ข้อความที่ท่านจรัสชอบ, ท่านเลขาฯเคยเป็นครูประจำกลุ่ม, ประเมินภายนอกระยะที่ 2/56, พนักงานราชการ (เงินเดือนสูงสุด-ลาบวช), ชุดใส่ทำงาน, บ้านหนังสือ, การตั้งกรรมการกำหนด Spec, เริ่มมีอัตลักษณ์เมื่อไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  8  เรื่อง ดังนี้


         1. วันที่ 1 มี.ค.56 คุณฤทธิโรจน์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ สนง.กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา โทร.มาถามผม ว่า  การแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ แต่งตั้ง 3 คนใช่ไหม แต่งตั้งข้าราชการระดับใด

             เรื่องนี้  คณะกรรมการในการดำเนินการซื้อหรือจ้าง รวมทั้งคณะกรรมการเพิ่มเติม (คณะกรรมการกำหนดราคากลาง, คณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ )  ให้แต่งตั้งตามระเบียบพัสดุ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2552 ข้อ 35  และตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 417 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2553 คือ
            1) แต่งตั้ง ประธาน/กรรมการ จำนวนอย่างน้อย 3 คน  กรณีจำเป็นหรือเพื่อประโยชน์ทางราชการ อาจตั้งบุคคลอื่นอีกไม่เกิน 2 คนร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้
            2) ต้องตั้งเป็นครั้งๆ ไป
          3) แต่งตั้งจากข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างประจำ  โดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ลักษณะงาน หน้าที่แลความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสำคัญ


         2. คืนวันเดียวกัน ( 1 มี.ค. ) คุณเบญจมาศ กาญจนมณี ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เรื่องอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ เราเริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ.ใด   สมศ.มาประเมิน เขาขอดูหลักฐานเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเราบอกว่าของเรา สมศ. เพิ่งประกาศใช้ปี 2555 เขาไม่ยอม เขาบอกว่า สพฐ.ใช้ตั้งนานแล้ว
             ผมตอบว่า  คำว่า อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ สำหรับ กศน. เพิ่งปรากฏใน
             - "ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ/เขต"  ( สมศ.ประกาศเมื่อ 4 ม.ค.55 )  และใน
             - "มาตรฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา"  ( กระทรวงศึกษาธิการประกาศเมื่อ 19 เม.ย.55 )
             อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น ถึงแม้ กศน.จะยังไม่ได้ใช้คำว่า อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ แต่ก็มีลักษณะของ อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ อยู่แล้ว  เช่น สมมุติว่าอัตลักษณ์คือ "อยู่อย่างพอเพียง" ก็จะมีลักษณะของการ "อยู่อย่างพอเพียง" ปรากฏหรือแฝงอยู่ในวิสัยทัศน์ของสถานศึกษามาก่อนแล้ว


         3. เช้ามืดวันที่ 4 มี.ค.56 ท่านจรัส หนุนอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ กศน. โพสท์ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  “ผมได้อ่านโพสท์ของ "ศุภวรรณ เอียดวารี ประสิทธิ์" ( ครูอาสาฯ ในสถาบันการศึกษาปอเนาะ.กศน.อำเภอจะนะ )  แล้ว ชอบข้อความนี้จึงขออนุญาตนำมาโพสท์ต่อ เพื่อให้น้องครู กศน คนอื่นๆได้อ่าน และนำไปคิดต่อครับ”
             ข้อคิดเตือนใจจากครู กศน. “ คำว่า "กศน." ไม่ใช่ลงทะเบียนเรียนแล้วไปสอบ ก็จบ  คิดใหม่ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ ถ้ามันง่ายขนาดนั้นป่านนี้คนคงมาเรียนกันเยอะแล้ว จบเยอะแล้ว .. อย่าดูถูกสถาบันตัวเองเลย กศน. ก็ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพมามากมายเหมือนกัน ... อย่าทำร้ายครู อย่าทำร้ายสถาบัน กศน. ด้วยคำกล่าวที่ว่าไม่เป็นไร...กศน.อะไรก็ได้ .. ขอเถอะ  ดังตัวอย่างวันนี้ที่ กศน.นาทับ มี นศ.ลงทะเบียนแต่ไม่เคยมาพบกลุ่ม พอครูแจกตารางสอบกลับมาขอตารางสอบ ผลครูไม่ให้ เพราะ มส.ไม่มีสิทธิ์สอบ เลยอ้างสารพัดว่าทำงานไม่ว่างบ้างล่ะเดี๋ยวไปธุระโน่นธุระนี่  แล้วคนที่มาพบกลุ่มเป็นประจำ ทั้งคนอายุมาก วัยรุ่น วัยทำงาน คนเหล่านี้ไม่เคยเห็นอ้างเลย  ขอให้ กศน.เป็นที่พักพิงสำหรับท่านด้วยการช่วยกันยกระดับให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นกันดีกว่าค่ะ  จากใจครู กศน.ที่ครั้งหนึ่งเคยพึ่งพิง”

             ต่อมา เช้ามืดวันที่ 5 มี.ค.55 “ศรช.บ้านเขวาใต้” โพสท์เพิ่มเติม ว่า  เลขาธิการกศน. นายประเสริฐ บุญเรือง เคยพูดในรายการสายใย กศน. ว่า "ผมเคยเป็นครูประจำกลุ่ม 6 ปี สอนทั้งวัน มีคุณภาพ จึงมีนโยบายให้สอนทั้งวัน อาจจ้างวิทยากรสอนเสริมมาช่วยสอน"  พร้อมแนบประกาศ คือ



         4. วันเดียวกัน ( 4 มี.ค. ) ผมถามคุณณัฐพล จนท.สมศ. ว่า การประเมินฯภายนอกรอบสาม ระยะที่ 2/56 จะประเมินเมื่อไร  ได้รับคำตอบว่า ช่วงสอบปลายภาค+ปิดภาคเรียนนี้ จะยังไม่ประเมิน รอให้เปิดภาคเรียนก่อน  จะประเมินระยะที่ 2/56 จำนวน 51 แห่ง อย่างเร็วก็กลางเดือน พ.ค.56  ( ประมาณ มิ.ย.-ก.ค.56 )


         5. วันที่ 5 มี.ค.56 รมว.กระทรวงวัฒนธรรคม ให้ข่าว ว่า  ให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนแต่ละจังหวัดสวมใส่ผ้าไทยหรือผ้าพื้นเมืองเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยรวมทั้งเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมผ้าประจำท้องถิ่นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี  โดยให้คัดเลือกผ้าไทยมาออกแบบและตัดเย็บชุดแต่งกายที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ
             สำหรับกระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกแบบผ้าไทย 5 แบบ คือชุดใส่ทำงาน(ชาย) / ชุดใส่ทำงาน (หญิง) / ชุดลำลอง (ชาย) / ชุดลำลอง(หญิง) / ชุดกึ่งทางการ(ชายหญิงเหมือนกัน) เสนอให้ที่ประชุม (ครม.) พิจารณาคัดเลือกเพื่อตัดเย็บให้รัฐมนตรีแต่ละท่านสวมใส่เป็นแบบอย่างแก่ข้าราชการและพนักงานทั่วไป

             ในส่วนของชุดใส่ทำงาน นั้น ผมชอบที่ไม่จำเป็นต้องนำชายเสื้อใส่ในกางเกง แต่ไม่ชอบปกตรงที่เป็นสีขาว เพราะจะซักเหงื่อไคลออกยาก คอเสื้อจะขาดเร็ว  ( คงต้องการให้เป็นชุดทำงานราชการที่สุภาพเรียบร้อย จึงใช้ปกสีขาว )



ชุดนี้ไม่เกี่ยว





        
6.
คืนวันเดียวกัน ( 5 มี.ค. ) คุณธรรมรัฐ ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org ว่า  พนักงานราชการ ระดับปริญญาตรี  มีขั้นสูงสุดของค่าตอบแทนเท่าไร  เมื่อก่อนมีบัญชี แต่พอเปลี่ยนเพิ่มค่าตอบแทนเป็น % ทำไมไม่มีบัญชีออกมาใหม่อีกเลย
            ผมตอบว่า  บัญชีขั้นต่ำสุด-ขั้นสูงสุด ออกมาพร้อมกับการเปลี่ยนเพิ่มค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ ตาม "ประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่องค่าตอบแทนของพนักงานราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554"  ตอนนี้ก็ยังใช้ฉบับนี้อยู่ ยังไม่เปลี่ยนแปลงขั้นสูงสุด  ดูได้ที่  http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/uploads/File/gem_comp2%281%29.pdf  
            ( ตอนนี้ สูงสุดของกลุ่มงานบริหารทั่วไป วุฒิปริญญาตรี คือ 33,360 บาท ส่วนสูงสุดของกลุ่มงานบริการ วุฒิต่ำกว่าปริญญา คือ 19,430 บาท  อนาคตคงปรับเพิ่มอีกแน่นอน )




        
7.
คืนวันเดียวกัน ( 5 มี.ค. ) อ.อภิชาต กศน.อ.ลาดบัวหลวง  โทร.มาถามผม ว่า  พนักงานราชการจะลาอุปสมบท ต้องขออนุญาตใคร
             เรื่องพนักงานราชการ ลาอุปสมบท หรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ นี้ ระเบียบไม่ได้กำหนดผู้มีอำนาจอนุญาตการลาไว้โดยเฉพาะ จึง
ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับข้าราชการหรือลูกจ้าง เพราะ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ.2547 ข้อ 4 กำหนดว่า “บรรดากฎหมาย กฎ ระเบียบ ... ที่กำหนดให้ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ... ให้ถือว่าพนักงานราชการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ..เช่นเดียวกับข้าราชการหรือลูกจ้างด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่เรื่องใดมีกำหนดไว้แล้วโดยเฉพาะ”
             คือ ให้พนักงานราชการที่มีระยะเวลาการปฏิบัติงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 4 ปีแล้ว ส่งใบลาอุปสมบทไปตามลำดับเพื่อขออนุญาตปลัดกระทรวงฯ  ( ท่าน ผอ.กจ.กศน. บอกว่า ท่านปลัด ศธ. ไม่ได้มอบอำนาจเรื่องการลาอุปสมบท )

             หลักเกณฑ์การลาอุปสมบทหรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์  ( ลาได้ไม่เกิน 1 ครั้ง ตลอดช่วงเวลาของการมีสถานภาพเป็นพนักงานราชการ )  
             1)  การเสนอหรือจัดส่งใบลาต้องเสนอหรือจัดส่งใบลาก่อนวันลาไม่น้อยกว่า 60 วัน
             2)  กรณีมีเหตุไม่อาจเสนอหรือจัดส่งใบลาก่อนวันลาไม่น้อยกว่า 60 วันได้ ให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นประกอบการลา  โดยการอนุญาตขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาให้ลาหรือไม่ก็ได้
             3)  การลาอุปสมบทจะต้องอุปสมบทภายใน 10 วันนับแต่วันเริ่มลา และเมือลาสิกขาแล้วต้องกลับมารายงานตัวเข้าปฏิบัติราชการภายใน 5 วันนับแต่วันที่ลาสิกขา
             4)  จะต้องออกเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ภายใน 10 วันนับแต่วันเริ่มลา และต้องกลับมารายงานตัวเข้าปฏิบัติราชการภายใน 5 วันนับแต่วันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทยหลังจากการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์
             5)  กรณีได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาและได้หยุดราชการไปแล้ว แต่มีเหตุทำให้ไม่สามารถอุปสมบทหรือเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ได้ตามที่ขอลาไว้ ให้กลับมารายงานตัวกลับเข้ารับราชการตามปกติและขอถอนวันลา และให้ถือว่าวันที่ได้หยุดราชการไปแล้วเป็นวันลากิจส่วนตัว  ( พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการลาอุปสมบท พ.ศ.2521 มาตรา 4 บัญญัติว่า เมื่อปลัดกระทรวง... หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย พิจารณาเห็นเป็นการสมควรให้ลาอุปสมบทแล้ว ก็ถือว่าผู้นั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาอุปสมบท )
            ( ระเบียบการลา มีลิงค์อยู่ในข้อ 2 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/495777 )


         8. คืนวันเดียวกัน ( 5 มี.ค. ) ท่าน ผอ.ดิศกุล สนง.กศน.จ.สมุทรสาคร เพยแพร่ในเว็บบล็อก ว่า  ท่านเลขาฯพูดเมื่อวันที่ 4 มี.ค.56 ว่า  ให้ส่ง นสพ.ถึงบ้านหนังสืออัจฉริยะ ตั้งแต่ 1 มี.ค.56  ส่วนนิตยสารให้ส่งถึงภายใน 10 มี.ค.  สำหรับเงินค่าจัดซื้อจะโอนถึงจังหวัดปลายเดือน มี.ค.

             ช่วง 8-12 มี.ค ให้นำนักศึกษา/ชาวบ้าน ไปร่วมกิจกรรมโครงข่ายการคมนาคมของรัฐบาล ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โซน B  โดยให้จัดทำเสื้อยืดคอปกโปโลสีชมพู สกรีนโลโก้สุดยอด กศน. ( ดูตัวอย่างที่เว็บไซต์สำนักงาน กศน. ) ให้ผู้ไปร่วมกิจกรรมใส่ไป
             และ ให้ไปถวายพระพรทั้งสองพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย


หมายเลขบันทึก: 521501เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2013 04:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาให้กำลังใจทุกคนที่เป็นคนกศน.ค่ะ

สอนจริง เรียนจริง จึงต้องมีคุณภาพค่ะ

ตอนที่สอนสามัญนั้น นักศึกษา 45 ขาดสอบแค่ 2 คนเองค่ะ

ผู้มาใช้บริการ ในกศน.อำเภอ

ทำไมมารับบริการใน กศน.อำเภอไม่มีหนังสือพิมพ์ แต่ไปใน กศน.ตำบลมีครบทุกอย่าง ในหมู่บ้านยังซื้อให้ใหม่เลย แต่ในสถานศึกษา กลับไม่มีให้บริการ ถ้าจะซื้อควรใช้งบไหนและแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะข้าราชการที่เคยเป็นบรรณารักษ์ไม่ให้ซื้อ

ขอบคุณ   ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

คุณ "ผู้มาใช้บริการใน กศน.อำเภอ" ครับ ที่ กศน.อำเภอผักไห่ อยู่อาคารหลังเดียวแต่คนละชั้นกับห้องสมุดประชาชนอำเภอผักไห่  ในส่วนของห้องสมุดฯจะรับหนังสือพิมพ์วันละ 2 ฉบับ แต่รับนิตยสารประมาณ 4 รายการ   ในส่วนของ กศน.อ.ผักไห่ก็ไม่ได้รับหนังสือพิมพ์/นิตยาสารเลยครับ อาศัยอ่านจากห้องสมุดฯ เพราะไม่ได้ใช้ สนง.กศน.อ.ผักไห่เป็นสถานที่พบกลุ่ม  

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท