พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

โครงการอบรมทีมที่ปรึกษางานองค์ความรู้ด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย : เพื่อเครือข่ายการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ


โครงการอบรมทีมที่ปรึกษางานองค์ความรู้ด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย

: เพื่อเครือข่ายการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

(Training of Hard Core Team on knowledge of the Right to legal Personality

: For Networks of National Child Protection Committee )




(ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ เมษายน  พ.ศ.๒๕๕๖)[1]


--------------------------

ผู้รับผิดชอบโครงการ

--------------------------

  คณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็กตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

--------------------------

หลักการและเหตุผล

--------------------------

  เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่ายังคงมีเด็ก จำนวนไม่น้อยในทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่ตกอยู่ในสถานะคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และมีปัญหาเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย ตลอดจนปัญหาเรื่องสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยสภาพปัญหาดังกล่าวมีที่มาจากสาเหตุหลายประการ กล่าวคือ การไม่ได้รับการแจ้งเกิด ไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร กฎหมายสัญชาติ กฎหมายคนเข้าเมือง เพราะตกหล่นการสำรวจเพื่อบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร หรือเป็นกรณีถูกรับรองสถานะบุคคลผิดไปจากสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย และประการสำคัญ คือ ปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายของบิดามารดาย่อมจะนำไปสู่ปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายของบุตรอีกด้วย

  นอกจากนี้ รายงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ปัญหาของเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาสถานะบุคคลจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย  แต่อาจจะนำไปสู่ปัญหาของการเข้าถึงการใช้สิทธิประการอื่นอีก ๔ กลุ่ม กล่าวคือ (๑)สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น เรื่องการรักษาพยาบาล เรื่องการก่อตั้งครอบครัวและการอยู่ร่วมเป็นครอบครัว (๒)สิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น เรื่องการทำงาน (๓)สิทธิในการมีส่วนร่วม เช่น เรื่องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการแข่งขันกีฬา และ (๔)สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น เรื่องเด็กที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา

  ดังนั้น แม้ว่าประเทศไทยจะเคารพต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งผูกพันประเทศไทย กล่าวคือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก(CRC : Convention on the Rights of the Child ) เพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็ก  แต่ด้วยสภาพปัญหาที่ปรากฏมีความซับซ้อน และเกิดผลกระทบในหลายลักษณะต่อเด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคล ทำให้เกิดแนวคิดที่จะเสริมสร้างองค์ความรู้อย่างรอบด้านต่อการจัดการปัญหาและให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคล โดยองค์ความรู้ดังกล่าวประกอบด้วย องค์ความรู้ด้านข้อเท็จจริง องค์ความรู้ด้านข้อกฎหมาย องค์ความรู้ส่วนที่เป็นกระบวนการและวิธีการจัดการปัญหา และองค์ความรู้เรื่องเครือข่ายการทำงานด้านสถานะบุคคล เพื่อที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย

คณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก ใน คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ภายใต้การจัดการของคณะเลขานุการคณะกรรมการฯ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงเห็นควรจัดโครงการอบรมทีมที่ปรึกษางานองค์ความรู้ด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย เพื่อเครือข่ายการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ (Training of Hard Core Team on knowledge of the Right to legal Personality : For Networks of National Child Protection Committee ) อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างองค์ความรู้แก่คนทำงาน ทีมที่ปรึกษางานด้านสถานะบุคคลและสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันต่อไป

--------------------------

วัตถุประสงค์ของการอบรม

--------------------------

๑.  เพื่อให้คนทำงาน หรือทีมที่ปรึกษาเข้าใจถึงปัญหาของ “เด็กและเยาวชนที่มีปัญหาสถานะบุคคล” อย่างรอบด้าน ซึ่งโดยทฤษฎีย่อมหมายถึงสิทธิใน ๕ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ชุดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายและการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (๒) ชุดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (๓) ชุดสิทธิในคุณภาพของชีวิต (๔) ชุดสิทธิในการมีส่วนร่วม และ (๕) ชุดสิทธิในความยุติธรรม (ดังปรากฏรายละเอียดของประเภทแห่งสิทธิที่เด็กไร้สัญชาติมักเข้าไม่ถึงจำนวน ๑๔ สิทธิ ตามแผนผังที่แนบมาในเอกสารหมายเลข ๑)

๒.  เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการทำงานของคนทำงาน หรือทีมที่ปรึกษางานด้านสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงองค์ความรู้ใน ๓ ลักษณะอันจำเป็นต่อการป้องกันและขจัดปัญหาที่เกิดกับเด็กที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ กล่าวคือ (๑) องค์ความรู้ในการสำรวจข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเกี่ยวข้องกับเด็กผู้เป็นเจ้าของปัญหา (๒) องค์ความรู้ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของเด็กผู้เป็นเจ้าของปัญหา และ (๓) องค์ความรู้ในการพัฒนาสิทธิและหน้าที่ของเด็กผู้เป็นเจ้าของปัญหา

๓.  เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานเพื่อคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลอย่างรอบด้าน อันได้แก่ (๑) เครือข่ายจากเด็กและครอบครัวที่เป็นเจ้าของปัญหา (๒) เครือข่ายผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหา (๓) เครือข่ายผู้รักษาการตามกฎหมายที่กำหนดสิทธิต่างๆ ของเด็ก และ (๔) เครือข่ายประชาสังคมที่ประกอบเป็นกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก  อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการปัญหา ตลอดจนนำไปสู่การสร้าง know - how เพื่อทำงานร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กที่ประสบปัญหาการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย

 

ดังนั้น ผลการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ทั้งสามประการนี้ จะนำไปสู่ผลสำเร็จที่คาดว่าจะได้รับใน ๓ ลักษณะ ดังปรากฏตามแผนผังต่อไปนี้

--------------------------

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

--------------------------

๑.  คนทำงาน หรือทีมที่ปรึกษาฯ เข้าใจถึงปัญหาทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของ “เด็กและเยาวชนที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย” อย่างรอบด้าน

๒.  คนทำงาน หรือทีมที่ปรึกษาฯ มีศักยภาพในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการจัดการองค์ความรู้อันจำเป็นต่อการป้องกันและขจัดปัญหาอันเกิดแก่เด็กที่ประสบปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย

๓.  เกิดเครือข่ายการทำงานเพื่อเด็กที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายอย่างรอบด้าน ที่มี know - how เพื่อทำงานร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กที่ประสบปัญหาการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย


--------------------------

กลุ่มเป้าหมายในการอบรม

--------------------------

กลุ่มเป้าหมายของการอบรมครั้งนี้ ก็คือ กลุ่มคนทำงาน หรือทีมที่ปรึกษาฯ สำหรับเจ้าของปัญหาในประเด็นสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่มีประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือเด็กที่ประสบปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา หรือทำหน้าที่สนับสนุนเจ้าของปัญหาในลักษณะอื่น โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็กในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่า “Hard Core”

บุคคลดังกล่าวมีที่มาจากหน่วยงานในหลายลักษณะ กล่าวคือ (๑) ภาคราชการ (๒) ภาควิชาการ  (๓) ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ทั้งภายในและระหว่างประเทศ (๔) ภาคองค์การระหว่างประเทศ และ (๕) ภาคองค์กรประชาสังคมที่อาจให้ความยุติธรรมแก่เด็กระหว่างบุคคลที่เป็นทีม Hard Core จำนวน ๔๐ คน


--------------------------

วิธีการอบรม

--------------------------

วิธีการอบรมจะแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง กล่าวคือ

ช่วงแรก เป็นการอบรมเชิงปรัชญาหรือแนวคิดในการทำงานคุ้มครองเด็กที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (องค์ความรู้ที่ ๑)

ช่วงที่สอง เป็นการอบรมโดยการสร้างห้องทดลองทางสังคม (Social Lab) จากสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงที่มาจากการวิจัยเรื่องจริง (Research of True Stories) ในรูปกรณีศึกษา ๗ กรณีเกี่ยวกับเด็กที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย กิจกรรมนี้ย่อมมีการเรียนรู้ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การนำเสนอกรณีศึกษา ซึ่งเป็นตัวอย่างของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติที่ปรากฏตัวในประเทศไทย กิจกรรมนี้จะใช้เวลา ๒๐ นาทีในแต่ละกรณีศึกษา (๒) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ระหว่างบุคคลที่เป็น Hard Core จำนวน ๔๐ คน ซึ่งมีที่มาที่หลากหลาย อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง know – how ที่ใช้จริงในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย กิจกรรมนี้จะใช้เวลา ๖๐ นาทีในแต่ละกรณีศึกษา และ (๓) การเสนอความเห็นโดยวิทยากรผู้ทรงวุฒิต่อกรณีศึกษาและ know – how จากการแลกเปลี่ยนของเหล่า Hard Core กิจกรรมนี้จะใช้เวลา ๓๐ นาทีในแต่ละกรณีศึกษา รวมเวลาการทำกิจกรรมกรณีศึกษาแต่ละเรื่อง ก็คือ ๑๒๐ นาที หรือ ๒ ชั่วโมง (องค์ความรู้ที่ ๒ – ๖)

ช่วงที่สาม เป็นการอบรมเชิงยุทธศาสตร์ โดยการตั้งเวทีเสวนาเรื่องแผนการทำงานเพื่อคุ้มครองเด็กที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย กิจกรรมนี้ย่อมมีการเรียนรู้ใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การเสนอแนะแผนการทำงานระหว่างเครือข่ายการทำงานคุ้มครองเด็กที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายโดยวิทยากรผู้ทรงวุฒิ ๓ ท่าน และ (๒) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคคลที่เป็นทีม Hard Core จำนวน ๔๐ คน ต่อแผนที่เสนอโดยวิทยากรผู้ทรงวุฒิดังกล่าว อันจะนำไปสู่ “ยุทธศาสตร์เพื่อคุ้มครองเด็กที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายที่เครือข่ายการทำงานยอมรับร่วมกัน” ในที่สุด (องค์ความรู้ที่ ๗)

--------------------------

วันเวลา สถานที่อบรม

--------------------------

  จำนวนวันอบรม ๒ วัน คือ วันที่ ๒๕-๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๖

  สถานที่ โรงแรมปริ๊นส์ตั้น พาร์ค สวีท‏ ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร

โปรดอ่านกำหนดการรายละเอียด และเอกสารประกอบการอบรมได้ทาง

http://www.mediafire.com/view/?9j5x3lvnfed2lvx


[1]โครงการนี้ออกแบบโดย นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเตรียมวิทยานิพนธ์เรื่อง “อดีตคนหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย” ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทางวิชาการ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร การออกแบบโครงการนี้มี รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสนุทร เป็นที่ปรึกษา และมีผู้ช่วยค้นคว้าทางวิชาการ ๒ คน กล่าวคือ (๑) นางสาวบงกช นภาอัมพร และ (๒) นางสาวศิวนุช สร้อยทอง การออกแบบเริ่มต้นเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ และปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 534218เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2013 01:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2013 01:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท