กว่าจะเป็น....สนามบินสุวรรณภูมิ 45 ปีที่รอคอย


กว่าจะเป็น....สนามบินสุวรรณภูมิ 45 ปีที่รอคอย

หลังจากรอคอยมา 45 ปี ในที่สุดสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทันสมัยที่สุดแห่งใหม่ของโลก จะเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในวันที่ 29 กันยายน 2548 นี้แน่นอน ตามฤกษ์พานาที ที่กำหนดวันเวลาให้เลข 9 มาเกี่ยวข้องไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 29 เดือน 9 เวลาขึ้น 09.00 น. ลง 09.19 น. แต่เปิดใช้จริงในเชิงพาณิชย์ ประมาณเดือน มิ.ย. 2549 หรืออย่างช้าสุดไม่น่าจะเกินเดือนตุลาคม 2549

กว่าจะมาเป็นสนามบินอันทันสมัยที่สุดติดอันดับโลกในวันนี้ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2503 ในขณะนั้นรัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัท Litchfield Whiting Bowne and Associate ศึกษา และวางผังเมืองกรุงเทพฯ ผลการศึกษามีการเสนอให้ภาคมหานครของไทยเตรียมจัดให้มีสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่ เพราะสนามบินดอนเมืองจะถึงจุดอิ่มตัวในปี 2543 หากไม่มีท่าอากาศยานแห่งใหม่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ประกอบกับสนามบินดอน เมืองเป็นสนามบินที่ใช้ในราชการทหารมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2504 กระทรวงคมนาคมได้ศึกษาเปรียบเทียบสถานที่ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่หลายบริเวณ และเห็นว่าบริเวณพื้นที่ตำบลบางโฉลง ตำบลราชาเทวะ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งท่าอากาศยานแห่งใหม่ โดยจะอยู่ห่างจากสนามบินดอนเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามระยะเส้นตรง ประมาณ 29 กิโลเมตร

หลังจากนั้นจึงได้ทำการเวนคืนที่ดินบวกกับที่ดินสาธารณะจำนวนหนึ่งจนครบ 20,000 ไร่ ตามเป้าหมาย โดยใช้ระยะเวลาถึง 10 ปีเต็มระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2506-2516 ใหญ่กว่าพื้นที่สนามบินดอนเมืองราว 6 เท่า

โครงการนี้ได้ยืดเยื้อ ก่อนลงเสาเข็มแรกในพื้นที่ของการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช ทรงเป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์ให้กับสนามบินในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2545 หลังจากวันที่ 29 กันยายน 2543 ก่อนหน้าฤกษ์ลงเสาเข็ม 2 ปี พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสนามบินแห่งใหม่นี้ว่า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” โดยให้ทั้งชื่อภาษาไทย ภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งความหมายให้กับสนามบินแห่งนี้ว่า “แผ่นดินทอง” และกลายเป็นชื่อใหม่ที่เข้ามาแทนชื่อเก่าอย่าง “หนองงูเห่า” ที่เรียกกันจนติดปากตามชื่อคลองที่พาดผ่านพื้นที่ดังกล่าวอยู่แต่เดิม

ใช้งบการลงทุนส่วนที่อยู่ ภายในและภายนอกสนามบินทั้ง สิ้นประมาณ 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินลงทุนในภาค ราชการ และรัฐวิสาหกิจ 137,000 ล้านบาท และเอกชนร่วมลงทุนในกิจการเชิงพาณิชย์ 13,000 ล้านบาท ความโดดเด่นของสนามบินสุวรรณภูมินอกจากพื้นที่กว้างใหญ่เป็นหมื่นไร่แล้ว ยังมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี ในระยะแรก

แต่ในระยะประสิทธิภาพของสนามบินสามารถรองรับได้ 100 ล้านคนหากขยายตัวอาคาร หรือการรองรับเที่ยวบินได้มากถึง 79 เที่ยวบินต่อ 1 ชั่วโมง ทั้งขาขึ้นและลง

ขณะที่ความสามารถของ คาร์โก (cargo) จะรองรับได้ 3 ล้านตัน ขณะที่สนามบินดอนเมืองสามารถรองรับได้เพียง 1 ล้านตันเท่านั้น ตัวรันเวย์มีการออกแบบให้รองรับน้ำหนักของอากาศยานแบบใหม่ได้ถึง 770 ตัน ขณะที่แอร์บัสแบบใหม่นั้นมีน้ำหนักประมาณ 500 ตัน

อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่ ประมาณ 563,000 ตารางเมตร ได้ รับการออกแบบให้มีความทันสมัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ภายในมีการตกแต่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทย อาคารผู้โดย สารประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนแรกอาคารผู้โดยสารสูง 7 ชั้น ส่วนที่สองเป็นชั้นใต้ดิน รวมทั้งมีสถานีรถไฟฟ้าใต้อาคารผู้โดยสาร

คอนเซปต์บริหารจัดการภายในทุกอย่างในสนามบินแห่งใหม่ ได้ยกเครื่องให้แตกต่างจากสนาม บินดอนเมืองอย่างสิ้นเชิง โดยมุ่ง ให้บริการแอร์ไลน์และผู้โดยสาร ซึ่งถือเป็นลูกค้าสำคัญของสนามบินแห่งนี้

ระบบการทำงานแทบทุกกิจกรรมในสนามบินสุวรรณภูมิจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ด้วยระบบเทคโนโลยีทันสมัยที่เรียกว่า ATM (Airport Information Manage- ment System) ที่มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ถอดแบบมาจากสนามบินเอเธนส์ สนามบินที่ได้ชื่อว่าไฮเทคแห่งหนึ่งของโลก แต่ด้วยขนาดของสนามบินสุวรรณภูมิที่ใหญ่กว่ามาก ทำให้สนามบินแห่งใหม่ของไทยจะกลายเป็นสนามบินที่มีระบบไอทีทันสมัยติดอันดับโลกไปกับเขาด้วย

คำพูดที่ว่าสุวรรณภูมิจะ เป็นศูนย์กลางทางความเจริญและเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ดร. สุวัฒน์ วาณีสุบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้สัมภาษณ์ไว้ในวารสารเศรษฐกิจและสังคมปี 41 ฉบับที่ 1 ม.ค. ไว้ว่าสนามบินดอนเมืองของไทยมีปริมาณผู้โดยสารมากเป็นอันดับที่ 18 ของโลก จากสนามบินนานาชาติทั่วโลก จำนวน 2,000 สนามบิน เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้ คาดว่าใน 5 ปีแรกจำนวนผู้โดยสารของสนามบินไทยน่าจะขึ้นมาอยู่ในอันดับ 12-13 ของโลก เนื่องจากธุรกิจการบินในเอเชียแปซิฟิกเติบโตสูงมาก

กว่าจะเห็นสนามบินแห่งใหม่ติดอันดับโลกในวันนี้ สุวรรณภูมิต้องเจอกับมรสุมคอร์รัปชันหลากหลาย แต่ละครั้งเป็นการทุจริตที่มีมูลค่าเงินหลายพันหลายร้อยล้านบาท

เริ่มตั้งแต่ การหาซื้อที่ดินเวนคืนที่จำนวนกว่า 20,000 ไร่ที่เป็นที่ตั้งโครงการ เรื่อยมาจนถึงการออกแบบก่อสร้าง จ้างบริษัทที่ปรึกษา “ถมทราย” จนถึงการว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง และที่เป็นข่าวอื้อฉาวเห็นจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดบนสายพานลำเลียงภายในอาคารผู้โดยสาร จำนวน 26 เครื่อง กรณีสินบน 300 ล้านบาท ที่บริษัทเอกชนร้องเรียนกรณีคนใกล้ชิดนายกฯว่ามีส่วนพัวพันในการวิ่งเต้นเรียกรับผลประโยชน์ ที่ประมาณการว่าเม็ดเงินจากการคอร์รัปชันครั้งนี้สูงถึง 30,000 ล้านบาท

หลายกรณีทุจริต จนบัดนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดผู้กระทำผิดได้อย่างชัดเจน และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิยืดเยื้อมาถึง 45 ปีเต็ม แต่มองอีกด้านเมื่อใช้เวลายาวนานในการก่อสร้าง ทำให้ประเทศไทยมีสนามบินอันทันสมัยไปโดยปริยาย. .

หมายเลขบันทึก: 52522เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท