คน...บ้านไกล


           เมื่อยามอาทิตย์ทอแสง ขึ้นจากฟากฟ้า  เป็นอีกวันหนึ่งที่แสงแดดค่อนข้างจะจัดจ้าแต่เช้า  ผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาด้วยความรีบเร่ง  บ้างก็รีบไปยื่นบัตร เพื่อรอตรวจ บ้างก็รีบไปสแกนนิ้วเพื่อเข้างาน บ้างก็กำลังเดินเอื่อยเฉื่อย  มาจากที่จอดรถจะเห็นได้ว่าชีวิตคนเรา  ตื่นมาแต่ละเช้า ย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับ สถานะภาพของแต่ละบุคคลแต่ทุกคน มีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ข้าพเจ้าก็เป็นอีกคนหนึ่ง  ที่ต้องดำเนินชีวิตเหมือนกับผู้คนอื่นๆ

          หลังจากลงเวรบ่ายไปกว่าจะได้นอนก็ ตีหนึ่ึ่งกว่าๆ   หลังจากพักผ่อนมาทั้งคืน  ก็ได้เวลาตื่นมาทำงานตอนเช้า ซึ่งวันนี้ก็ได้รับมอบหมายงานให้ออก รพ.สต. จบมาก็หลายปี เสื้อชุมชนก็ เก็บกลับบ้านต่างจังหวัดไปหมดแล้ว  ก็เลยต้องหาพึ่งยืมเสื้อพี่ๆ ก่อน เพราะไม่มีจะใส่ กลายเป็นเรื่องใหญ่ ไปเลย

          หลังจากเตรียมความพร้อมเสร็จ ก็มานั่งรอ เจ้าหน้าที่ แต่ละหน่วยบริการ ให้ครบทั้ง แพทย์ พยาบาล  เจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด  และเจ้าหน้าที่งานชุมชน  หลังจากรวมตัวกัน ครบองค์รวมแล้ว  เริ่มออกเดินทาง 

                

          จุดมุ่งหมายแรกของเราคือ ปั้มน้ำมัน  เนื่องจากว่า รถต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการที่จะขับเคลื่อน  หลังเติมน้ำมันเสร็จ พขร.ของเราก็พาออกเดินทางไปยังจุดมุ่งหมายต่อไป คือ รพ.สต.หาดสองแคว  ระยะทางในการเดินทางจาก รพ.แก่งคอย ถึงรพ.สต. หาดสองแคว  ตลอดทางเป็นทางลูกรังที่เพิ่งจะทำถนนตัดผ่านใหม่  และบางส่วนเป็นถนนลาดยางที่ผ่านการใช้งานมายาวนาน จนเกิดหลุมบ่อตลอดทาง มีหลุม มีบ่อให้ตื่นเต้นตลอดการเดินทาง แต่ส่วนใหญ่ มีความรู้สึกว่ากำลังเดินทางเข้าสู่ธรรมชาติ  ป่าเขาลำเนาไพร  สองฟากถนนก็มีแต่เทือกสวน ไร่ นา ที่เกษตรกรปลูกพืชไร่พืชสวนไว้ เป็นภาพที่สวยงามจับใจ บ้างก็กะลังขะมักเขม้น ในการทำสวน บ้างก็มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์  บ้างก็มีที่ที่กำลังเตรียมดินปลูกพืช มองดูแล้วเหมือนกับกำลังจะไปเที่ยว แต่ทว่า

          ที่ รพ.สต.หาดสองแคว  เราจะไปดูการทำงาน  การให้บริการประชาชน  ในความสวยงามตามธรรมชาตินั้น  ข้าพเจ้าก็เพิ่งได้รู้ได้เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยที่บ้านอยู่ไกลแล้วเวลาเจ็บป่วยไม่สบาย  มาหาหมอลำบาก  ที่ชาวบ้านชอบพูดกัน เวลาเราซักประวัติ ว่า   “ทำไมตา/ยาย ไม่รีบมาหาหมอ   ทำไมปล่อยให้เป็นนานจนอาการหนักขนาดนี้ค่ะ" และผู้ป่วยมักจะตอบว่า “บ้านอยู่ไกลหมอ  ไม่มีรถมา  ไม่มีเงินจ้างรถมาด้วย ก็เลยซื้อยากิน”  เหตุนี้เองคือคำตอบบางคนการช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง เนืองจากว่าระยะทางไกลมาก  จนทำให้การบริการด้านสาธารณสุขเข้าถึงลำบาก  เมื่อเกิดการเจ็บป่วยไม่สบาย บางคนต้องซื้อยาชุด ตามร้านขายของชำรับประทาน   ประทังการเจ็บป่วย  ข้าพเจ้าเพิ่งเข้าใจที่มาที่ไปของคำว่า  “บ้านอยู่ไกล ไม่มีค่ารถมาหาหมอ”   ที่ชาวบ้านชอบพูดกัน   

          

          และเมื่อเราเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง เราก็ได้เจอกับ เจ้าหน้าที่ประจำ รพ.สต.หาดสองแคว เจ้าหน้าที่ต้อนรับดีมากค่ะ  สถานที่น่าอยู่ เงียบสงบ ทำให้ความรู้สึกแรกที่พบเจอ “น่าอยู่จังเลย  บรรยากาศดีมาก ไม่เหมือนโรงพยาบาลเลย  อากาศก็บริสุทธิ์”  แต่ถ้าให้ข้าพเจ้าไปอยู่ก็ คิดนานเหมือนกันเพราะเราไม่คุ้นกับงานชุมชน 

          หลังจากสำรวจสถานที่แล้วก็มีผู้มารับบริการ  ๒ คน เป็นเด็กมารับวัคซีน และเราก็มีโอกาสไปเยี่ยม ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเดินไม่ได้ จากอุบัติเหตุทางถนน  น้องเขาอายุ ๑๕  ปี เกิดอุบัติเหตุจากขับรถจักรยานยนต์ล้ม  เอ็นที่ขาฉีกขาด  เดินไม่ได้ มีปัญหาข้อยึดติด แต่โชคดีที่ มี Caregiver  ที่ดีมากก็คือ แม่ และครอบครัว รวมไปถึง อสม.ในพื้นที่ ช่วยกันดูแล รวมไปถึงทีมเยี่ยมบ้าน ที่เข้าไปให้ความรู้ สอนเรื่องกายภาพบำบัด และคอยติดตามผลการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้องชายคนนี้  ช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น  เหลือแค่หัดเดิน  สีหน้าน้องยิ้มแย้ม แจ่มใส เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ของเรา เข้าไปถึงพร้อมทักทายสวัสดีทุกคน  ทีมช่วยกันฝึกกายภาพบำบัดท่าต่างๆ  น้องเขาตั้งใจทำมาก  หลังจากนั้นเราก็ต้องขอตัวไปเยี่ยมผู้ป่วยรายอื่นอีก  ให้น้องเขาได้พักผ่อน 

          อีกที่หนึ่งที่เราไป  คือ รพ.สต. หินซ้อน  ว่า รพ.สต.หาดสองแควไกลแล้ว  ยังสู้ รพ.สต.หินซ้อนไม่ได้เลย ไกลสุด  นึกว่าสุดเขตรอยต่อ อ.แก่งคอย  ไกลมาก ถนนก็ไม่ต่างกันมาก หลุม บ่อ  เยอะกว่าหาดสองแควอีก  และที่สำคัญ ระยะทางอันแสนไกล ถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ต้องจ้างรถมาส่ง รพ. คงต้องจ่ายค่าจ้างเป็นพัน บาทต่อเที่ยว แน่เลย

          พอไปถึงรพ.สต.หินซ้อน มองผ่านเข้าไปชั้นล้าง ของอาคาร ก็มองเห็นทั้งเด็ก ผู้ใหญ่  วัยชรา ถือบัตรคิว นั่งรอที่เก้าอี้ เรียงกันยาว มีเจ้าหน้าที่ธุรการ 2 คนนั่งลงข้อมูลการตรวจรักษา  ส่วนพี่เจ้าหน้าที่  รพ.สต. กำลังขะมักเขม้นตรวจผู้ป่วย ที่มารับบริการ แต่แปลกใจอย่างคือ ผู้รับบริการวัยสาว(เหลือน้อย)  นั่งเรียงแถวอยู่ สอบถาม ได้ความว่า วันนี้ เป็นวันรับเงินผู้สูงอายุ  พอหลังจากรับเงินเสร็จผู้สูงอายุทั้งหลาย ก็จะมาแวะหาหมอ ก่อนกลับบ้าน  จะเป็นแบบนี้ทุกครั้งไป 

   

          หลังจากทักทาย  สวัสดีกันเรียบร้อยแล้ว เราก็ได้มีโอกาส ไป ช่วยตรวจรักษาให้ยาผู้รับบริการ  ด้วยจิตวิญญาณของเราผู้ซึ่งอยู่ที่ รพ. ก็ต้องตรวจผู้ป่วย ทำหัตการให้กับผู้ป่วย เราก็เลยใช้ความรู้ ในส่วนนั้น ไปช่วยตรวจรักษา  ทำให้ผู้รับบริการได้รับบริการรวดเร็วขึ้น  บ้างก็ถามว่า  หมอ “มาอยู่ประจำที่นี่หรอ“  เราก็ตอบไปว่า “เปล่าจ้า  มาวันเดียวจ้า”  เห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน  ยิ้มแย้ม แจ่มใส ก็รู้สึกดีใจ เป็นอย่างมาก  แต่ข้อจำกัดในการรักษาก็คือ ยาบางตัว ไม่สามารถเบิกมาไว้ใช้ประจำได้ที่  รพ.สต. ทำให้ยาบางตัวขาดแคลน  ก็ต้องรักษาไปตามอาการ  ตามปริมาณยาที่มีอยู่  ถ้าเจ็บป่วยรุนแรงก็ต้องเดินทางมารักษาที่ รพ.ซึ่งระยะทางไกลแสนไกล 

          ข้าพเจ้านึกในใจว่า บ้านของตนอยู่ไกลจาก รพ.แล้ว  แต่มาเจอหมู่บ้านแถวอำเภอแก่งคอยนี้ ห่างกันลิบลับ แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก  ไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้อง เอาแบบนั้น แบบนี้ต้องดีที่สุดต้องเร็วที่สุด  เพราะชาวบ้านรู้ว่า ขอบเขตการให้บริการของ รพ.สต. มีขอบเขตจำกัด ต่างคนต่างถ้อยที ถ้อยอาศัยกัน อยู่กันแบบ  พี่น้อง เพื่อนบ้าน ตรงนี้แหละคือคำว่า ชุมชน

          หลังจากนั้น เราก็ได้ออกไปเยี่ยมผู้ป่วยที่มีปัญหาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผ่าตัดสมอง  เนื่องจากเป็นเนื้องอก แต่ผู้ป่วยรายนี้อาการดีขึ้นมาก สามารถลุกนั่งเองบนเตียงได้ แต่ขาดคนช่วยเหลือในการหัดเดินเนื่องจากครอบครัวต้องทำมาหากิน  ก็เลยต้องให้ผู้ป่วยบริหารร่างกายเองที่บ้าน  เราก็ได้ไปฝึกหัดเดิน ให้กำลังใจผู้ป่วยในการต่อสู้กับโรค ต่อไป ผู้ป่วยมีสีหน้า ยิ้มแย้ม แจ่มใส หลังจากนั้น  และแล้วเราก็ได้เวลา  ต้องลาจาก การออกไปศึกษาชุมชน นอกพื้นที่ในวันนี้ 

          ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตหนึ่ง ที่ได้รู้ว่า กาลครั้งหนึ่ง  เราก็เคยได้ไปสัมผัส หาคำตอบของคำว่า เจ็บป่วยแล้วไม่มีรถ ไม่มีเงินมารักษา  เพราะบ้านอยู่ไกล รพ. ก็เพราะเหตุนี้นี่เอง ที่เราอาจจะมองข้ามไปว่า ชุมชนที่อยู่ไกล กับแหล่งชุมชนที่อยู่ใกล้  นั้น มีความต่างกันมากทั้งด้าน  สังคม ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และฐานะทางเศรษฐกิจ  และข้าพเจ้าก็จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้ ไปปรับใช้ในการทำงานในโอกาสต่อไป และหวังว่าทุกท่านจะมีความคิดเห็นตรงกัน              


                                                                                                                                        ธัญวรัตม์   คงสามหมอ

                                                                                                                                                งานผู้ป่วยในชาย



หมายเลขบันทึก: 522049เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอให้มีกำลังใจ งานบริการชุมชนเป็นงานที่เหนื่อย และสภาพผู้ป่วยที่แท้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท