เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แก้ง่ายนิดเดียว


เด็กอ่านไม่ออก หรือครูอ่านอะไรไม่ออก
เด็กเขียนไม่ได้ หรือครูเขียนอะไรไม่เป็น

ผอ.โรงเรียนหลายท่านปรึกษา
ศน.หลายเขตพื้นที่สอบถาม
ครูและพ่อแม่ต่างเป็นกังวล...มืดมนกับปัญหา
เด็กๆ ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อีกมากมายนัก

ทางออกจากความเศร้าหมองดังกล่าวมีอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่าท่านจะเลือกหรือไม่
แม้หลายท่านที่เกี่ยวข้องจะเห็นตรงกันก็ตาม
เรื่องของเรื่องยังคงกีดขวางด้วยอุปสรรคอันใด
เราลองมาทบทวนกันดู...

เบื้องต้นขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำแผนงานโครงการฯ ดังนี้

1.หลักการ
หลักการในการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ “แบบครบวงจร”
1.1 จัดทำโครงการป้องกันปัญหา

1.1.1 จัดการเรียนการสอนระดับอนุบาลให้ถูกต้อง เพื่อเตรียมทักษะภาษาก่อน ป.๑ เท่าที่จำเป็น ไม่ทำเกินหน้าที่ (โดยทั่วไปครูอนุบาลมักทำเกินหน้าที่ เป็นการทำลายศักยภาพของเด็ก และไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ) ให้ขึ้นชั้น ป.๑ อย่างมีความพร้อมที่เรียนอ่านออกเขียนได้

1.1.2 จัดการเรียนการสอนระดับ ป.๑ ให้ถูกต้อง เพื่อสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐาน ไม่ให้มีปัญหาเมื่อขึ้นชั้น ป.๒ (โดยทั่วไปครู ป.๑ มักฝึกทักษะเด็กไม่สมบูรณ์เพียงพอ และฝึกผิดวิถีการฝึกทักษะภาษาไทย ทำให้ขึ้น ป.๒ ไปด้วยความไม่พร้อมต่อการอ่านเขียน)

1.2 จัดทำโครงการแก้ปัญหาเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในชั้น ป.๒ ขึ้นไป ถึงชั้นสูงสุดของโรงเรียน ด้วยการจัดให้มี “ครูอาสา” สอนแก้ปัญหา เป็นวาระเฉพาะกิจวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง ประมาณ ๔ เดือน หรือไม่น้อยกว่า ๙๐ ชั่วโมง

2.การจัดอบรม
การจัดอบรมผู้เกี่ยวข้อง ให้ สพป. หรือ สพม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้

2.1 จัดอบรม ผอ.โรงเรียน ๑ วัน เพื่อเรียนรู้สาเหตุแห่งปัญหา การป้องกันปัญหา และการแก้ปัญหาแบบครบวงจร
2.2 จัดอบรมครูอนุบาล ๑ หรือ ๒ วัน เพื่อเรียนรู้การเตรียมทักษะภาษาระดับอนุบาลให้ถูกต้อง (หลักสูตร ๑ วันสำหรับเรียนรู้แนวทางและวิธีการ, หลักสูตร ๒ วันสำหรับเรียนรู้แนวทาง วิธีการ และปฏิบัติการ)
2.3 จัดอบรมครู ป.๑ และครูอาสา ๒ วัน เพื่อเรียนรู้สาเหตุแห่งปัญหา แนวทางการแก้ปัญหา การเขียนชาร์ตการสอน วิธีสอนป้องกันปัญหาและสอนแก้ปัญหา

3.การติดตามกำกับและนิเทศ
การติดตามกำกับให้ผู้ปฏิบัติแต่ละส่วนกระทำการอย่างแม่นตรงต่อเป้าหมาย เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกันกับการนิเทศชี้แจง ช่วยให้คำแนะนำในการแก้ปัญหา และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ หน่วยงานบังคับบัญชาและรวมทั้งโรงเรียนเองก็จะต้องจัดให้มี “ทีมนิเทศ” ที่มีประสิทธิภาพ
...
หลายแห่งยังไม่สามารถดำเนินการให้แม่นตรงต่อปัญหาอย่างเป็นระบบ
เพราะเหตุอันใด ตัวละครแต่ละหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างรู้อยู่แก่ใจ
หยุดหลงทางเสียทีเถิด...
หยุดเบี่ยงเบนเงินงบประมาณที่ สพฐ.จัดสรรเพื่อการพัฒนาบุคลากรปีการศึกษาละไม่น้อยกว่าเขตพื้นที่ละ ๓,๐๐๐,๐๐๐ (สามล้าน) บาทอย่างบิดเบี้ยวและเลื่อนลอย

ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ ในเมื่อหัวใจสำคัญของปัญหา (เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้) ยังไม่ได้รับการปลดเปลื้องให้หมดสิ้นไป ต่อให้มุ่งพัฒนาสาระวิชาอื่นๆ ดีพร้อมอย่างไร เด็กๆ ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็ไม่อาจรับรู้ และสื่อสารอะไรกับสาระวิชานั้นๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ ค่าเฉลี่ยของการวัดประเมินเอ็นทีจึงยังต่ำและโอเน็ตจึงยังตกอยู่ทั้งประเทศ ดังที่เห็นๆ กันอยู่นั่นเอง

------------------------
หากต้องการปรึกษา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากครูกานท์ โทร. 081-9956016 หรืออีเมล [email protected]
----------------------------------
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.facebook.com/photo.php?fbid=349660301802481&set=a.298820356886476.53055.178499348918578&type=1&thea


หมายเลขบันทึก: 533255เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2013 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2013 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

            เด็กอ่านหนังไม่ออก  พูดไปก็ไม่มีใครสนใจ   คิดว่าเด็กอ่านออกแล้ว  เพราะฉะนั้นพอเปิดภาคเรียน  ก็สอนกัน 8 สาระ แต่ละสาระเด็กส่วนใหญ่อ่านหนังไม่ออก  พอสอบ ก็อ่านข้อสอบให้เด็กฟัง พอเด็กหุนหันเชิงว่าไม่ทราบจะตอบข้อไหน  ครูก็ใบ้ ๆ จนเด็กตอบได้  ผมเคยขออนุญาตเข้าศึกษา เด็ก ป.1-ป.3   โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง พบเด็กทั้งหมดอ่านหนังสือออกไม่ถึงร้อยละ 50  โรงเรียนยินยอมให้ผมแนะแนวการสอนให้เด็กอ่านออก  ใช้เวลา 20 วัน   จากการประเมินผล เด็กอ่านได้  เกินร้อยละ 70  นิทานยังมียาวครับ.......

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท