ค.55 ซึ่ง พนักงานราชการ ข้าราชการพลเรือน บุคลากรทางการศึกษาอื่น ปรับไปเรียบร้อยนานแล้ว แต่ข้าราชการครูยังไม่ได้ปรับ ว่า ทำไปถึงไหนแล้ว  กจ.บอกว่า ในส่วนของ ขรก.ครู ต้องตรวจสอบคุณสมบัติ/หลักฐาน 2 ประเด็นสำคัญ คือ
             - มีปริญญา ที่ ก.ค.ศ.รับรอง
             - มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ต่ออายุเรียบร้อยแล้ว
             ปรากฎว่า จากการทวงถาม บางราย ทำเรื่องต่ออายุใบประกอบวิชาชีพครูไปนานแล้ว แต่ไม่ติดตามทวงถามกับคุรุสภา ตอนนี้ยังต่ออายุไม่เรียบร้อย ก็มีปัญหา บางรายจบปริญญาโทที่ ก.ค.ศ.ไม่รับรอง ก็ต้องรับเงินเดือนแค่ตามวุฒิปริญญาตรี
             จนท.กจ. ให้ผมเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตเรื่อง 2 ประเด็นที่ครูต้องให้ความสำคัญนี้ ( จนท.กจ. ไม่ให้ผมบอกหรอกว่า จนท.กจ.ให้ช่วยเผยแพร่ )  อย่าปล่อยให้หมดอายุ คุรุสภากำหนดให้ขอต่ออายุก่อนวันหมดอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน  ถ้าทำเรื่องต่ออายุแล้วก็ต้องติดตามด้วย จะเรียนปริญญาโทก็ตรวจสอบให้ดีว่าเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองหรือไม่
             เรื่องการปรับเงินเดือน ขรก.ครู ย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค.55 นี้ ยังไม่แน่ว่าจะเสร็จภายในเดือน มี.ค.56 หรือไม่  ( กจ.บอกว่า ของ สพฐ. ก็ยังไม่เสร็จ แต่ ขรก.ครูไม่ค่อยเดือดร้อนเพราะคนที่ยังเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ถึงจะได้ปรับก็ไม่ได้เงิน เนื่องจากต้องคืนค่าครองชีพ  ส่วนผู้ที่จะได้ปรับเกิน 15,000 บาท จึงจะได้เงินเพิ่ม โดยถ้าปรับเสร็จก็จะได้เงินตกเบิกปีกว่า )



หมายเลขบันทึก: 520095เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2013 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2013 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อาจารย์อธิบายได้เข้าใจชัดเจนดีมากค่ะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

อาจารย์ครับ ผมมีเรื่องรบกวนเรียนถามนิดนึง ขณะนี้ กจ.ประกาศรับสมัคร รอง ผอ.สถานศึกษาและ ผอ.สถานศึกษา แต่หลักฐานที่ใช้สมัครทั้งสองตำแหน่งนี่้ในกลุ่มทั่ี่วไป เน่้นกลุ่มทั่วไปนะครับ ข้อ 5 กำหนดว่าต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา ซึ่งใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา ต้องใช้สอบ รอง ผอ. หรือ ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม. ไม่ใช่หรือครับ ผู้ที่จะขอใบนี้ได้ต้องเป็น ผอ.สถานศึกษามาก่อนใช้ไหมครับ แล้วแบบนี้ครูทั้งหลายรวมทั้งบรรณารักษ์ด้วย จะสมัครได้หรือครับ เพราะไม่มีใบนี้กัน มีแต่ใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ขอบคุณครับ

เพิ่มอีกนิดครับท่าน ผมหมายถึงใบสมัครนะครับ ที่กำหนดไว้แบบนั้น ส่วนในตัวประกาศนะถูกต้องแล้วครับ

เขาพิมพ์ผิดน่ะซีครับ ที่ถูกต้องเป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา เราก็แนบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาครับ เขาคงรู้ว่าใบสมัครพิมพ์ผิด

ขอบคุณมากครับพี่เอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท