ครู ศรช.เบิกค่าคุมสอบ, เรื่องน่าสนใจจากท่านเลขาฯ, ลูกจ้างประจำ


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  3  เรื่อง ดังนี้


         1. วันที่ 27 ก.พ.56 คุณ “แอ๋มแอ๋ม มาร์ช ส้ม” กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เรื่องการห้ามครู ศรช.คุมสอบปลายภาค มีระเบียบการอ้างอิงบ้างไหม ขอหลักฐานหน่อย

             ผมตอบว่า  ใครห้าม ก็ขอระเบียบกับคนนั้น ผมไม่ได้บอกว่าห้าม

             คุณแอ๋มแอ๋มถามต่อว่า  คุมสอบปลายภาคได้ แต่ไม่ได้รับเงินค่าคุมสอบใช่หรือเปล่า

             ผมตอบว่า  ครู ศรช.เบิกค่าคุมสอบได้  ( อ่านในข้อ 3 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/426724 )  แต่ ปัญหาคือ วันเสาร์-อาทิตย์ ( วันคุมสอบ ) อาจไม่ใช่วันหยุดราชการของครู ศรช.บางคน  เช่น กศน.อ.บางแห่ง กำหนดให้ครู ศรช.และบรรณารักษ์บางคนทำงานในวันอาทิตย์ถึงพฤหัสฯ หยุดวันศุกร์เสาร์ กรณีนี้วันอาทิตย์จะเป็นวันทำการปกติของเขา  ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอบ พ.ศ.2549 กำหนดว่าให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบในวันทำการปกติ เบิกค่าดำเนินการสอบในอัตราครึ่งหนึ่ง  และ หลักเกณฑ์ กศน. กำหนดว่า บุคลากรในสังกัด กศน.ถ้าทำงาน เช่น สอนวิชาชีพ สอนเสริม ในเวลาราชการ ไม่ให้เบิกค่าตอบแทน

            ฉะนั้นถ้าจะให้ครู ศรช.เบิกค่าคุมสอบเต็ม เมื่อพบกลุ่มครั้งสุดท้ายก่อนสอบปลายภาคแล้ว กศน.อ.ต้องปรับเปลี่ยนให้ครู ศรช.มาทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ทุกวันทันที เพื่อให้วันเสาร์อาทิตย์เป็นวันหยุดราชการของเขา


         2. วันที่ 6 มี.ค.56 คุณ “ณัฐ อะ ฮ้า” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งคนงาน กศน.อำเภอบางมูลนาก  ตอนบรรจุวุฒิ ปวส.( แต่เขาประกาศรับวุฒิ ม.6 )  ตอนนี้เปลี่ยนเป็นพนักงานพิมพ์ กำลังต่อปริญญาโท  อยากให้สำนักงาน กศน.มองเห็นความสำคัญของลูกจ้างประจำบ้าง เช่น การปรับเงินเดือน หรือสวัสดิการต่าง ๆ เช่นการประเมินไปต่างประเทศ การแจกกระเป๋า และอื่น ๆ   ได้โปรดก้มลงมามองพวกเราบ้าง  ทำงานมา 25 ปี ตอนนี้เงินเดือนแค่ 17,000 กว่าๆ น้อง ๆ ทำงานไม่กี่ปี ตอนนี้ได้ 18,000

            ผมตอบว่า

            1)  เรื่องการปรับค่าจ้าง  เขาปรับค่าจ้างให้ลูกจ้างประจำ ในวันที่ 1 ม.ค.56 และ 1 ม.ค.57 ด้วยเช่นกันนะ  แต่ตอนนี้หนังสือสั่งการยังมาไม่ถึง ผมจึงยังไม่รู้ว่าวุฒิใดจะปรับอย่างไร ( ต้องดูว่าตำแหน่งพนักงานพิมพ์ใช้วุฒิใด แล้วดูการปรับค่าจ้างของวุฒินั้น )
            2)  เรื่องการคัดเลือกไปต่างประเทศ   วันที่ 11 มี.ค.56 ท่านเลขาธิการ กศน. พูดในที่ประชุมที่โรงแรมภูเขางามรีสอร์ท จ.นครนายก ว่า  การคัดเลือกบุคลากรไปต่างประเทศ กลุ่มลูกจ้าง ( กำลังลังเลือกอีกจังหวัดละ 3 คน ) ให้พิจารณาคัดเลือกจากลูกจ้างทุกประเภท ทั้งระดับอำเภอ/จังหวัด รวมลูกจ้างประจำด้วย


         3. วันที่ 11-12 มี.ค.56 ผมไปเข้าร่วมประชุมชี้แจงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานเทียบระดับการศึกษา ตามโครงการยกระดับการศึกษาประชาชน จบ ม.6 ใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ ณ โรงแรมภูเขางามรีสอร์ท จ.นครนายก

             ท่านเลขาธิการ กศน. ทั้งมาเปิด และทั้งมาปิดการประชุม โดยพูดเรื่องที่น่าสนใจ เช่น

             1)  ปีงบประมาณหน้า ( ปี งปม.2557 ) งบศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ส.ส. เพิ่มจากห้าแสน เป็นหนึ่งล้านบาท ( ประสงค์ให้ ส.ส.ผ่าน พ.ร.บ.กศช.ในสภา 3 วาระรวด   โดยวันนี้ พ.ร.บ.กศช.ผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของ ก.พ.ร.แล้ว ซึ่งท่านเลขาฯบอกว่า ถือว่า พ.ร.บ.กศช.คืบหน้า 70 % แล้ว  ถ้าปีงบประมาณหน้าได้เข้าสภา 3 วาระรวด ก็จะเร็วขึ้น  พ.ร.บ.กศช.นี้ถ้ามีผลบังคับใช้ก็ถือว่าเป็นแท่งที่ 6 )    ปี งปม.57 ของบสร้างอาคาร กศน.ตำบล 700 แห่ง ยังไม่ถูกตัด

             2)  ให้แจ้งนักศึกษา/ผู้เรียนทุกประเภท ทุกคน ให้ช่วยกันส่ง SMS ไปโหวตสุดยอด กศน. ( ส่ง SMS ครั้งละ 3 บาท  ซึ่งเงิน 3 บาทนี้จะต้องส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด )  และให้จังหวัดที่ส่งผู้เข้าแข่งขัน กับจังหวัดที่เป็นสถานที่แข่งขัน จัดทีมไปเชียร์ตามจำนวนที่กำหนด เพื่อให้การถ่ายทอดสดเห็นคนดูจำนวนมาก  ( ให้ซ้อมการเชียร์ เช่น ใช้ป้ายไฟกระพริบ ใช้เครื่องดนตรี ด้วย )

            3)  โครงการเพชรน้ำหนึ่ง ( ไปอยู่บ้านในประเทศอังกฤษ 1 เดือน ) ให้ต่อรุ่น 2 โดยคัดเลือกตำแหน่งใดก็ได้  โครงการให้ค่าใช้จ่ายห้าหมื่น ผู้เข้าโครงการออกเองห้าหมื่น

            4)  การประชุมอบรมพัฒนาครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล ที่ยังไม่ผ่านการพัฒนา  ปีนี้เป็นปีสุดท้าย ให้รวมลูกจ้างทุกประเภทเข้าด้วย เช่น ครู ศรช. ครูสอนคนพิการ ครูชายขอบ ครูสอนผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ  รวมห้าพันกว่าคน  ( จะอบรมในอีก 2 เดือน )  ผู้ผ่านการอบรมให้ไปรับประกาศนียบัตรที่ จ.หนองคาย วันที่ 7 ก.ย.56  โดยให้ไปถึง จ.หนองคายเย็นวันที่ 4  และเช้าวันที่ 5 ไปเวียงจันทร์ กลับจากเวียงจันทร์เย็นวันที่ 5  ส่วนวันที่ 6 เปิดกีฬาฯ )

            5)  งบซื้อแบบเรียน และงบพัฒนาผู้เรียน ภาค 1/56 ได้เท่ากับภาค 2/55  ส่วนเงินอุดหนุนรายหัวได้ลดจากภาค 2/55 ลง 15 %  จังหวัดอย่าไปหักไว้มากกว่านี้   ภาคเรียนที่ผ่านมาบางจังหวัดหักไว้ในจำนวนเปอร์เซ็นที่มากกว่าที่เคยหัก ทำให้อำเภอร้องเรียนไป ปปช. ถึงแม้จะแก้ไขโดยให้จัดสรรเพิ่มคืนให้อำเภอแล้ว แต่ ปปช.ก็ยังให้ตั้งกรรมการสอบสวน 3 จังหวัด คือ กทม. กับต่างจังหวัดอีก 2 จังหวัด

           6)  โครงการ กศน.ดี ศรีประเทศ ( สัมมนาเชิงปฏิบัติธรรม ) นำร่องจังหวัดละ 3 อำเภอ ที่เลื่อนมา นั้น  ให้ลดเหลือจังหวัดละ 2 อำเภอ โดยให้ สนง.กศน.จังหวัด โทร.ไปแจ้ง กป.ภายในวันที่ 15 มี.ค.56 ว่าจะตัดอำเภอใดออก   2 อำเภอที่ไปนั้น ให้ไปหมดทุกคน รวมทั้งลูกจ้างประจำ เพื่อกลับมาจัดกิจกรรม กพช.ด้านศีลธรรม   ( เข้าใจว่าสถานที่คือ วัดพระธรรมกาย )

           7)  การซื้อหนังสือพิมพ์ให้บ้านหนังสืออัจฉริยะ ให้ทุกอำเภอซื้อตามที่ตกลงกัน  ส่วนนิตยสารจึงจะซื้อตามความต้องการของประชาชน  และให้อำเภอใช้เงินอุดหนุนรายหัวซื้อโต๊ะหน้าขาว 70 X 180 ซ.ม. หรือขนาดอื่น 1 ตัว พร้อมเก้าอี้แดงอย่างน้อย 4 ตัว ให้บ้านหนังสืออัจฉริยะทุกแห่ง



           8)  เพื่อการทำเชี่ยวชาญเชิงประจักษ์ ซึ่งต้องเคยได้รับรางวัลที่ 1 ระดับประเทศนั้น  เราจึงจะเพิ่มรางวัลที่ 1 ระดับประเทศอีกหลายรางวัล เช่น รางวัล สนง.กศน.จังหวัด ซึ่งเคยมีที่ 1 เพียงรางวัลเดียว ก็จะเพิ่มให้มีที่ 1 ขนาดเล็ก  ที่ 1 ขนาดกลาง  ที่ 1 ขนาดใหญ่  ส่วน กศน.อำเภอ/เขต ก็จะให้มีที่ 1 ขนาดเล็ก  ที่ 1 ขนาดกลาง  ที่ 1 ขนาดใหญ่  ที่ 1 ขนาดใหญ่พิเศษ  โดยถึงแม้จะตัดสินมอบรางวัลไปเมื่อวันที่ 4 มี.ค.56 แล้ว  ก็จะประกวดเพิ่มอีก เช่น ถ้าที่ได้รางวัลไปแล้วเป็นขนาดกลาง ก็จะประกวดเพิ่มเฉพาะขนาดเล็ก ขนาดใหญ่  รวมทั้งจะเพิ่มรางวัลประเภทต่าง ๆ เช่น กศน.อ.เศรษฐกิจพอเพียง  กศน.อ.ม.6 ใน 8 เดือน  โดยจะมอบรางวัลเพิ่มในวันที่ 8 ก.ย.56 อีก

          9)  วันที่ 2-3 พ.ค.56 ให้ ผอ.จังหวัด ผอ.สถานศึกษาขึ้นตรง ผอ.หน่วยงานส่วนกลาง ผู้เชี่ยวชาญ รองเลขาฯ  ไปประชุมที่เกาะหมาก เพื่อนำเสนอ Best Practice แห่งละ 1 อย่าง  ใช้เวลานำเสนอ 5 นาที เรียงตามตัวอักษรจังหวัด  อาจนำนิทรรศการไปโชว์ด้วย  เพื่อเป็นต้นแบบแต่ละประเภท  ห้ามมอบรองฯไปแทน  คืนวันที่ 2 ให้ทุกกลุ่มจัดการแสดง  ผู้เชี่ยวชาญ 6 คน ( ชาย 3 หญิง 3 ) เป็น 1 กลุ่ม  ส่วน สนง.กศน.จังหวัดให้แบ่งกลุ่มตามภาค  ( ให้ซ้อมการแสดงด้วย )

        10)  การคัดเลือกบุคลากรกลุ่มลูกจ้างไปฮ่องกง-มาเก๊า ที่ให้จังหวัดละ 3 คน  ให้พิจารณาคัดเลือกจากลูกจ้างหมดทุกประเภท ทั้งระดับอำเภอ/จังหวัด

        11)  สอบ ผอ.อำเภอ มีอัตราว่าง 150 แต่สมัครไม่ถึง ใครสอบได้คะแนนผ่านเกณฑ์ 60 % ก็จะได้เป็น ผอ.อำเภอหมด  ส่วน รอง ผอ.จังหวัดก็สมัครเกินไม่มาก ( กลุ่มประสบการณ์มีอัตรา 9 สมัคร 13  กลุ่มทั่วไปมีอัตรา 8 สมัคร 23 )

        12)  ขยายเวลาไปร่วมงานนิทรรศการ Thailand 2020 อีก 4 วัน ( 13-16 )  วันที่ 13 ให้กลุ่มอิสานใต้ไปอีกรอบ  วันที่ 14 กลุ่มอิสานเหนือ  วันที่ 15 ภาคกลาง  วันที่ 16 ภาคเหนือ  เวลาเดิมคือ 09:00-16:00 น.  โดยเปลี่ยนคนใหม่ แต่ให้ยืมเสื้อสีชมพูจากคนเก่า

        13)  ป้ายสนับสนุน “รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย” ถ้าที่ไหนชำรุด ให้เปลี่ยนใหม่

        14)  เป้าหมาย ม.6 ใน 8 เดือน ปีนี้ 150,000 คน  ปีหน้า 300,000 คน  ประเทศไทยมีประมาณ 8,000 ตำบล  จึงกำหนดเป้าหมายปีนี้อย่างน้อยตำบลละ 18 คน  ( ปีหน้าตำบลละ 36 คน )  แต่ละศูนย์เทียบฯถ้าดูแล 2 อำเภอ ก็ต้องนำจำนวนตำบล 2 อำเภอมารวมกัน  สำหรับปีนี้อาจได้ไม่ครบตามเป้า จึงจะให้มีการรับสมัครรุ่นที่ 2 อีกเพื่อให้ครบตามเป้า  ( ตามแผนฯกำหนดไว้ว่าปีละ 1 รุ่น รับสมัครในเดือน เม.ย.ของทุกปี  แต่เฉพาะปีนี้มี 2 รุ่น โดยรับในเดือน ส.ค.56 อีก 1 รุ่น  ฉะนั้น 3 รุ่นแรก คือรุ่น 1/56  2/56 และ รุ่นปี 57  จะมีช่วงเวลาที่เหลื่อมซ้อนกัน คือรุ่นเก่ายังไม่ทันจบ ก็รับรุ่นใหม่ )  ตามแผนคือเมื่อสมัครแล้วให้ประเมินครั้งที่ 1 ในเดือนที่ 2  ไม่ผ่านวิชาใดให้เรียนวิชานั้น  แต่เห็นว่าถ้าประเมินเร็ว ผู้สมัครจะไม่ผ่านกันมาก จะหมดกำลังใจ จึงให้ปรับเป็นประเมินครั้งที่ 1 ในเดือนที่ 4  และประเมินครั้งที่ 2 ในเดือนที่ 8   งบประมาณสนับสนุนหัวละ 3,000 บาท  เป็นค่าจัดสอบภาคทฤษฎี 2 ครั้งของ สทศ. 600 บาท  เป็นค่าจัดสอบภาคทฤษฎี 2 ครั้งของ สนง.กศน.จังหวัด 600 บาท  ที่เหลือเป็นค่าหนังสือเรียน ค่าประเมินภาคประสบการณ์ ค่าวัสดุ ฯลฯ ของ กศน.อำเภอ 1,800 บาท
             กลุ่มเป้าหมายเช่น เครือข่ายโรงงานน้ำตาลวังขนาย  เครือข่ายสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน  ครูยาง  ครูบัญชี (ติดต่อสำนักงานสหกรณ์)  หมอดิน ( ติดต่อหน่วยงานสังกัดกรมพัฒนาที่ดิน )  ฯลฯ

        ฯลฯ

หมายเลขบันทึก: 522210เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2013 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2013 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณอาจารย์เอกมากนะคะ  ที่กรุณานำเรื่องราวต่าง ๆ  มาเผยแพร่ให้พวกเราทราบ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับท่าน ผอ.

ค่ะ อยากทราบว่า ครู ศรช.สามารถลาป่วย หรือหยุดราชการตามวันหยุดราชการ เช่น วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล วันมาฆบูชา ได้ตามปกติหรือเปล่าคะ อยากทราบระเบียบตรงนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท