บทเรียนผู้นำ 3 คน แธตเชอร์, ทักษิณ, คิม จอง อึน จาก8K’s 5K’s


  • บทเรียนจากความจริง

    ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
  • บทความจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 13 เมษายน 2556 ติดตาม อ่านย้อนหลังได้ที่ลิงก์ข้างนี้ครับ
http://www.naewna.com/columnist/1104

บทเรียนผู้นำ 3 คน แธตเชอร์, ทักษิณ, คิม จอง อึน จาก8K’s 5K’s

ก่อนอื่นขออวยพรให้ผู้อ่านแนวหน้าของผมมีความสุข มีสุขภาพที่ดี ปลอดภัย มีปัญญาต่อสู้กับอำนาจที่ไร้คุณธรรมต่างๆ ที่ไม่หวังดีต่อประเทศของเรา และอวยพรให้หนังสือพิมพ์ “แนวหน้า”ยืนหยัดไม่ขายเพื่อเงิน และอำนาจ สามารถเจริญก้าวหน้าอยู่ต่อไป

เมษายน ปีนี้ร้อนจริงๆ ในภาคเกษตรก็แล้งอย่างมาก รัฐบาลชุดนี้ก็แล้งความคิดในระยะยาว เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเพื่อใคร

ปัญหาจำนำข้าว เลิกก็พัง ไม่เลิกก็พัง ก็ยังแก้ไม่ได้ คาราคาซัง มีเพียงแค่พ่อค้าข้าวบางกลุ่มกับนักการเมืองพรรคเพื่อไทยร่ำรวยมาก

ยังมีเรื่องนโยบายรถคันแรก ปัญหาอันดับแรก คือ มี NPL มากขึ้น สร้างหนี้เสียให้แก่คนไทย ขาดวินัยการเงินไม่รู้จะออกมาอย่างไร แต่ที่แน่ก็คือรถติดมโหฬาร แต่รัฐบาลเสียงข้างมากก็เดินหน้า ต้องกู้ 2 ล้านล้านบาท

สัปดาห์นี้จะขอยกตัวอย่างผู้นำ 3 คน มาเปรียบเทียบให้ผู้อ่านศึกษาจุดอ่อน จุดแข็ง โดยใช้แนวคิด 8K’s 5K’s ของผม และนำไปวิเคราะห์ดูว่าจะเป็นผลเสียอย่างไรต่อคนไทย

คนแรกคือ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์

จุดแรกที่เด่น คือ ทุนทางจริยธรรม และทุนทางปัญญาใน 8K’s คือมองอนาคตอังกฤษว่าต้องปฏิรูปวิธีการบริหารประเทศ ลดบทบาทของสหภาพแรงงาน มองอนาคตไกลว่าอังกฤษต้องมีระบบเศรษฐกิจเสรี พึ่งการตลาด สร้างศักยภาพการแข่งขัน และที่สำคัญก็คือมองผลประโยชน์ในระยะยาวของประเทศเป็นหลัก

มีการพูดถึงภาวะผู้นำของแธตเชอร์ในหลายด้าน แต่ 2 เรื่องที่สำคัญมากๆ ก็คือ

ด้านแรกคือ กล้าทำอะไรที่รุนแรงและอาจเสียคะแนนแต่ทำและยอมรับผลที่เกิดขึ้น เช่น ยอมเสี่ยงต่อการแพ้การเลือกตั้งแต่โชคดีที่ได้รับเลือกกลับมา เพราะปัจจุบันนักการเมืองในโลกส่วนมากกลัวเสียคะแนน จึงเน้นประชานิยม เอาใจผู้เลือกตั้งไม่สร้างนโยบายที่เสียคะแนนนิยม ตัวอย่างของแธตเชอร์ คือถ้าแพ้ก็ต้องยอมเพื่อแลกกับนโยบายปฏิรูปเพื่อผลระยะยาวของอังกฤษ

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือ มีความมุ่งมั่นสูง กล้าหาญ อดทนและแข็งแกร่ง แธตเชอร์ ถูกขนานนามว่าหญิงเหล็ก “Iron Lady” อย่างการจะลดบทบาทของสหภาพแรงงานในอังกฤษทำได้ยาก แต่แธตเชอร์ก็ทำได้สำเร็จ

ในทางวิชาการ วิธีการแบบนี้ เรียกว่า Conviction Style คือ เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำและเดินหน้า ถึงจะมีคนคัดค้านหรือเสียคะแนนก็ตาม

แต่ในโลกการเมืองปัจจุบันส่วนมากยังเน้นแบบ Consensus Style คือ จะทำอะไร กลัวเสียคะแนน ทุกๆ ฝ่ายเห็นชอบได้มากกว่าเสีย แต่อาจจะเสียหายในระยะยาว

ส่วน คิม จอง อึน ผมคิดว่า

การเป็นผู้นำของเขา น่าวิตกตรงที่ว่า เขาขาดทุนทางปัญญา คือยังอายุน้อยและขาดประสบการณ์ คือเน้นที่ประเทศของเขา มองมุมเดียว การขาดทุนทางปัญญานำไปสู่ความหายนะระดับโลกได้ จากความไม่รอบคอบ และไม่แตกฉานของเขา จึงนำมาซึ่งการตัดสินใจผิด แบบเข้าข้างประเทศของตนมากเกินไป

ประเด็นที่สอง ก็คือ ขาดปัญญาเรื่องการบริหารความเสี่ยง ไม่รับผิดชอบว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ที่ขาดอีกทุน คือทุนทางจริยธรรม เพราะมีการลงทุนทางการทหารมากที่สุดแต่ประชาชนชาวเกาหลีเหนือกว่า 2 ล้านคนอดอยาก

ส่วนคนสุดท้าย คุณทักษิณ ผมพูดหลายครั้งว่าเป็นคนเก่งมากๆ ใน 2 ทุน คือ

- Creativity Capital ทุนแห่งการสร้างสรรค์

- Innovation Capital ทุนทางนวัตกรรม

เพราะมีความคิดใหม่ๆ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ขาดทุนทางจริยธรรม เพราะทำทุกอย่างไม่โปร่งใส เพื่อตัวเขาและครอบครัว

และขาดทุนทางอารมณ์ คือ เป็นผู้นำที่ขาดสติในการควบคุม อาจจะมีความแค้น และอาฆาตต่อคู่ต่อสู้ ไม่ปล่อยวาง หากถูกกระตุ้นจากคู่แข่งจะขาดการควบคุมทางอารมณ์ จากมุมมองในเรื่องดังกล่าวข้างต้นผมหวังว่า จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย และหวังว่าผู้อ่านจะนำส่วนดีๆ ของผู้นำมาใช้ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี เช่น

ประชาธิปัตย์ เขานำนโยบายบางอย่างของคุณทักษิณมาใช้บริหารความหลากหลาย ของคนเก่งในหลายๆ กลุ่มให้พรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนในภาคอีสานและภาคเหนือด้วยโดยเน้นเรื่องความโปร่งใส ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีมากกว่า ส่วนคุณทักษิณ ก็คงต้องเอานโยบายบทเรียน คุณมาร์กาเร็ต แธตเชอร์มาใช้ เช่น นโยบายจำนำข้าว คือหายนะแน่ๆ ก็ควรเลิกตอนนี้ ดีกว่าเลิกเมื่อชาติล่มจมแล้ว หรือหยุดกู้ 2 ล้านล้านบาทก่อนที่จะหายนะด้วยหนี้ท่วมประเทศ “คุณทักษิณ ฟังหรือเปล่า”

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
[email protected]
www.gotoknow.org/blog/chiraacademy
แฟกซ์ 0-2273-0181


หมายเลขบันทึก: 537198เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท