แอบดู.....งานศพทศกัณฐ์


แอบดู.....งานศพทศกัณฐ์

          หลายท่านเห็นหัวข้อเรื่อง  แล้วอดสงสัยไม่ได้ว่ากำลังจะถูกหลอกหรือเปล่า เพราะว่าท่าน ท้าวทศกัณฐ์ นั้นเป็นตัวโกงในลำดับต้นๆของเรื่องรามเกียรติ์เลยเชียวแหละ ที่คิดไป พรากผัวพรากเมีย เขามาจนเป็นเหตุให้ต้องมีการรบทัพจับศึกกันระหว่างกองทัพยักษ์และกองทัพลิง  แม้ว่าจะมีฤทธิ์เดชหรืออำนาจมากสักเพียงใด เมื่อถึงเวลาที่กรรมให้ผล แม้จะถอดกล่องดวงใจไปเก็บไว้ที่อื่น ก็ต้องถูก พระราม ฆ่าตายในที่สุด
       เมื่อยามเด็ก  ที่วัดข้างบ้านมีงานครั้งใด   ก็มักจะมีการแสดง ลิเก ลำตัด และโขน โดยเฉพาะในงานศพ  หากจะให้มีหน้ามีตาละก็ต้องนี่เลย...โขน...ซึ่งก็มีทั้ง โขนพากษ์  โขนสด โขนชักลอก และโขนหน้าไฟ 
       โขนพากษ์  นั้นจะสวมหัวจนมิดชิดและใช้คนอื่นพากษ์แทน ส่วนตัว ผู้แสดงก็จะร่ายรำไปตามบทกลอนหรือบทพากษ์  ผู้ชมก็จะดูการร่ายรำและฟังเสียงพากษ์ที่ไพเราะเพราะพริ้ง จะพบก็เวลามีงานศพของผู้มีฐานะหรือพอจะมีหน้ามีตากับเขาอยู่บ้าง
       โขนสดหรือโขนพูด   อันนี้ผู้แสดงจะทั้งร้องและร่ายรำเอง   ดูกระฉับกระเฉงทะมัดทะแมงทันใจผู้ชม โขนชนิดนี้ผู้ใหญ่บอกว่าเวลาสร้างเวทีให้ปูด้วยไม้กระดานหลายๆแผ่นเรียงกัน แต่ห้ามตอกตะปู เพราะเวลาผู้แสดงกระทืบเท้าตอนลิงกับยักษ์มาพบกันน่ะเสียงมันช่างดังสะใจดีแท้           
        โขนชักลอก ก็พบได้ในโขนทั้งสองอย่างที่เอ่ยมา โดยเฉพาะตอนนางลอย กับตอนที่จะต้องเหาะไปรบกันบนฟากฟ้านั่นแหละ ผู้แสดงก็จะต้องถูก เอาเชือกมามัดโยงและชักลอกขึ้นแกว่งไปมาเพื่อให้ดูสมจริงสมจัง  ต่อมาคงอาจเพราะกลัวว่าผู้แสดงจะเป็นอันตราย   จึงใช้วิธีเลื่อนฉากหรือเปลี่ยนฉากแทน
       โขนหน้าไฟ จะเป็นการแสดงโขนในช่วงสั้นๆ ของพิธีเผาหลอกในตอนเย็น  เพื่อให้ผู้มาร่วมงานศพได้ชมพอหอมปากหอมคอ ก่อนที่จะมีพิธีเผาจริงในตอนดึก  หากติดใจก็มาชมเป็นเรื่องเป็นตอนในยามค่ำคืน ตกประมาณสี่ทุ่มก็จะมีพิธีเผาจริง เจ้าภาพก็จะจุด พลุ พุ่มดอกไม้ ตะไล และไฟพะเนียง เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย
         ปัจจุบันไม่ค่อยพบโขนชักลอกและโขนหน้าไฟบ่อยนัก จะมีก็เพียงแต่โขนวิ่งลอกหน้าไฟ เวลามาแสดงก็จะมาพร้อมกับรถตู้ มีผู้แสดงสองถึงสามคนลงมาร่ายรำโดยจับเอารามเกียรติ์ตอนใดตอนหนึ่งแบบมินิ มาร่ายรำพอเป็นพิธี   เสร็จก็จากออกไปข้างๆเมรุ รับทรัพย์แล้วก็ ขึ้นนั่งรถตู้เพื่อไปงานอื่นต่อ ช่วงที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพที่จะดำเนินการตามแบบประเพณีไทย เพื่อเป็นการระลึกถึงและแสดงออกถึง  ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้วายชนม์
        รามเกียรติ์ที่เราติดตามชมมานั้น  เมื่อทศกัณฐ์ตายทุกคนก็ยินดีด้วยความสะใจ เพราะในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นละครจักร์ๆ วงศ์ๆ หรือละครน้ำเน่าก็ตามที ก็คงต้องจบลงด้วยความแฮ็ปปี้เอ็นดิ้ง  จึงจะถูกใจผู้ชมซึ่งเป็นเสียงข้างมาก หากเปรียบในภาวะการณ์ปัจจุบันก็ต้องบอกว่ามันเป็นไปตามกระแส แต่ต่างกันกับทางธรรมะ ชึ่งคำนึงถึงความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ  เพราะแดนนี้เป็นแดนกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ ทุกท่านมีกรรมเป็นของๆตัว งดกรรมชั่วเสีย จงเร่งสร้างแต่กรรมดี ชาตินี้ยังลำบากเพียงนี้หากไม่สร้างกรรมดีแล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร
           ทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกาเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ได้มีการเชิญศพกลับเข้ากรุงลงกา  พร้อมทั้งมีการเตรียมงานพระมหาเมรุมาศ  และจัดให้มีการมหสพสมโภชในงานศพ  ดังความตามนี้
                ยานี : งานพระมหาเมรุมาศของท้าวทศกัณฐ์  (หนังสือรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เล่ม ๒ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๐ หน้า ๕๗๙-๕๘๐

                                         จึงให้ตั้งมหาเมรุมาศ                  อันโอภาสพรรณรายฉายฉาน
                                    สี่มุขห้ายอดดั่งวิมาน                       สูงตระหง่านเงื้อมง้ำอัมพร
                                   ทั้งเมรุทิศเมรุแทรกรายเรียง              ดูเพียงสัตภัณฑ์สิงขร
                                   มีชั้นอินทร์พรหมประนมกร                รายรูปกินนรคนธรรพ์
                                   ประดับด้วยราชวัติฉัตรธง                  พนมแก้วแถวองค์ประดับคั่น
                                   ชั้นในพระเมรุทองนั้น                       มีบรรลังก์รัตน์รูจี
                                   เพดานปักทองเป็นเดือนดาว               แสงวาวด้วยแก้วมณีศรี
                                   ทั้งระย้าพู่พวงดวงมณี                       ก็เสร็จตามมีพระบัญชา
                                                                     ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
            

   ชมภาพบรรยากาศงานศพทศกัณฐ์ ซึ่งเป็น FIile Acrobat Reader ได้ที่นี่ค่ะ          Belly Dancerhttp://gotoknow.org/file/chuanpis/Ramayana.pdf Belly Dancer
และหากอยากดูภาพจริงให้ติดตามชมได้จาก จิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนะคะ
                                                               

                                                                     โดย  คนบ้านเดียวกัน
      

    คัดย่อมาจาก : พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ : ศาสตราจารย์  น.อ.สมภพ ภิรมย์ ร.น.  ราชบัณฑิต  พิมพ์ที่อมรินทร์การพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๘
                      : งานพระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์  โดยนายยิ้ม ปัณฑยางกูรและคนอื่นๆ กรุงเทพ ๒๕๒๘ 

หมายเลขบันทึก: 53762เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2006 05:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมเคยฟังเรื่องราวการคงกระพันของทศกัณฑ์  ว่าทศกัณฑ์นั้นเป็นบุตรของเทพตนหนึ่งที่ได้รับพรข้อหนึ่ง  คือ  หากเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายต้องอาวุธ  ทำให้สิ้นชีวิต   แต่เมื่อร่างกายล้มลงสัมผัสพื้นดิน  เมื่อนั้นจะฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง    เข้าใจว่าพ่อของทศกัณฑ์เป็นเทพที่คล้ายๆกับเทพด้านเกษตรอะไรประมาณนั้น 

เขาเปรียบเปรยว่า  ทศกัณฑ์  นั้นจะเหมือนกับ  "กิเลศ"  ของมนุษย์      คือจะตายยาก   เมื่อไรก็ตามที่มีสิ่งยั่วเย้าเข้ามา   ตัวกิเลสก็จะฟื้นคืนชีพได้ง่ายดาย  แบบเดียกับทศกัณฑ์   ฉันใดฉันนั้น  ครับ 

  • องค์ความรู้ที่หายาก ขอบคุณที่สร้างสรรค์ให้ได้อ่านค่ะ

 Have A Nice Day เรียนท่านอาจารย์ชวนพิศ

 ได้ทั้งสาระ และ ภาพที่ประวัติศาสตร์ของท่านทศพักตร์ ครับ





พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท