มาตาปิตุนังวะ


                                มาตาคือเคหะเทวดาของลูก

                                                                       ........

                                                       

                                                            แม่คือเคหะเทวาของลูกรัก

                                                    แม่คือเทวดาหลักของถิ่นบ้าน

                                                    แม่คือเทวดามากพรประทาน

                                                    แม่คือตุลาการเทวดาเรือน

          แม่ผมเป็นลูกชาวบ้าน หลานชาวนา  ปู่ย่าตาทวดก็เป็นชาวนาทำนา   แม่จึงเป็นข้าแผ่นดินสยามแผ่นดินไทยดั่งเช่นพี่น้องไทยในแผ่นดินสยามนั้นเอง    แม่เป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัว แสงเพ็ง   มีพ่อที่อดีตเคยบวชเรียนและเป็นเจ้าอาวาสวัดหลายวัด   มีแม่ก็เป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวเช่นเดียวกัน    แม่เกิดเมื่อวันที่ ๖  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๗๖  ที่บ้านเลขที่ ๘๓ หมู่ ๑ บ้านกอกหวาน  ตำบลสมอ อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ  ปัจจุบันเป็นบ้านเลขที่ ๑๓๐หมู่ ๑๔  ตำบลโพธิ์ศรี  อำเภอปรางค์กู่  จังหวัดศรีสะเกษ

        แม่มีพี่ชายใหญ่ ๑ คน  ปัจจุบันดำรงเพศบรรพชิต  เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่  ราชทินนาม " พระเทพพุทธิมงคล"  เป็นประธานสมัชชาสงฆ์ภาคพื้นยุโรป  เป็นเจ้าอาวาสวัดไทย " วัดพุทธาราม" เมืองวาลแว๊ก ประเทศเนเธอร์แลนด์  ปัจจุบันอายุ  ๘๓ ปีแล้ว ยังคงจำพรรษาที่นั่น ตามพระบัญชาของสมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโน)  หัวหน้าผู้ปฏิบัติหน้าทีแทนสมเด็จพระสังฆราช   แม่มีน้องชาย ๒ คน  คนที่ถัดจากแม่ เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔  อยู่บ้านช่วยตายายทำนา  ส่วนคนสุดท้้่ายเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านกอกหวาน โรงเรียนเก่าบ้านเกิดแล้ว ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯไปอาศัยวัดสระเกศ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร  กับพี่ชาย.ใหญ่เพื่อเรียนหนังสือ และสุดท้ายมีงานทำ แต่งงานมีครอบครัวอยู่ที่กรุงเทพฯนั้นเอง

      แม่อาศัยอยู่กับพ่อแม่คือตายายของผม  มีอาชีพทำนา เลี้ยงวัว และทำการเกษตรกรรมอย่างอื่นบ้างตามฤดูกาล เป็นลูกสาวที่เข้มแข็ง  สามารถทำหน้าที่แทนพ่อคือตาของผมได้ทุกอย่าง  เพราะตามีอาการขาลีบประกอบการงานไม่คล่องและว่องไวนัก   แม่จึงเรียนจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านเกิด มีครูใหญ่ชื่อครูบุญโฮม บุญยะโะฺพธิ์   ซึ่งต่อมาครูคนนี้ก็สอนผมตอนเรียนชั้น ป.๑ และเป็นครูใหญ่ผมเช่นเดียวกัน

                                                   แม่แม่แม่คำนี้มีค่าล้น

                                           ลูกทุกคนรู้สึกรำลึกถึง

                                           พระคุณแม่ล้ำค่าช่างตราตรึง

                                           ลูกซาบชึ้งพระคุณอบอุ่นเอย

       แม่แต่งงานกับพ่อเมื่ออายุประมาณ ๑๗ ปี  ส่วนพ่อมีอายุประมาณ  ๒๓  ปี  และแม่ก็ให้กำเนิดผมเมื่อแม่มีอายุอายุ ๑๘ ปี บริบูรณ์   พ่ออายุ ๒๔ ปี   ตากับยายจึงไม่ไว้ใจในการเลี้ยงดูลูกของแม่และพ่อ   เพราะน่าจะเยาวัยตามความคิดของตายาย  ตากับยายจึงเป็นธุระเลี้ยงดูผมตั้งแต่บัดนั้น ตั้งแต่แบเบาะจนเข้าโรงเรียน เรียนจนจบ ป.๗ นั่นแหละ    แม่ พ่อ ตายาย และน้าๆ เลี้ยงดูผมด้วยความทนุถนอม เปี่ยมรัก เอื้ออาทร เพราะเป็นลูก เป็นหลานคนแรก ของครอบครัว  แม่เล่าให้ผมฟังว่า ครอบครัวของเราที่มีตาเป็นประธานหรือหัวหน้าครอบครัวขณะนั้น จะมีญาติและบริวารมาอยู่ด้วย มาช่วยทำนา มาช่วยเลี้ยงวัว และมาอาศัยด้วยไม่ขาดสาย ตาจึงมีวงศ์สายเครือญาติมากมายไปหมด

        ในช่วงเวลาสมัยที่ผมเป็นเด็กก่อนเรียนประถมและเรียนประถมศึกษาอยู่นั้น  บ้านเรา นา้เรายังเป็นป่าละเมาะมีไม้ยืนต้นทั้งต้นเล็กต้นใหญ่ ทั้งที่เป็นพืชสมุนไพรอยู่มากมายชนิดนัก  มีจอมปลวกใหญ่ๆกว้างๆ มีไม้ยืนต้นและเถาวัลย์ปกคลุมแน่นหนาและครึ้มไปหมด  วัวควายเข้าไปแล้วเจ้าของหาพบยาก  จึงมักมีโจรลักวัวลักความนำวัวหรือความที่ลักมาได้เอาเข้าไปซ่อนโดยที่เจ้าของไม่สามารถหาพบเลย  กิจกรรมต่อไปพวกโจรเหล่านั้นก็จะฆ่าแล้วตกพูดให้ชาวบ้านเอาไปกิน ซึ่งครอบครัวเราก็ได้รับสิ่งเหล่านี้กับชาวบ้านด้วย โดยเฉพาะคุณตาของผมที่เรียกว่ามีบารมีมากจึงไม่เคยพลาดเลย  ความจริงแล้วชาวบ้านมักจะได้ฟรีๆ หรือไม่ก็มีสิ่งของแลกเปลี่ยนกันเล็กน้อย  อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้ชาวบ้านจะไม่ค่อยมีใครปฏิเสธ  เพราะการปฏิเสธ นั่นเป็นการบ่งบอกว่าไม่อยู่ข้างโจร อาจเดือดร้อนภายหลังแน่นนอน จึงต้อง "เข้ากับโจร ดังคำพังเพยที่ว่า เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม นั่นแล"

        แม่ให้กำเนิดผมตอนกลางคืนวันอังคารต่อวันพุธ เดือนสิงหาคม ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงเสวยราศีราหู(พุธกลางคืน) ประมาณว่า ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ นั่นแหละ  เป็นลูกชายคนแรก หลานคนต้นของครอบครัว "กอกหวาน-แสงเพ็ง"  ผู้ตั้งชื่อให้ คือ หลวงลุง พระมหาสวัสดิ์ อัตถโชโต(แสงเพ็ง) ลูกชายคนโตของตายาย ในฐานะที่ไ้ด้รับการศึกษาสูงสุดของครอบครัวในขณะนั้น

         แม่เล่าว่า แม่ให้กำเนิด แต่ตายายให้ชีวิต เพราะเป็นคนเลี้ยงดู ตอนเล็กแข็งแรง มีกำลังมาก ตัวดำ ขาโก่งขี้เหร่กว่าใครทั้งมวล(มีคนเดียวในครอบครัว) อายุประมาณ ๒-๓ ขวบ ตายายพาไปนาไปร่วมพิธีลงนา(แรกนา)ต้นฤดูฝนคนทำนา ห่อขนม ต้มไก่และนึ่งข้าวเหนียวเอาไปประกอบพิธีที่นา  เลือกเอาจอมปลวกใหญ่ใกล้สระน้ำเป็นบริเวณที่เหมาะที่สุดในการประกอบพิธี แม่เล่าว่า ด้วยความซุกซนและไม่กลัวอะไร ช่วงที่ผู้ใหญ่เผลอจึงหล่นลงสระ สร้างความตกอกตกใจกันทั้งครอบครัว "ตกน้ำสระครั้งแรกในชีวิต" แต่ก็แปลกมากนะ ..คิดทบทวนอย่างไรก็นึกไม่ออก จำไม่ได้ แสดงว่าความจำช่วงนั้นสั้นมากๆ  น่าจะจำและนึกภาพ นึกวีรกรรมในอดีตได้ราวๆอายุประมาณ ๕-๗  ขวบ ซึ่งยังมีภาพแห่งความทรงจำหลายภาพยังจำได้จนถึงทุกวันนี้

         แม่ให้กำเนิดลูกคนที่ ๒ เมื่อปี ๒๔๙๖ ปีมะเส็ง เป็นหญิง ขณะที่แม่อายุได้ ๒๐ ปี พ่ออายุ ๒๖ ปี  การตั้งชื่อตกเป็นหน้าที่ของหลวงลุงเช่นเคย  โดยมีชื่อก่อนที่หลวงลุงจะตั้งให้ว่า  " สมศักดิ์ " เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อผมที่ว่า "สมบัติ" แต่ภายหลังหลวงลุงก็เปลี่ยนใหม่ให้เป็นชื่อที่เหมาะสมกับเพศหญิง  ภาระการเลี้ยงดูตกอยู่กับตายาย และผม ส่วนแม่พ่อก็ไปทำงานทำนา  น้องคนนี้ของผมเข้าเรียนต่อจากผมปีต่อปี คือผมเข้าเรียนเมื่ออายุเข้าปีที่ ๘ คือปี พ.ศ. ๒๕๐๑ (ตาม พ.ร.บ.การเกณฑ์เด็กเข้าเรียน ฉบับสมัยนั้น) ส่วนน้องคนนี้เข้าเรียนปี พ.ศ. ๒๕๐๒  เรียนหนังสือดี เป็นคนสุภาพ มีจินตนาการ เป็นกำลังสำคัญในการช่วยครอบครัว ช่วยพ่อแม่ทำนา อยู่กับพ่อแม่ เพราะไม่ได้เรียนต่อ  มีครอบครัวอยู่กับพ่อแม่ เป็นผู้ใหญ่บ้านดีเด่นของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นเกษตรกรดีเด่น เป็นผู้นำสตรี เป็นแม่ดีเด่น มีทายาทที่เป็นอภิชาติบุตรถึง ๓ คน 

         แม่ให้กำเนิดลูกคนที่ ๓ เมื่อปี ๒๔๙๙ ปีวอก เป็นหญิงอีก เมื่อแม่มีอายุ ๒๓ ปี ส่วนพ่ออายุ ๒๙ ปี น้องคนนี้มีปัญหาในเรื่องชื่อมากกว่าพี่ๆน้องๆ หลวงลุงตั้งให้ว่า ชลี หรือ ชุลี  พ่อไปแจ้งเกิดก็ชื่อนี้ ที่ครอบครับก็เรียกชื่อนี้ตั้งแต่เกิด แต่คนเขียนใบเกิดเขียนไม่ค่อยชัด หรือเขียนไม่ถูกก็อาจเป็นได้ เขียนคล้ายๆว่า ชลี หรือ อลี พอมาเข้าโรงเรียน คุณครูผู้รับเข้าเรียนคือ คุณครูทอง  พลรักษ์ที่คุ้นเคยกับครอบครัวมาก อ่านเป็นอะลี และเห็นว่าไม่เหมาะ จึงขอเปลี่ยนเป็น อารี แม้พ่อจทักท้วงว่า ชลี แล้วก็ตาม (พ่อว่าอย่างนั้น)  น้องคนนี้จึงได้ชื่อ อารี กอกหวาน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗  และเมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนปรางค์กู่ พ่อจึงพาไปเปลี่ยนชื่อใหม่ คราวนี้ จากอารี เป็น ชลี และเป็น ชาลี ในที่สุด น้องคนนี้แข็งแร็ง เด็ดขาด ไม่ยอมใคร เรียนดี อาชีพสุดท้ายเป็นพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า  มีครอบครับอยู่ที่ กทม. นนทบุรี  มีทายา ๑ คน

         แม่ให้กำเนิดลูกคนที่ ๔  เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๕๐๒ เดือนมกราคม เป็นชาย เมื่อแม่มีอายุได้ ๒๖  ปี พ่อมีอายุ ๓๒  ปี คุณตาตั้งชื่อเพื่อความเป็นมงคลว่า "นพรัตน์ " ตอนเยาวัยลูกชายคนนี้ขี้แย ร้องไห้ไม่หยุด และมักป่วยไข้เสมอๆ ลำคอจึงไม่ว่างเว้นสายสิญจน์สายมงคล พ่อกับแม่จึงต้องพึ่งทางไสยศาสตร์พึ่งน้ำมนต์และบนบานบ่อยๆ อีกทั้งกล่าวว่า " ปู่เสียงที่ล่วงลับไปนานแล้ว จุติมาเกิดขออยู่ด้วย" จึงแก้โดยการปะพรมน้ำมนต์ บนบาน ห้อยเหรียญ คล้องสายมงคล และเปลี่ยนชื่อเป็น " สมไร " เพื่อให้พ้นเคราะห์พ้นภัย ผู้ที่ตั้งชื่อแก้เคล็ดให้นี้ก็คือ ย่าทวดของผม ที่ชื่อว่า ย่าทวดพัน เมียปู่ทวดครุฑ (กำนันกรุฑ)  ด้วยที่คุณตาอดีตเคยเป็นเจ้าอาวาส เป็นปราชญ์ของชุมชน จะไม่สับสนในเรื่องนี้ คนอื่นจะเชื่ออย่างไร จะหาวิธีป้องกันแบบใดคุณตาก็ไม่ขัดขวาง  หลักคิดหลักการของท่านเหมือนเดิม เชื่อในเหตุปัจจัย และยังคงเรียกชื่อขานชื่อหลานชายว่า "นพรัตน์" ไม่เปลี่ยนแปลง  น้องชายคนเล้กนี้ เป็นคนมีจิตนาการ ชอบวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ เรียนเก่งเป็นที่ ๑ ของโรงเรียนตั้งแต่ ป.๑ ถึง ป.๗ กลัวสุนัขกลัวความมืดก็เป็นที่ ๑ จึงมีอยู่วันหนึ่งวิ่งหนีสุนัขแล้วหัวไปชนกับขั้นบันไดจนแตกได้เย็บหลายเข็ม  แม่ทนุถนอมลูกคนนี้ดุจไข่ในหินก็มิปาน ด้วยเป็นลูกคนเล็ก ขี้โรค แต่ก็รักลูกทุกๆคนเหมือนกันโดยไม่มีลำเอียง

         ลูกคนนี้ของแม่ เป็นที่สมประสงค์ของครอบครัวทุกประการ สมใจของแม่พ่อ เพราะมีอาชีการงานที่มั่นคง มีหน้ามีตาในวงสังคม มีครอบครัวที่อบอุ่น มีฐานะสมฐานะ ตำแหน่งในหน้าที่การงาน คือ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยว... หลายๆจังหวัด  เป็นหัวสมองเป็นคลังปัญญาของครอบครัว "กอกหวาน" ของเรา เรียนจบชั้นประถมศึกษาปี่ที่๗ ที่โรงเรียนบ้านสมอ ได้ทุนการศึกษาปีละ๑๐๐๐ บาท ทั้งนี้โดยการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อจากคุณครูพิชัย  ไชยชาญ และการติดตามของพ่อสาด  กอกหวาน

 

 

 

         แม่และพ่อ ช่วยกันเลี้ยงดูอุปการะตอบแทนคุณตาคุณยาย คุณปู่คุณย่าของผมตามกำลังและตามโอกาสโดยไม่ขาดเขินและขัดสนบนหลักคิดและหลักการที่ว่า"นิมิตตัง สาธุรูปานัง ตัญญู กตเวทิตา" การรู้บุญคุณ และตอบแทนคุณ เป็นเครืองหมายของคนดี พ่อ แม่และครอบครัวของเรายึดสิ่งนี้เป็นสำคัญ ครอบครัวของเราจึงแคล้วคลาดจากสรรพทุข์ สรรพภัย สรรพเคราะห์เสนียดจัญไรทั้งมวลและตลอดมา  นอกจากนั้นครอบครัวของเราโดยเฉพาะผู้ใหญ่ผู้อาวุโส  จะดำเนินชีวิตแบบที่สอนให้รู่  ทำให้ดู อยู่ให่เห็น เป็นหลักชัยอย่าง  โดดเด่น และเคี่ยวเข์นให้ครอบครัวอยู่รอดปลอดภัย

 

       

 

................................................................................................................................................................................................................................................................................

       เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๖  ขณะที่แม่อายุได้ ๘๐ ปี กับ ๑ เดือน แม่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลประชารักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งๆที่แม่พยายามปฏิเสธลูกหลาน  หลังจากเข้านอนที่โรงพยาบาลใคคืนแรก คือคืนวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๖  แม่ปริปากเล่าว่า  แม่นอนไม่หลับมาแล้ว ๒ คืน คือคืนวันที่ ๒๗-๒๘ กันยายน ๒๕๕๖  และมีอาการปวดหัว ไอแห้งๆ คลื่นไส้ ขาบวม หน้าบวม หน้าแดง ฝ่ามือฝ่าเท้าแดง จึงอึดอัดหายใจขัดๆ ไม่โปร่งโล่ง  แต่แม่ก็พยายามเก็บอาการ ไม่อยากไปพบหมอ คิดว่าอีกไม่กี่วันก็คงหาย  ก่อนที่หมอจะให้นอน หมอได้ครวจอาการ  นำ้ปัสสาวะไปตรวจ  พบว่า ในน้ำปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงและขาวปนอยู่ น่าจะมีอาการผิดปกติทางร่างกายแน่ ประกอบกับมีไข้ด้วย เพื่อให้แน่ใจหมอต้องตรวจเลือด สังเกตอาการ และต้องนอนที่โรงพยาบาล คุณนพรัตน์ กอกหวานลูกชายคนเล็กของแม่มาเยี่ยมรวมทั้ง ติ๊งโหน่ง  ยอดตอง เติบโตหลานสาวหลานชาย และคุณประภาพร กอกหวาน สะใภ้คนโตก็ร่วมดูอาการและดูแล  คืนนั้นผมและลูกชาย(เติบโต)นอนอยู่เป็นเพื่อนแม่  หมอเริ่มให้น้ำเกลือ นำเลือดไปตรวจ เพื่อค้นหาโรคฉี่หนู  แม่บอกว่ายิ่งอึดอัดหายใจไม่โล่ง คืนแรกนั้นแม่ผุดตื่นผุดนั่งทั้งคืน ทำให้ผมและลูกชายเริ่มกังวัล อาการบวมยิ่งมากขึ้น มีไข้สูง ความดันสูง ผลการตรวจเลือดไม่พบฉี่หนู  

        ตื่นเช้าวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖  หมอสั่งให้เอาแม่ไปเอกซเรย์ปอด  และบอกว่า ปอดแม่ด้านซ้ายอักเสบ จึงให้ยาฆ่าเชื้อพร้อมกับให้น้ำเกลือ และวันนี้เพิ่มการรักษาโดยการพ่นยาเพื่อจะทำให้หายใจสะดวก มีการให้ออกซิเจนด้วย เพื่อนๆของติ๊งโหน่งพากันมาเยี่ยม รวมทั้งปู้สวิน แสงเพ็ง น้องชายคนเล็กของแม่ด้วย  อาการของแม่ก็ยังไม่ดีขึ้น คืนวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ อาการไม่ดีขึ้น กินข้าวไม่ได้ ปั่นป่วนในท้อง หายใจไม่โล่ง คืนนี้แม่ก็นอนไม่หลับอีก 

      วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖  อาการแม่ไม่ดีขึ้นกลับจะมีอาการหนักยิ่งขึ้น น้าสวินมาพุดคุยด้วย คืนนี้ ผมและ ติ๊งโหน่งเป็นคนเฝ้าและดูแล  พยายามพูดคุย นวด และพัดให้แม่เพื่อให้คลายกังวล แต่สีหน้าแม่ก็ไม่เสบย เวลาประมาณ ๔ ทุ่มเศษ แม่มีอาการหายใจไมโล่งมากขึ้น  หมอจึงสั่งให้พ่นยาอีก( การพ่นยามีทุก ๔ ชั่วโมง) เวลาประมาณ เกือบ ๕ ทุ่ม ขณะที่พ่นยา แม่หายใจขัดๆ พยายามส่ายหน้าไปมา และให้เอาที่พ่นยาออก ...แม่มีอาการเหนื่อยมากๆ ....ส่ายหน้าไปมาเหมือนจะพยายามสูดอากาศให้เพียงพอ... แม่พูดด้วยเสียงแผ่วเบาว่า...แม่เหนื่อยมาก..แม่คงจะอยู่กับลูกไม่ได้แล้ว...ลูกเอย

      ทำให้หัวใจผมหล่นวูบ รำพึงในใจด้วยความแหบเครือว่า "เป็นไปได้อย่างไร" เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมาแม่ยังดีๆ เดินเหินได้คล่องแคล่ว พูดจากันรู้เรื่อง มีก็เพียงอาการบวม หน้าตาแดงเท่านั้นเอง แม่จะตายไม่ได้นะ แม่ต้องมีอายุยืนกว่านี้ ผมรำพันด้วยเสียงเครือและแผ่วเบา

      คุณหมอและพยาบาลเข้ามาเยี่ยมแม่และดูอาการอย่างใกล้ชิด ฉีดยาให้หลายเข็มและตรวจการทำงานของหัวใจ แจ้งว่า แ่ม่มีภาวะเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจเล็กน้อย พร้อมกับเสนอความเห็นว่า ควรนำแม่เข้าโรงพยาบาลศรีสะเกษโดยเร็ว เพราะมีเครืาองมือเพียบพร้อม  โดยทางโรงพยาบาลประชารักษ์จะทำหนังสือ และนำส่งต่อไป   แม่จึงถูกออกจากโรงพยาบาลประชารักษ์อย่างฉุกลหุก เวลาประมาณ ๒๓.๓๐ น. ผมและติ๊งโหน่ง(หลานสาว)กังวลและหวาดหวั่นมากๆ

      ส่งแม่ถึงโรงพยาลศรีสะเกษ ใช้เ้วลาประมาณ ๑๐ นาที เจ้าหน้าที่นำเปลมารับ และเข็นแม่ไปที่ห้องฉุกเฉิน  คุณพยาบาลโรงพยาบาลประชารักษ์ไปยื่นหนังสือกับฝ่ายทะเบียนรับคนไข้ ติ้งโหน่งไปให้ข้อมูลประกอบและทำบัตร  ผมดูแลแม่อย่างใกล้ชิด คุณหมอประจำห้องฉุกเฉินเรียกผมไปถามและขอข้อมูลอาการใข้ของแม่ เสร็จแล้วคุณหมอเข้าตรวจแม่ และสั่งให้คุณพบาบาลต่อท่อปัสสาวะและฉีดยาขับปัสสาวะของแม่ทันที

      ต่อจากนั้น เวลาประมาณ ๒๔.๐๐ น.เศษๆ คุณหมอสั่งให้เข็นเปลแม่ไปที่ตึก ๔ ชั้น ๒ แม่ยังอยู่บนเปลแคบๆ เหมือนเดิม ผมและติ๊งโหน่งเดินเคียงข้างเปลแม่จนถึงตึก ๔ ชั้น ๒   พนักงานเข็นรถเข้าไปหาพยาบาลคนหนึ่งเพื่อส่งเอกสารส่งตัว คุณพยาบาลบอกว่า คนไข้และญาติมากมายเหลือเกิน ลองเลือกหาที่เหมาะๆดู  จึงได้ที่จอดรถเข็มแม่ที่หน้าประตู เบียดกับเตียงคนไข้ที่มาจากราษีไศล และห้วทับทัน  เป็นเหตุการณ์ที่วิกฤตที่สุด น่าเห็นใจคนป่วย ญาติคนป่วย และคุณพยาบาลมากที่สุด

     

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เทวดา
หมายเลขบันทึก: 535562เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2013 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท