Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้และทัศนคติต่อประชาคมอาเซียน ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม


แพรภัทร ยอดแก้ว. (2556). “ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้และทัศนคติต่อประชาคมอาเซียน ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม”. ในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ SMARTS ครั้งที่ 3 , (หน้า 97-99) . วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. นครปฐม: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับความหลากหลายทั้งด้านสังคมและระบบเศรษฐกิจ  ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก ทำให้หลายประเทศต้องเร่งเตรียมพร้อมโดยการสร้างกลไกและพัฒนาคนในประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้น  จะได้สามารถปรับตัวและรู้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและเท่าเทียมทุกประเทศ

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association  of South East  Asian Nations หรือ ASEAN) หรือ อาเซียน ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพฯ (The Bangkok Declaration)  ที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 จากการลงนามโดยสมาชิกผู้ก่อตั้งรวม 5 ประเทศ ซึ่งในระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้มีพัฒนาการมาเป็นลำดับและไทยก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือของอาเซียนให้มีความก้าวหน้ามาโดยตลอดการก่อเกิดประชาคมอาเซียน เป็นผลจากความตระหนักร่วมกันของประเทศสมาชิกในการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาค เพื่อให้บรรดาประเทศสมาชิกนั้นสามารถมีความมั่นคงและดำรงสันติสุขอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน 

การรวมกันผนึกกําลังของอาเซียนโดยมีประเทศสมาชิก10 ประเทศได้แก่ ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐอินโดนิเซีย มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม  สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพพม่าและราชอาณาจักรกัมพูชาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นนั้น ย่อมทําให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและปัญหาท้าทายจากกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยให้เสียงของอาเซียนมีน้ำหนักในเวทีระหว่างประเทศ เพราะการที่สมาชิกทั้ง 10 ประเทศมีท่าทีเป็นหนึ่งเดียว จะช่วยทําให้ประเทศต่างๆและกลุ่มความร่วมมืออื่น ๆ ให้ความเชื่อถือในอาเซียนมากขึ้นและทําให้อาเซียนมีอํานาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย

ประเทศไทยได้มีบทบาทเชื่อมโยงประเทศที่ตั้งอยู่บนภาคพื้นทวีปและประเทศที่เป็นหมู่เกาะทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางและประเทศไทยก็ยังคงมีบทบาทผู้นำในอาเซียนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งระบบเศรษฐกิจโลกจะมีการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางมายังเอเชียมากขึ้น ขณะที่ประเทศต่างๆ จะเดินหน้าเปิดเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ ภาวะไร้พรมแดนจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป  ซึ่งในศตวรรษที่ 21 จะเกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่สามกลุ่ม คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิเอเชียตะวันออก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในทวีปอเมริกา การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรป ขณะที่มนุษยชาติต้องเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติและภาวะโลกร้อน เป็นต้น ดังนั้น ในแง่ของการศึกษา นักศึกษาจะต้องมีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก ช่วยพัฒนาตนเองและพัฒนาประเทศให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2015 (2558) มีความรู้และทัศนคติที่ดีต่อประชาคมอาเซียน  มีความกระตือรือร้นทางวิชาการและวิชาชีพที่ตัวเองเรียนมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างโอกาสจากการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและโอกาสการทำงานที่เพิ่มขึ้นในประชาคมอาเซียน ซึ่งทัศนคติที่ดีต่อประชาคมอาเซียนจะช่วยสร้างสรรค์ให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง แบ่งปัน เอื้ออาทรต่อกัน มีความสงบสุข ก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป


เรื่องของทัศนคติได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางและเป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาสังคมสนใจมาก จนกระทั่งในปัจจุบันก็ยังมีการศึกษากันอยู่ตลอดเวลา  ทั้งนี้เพราะกาลเวลาที่ผ่านไป  ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ในสังคมเปลี่ยนไป  เมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยน  ทัศนคติของคนเราก็ย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย (ทรงพล, 2538:132) ซึ่งนักจิตวิทยาและนักการศึกษาส่วนใหญ่เชื่อว่าทัศนคติเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดกับพฤติกรรมและอาจเป็นสาเหตุของพฤติกรรมที่แสดงออกหรือพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นส่วนหนึ่งของทัศนคติ  ดังนั้น การที่จะเข้าใจพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  ควรทำความเข้าใจกับทัศนคติของบุคคลนั้นก่อน เพราะจะช่วยให้การตีความพฤติกรรมของบุคคลนั้นมีความหมายมากขึ้น โดยทัศนคติของบุคคล และทัศนคติของผู้อื่นที่มีต่อบุคคลนั้น ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและผลการปฏิบัติงาน (Lussier, 1999: 74) จะเห็นได้ว่า  สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวบุคคล  มีผลต่อทัศนคติของบุคคล  โดยทั่วไปแล้ว บุคคลไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมของตนเองได้  แต่บุคคลสามารถควบคุมทัศนคติของตนเองได้ บุคคลสามารถเลือกที่มองโลกคนในแง่ดีหรือร้าย  บุคคลสามารถมองทุกอย่างในแง่บวกมากขึ้น
และเป็นคนที่มีความสุขมากยิ่งขึ้น และใช้ชีวิตที่ดีมากขึ้นได้ ซึ่งทัศนคติเชิงบวกที่มีต่องานนั้น เป็นสิ่งสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในอาชีพบุคคล
(Lussier, 1999: 79) 


ดังนั้น  ผู้วิจัยในฐานะพลเมืองอาเซียน จึงมีความสนใจที่จะศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เพื่อส่งเสริม สนับสนุนภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ดีต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษา  รวมทั้งเป็นแนวทางในการทำวิจัยต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษาระดับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลระดับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง กับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. เพื่อทราบระดับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

2. เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลระดับความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

3. เพื่อทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง กับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

4. เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนภายใต้แนวคิดประชาคมอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

 

ขอบเขตการวิจัย


การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม:  ศึกษากรณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมปีที่ 1 และ 2 ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาอาเซียนศึกษา ในภาคการศึกษาที่ 1 ปี 2555  จำนวน 2,500 คน 

วิธีการวิจัย

การศึกษาวิจัยครั้งนี้  เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative  Research)  โดยการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey  Research) จากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม  เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ซึ่งใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล 


ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง


ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมที่ลงทะเบียนเรียนวิชาอาเซียนศึกษา ในภาคการศึกษาที่ 1 ปี 2555  จำนวน 2,500 คน  และการวิจัยครั้งนี้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง (Sample  size) โดยคำนวณหาขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่น้อยที่สุดที่จะยอมรับได้ว่ามากพอที่จะใช้เป็นตัวแทนของประชากรได้ตามสูตรของTaro  Yamane(Yamane, 1973: 727) ดังนั้น  การวิจัยครั้งนี้ จำแนกตามระดับความคลาดเคลื่อนในการประมาณค่าที่ระดับความเชื่อมั่นในการเลือกตัวอย่าง 95%โดยยอมให้เกิดความผิดพลาดได้ไม่เกิน5%จะได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง  จำนวนทั้งสิ้น 345 คน

 

การสุ่มกลุ่มตัวอย่าง

การวิจัยครั้งนี้ ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คือ เลือกกลุ่มตัวอย่างที่ลงทะเบียนเรียนวิชาอาเซียนศึกษาแล้วใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น  (Stratified  Random Sampling)  โดยแบ่งประชากรออกเป็นชั้นๆ ตามโปรแกรมวิชาที่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สังกัดอยู่ จากนั้น ใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple  Random Sampling)  สุ่มเลือกมาได้จำนวนตามขนาดกลุ่มตัวอย่าง  จำนวน 345 คน  ตามที่ต้องการ

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย


การวิจัยครั้งนี้  ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามชนิดปลายปิด (Close – ended  Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างขึ้นเอง เพื่อให้ได้ข้อคำถามครอบคลุมวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษา  โดยมีวิธีการสร้างแบบสอบถาม 

 

ส่วนที่ 1 เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม  ประกอบด้วย เพศ และโปรแกรมวิชาจำนวนทั้งหมด 2  ข้อ


ส่วนที่ 2 เป็นข้อคำถามวัดระดับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยนำมาจากปริญญานิพนธ์เรื่องผลการฝึกอบรมภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้นำนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของผศ.ดร.รัตติกรณ์  จงวิศาล (2543)  ได้ค่าความเชื่อมั่น .936 โดยยึดแนวคิดและองค์ประกอบของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงแบบ 4 องค์ประกอบมาตั้งเป็นข้อคำถาม  ซึ่งมีลักษณะเป็นมาตราส่วน (Scale) ตามแบบการประเมินค่า (Rating Scale) โดยใช้การประเมินค่าของลิเคอร์ท  (Likert’s  Scale) ที่ให้ผู้ตอบประเมินค่า (1
– 5) ด้วยการเลือกเพียงคำตอบเดียว ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน  47  ข้อ  ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  4  ด้าน ดังนี้

1. ด้านการมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์    มีจำนวน  18 ข้อ  ได้แก่  ข้อ 1 – 18

2. ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ  มีจำนวน  10  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  19 – 28

3. ด้านการกระตุ้นทางปัญญา    มีจำนวน  10  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  29 – 38

4. ด้านการคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล  มีจำนวน  9  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  39 – 47


ส่วนที่ 3 เป็นข้อคำถามวัดระดับความรู้ ซึ่งผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นมา  โดยมีการให้เลือกเพียงคำตอบเดียว ( ใช่ หรือ ไม่ใช่ )  จำนวน  20  ข้อ ดังนี้

คำถามเชิงบวก (Positive) เป็นคำถามที่ตอบว่า “ผิด” จะไม่ได้คะแนน  ดังนั้นจะต้องตอบว่า  “ถูก”  จึงได้คะแนน  มีคำถามเชิงบวก  อยู่ 10 ข้อ  ได้แก่ ข้อ 4,5,7,9,11,12,15,16,18,20

คำถามเชิงลบ (Nagative) เป็นคำถามที่ตอบว่า “ถูก” จะไม่ได้คะแนน  ดังนั้นจะต้องตอบว่า  “ผิด”  จึงได้คะแนน  มีคำถามเชิงลบ อยู่ 10 ข้อ  ได้แก่ ข้อ 1,2,3,6,8,10,13,14,17,19

ส่วนที่ 4  เป็นข้อคำถามวัดระดับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองจากการตรวจสอบเอกสาร  แนวคิดเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และแนวคิดเกี่ยวกับทัศนคติ  โดยยึดองค์ประกอบของทัศนคติแบบ 3 องค์ประกอบมาตั้งเป็นข้อคำถาม  ซึ่งมีลักษณะเป็นมาตราส่วน (Scale) ตามแบบการประเมินค่า (Rating Scale) โดยใช้การประเมินค่าของลิเคอร์ท  (Likert’s  Scale) ที่ให้ผู้ตอบประเมินค่า (1- 5) ด้วยการเลือกเพียงคำตอบเดียว ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน  45  ข้อ  ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน 3  ด้าน  ดังนี้

1. ด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) มีจำนวน 15  ข้อ  ได้แก่ ข้อ 1 – 15
2. ด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  มีจำนวน  15  ข้อ ได้แก่  ข้อ  16 - 30

3. ด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC)  มีจำนวน  15  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  31 - 45


นอกจากนี้ ข้อคำถามจำนวน  45  ข้อนั้น ยังครอบคลุมแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับทัศนคติในองค์ประกอบทั้ง  3  ด้าน  คือ

1. องค์ประกอบด้าน ความรู้ ความเข้าใจ (Cognitive Component) มีจำนวน  15  ข้อ

ข้อคำถามเชิงบวก  ข้อที่  1,2,3,4,5,16,17,18,19,20,31,32,33,34 และ 35


2. องค์ประกอบด้านอารมณ์ความรู้สึก (Affective Component)   มีจำนวน  15  ข้อ

ข้อคำถามเชิงบวก  ข้อที่  6,7,8,9,10,21,22,23,24,25,36,37,38,39 และ 40


3. องค์ประกอบด้านพฤติกรรม (Behavioral Component)   มีจำนวน  15 ข้อ

ข้อคำถามเชิงบวก  ข้อที่ 11,12,13,14,15,26,27,28,29,30,41,42,43,44  และ 45

การทดสอบเครื่องมือในการวิจัย

ผู้วิจัยนำแบบสอบถามที่สร้างขึ้น  เพื่อการวิจัยครั้งนี้  ไปทดสอบความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่น  ดังนี้


1. การหาความเที่ยงตรง (Validity) โดยนำแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นไปตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียน
เพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้องหาความเที่ยงตรงเนื้อหา (Content Validity) และการใช้ถ้อยคำ (wording) ของคำถามในแต่ละข้อว่าตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยหรือไม่  แล้วนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแก้ไขแบบสอบถามให้เหมาะสมกับการเก็บข้อมูลจริง  จากนั้นนำไปทดลองใช้ (Try out) กับ
นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการศึกษา  จำนวน 30 คน เพื่อดูความเข้าใจในแบบสอบถาม ความชัดเจนของเนื้อหา และผู้ตอบสามารถตอบได้ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วจึงนำมาคำนวณหาความสัมพันธ์รายข้อกับคะแนนรวม (Item Total Correlation ) และหาความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถาม โดยใช้วิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของคอนบาค( Cronbach’s Coefficient Alpha )  ก่อนนำไปปรับใช้


2. การหาความสัมพันธ์รายข้อกับคะแนนรวม ( Item  Total Correlation ) เป็นการวิเคราะห์ตรวจสอบความสัมพันธ์  สอดคล้องกับคะแนนรายข้อกับคะแนนรวมทั้งฉบับของแบบสอบถามโดยหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน 
โดยเลือกข้อที่มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .36 ขึ้นไป นำไปใช้

3. การหาความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถามรายด้านและทั้งฉบับโดยใช้วิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของคอนบาค ( Cronbach’s Coefficient Alpha ) ได้ผลดังนี้

 

3.1 แบบสอบถามภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ  .8547  เมื่อวิเคราะห์ตามองค์ประกอบรายด้านได้ค่าความเชื่อมั่น ดังนี้

1.ด้านการมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์      เท่ากับ  .8242

2. ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ    เท่ากับ  .8379

3. ด้านการการกระตุ้นทางปัญญา      เท่ากับ  .8405

4. ด้านการคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล    เท่ากับ  .8367


3.2 แบบสอบถามความรู้ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ  .778

 

3.3  แบบสอบถามทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ  .9205

เมื่อวิเคราะห์ตามองค์ประกอบรายด้านได้ค่าความเชื่อมั่น ดังนี้

1. ด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC)   เท่ากับ  .9034

2. ด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  เท่ากับ  .9076

3. ด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC)  เท่ากับ  .9034

การเก็บรวบรวมข้อมูล


การเก็บรวบรวมข้อมูลคณะผู้ทำวิจัยได้ดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้

1.  ส่งแบบสอบถามเพื่อการวิจัยให้แก่นักศึกษา

2. นำแบบสอบถามที่ได้รับกลับคืนมา จำนวน 345 ชุด คัดลอกเฉพาะตอนที่สมบูรณ์ทำการตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดและนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติต่อไป


การวิเคราะห์ข้อมูล


ในการวิจัยครั้งนี้ ได้นำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากกลุ่มตัวอย่าง มาทำการตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล แล้วคัดเลือกแบบสอบถามที่สมบูรณ์นำมาเข้ารหัส (Coding)  และบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ 
จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์


 

ผลการวิจัย พบว่า


  1) นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับสูง มีความรู้เกี่ยวกับอาเซียน อยู่ในระดับมาก และมีทัศนคติต่ออาเซียน อยู่ในระดับดี

 

  2) นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมที่มีโปรแกรมวิชาต่างกันมีทัศนคติต่อประชาคมอาเซียน แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01และ .05  ทั้งโดยรวมและรายด้าน

 

  3) นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่มีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน  มีทัศนคติต่ออาเซียน แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

 

  4) ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีความสัมพันธ์ทางบวกกับทัศนคติต่ออาเซียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ
.01

แบบสอบถามทัศนคติด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505373

แบบสอบถามทัศนคติด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505376

แบบสอบถามทัศนคติด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/505377

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

http://www.gotoknow.org/blog/aseanstudies

หมายเลขบันทึก: 520460เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2013 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2013 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีงานวิจัยที่เป็นฉบับเต็มมั๊ยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท