เรียนรู้จากการจด จำ และนำไปใช้


เทคนิควิธีที่ทำให้รักการเรียนรู้ตลอดเวลาของแต่ละคนแตกต่างกัน  ระยะนี้ครูอ้อยป่วยด้วยอาการแขนข้างขวาหักไม่สะดวกในการใช้มือขวา  ครูอ้อยเกิดการเรียนรู้ว่า  ต้องอยู่ให้ได้ด้วยมือซ้ายที่เขียนไม่คล่อง  และผนวกกับการจดแบบสั้นที่ได้ความหมายเวลาที่เข้าห้องประชุม


เมื่อวานนี้และหลายๆวันที่ผ่านมา  ท่านผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการของโรงเรียนที่ครูอ้อยสอนเป็นผู้บรรยายเรื่องการจัดทำรายงานประจำปี  การเขียนแผนปฏิบัติการประจำปี  การจัดทำการประกันคุณภาพภายใน  ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสำคัญที่จำไม่ค่อยได้  มันมากมายเสียเหลือเกิน  ครูอ้อยก็จะมีกระดาษเพียงแผ่นเดียว  จดแบบ Mapping ก้างปลา  ที่โยงใยให้เห็นการพูดของท่านทั้งสามในกระดาษแผ่นเดียวแต่ละวัน  จดเพียงคำสำคัญเท่านั้น  นอกนั้นครูอ้อยจะฟังให้เข้าใจ  ไม่พูดคุยกับใคร


บางตอนที่ท่านผู้อำนวยการค้นคว้าความรู้มานำเสนอพวกเราด้วย u-tube หรือ Power point ครูอ้อยจะใช้กล้องถ่ายภาพเอาไว้เตือนความจำ  และนำกลับมาทำความเข้าใจ  เวลาที่ทำการบ้านส่งก็นำกระดาษแผ่นเดียวนี้ดู  ระลึกถึงสิ่งทีี่ท่านได้พูด  ประกอบกับเปิดกล้องดูด้วย


การจดนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการทบทวนความจำ  บางครั้งไม่สะดวกในการจดในกระดาษเวลาเดินทางไปทัศนศึกษา  ก็จะจดในกระดาษที่พับเป็นเล่มจนเล็กใส่ลงไปในกระเป๋าเสื้อได้  จดในส่วนที่สำคัญ  วันเดือนปี  ชื่อคน สถานที่  ความเป็นมา  และส่วนสำคัญที่เราต้องการจะจำ  


เมื่อกลับมาบ้านครูอ้อยมักจะจดสั้นๆไว้ที่ปฏิทินเพื่อให้รู้ในเวลาที่ผ่านไปว่า  ในแต่ละวันได้ไปไหนทำอะไร  เป็นการเตือนความจำในอนาคตด้วยว่าเราต้องทำอะไร  ก่อนไปทำงานของแต่ละวันครูอ้อยก็จะอ่านปฏิทินนี้  อย่างน้อยคุยกับเพื่อนได้ว่า วันนี้วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ซึ่งหลายๆคนไม่รู้ในเรื่องนี้ 


การจด เป็นเรื่องที่สำคัญ  โดยเฉพาะการบันทึก  จะทำให้เป็นผู้ที่มีระเบียบแบบแผน  สมัยที่ครูอ้อยเรียนในมหาวิทยาลัย  อาจารย์ชื่นชมครูอ้อยว่า  เป็นผู้ที่ลำดับงานได้ดี  สามารถทำงานได้ตามลำดับความสำคัญ  เพราะการจดทำให้เรามองเห็นอนาคต  และมองผ่านทะลุการทำงานได้ดี


เหตุการณ์สำคัญๆที่ผ่านมาในชีวิต  ครูอ้อยก็จะจดไว้ทุกครั้ง  ผ่านมาปีทีีโกทูโนว์แห่งนี้ที่จดบันทึกการทำงานไว้หลายเรื่องราวใน 12เล่ม  ครูอ้อยจะบันทึกมันทุกเรื่องในสมุดเหล่านี้  หลายปีก่อนมีคนทักครูอ้อยว่าจดหลายบันทึกจะทำให้คนสับสน  แต่พอหลายปีผ่านไปกลับจะเป็นประโยชน์ในการสืบค้น  เช่น  เรื่องครอบครัวจะอยู่ในเล่มครูสิริพรกับบันทึก  นำมาอ่านอีกครั้งที่ประทับใจยิ้มยิ้มได้ในหลายๆบันทึก  บันทึกเหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ของครูอ้อยเกือบจะ 6,000 บันทึกในเร็วๆนี้  


ด้วยการจดนี้ติดตามมาจากอุปนิสัยขี้ลืมและต้องการจดความจริงที่ปรากฏ  ไม่ให้ความจริงเหล่านี้ผ่านเลยไป  หรือตายจากไปพร้อมๆกับครูอ้อย  จดทั้งเรื่องราวลบ และบวก เพื่อเตือนสติเราเสมอว่า ชีวิตนี้คือการเรียนรู้ตลอดเวลา  ไม่มีวันจบสิ้นจนตราบชีวิตจะหาไม่

  

หมายเลขบันทึก: 530819เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2013 01:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นานๆจะเขียนบันทึก ทั้งๆที่มีหลายเรื่องราวที่อยากเขียนเก็บไว้ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มาอ่านบันทึกของครูอ้อยแล้วเป็นอีกแรงหนึ่งที่กระตุ้นตัวเองค่ะ ขอบคุณนะค่ะ

รู้อะไร ไม่สู้ รู้วิชา     รู้รักษา ตัวรอด เป็นยอดดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท