ตัวถ่วงฯ, เรื่องที่ผมไม่ควรนำมาลง, อนาคตเป็นผู้บริหารแน่, เรียนต่อให้ตรงตำแหน่ง, เครื่องแบบพนักงานราชการ, นศ.สอบแทนกัน, นักวิชาการคอมพิวเตอร์, งานสำคัญอีก (คนพิการ), พนักงานราชการตกเบิกเมื่อไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  9  เรื่อง ดังนี้


         1. วันที่ 13 มี.ค.56 คุณ “Tanatcha Gavfaynog” กศน.คลองหาด ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  อย่ากเรียนต่อ ป.โท คณะอะไรดีเพื่อสอบ ผอ. ศูนย์ในอนาคต

             ผมตอบว่า  ถ้ายังไม่มีปริญญาทางการบริหารการศึกษา ก็ต้องเรียนการบริหารการศึกษา

             จากนั้น  วันที่ 15 มี.ค.56 ผมไปโพสท์ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  “ อนาคตได้เป็นผู้บริหารแน่ เพราะ กศน.ขาดแคลนผู้บริหาร
             ดูข้อมูลการเกษียณในอนาคตแล้ว กศน.ขาดแคลนผู้บริหาร ต้องนำเข้าจาก สพฐ.แน่นอน
             สอบ ผอ.กศน.อำเภอ ทุกปี ก็ยังไม่ครบ ที่เพิ่งปิดรับสมัครสอบไป ผู้สมัครบางกลุ่มก็น้อยกว่าอัตราที่ต้องการ ( ผอ.กศน.อำเภอ กลุ่มประสบการณ์ ต้องการ 46 คน สมัครสอบ 22 คน ) ใครสอบได้คะแนนผ่านเกณฑ์ 60 % ก็จะได้เป็นผู้บริหารทั้งหมด
             ในอนาคตจะมีผู้บริหารเกษียณอีกมาก

             ฉะนั้น บุคลากร กศน.ต่าง ๆ ขอให้หาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และ เรียนปริญญาทางการบริหารการศึกษา กันไว้นะครับ อนาคตจะได้เป็นผู้บริหารแน่  ( ถ้าไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และ ไม่มีปริญญาทางการบริหารการศึกษา จะไม่มีสิทธิเป็นผู้บริหารฯ ) 

             คุณจิราพร อัครเสริญ หัวหน้า กศน.ต.สวนจิก อ.ศรีสมเด็จ ถามว่า  ครูกศน ตำบลมีสิทธิใหม
             ผมตอบว่า  ครูกศน.ตำบล ก็เรียนเอกบริหารการศึกษาตั้งแต่ช่วงนี้ แล้วก้าวไปทีละขั้นเริ่มจากสอบเป็นข้าราชการครู ขั้นต่อไปก็สอบเป็นผู้บริหาร   ถ้าจะรอไปเรียนตอนหลัง จะไม่ทันคนอื่น


         2. วันที่ 15 มี.ค.56 ผมเป็นกรรมการ ไปร่วมกำหนดคุณลักษณะเฉพาะครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย ให้ สนง.กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา

             ได้มีการถามกันในเรื่องอื่น ว่า  “ตัวถ่วงคอมพิวเตอร์” คืออะไร

             ค่าตัวถ่วง คือ “ค่าสัมประสิทธิ์ ( factor : ตัวประกอบ ) ที่ใช้คำนวนค่าปรับ กรณีที่ผู้ขายไม่สามารถแก้ไข/ซ่อมครุภัณฑ์ภายในกำหนดระยะเวลาที่ระบุแนบท้ายสัญญา (TOR)”
             โดยมีหลักการกำหนดค่าตัวถ่วงมากน้อยตามความสำคัญของครุภัณฑ์นั้น ๆ ( ถ้าสำคัญน้อยอาจให้ค่าตัวถ่วงเป็น 0.25  ถ้าสำคัญมากให้ค่าตัวถ่วงเป็น 1   ค่าตัวถ่วงต้องไม่เกิน 1   ธรรมชาติของค่าสัมประสิทธิ์มีค่าไม่เกิน 1  ถ้าเกิน 1 จะไม่เป็นธรรม และอาจถือได้ว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 11 ของพรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 )        

             ค่าตัวถ่วง เช่น
             ( แยกรายการ ตามรายการในใบกำกับสินค้า : invoice   ถ้าในใบกำกับสินค้าไม่ได้แยกรายการ/แยกราคา ก็ไม่ต้องแยกตัวถ่วงแต่ละรายการ   ถ้าในใบกำกับสินค้าระบุราคาแต่ละรายการ ก็ให้กำหนดตัวถ่วงแยกแต่ละรายการ )
             - เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายระบบสนับสนุน = 0.50

             - เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาทุกประเภท  = 1.00
             - เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายระบบหลัก/เครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (PC)/เครื่องคอมพิวเตอร์อื่นๆ/UPC/ HARD DISK = 1.00
             - โต๊ะ/เก้าอี้  = 0.40
             - เครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่น  = 0.30
             - เครื่องพิมพ์เลเซอร์สำสำหรับเครือข่าย/เครื่องพิมพ์อื่น ๆ = 0.50
             - เครื่องสำรองไฟฟ้าอัตโนมัติ (UPS) = 0.50
             - เครื่องฉายภาพโปรเจคเตอร์  = 0.50
             - กระดาน Active Board = 0.40
             - อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Switching HUB) = 0.50
             - อุปกรณ์กระจายสัญญาณไร้สาย (Access Point) = 0.50
             - ตู้เก็บโน้ตบุ้ค/แท็บเล็ต  = 0.30
             - ระบบเครือข่ายและระบบไฟฟ้า  = 0.05
             - Mouse = 0.25
             - MONITOR = 1.00
             - ระบบรักษาความปลอดภัยและระบบเครือข่าย = 1.00

             ตัวอย่างการใช้ค่าตัวถ่วงคำนวณค่าปรับ
             สมมุติว่า  ระบุข้อกำหนดแนบท้ายสัญญา (TOR) ว่า กรณีที่ผู้ขายไม่สามารถแก้ไข/ซ่อมครุภัณฑ์ภายในกำหนดระยะเวลา 2 วันทำการ คิดค่าปรับในอัตราชั่วโมงละ 0.035 % ของราคาพัสดุ
             ต่อมาวันหนึ่งผู้ซื้อได้ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ขายมาซ่อมพัสดุที่เสีย ได้แก่
             1)  เครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง (ราคาที่ระบุใน invoice = 16,000 บ.)
             2)  เครื่องพิมพ์ชนิดเลเซอร์สำหรับเครือข่าย 1 เครื่อง (ราคาที่ระบุใน invoice = 12,000 บ.)
             3)  เครื่องสำรองไฟฟ้าสำหรับแม่ข่าย 1 เครื่อง (ราคาที่ระบุใน invoice = 8,500 บ.)

             แต่ผู้ขายมาเริ่มซ่อมหลังจากได้รับหนังสือ 2 วัน และใช้เวลาซ่อมอีก 3 วันจึงเสร็จ
             ( กรณีแจ้งพร้อมกัน 3 รายการ ต้องใช้ตัวถ่วงของพัสดุที่มีค่าตัวถ่วงมากที่สุด )

             ค่าปรับจากการซ่อมพัสดุล่าช้า  = ราคาพัสดุ (16,000 X 2 เครื่อง + 12,000 + 8,500 บ.) X ระยะเวลาขัดข้องที่เกินสัญญา 2 วัน (ในที่นี้คือเกินไป 3 วัน) X 8 ชั่วโมงต่อวัน X 0.035% X ตัวถ่วงที่มากที่สุดของทั้งสามรายการคือ 1 = 294 บาท

             แต่ถ้าผู้ซื้อออกหนังสือแจ้งผู้ขายให้มาซ่อม 3 ฉบับ ในเวลาที่แตกต่างกัน จะต้องคิดค่าปรับแยกตามค่าตัวถ่วงของครุภัณฑ์นั้น ๆ


         3. เย็นวันเดียวกัน ( 15 มี.ค.)  มีผู้ “ระบาย” กับผม ผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  หนูเป็นบรรณารักษ์อัตราจ้างที่เกาะ .....  เงินเดือนกุมภายังไม่ออกเลย  ค่าล่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวายังไม่ออก  ค่าเช่าบ้านค้างเค้า 2 เดือน แบงค์อีก 2 เดือน  นัดเจ้าหนี้เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว  คาดว่าเงินจะออกวันนี้ก็ไม่ออก ร้องไห้เลย  การเงิน (อำเภอ) ชอบดองเรื่อง

             ผมถามว่า  ผอ. (อำเภอ) ว่ายังไงล่ะ

             ผอ.เตือนการเงินหลายครั้งแล้ว ว่าให้ช่วยดู แต่ที่นี่เค้าไม่ฟังผู้บังคับบัญชาเลย  เป็นแค่พนักงานราชการแต่บ้าอำนาจราวกับตัวเองเป็น ผอ. กินเงินโครงการจนถึงคอแล้ว แบ่งพวกแบ่งพ้อง    ทางจังหวัดบอกว่าให้ส่งเรื่องเบิกเงินถึง จ.ก่อนวันที่ 25 หนูทำส่งวันที่ 20-21 แต่การเงินดอง   มาทำงาน 10 โมง ยิ่งถ้าผอ.ไม่อยู่ เที่ยงบ้าง ไม่ก็บ่าย บางทีก็ไม่เข้าเลย  เค้าอ้างว่างานเยอะ ก็ไม่เห็นมีอะไร นั่งอ่าน นสพ.บ้าง เดินไปเดินมา นั่งนินทาเจ้านาย นินทาเพื่อน ชอบโยนงานให้คนอื่นทำ

             ผมบอกว่า  ลองคุยกับ ผอ.อีกทีซิ  ผมเอาไปลงในเว็บบล็อกผมได้ไหม

             ได้ค่ะ    ถ้าเป็นเด็กเค้าแล้ว วันนี้เงินเดือนออกพรุ่งนี้ลากิจตั้งไว้เลย เนื่องจากดื่มเหล้าหนักพรุ่งนี้ตื่นไม่ไหว

             ที่จริง ผมไม่ควรนำเรื่องนี้มาลง เพราะไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงกี่เปอร์เซ็นต์  ผมไม่มีสิทธิ์ที่จะทำให้ใครเสียหายถ้าเป็นเรื่องไม่จริง  แต่ผมก็เห็นใจเขา ช่วยอะไรไม่ได้  คิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงในบางแห่ง ( มากกว่า 1 แห่ง )   การนำมาลงในเว็บบล็อกนี้อาจช่วยให้บางคนพึงสังวรขึ้นมาบ้าง


         4. ดึกวันเสาร์ที่ 16 มี.ค.56 “นายต้น ตัวเล็ก” กศน.นนทบุรี ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เป็นบรรณารักษ์ปฏิบัติการ จะทำชำนาญการ เรียนจบ ป.โท สาขาบริหารธุรกิจ ต้องมีอายุราชการ 4 ปีหรือ 6 ปี    เพื่อนถามคน กจ. เขาบอกว่าต้องจบโททางบรรณารักษ์ ถึงจะแค่ 4 ปี เลยอยากขอความกระจ่าง

             ผมตอบว่า  กจ.ตอบไม่ผิดหรอก บรรณารักษ์ต้องจบปริญญโทหรือปริญญาเอกทางบรรณารักษศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์  ( ข้าราชการครูก็ต้องจบปริญญาโทหรือเอกทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนด )  จึงจะปรับวุฒิ หรือลดเวลาการทำชำนาญการ ได้


         5. วันอาทิตย์ที่ 17 มี.ค.56 ท่านจรัส ผู้เชี่ยวชาญงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ กศน. โพสท์ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ เรื่อง  กศน.ผุดงานสำคัญเกี่ยวกับคนพิการอีก 2 กิจกรรม ( โฮมสคูลคนพิการ 25 จังหวัด กับจัดฟุตบอล ครม.นัดพิเศษ พ.ค.นี้ )  ว่า  นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการกศน. เปิดเผยว่า

             5.1  สำนักงาน กศน.ได้จัดโครงการการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแบบกึ่งโฮมสคูลสำหรับคนพิการ  ต่างจากเดิมที่ กศน.จะส่งครู กศน.ไปสอนนักเรียนคนพิการที่บ้าน  โดยโครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จำนวน 6.8 ล้านบาท  ซึ่ง กศน.จะจัดอบรมเรื่องการดูแลคนพิการ ให้ครู กศน.จำนวน 925 คน พร้อมด้วยผู้ปกครองและเครือข่ายอีก 625 คน รวม 1,650 คน
                   พ่อแม่ผู้ปกครองและเครือข่ายจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นผู้จัดการศึกษาให้กับคนพิการที่บ้านด้วย เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้พิการตลอดเวลา รวมทั้งร่วมพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมสำหรับผู้พิการ   โดยนำร่อง 25 จังหวัดที่มีผู้พิการเรียนกับ กศน.จำนวนมาก อาทิ สุพรรณบุรี พัทลุง นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และน่าน เป็นต้น

             5.2  เพื่อเป็นการรณรงค์ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และนักเรียนพิการ เข้าใจถึงโครงการดังกล่าว และแสดงให้เห็นว่ากศน.ให้ความสำคัญกับการศึกษาของผู้พิการ  จึงจะจัดกิจกรรมนิทรรศการการศึกษาตลอดชีวิตและการศึกษาสำหรับผู้พิการ  พร้อมจัดงานวันกีฬาส่งเสริมผู้พิการขึ้น ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน  โดยจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคณะทูตานุทูต อีก 3 ทีม รวม 4 ทีม  แข่งขันกันแบบพบกันหมด ทีมที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับถ้วยรางวัลนายกรัฐมนตรี   โดยนัดเปิดสนามคือวันที่ 7 พ.ค.56 ระหว่าง ครม.กับทีมคณะทูต  ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดนิทรรศการ และเขี่ยบอลนัดเปิดสนาม   ทั้งนี้การแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวจะแข่งทุกวันอังคารตอนบ่าย หลังจากเลิกประชุม ครม.แล้ว ตลอดเดือน พ.ค.นี้  และจะมีการนำผู้พิการร่วมงานวันละ 1,000 คน ซึ่งจะมีกองเชียร์ เชียร์ลีดเดอร์ผู้พิการด้วย


         6. วันที่ 18 มี.ค.56 อ.เพชร สำนักนิติการ สป.ศธ. บอกผมว่า  ตามที่ กศน.เสนอระเบียบแก้ไขเครื่องแบบปกติของพนักงานราชการ สป.ศธ. ซึ่งแบ่งอินทรธนูออกเป็น 4 กลุ่ม/ระดับ โดยใช้ตราเสมาติดทับบนอินทรธนู เพื่อให้แตกต่างจากอินทรธนูของข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ นั้น   เนื่องจาก ไม่แน่ใจว่า เมื่อนำตราเสมาติดทับบนอินทรธนูแล้ว จะยังเหมือนหรือคล้ายอินทรธนูของข้าราชการหรือลูกจ้างประจำอยู่หรือไม่  ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีเคยมีหนังสือราชการแจ้งว่าเครื่องหมายของเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละประเภทต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกัน   ท่านปลัดกระทรวง ศธ. จึงให้ทำหนังสือหารือสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า  เครื่องแบบตามร่างระเบียบใหม่นี้ เหมือนหรือคล้ายเครื่องแบบของข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือไม่ และจะแบ่งอินทรธนูออกเป็น 4 กลุ่ม/ระดับได้หรือไม่    ทั้งนี้ ได้ส่งหนังสือหารือออกจาก สป.ศธ. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.56
             ตอนนี้ก็คอยการตอบข้อหารือของสำนักนายกรัฐมนตรี


         7. เย็นวันที่ 18 มี.ค.56 มีผู้คุยถามตอบ กับผม ผ่านเฟซบุ๊ค  เรื่อง นักศึกษาสอบแทนกัน ดังนี้

             ถาม  :  ถ้าสมมติว่าเป็นผู้บริหาร แล้วจับได้ว่านักศึกษาเข้าสอบแทน จะรู้สึกอย่างไร

             ผมตอบ  :  รู้สึกว่าขัดกับหลักคุณธรรม 9 ประการที่เราปลูกฝัง ควรลงโทษให้สอบตกทั้งคู่เพื่อเป็นตัวอย่าง

             ถาม  :  แล้วครูจะมีความผิดไหม

             ผมตอบ  :  ก็ต้องพิจารณาดูสภาพการณ์ต่าง ๆ ว่า ครูน่าจะรู้เห็นด้วยหรือเปล่า  ถ้าครูไม่ได้รู้เห็นด้วย ครูก็ไม่มีความผิด  แต่ก็ดูขั้นตอนต่าง ๆ ว่าทำไมจึงมีจุดอ่อนให้สอบแทนกัน ( ถ้าจับได้ตั้งแต่เริ่มสอบโดยการตรวจบัตรก็ถือว่าไม่มีจุดอ่อน )

             ถาม  :  ผอ.ไม่ได้จัดประชุมคณะกรรมการคุมสอบ เลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แสดงว่า ผอ.หละหลวมไหม

             ผมตอบ  :  ผอ.เป็นผู้รับผิดชอบทุกเรื่อง จะดูว่าหละหลวมหรือไม่ก็ดูว่าจับได้ตอนไหนอย่างไร ถ้าจับได้ตั้งแต่เริ่มสอบโดยการตรวจบัตรก็ไม่ถือว่าหละหลวม

             ถาม  :  เขาไม่ได้ตรวจบัตร นศ. ครูผู้คุมเขาอ้างว่า ทำไมคุณไม่จัดประชุมก่อนว่าจะเอาแบบไหน

             ผมตอบ  :  ก็ถือเป็นบทเรียน ครั้งแรกคงไม่ต้องว่าคนคุมสอบมาก  แต่ก็ถือว่าผู้บริหารหละหลวมได้ เพราะผู้บริหารต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง  แก้ไขโดยครั้งต่อไปประชุมก่อน หรือพิมพ์คำชี้แจง/ขั้นตอนวิธีการ แจกผู้คุมสอบ

             ถาม  :  จังหวัดเขามานิเทศ เขาเลยเจอ เขาจับออกจากห้องสอบและปรับวิชานั้นเป็นตก    ผอ.ก็เลยรายงานไปที่ จว.โดยเจ้าหน้าที่นิเทศยังไม่ได้รายงาน  และ ผอ.จะให้ครูที่รับผิดชอบ นศ.คนนั้น ( ครู กศน.ตำบล ครู ศรช. ครูประจำกลุ่ม ) ให้ออก โดยไม่ต่อสัญญา  เราควรทำยังไง

             ผมตอบ  :  เราต้องดูว่า ครูเขารู้เห็นเป็นใจด้วยหรือเปล่า ดูความจริง ไม่ใช่คิดจะช่วยกันอย่างเดียว  ถ้าครูเขารู้เห็นเป็นใจด้วยก็ควรมีความผิด แล้วแต่ผู้บริหารจะพิจารณา  แต่ครั้งแรก ถ้าเป็นพนักงานราชการ อาจให้เพิ่มค่าตอบแทนปีนี้น้อย ๆ หรือไม่เพิ่ม   แต่ถ้าครูไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยจริง ก็อาจแค่ตักเตือนให้รอบคอบ/ให้อบรมสั่งสอน นศ.   ถ้าครูไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยแน่ ควรแนะนำให้เขาขอความเห็นใจจาก ผอ. ให้เชื่อว่าเขาไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยจริง ๆ  และคุยกับผู้ใหญ่ในจังหวัดให้ช่วยพูดด้วย

             ถาม  :  เขาก็ไม่เรียกไปตักเตือนเลย มีแต่จะดำเนินคดีอย่างเดียว

             ผมตอบ  :  เขาไม่เรียกไปเตือน ก็ขอเข้าไปคุยกับเขาเองก็ได้

             ถาม  :  เขาส่งเรื่องไปแจ้งจังหวัดเลย   ทำไมผู้บริหารถึงไม่ปกป้องลูกน้อง

             ผมตอบ  :  ผมไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดตื้นลึกหนาบาง วิจารณ์ไม่ได้ ผมไม่ทราบสภาพการณ์  ผอ.อาจเชื่อว่าครูบกพร่อง/ครูมีปัญหา   ลองทำตามที่ผมแนะนำดู คือถ้าไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยก็ขอคุยกับ ผอ. และขอให้ผู้ใหญ่ในจังหวัดช่วยพูดด้วย


         8. คืนวันเดียวกัน ( 18 มี.ค. ) คุณอาธิป นักวิชาการคอมพิวเตอร์ สนง.กศน.จ.ยะลา ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เหตุใด กศน. จึงจ้างพนักงานราชการ ตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ให้อยู่ในกลุ่มบริหารทั่วไป แทนที่จะจัดให้อยู่ในกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เหมือนกับส่วนราชการอื่น ๆ

             ผมตอบว่า  ขึ้นอยู่กับส่วนราชการมีภารกิจหลักเป็นงานใด  แต่ละส่วนราชการจะทำงานหลักไม่เหมือนกัน เช่น มหาวิทยาลัย สพฐ. กศน. งานหลักคือ การสอน  แต่ถ้าเป็น ก.พ. งานหลักคือ งานบุคลากร   หลายส่วนราชการให้ตำแหน่งนิติกรอยู่ในกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ  แต่มหาวิทยาลัยให้ตำแหน่งนิติกรอยู่ในกลุ่มงานบริหารทั่วไป

             คุณชัยพร กจ.กศน. บอกผมว่า กศน.กำหนดให้พนักงานราชการประเภททั่วไปมีเพียง 3 กลุ่มงาน คือกลุ่มงานบริหารทั่วไป กลุ่มงานบริการ และกลุ่มงานเทคนิค  ไม่มีกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ


         9. วันที่ 19 มี.ค.56 ผมถามคุณชัยพร กจ.กศน. ว่า  การเพิ่มค่าตอบพนักงานราชการย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค.56  จะจ่ายเงินตกเบิกได้เมื่อไร   คุณชัยพรบอกว่า ตอนนี้ตรวจการออกคำสั่งเพิ่มค่าตอบแทนไปได้ห้าสิบกว่าจังหวัดแล้ว  ถ้าครบทุกจังหวัดก็จะรู้ว่าต้องใช้เงินเท่าไร  จากนั้นก็จะประสานกับกลุ่มแผนงานและกลุ่มงานคลัง ดำเนินการของบประมาณมาโอนให้จังหวัดเพิ่ม  ซึ่งปีนี้จะใช้เวลาพอสมควรเพราะไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้  แต่ปีหน้า 1 ม.ค.57 รู้ล่วงหน้าแล้ว จะเร็วขึ้น โดยจะจัดงบประมาณ 2557 เตรียมไว้เลย แล้วให้จังหวัดออกคำสั่งภายใน ธ.ค.56 เลย   สำหรับปีนี้คาดว่าจะจ่ายเงินตกเบิกได้ประมาณ พ.ค.-มิ.ย.56


หมายเลขบันทึก: 530634เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2013 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2013 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้รับข่าวสารข้อมูลก็อาจารย์นี่แหละขอบคุณอาจารย์มากๆเลยค่ะ

มีหลายแห่งค่ะบรรณารักษ์อัตราจ้างที่โดนกระทำเช่นนี้ ของน้องเค้ายังดีนะคะโอทีแค่ออกช้า แต่ของจังหวัดที่หนูอยู่ซิคะตัดออกเลยไม่มีให้เบิกค่ะ อยากจะบอกน้องที่เป็นบรรณารักษ์อัตราจ้างนะคะว่าอดทนนะคะถ้าจะอยู่ตรงนี้ต้องยอมรับเงื่อนไขให้ได้ ทำไปนะคะสู้ๆ         ขอบคุณสำหรับข่าวสารนะคะอาจารย์

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ ทุกท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท