จิตวิญญาณแห่งสันติวิธีและแนวปฏิบัติ


คำ "สันติวิธี" โดยตัวภาษาบอกอยู่แล้วว่าเป็นวิธีที่อาศัยความสงบ ซึ่งวิธีนี้มีหลักการสำคัญสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนอะไร นั่นคือ ไม่ใช้ความรุนแรงทั้งโดยกาย วาจา หรือแม้แต่ใจ ไม่ต้องอิงศาสนาไหนหรือทฤษฎีการเมืองใด หรือในหนังสือเล่มไหนก็ได้ เพราะมันอยู่ภายในใจของนักสันติวิธีแต่ละคนเอง 

ในทางปฏิบัติ นักสันติวิธีที่แท้จริงจะไม่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งในชีวิตส่วนตัว ครอบครัว หรือในสังคม แม้จะมีผู้ใช้ความรุนแรงจะโดยวาจาหรือกายต่อเขา ก็ไม่ใช้ความรุนแรงทั้งทางกายและวาจากลับ เรียกว่า ไม่ใช้วิธีของอันธพาลไปสู้กับอันธพาล ไม่ใช้สงครามไปสู้กับสงคราม (อย่างเหตุการณ์ 16 คนถูกสังหารหน้าค่ายทหารที่นราธิวาสเมื่อเร็วๆ นี้ โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เห็นด้วยกับฝ่ายใดก็ตามที่ใช้ความรุนแรง ใช้การฆ่าฟัน การก่อวินาศกรรม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ถูกเรียกว่าโจรก่อการร้ายหรือฝ่ายไหน เหตุการณ์นั้นหากผมรู้ล่วงหน้าจากการข่าวว่าจะมีการเข้าโจมตี ผมเลือกที่จะไม่วิสามัญเขา แต่จะบอกพวกเขาก่อนว่า อย่ามาเลย ผมรู้แล้วนะ ผมไม่อยากทำร้ายพวกคุณ แม้พวกคุณจะทำร้ายพวกผม ถ้าฝ่ายราชการมีทัศนคติอย่างนี้และอดทนสูงอย่างนี้ ผมเชื่อและหวังว่าในที่สุดฝ่ายที่เลือกใช้วิธีรุนแรงก็จะหันมาเลือกการเจรจาในที่สุด ถ้ายังเข้าลักษณะ "แค้นต้องชำระ" หรือ "เลือดต้องล้างด้วยเลือด" ไม่สันติวิธีอย่างนี้ ความรุนแรงก็จะรุนแรงขึ้น ถ้าเหตุการณ์ใกล้เคียงสงครามอยู่แล้วก็ยกระดับขึ้นสู่สงครามเร็วขึ้นอีก)

นักสันติวิธีโดยทั่วไปจะรู้สึกว่า "แม้ฉันไม่เห็นด้วยกับการกระทำของคุณ แต่ฉันจะไม่ตอบโต้ด้วยวิธีรุนแรงอย่างคุณอย่างเด็ดขาด แม้คุณจะทำร้ายฉัน ฉันก็ให้อภัยคุณและรักคุณในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเสมอ" 

เมื่อหลักการง่ายๆ นี้มั่นคงแล้ว การลงสู่บริบทจริงของแต่ละเหตุการณ์ แต่ละพื้นที่ ก็ประยุกต์ไม่ยาก เช่น เมื่อคราวคานธีนำชาวอินเดียดื้อแพ่งต่อกฎหมายเกลือ (อังกฤษห้ามคนอินเดียทำเกลือโดยไม่ได้รับอนุญาต) ชาวอินเดีย(ที่ได้รับการอบรมดีแล้วเป็นกองหน้าเดินแถวเรียงสี่เข้าไปให้ตำรวจใช้กระบองตีล้มลงกับพื้นคนแล้วคนเล่าโดยไม่มีใครตอบโต้ ฝ่ายผู้หญิงที่เตรียมเต้นท์พยาบาลไว้พร้อมแล้วก็ทำหน้าที่เข้าไปยกผู้ชายที่ถูกตีออกไปปฐมพยาบาล นักสันติวิธีเหล่านี้ไม่แม้แต่จะยกมือขึ้นสูง (การยกมือขึ้นมักทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าจะต่อสู้) จนถึงขั้นหนึ่งตำรวจที่ตีผู้ประท้วงคนแล้วคนเล่าอยู่ข้างเดียวเริ่มทำใจไม่ได้ (ทนต่อสำนึกฝ่ายดี-ความเมตตาที่อยู่ในส่วนลึกในจิตใต้สำนึกของตนไม่ได้) ยอมที่จะวางกระบอง ไม่ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาแม้อาจจะถูกลงโทษภายหลัง กระทั่งผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันที่ไปทำข่าวเหตุการณ์นี้ทนไม่ได้ถึงกับรายงานข่าวกลับไปยังสำนักข่าวของตนทางโทรศัพท์ว่า "เหตุการณ์แห่งความป่าเถื่อน" (เหตุการณ์ดื้อแพ่งต่อกฏหมายเกลือเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การได้เอกราชของอินเดีย)

ในการประท้วงครั้งหนึ่ง อังกฤษใช้ตำรวจม้าตะลุยเข้ามากลางฝูงชน ผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งกระชากตำรวจลงมาทำร้าย ทำให้คานธีเสียใจมาก บอกว่าเป็นความผิดของท่านเอง และเป็นความผิดที่ "ใหญ่หลวงขนาดภูเขาหิมาลัย" ท่านบอกว่าเป็นเพราะท่านเองที่อบรมประชาชนไม่ดีพอ หลังจากนั้นจึงได้มีการตั้งหน่วยฝึกอบรมสำหรับให้การอบรมประชาชนเรื่องการต่อสู้แบบอหิงสา

การต่อสู้ด้วยอหิงสา (โดยรูปศัพท์แปลว่า ไม่ใช้ความรุนแรง) จำเป็นที่ต้องใช้ความอดทน (ขันติ) สูงมาก และรอคอยได้แม้ตลอดชาตินี้ของเราจะไม่สำเร็จ การได้เอกราชของอินเดียเกิดจากความอดทนอดกลั้นตามแนวทางอหิงสาจนอังกฤษแพ้ภัยตนเอง ถูกชาวโลกมองว่ากระทำการรุนแรงอย่างป่าเถือนอยู่ฝ่ายเดียว

ปีที่แล้วผมได้ดูทีวีช่องไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ท่านดาไลลามะว่า แนวทางการต่อสู้เพื่อเป็นอิสระจากจีนเป็นอย่างไร ท่านตอบว่า ใช้การเจรจาอย่างอดทน ซึ่งก็เจรจากันมาไม่รู้กี่สิบรอบแล้ว และจะเจรจากันต่อไปเรื่อยๆ อย่างนี้จนกว่าจีนจะเปลี่ยนใจ ซึ่งอาจไม่สำเร็จในสมัยท่านก็มีผู้สืบทอดแนวทางนี้ต่อไปและต่อไปอย่างนี้ด้วยความอดทน ท่านเห็นว่าจีนทำไม่ถูกที่เข้าครอบครองธิเบต จึงต่อสู้เพื่ออิสรภาพของธิเบต โดยท่านเลือกสันติวิธี แต่ท่านก็เมตตาผู้นำจีน ไม่ได้โกรธเกลียดพวกเขา ผมดูแล้วก็คิดว่าหากจึนใช้วิธีรุนแรงกับธิเบต ก็จะประสบชะตากรรมเดียวกับอังกฤษที่ทำกับอินเดีย

หันมาดูบ้านเราบ้าง การชุมนุมประท้วงทางการเมืองในระยะหลายปีมานี้ ผู้นำการชุมนุมมักอ้างว่าชุมนุมโดย "สันติวิธี" บ้าง "อหิงสา" บ้าง การอภิปรายบนเวทีของผู้นำบางคนให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนด้วยถ้อยคำสุภาพ แต่หลายคนก็เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายมาก (ความรุนแรงทางวาจา) ชนิดที่ไม่ชวนให้ฝ่ายที่ถูกเรียกร้องยอมให้ในสิ่งที่ฝ่ายผู้ชุมนุมต้องการ   แล้วยังมีความพร้อมในการรับมือกับความรุนแรงทางกายด้วย นั่นคือ ไม่ว่าผู้ชุมนุมฝ่ายไหนหรือสีใดล้วนมี "การ์ด" ที่ติดอาวุธตั้งแต่กระบอง หนังสติ๊ก ธงที่มีไม้หรือเหล็กเหลาปลายให้แหลม ไปจนถึงมีด ปืน และระเบิดขวด ระเบิดเพลิง ฯลฯ อย่างนี้ไม่ใช่สันติวิธีโดยนัยที่กล่าวมา แม้จะอ้างว่าเพื่อป้องกันตัวก็ตาม 

การชุมนุมด้วยสองมือเปล่าและพร้อมจะถูกทำร้ายหรือกระทั่งถึงแก่ชีวิตโดยไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งกาย วาจา ใจ ตอบโต้เลยต่างหากคือ "จิตวิญญาณ" ของสันติวิธี โดยส่วนตัวผมเอง หากผมเห็นด้วยกับประเด็นใด และเห็นว่าเป็นสาระพอ ผมก็พร้อมจะเข้าร่วมในการขบวนการดื้อแพ่งที่ยึดมั่นในหลักการและจิตวิญญาณดั้งเดิมของสันติวิธีอย่างที่กล่าวมาครับ แม้จะต้องเจ็บตัวหรือตายก็ยอมรับได้ด้วยใจที่ยินดี.


สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๕ มีนาคม ๒๕๕๖

หมายเลขบันทึก: 521449เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2013 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2013 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบมุมคิดและเนื้อหามากครับอาจารย์

สันติ คือทางแก้ไข ทุกปัญหา เหตุจากการแย่งมวลชน

ทำไมชาวใต้ถึงฟังกลุ่ม บีอาร์เอ็น มากกว่า รัฐ (จากการ สรุปโดย พล.อ เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ. สถาบันสันติวิธี)) เพราะ กลุ่ม บีอาร์เอ็น สามารถแสดงออกอย่างเปิดเผยว่า พวกเขากตัญญูสูงสุดได้. เพราะเขากตัญญูต่อเจ้าเมืองธรรมชาติ ที่ให้ออกซิเจนพระพุทธเจ้า หายใจ มันคือการใฝ่หาของมนุษย์โดยพื้นฐานว่า เขาจะฟังผู้กตัญญู และ จะต่อต้านผู้มีจิต เนรคุณ นั่นเอง. จงกตัญญูให้เท่าเทียมผู้ที่ท่าน จะเข้าพัฒนาเขา

ลองปรับกันซักนิด จะครองใจชาวบ้านได้ง่ายขึ้น. ด้วยการมีพระเจ้าเป็นสิ่งกตัญญู แทนการมีเป็นสิ่งปฏิเสธ ถึง เนรคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท