ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งด้วยตนเองได้อย่างไร?


สาเหตุการตายด้วยโรคหัวใจของคนไทย ตกไปอยู่อันดับ ๒ แล้ว โรคมะเร็งแซงขึ้นอันดับหนึ่ง

ขณะนี้คนไทยตายด้วยมะเร็งปีละประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน ตรวจพบสมาชิกใหม่เพิ่มอีกปีละประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน

เท่าที่ได้ศึกษาหาข้อมูลมา ผมเชื่อว่า สาเหตุหลักของมะเร็งมาจากอาหารที่เรารับประทานกันในชีวิตประจำวัน ที่มักมีสารเคมีต่างๆ ปนเปื้อนและตกค้างอยู่ เช่น 

  • ข้าวและธัญพืชอื่นๆ เช่น ถั่ว รวมทั้งผัก ผลไม้ ที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีฆ่าแมลง ฆ่ารา ฆ่าหญ้า และฆ่าวัชพืชอื่นๆ สารเคมีเหล่านั้นสามารถฆ่าเราได้ด้วย!!!  
  • เนื้อสัตว์จากฟาร์มสมัยใหม่ ที่มักผสมสารเคมีลงในอาหารสัตว์เพื่อเร่งการเติบโต เช่น ไก่ แทนที่จะเลี้ยงเป็นปีกว่าจะโต ก็ทำให้โตเต็มที่ได้ภายในเวลาเดือนสองเดือน แล้วยังมีสารเคมีทำให้เนื้อแดงอีก เช่น เนื้อหมู ไข่แดง สารเคมีเหล่านี้เมื่อเข้าไปสะสมในร่างกายเรามากเข้าทำให้เซลล์ในร่างกายเราเติบโตผิดเพี้ยนได้เช่นกัน 
  • อาหารแปรรูป ที่ใส่สารเคมีแต่งรส แต่งกลิ่น แต่งสี และใส่สารกันบูด  พวกสารเคมีแต่งรสบางอย่าง เช่น น้ำคาลเทียมก็มีรายงานว่า มีผลต่อสุขภาพด้วย อาจกลายเป็นไม่คุ้มกับการพยายามควบคุมน้ำหนักโดยยอมเสี่ยงต่อโรคจากสารเคมีกระตุ้นต่อมรับรสหวานที่ลิ้น

สาเหตุเสริมและเพิ่มโอกาสให้มะเร็งได้พิชิตเราสำเร็จ คือ พฤติกรรมในการดำรงชีวิตอีกหลายอย่าง เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ นอนน้อย ไม่ออกกำลัง 

การใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน ในชุมชน โดยเฉพาะบริเวณข้างถนนที่เต็มไปด้วยควันรถทั้งวัน

ความเครียด โกรธ จู้จี้ขี้บ่น ขี้น้อยใจ ตำหนิ-ประณามคนอื่นเป็นอาจิณ อิจฉาริษยา โลภ เวลาที่เราเกิดความเครียด เลือดเราจะข้นขึ้นจากการที่ร่างกายจะหลั่งน้ำตาลเข้ามาในเลือดมากขึ้น (เพื่อเตรียมหนีหรือสู้ อันเป็นผลจากวิวัฒนาการ) ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้น เส้นเลือดก็ต้องรับภาระความดันมากขึ้น ความโกรธความเครียดที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงค่อยๆ ส่งผลให้ร่างกายเราอ่อนแอ "สะสม" ไปเรื่อยๆ โดยอาจไปแสดงผลของโรคต่างๆ ในอีก ๑๐ หรือ ๒๐ ข้างหน้า

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราแต่ละคนอ่อนแอ และค่อยๆ เสื่อมลงๆ (เป็นโรคเสื่อมหรือแก่ก่อนวัยโดยไม่รู้ตัว) ภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอลงเปิดโอกาสให้อนุมูลอิสระโจมตีจนเกิดเซลล์มะเร็ง  ซึ่งก้อนมะเร็งต้องใช้เวลาในการก่อตัวและสะสมเซลล์เนื้อร้ายเป็นจำนวนพันล้านเซลล์จึงจะแสดงอาการให้ตรวจพบได้ โดยทั่วไปใช้เวลา ๑๐ - ๒๐ ปี ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยตรวจมะเร็งบางชนิดในระยะกำลังก่อตัวที่ยังไม่แสดงอาการ แต่ต้องมีกำลังเงินพอจึงไปตรวจได้

คำถามคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าเราแต่ละคนมีมะเร็งก่อตัวอยู่ในอวัยวะไหนบ้างหรือไม่ ก่อถึงขั้นไหน (ถ้ายังไม่แสดงตัวชัดเจนก็เรียก ระยะก่อตัวก่อนแสดงอาการ)  ก่อนที่จะถึงขั้นแสดงอาการมะเร็งระยะแรกออกมา ที่ทางการแพทย์เรียก ระยะที่ ๑ คือ พบมะเร็งอยู่เฉพาะที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งโดยขนาดอาจจะยังไม่ใหญ่โตนัก และยังไม่แพร่ไปที่อวัยวะอื่น  ระยะที่ ๒ มีขนาดใหญ่ขึ้น  ระยะที่ ๓ ลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง  ระยะที่ ๔ ระยะสุดท้าย แพร่กระจายไปตามกระแสเลือดสู่อวัยวะอื่นๆ

เราทุกคนสามารถตรวจร่างกายตนในขั้นต้นด้วยตนเองด้วยการสังเกตร่างกายและจิตใจตนเอง เช่น

  • ขาดความกระชุ่มกระชวย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียเรื้อรัง
  • เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก หายใจได้ไม่เต็มปอด
  • แขนขาไม่มีแรงเรื้อรัง
  • นอนไม่หลับเรื้อรัง รวมทั้งนอนหลับๆ ตื่นๆ ไม่สามารถ "หลับลึก" ตื่นขึ้นมาแล้วยังงัวเงีย ไม่สดชื่น
  • หมดสมรรถภาพทางเพศ หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศก่อนเวลาอันควร
  • เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เรอเหม็นเปรี้ยวเป็นประจำ รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ รวมทั้งท้องผูกเป็นประจำ  ท้องผูก หมายถึง ไม่ถ่ายเกิน ๓ วัน จากที่ถ่ายทุกวันๆ ละครั้ง การขับถ่ายดีช่วยขับให้สารพิษตกค้างออกจากร่างกายดีไปด้วย
  • จาม ไอ หรือถ่ายมีเลือดปนออกมา
  • เกิดความผิดปกติบนผิวหนังอย่างผิดสังเกต เช่น เปลี่ยนสี มีก้อน หรือความผิดปกติอื่นๆ
  • เกิดความเจ็บปวดขึ้นเป็นระยะๆ กับอวัยวะภายนอกภายในต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดในช่องท้อง ปวดบริเวณราวนม
  • อารมณ์หดหู่ ซึมเศร้า
  • ฯลฯ

หากพบอาการที่ผิดปกติเหล่านี้ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก ผมเองใช้ทั้งสองทางไปพร้อมๆ กัน เราแต่ละคนตัดสินใจเลือกเองได้ เพราะชีวิตใครชีวิตมัน แต่ละคนรับผิดชอบตนเอง ฝากชีวิตไว้กับตนเองเป็นสำคัญ ไม่ฝากไว้หมอหรือกับใคร   คนอื่นช่วยตนได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด   เรื่องการตัดสินใจหรือการเลือกว่าจะเอายังไงกับชีวิตตน เป็นเรื่องของตนเอง

การแพทย์สมัยใหม่เชื่อว่ากรรมพันธุ์มีส่วนต่อการเป็นมะเร็ง แต่ก็ไม่ใช่คนมีกรรมพันธุ์จะเป็นกันทุกคน สถิติชี้ว่าเพียงประมาณร้อยละ ๑๐ บางตำราก็ว่าร้อยละ ๕ เท่านั้นที่เป็นมะเร็งตามบรรพบุรุษ   คนที่ไม่ปรากฏว่ามีกรรมพันธุ์ก็เป็นกันเยอะ   โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า คนที่มีบรรพบุรุษเป็นโรคนี้ สามารถลดความเสี่ยงของตนได้เช่นเดียวกัน  คนที่ไม่มีกรรมพันธุ์หากดูแลตนเองไม่ดีก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งมากกว่าคนมีกรรมพันธุ์ที่ดูแลตนเองดีด้วยซ้ำ

เราแต่ละคนสามารถดูแลตนเองเราเพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง (รวมทั้งโรคท็อปฮิตอื่นๆ เช่น หัวใจ หลอดเลือด ไขมันพอกตับ ตับแข็ง ไตวาย นิ่ว ข้ออักเสบ เก๊าส์ เบาหวาน ภูมิแพ้ ฯลฯ) ได้โดยการพยายามหลีกเลี่ยงการรับพิษเพิ่มเติม การช่วยร่างกายให้ได้ขับพิษที่เข้ามาแล้วออกไป และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น

  1. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารเคมีปนเปื่อนตกค้าง แม้จะไม่สามารถเลี่ยงได้ทั้งหมด แต่ลดให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ ได้ ด้วยการหาความรู้ว่าจะเลือกรับอาหารที่ปลอดภัยเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไรบ้าง แหล่งขายอาหารสุขภาพ อาหารอินทรีย์มีอยู่ที่ไหนบ้าง   รวมทั้งวิธีล้างทำความสะอาด (เช่น แช่ผักผลไม้ในด่างทับทิมก่อนรับประทาน) และวิธีปรุง เช่น ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ (ความเสียดายจะทำให้กลายเป็น เสียน้อยเสียยาก) 
  2. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ น้ำช่วยให้เกิดการขับพิษออกทางปัสสาวะและเหงื่อ โดยค่อยๆ ดื่มทีละน้อยไปเรื่อยๆ ตลอดวัน ไม่ต้องรอให้รู้สึกกระหายน้ำก่อนแล้วซดทีละเยอะๆ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกกระหายน้ำ  แสดงว่าร่างกายเริ่มขาดน้ำแล้ว เขาจึงส่งสัญญาณออกมาว่าต้องการน้ำ เช่น คอแห้ง ริมฝีปากแห้ง   สำหรับคนที่ใช้น้ำประปา ควรมีการเปิดก็อกใส่ในถังพักหรือภาชนะอื่นๆ ทิ้งไว้สักครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อให้คลอรีนสำหรับฆ่าเชื้อระเหยเป็นก็าซเสียก่อน (ก็าซนี้ระเหยง่าย ใครไปยืนใกล้สระว่ายน้ำจึงได้กลิ่นคลอรีนที่ระเหยออกมาตลอดเวลา) ไม่เปิดจากก็อกเข้าปากทันที (อย่างตามโรงเรียนหรือสนามบินที่ใช้มือหมุน กด หรือเท้าเหยียบก็อกหรือกระเดื่องแล้วมีน้ำพุ่งเข้าปาก) เพราะคลอรีนเข้าสู่ตัวเรามากๆ ร่างกายขับออกไม่ทันก็เกิดการสะสมพิษได้  อีกอย่างที่สำคัญในปัจจุบันคือ เรานิยมดื่มน้ำจากขวดพลาสติกใส ซึ่งหลายคนแปลกใจที่มีการระบุวันหมดอายุบนขวดน้ำด้วย เพราะน้ำไม่น่ามีวันหมดอายุ ซึ่งความจริงน้ำดื่มบริสุทธิ์ในขวดนั้นไม่หมดอายุหรอก ที่หมดอายุคือ ขวดพลาสติก ที่จะปล่อยสารเคมีที่ผสมอยู่ในเนื้อพลาสติกออกมาละลายกับน้ำ ก่อนดื่มจึงควรดูวันหมดอายุ (ของขวด) เสียก่อน   ในอุตสาหกรรมการผลิตขวดพลาสติกและพีวีซี มีการใช้สารเคมีตัวหนึ่งเป็นวัตถุดิบด้วย คือ วินิลคลอไรด์ (Vinyl Chloride) ซึ่งหากวางไว้ในที่ถูกแสงแดดอาจละลายออกมาผสมกับน้ำในขวดโดยเราไม่สามารถเห็นด้วยตา แต่เป็นพิษกับร่างกายผู้ดื่ม ที่ข้างขวดจึงมักมีการเขียนเตือนไว้ว่า เก็บให้พ้นจากที่แดดส่องถึง  ผมจึงไม่รับน้ำดื่มบรรจุขวดที่พนักงานปั๋มแถมให้เวลาเติมน้ำมัน เพราะสังเกตว่า ทุกปั๊มล้วนวางไว้ใกล้ๆ หัวจ่ายน้ำมัน ซึ่งเป็นที่โล่งแสงแดดส่องถึง บางปั๊มวางไว้ข้างกำแพงกลางแดดด้วยซ้ำ   ผมลงทุนซื้อกระติกสแตนเลส สำหรับนำน้ำที่กรองเองด้วยเครื่องกรองที่บ้านไปดิ่ม
  3. ดูแลระบบขับถ่ายให้ดี การขับถ่ายดีช่วยให้สารพิษต่างๆ ถูกขับออกจากร่างกายได้เร็ว เลือดเราซึมซับทั้งสารอาหารและสารพิษในลำไส้เข้าไปสะสม (โดยเฉพาะในตับที่เป็นตัวกรองสารพิษ) เรายิ่งเก็บอุจจาระหมักหมมไว้ในลำไส้ใหญ่นานเท่าใด สารพิษก็พลอยได้รับการดูดซึมกลับเข้าไปมากเท่านั้น   การขับถ่ายดีเป็นการทำความสะอาดลำไส้ไปในตัว   การกินข้าวกล้องที่ไม่ขัดขาวและธัญพืช เช่น พวกเมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด และเมล็ดพืชต่างๆ รวมทั้งผักและผลไม้ (ถ้าทำได้ พยายามหาประเภทปลูกแบบอินทรีย์) ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี เพราะที่มีเส้นใยสูง ช่วยกวาดล้างสารพิษและเมือกมันที่ตกค้างเกาะตามผนังลำไส้ออกได้   หากสามารถทำความสะอาดระบบย่อยอาหารเดือนละซักครั้งก็ดี ด้วยการงดอาหารที่ย่อยยาก โดยเฉพาะพวกเนื้อสัตว์ทุกชนิด (ซึ่งใช้เวลาย่อยอยู่ในกระเพาะและลำไส้ประมาณ ๔ ถึง ๖ วัน ในขณะที่พวกผักและผลไม้ใช้เวลาย่อยแค่ประมาณ ๑ - ๒ วัน) แล้วกินแต่ผลไม้หรือน้ำผลไม้ (ที่ไม่ใส่น้ำตาล) ทั้งวัน  หรือปรุงอาหารจากผักผลไม้พื้นบ้านที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายในตัวด้วยเดือนละครั้ง เช่น มะขาม มะขามแขก ส้มแขก ชุมเห็ด ฯลฯ ก็มีประโยชน์กับระบบย่อยอาหาร   สมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์มีฤทธิ์ในการขับสารพิษและต่อต้านอนุมูลอิสระ ผมมักดื่มชาสมุนไพร (ไม่มีคาเฟอีน) หลังมื้ออาหารที่สงสัยว่าจะมีสารพิษตกค้างมาก เช่น พวกเนื้อสัตว์ทุกชนิดจากฟาร์มที่มักมีสารเคมีตกค้างเยอะ รวมทั้งผักผลไม้จากตลาดที่ไม่ใช่ผักผลไม้พื้นบ้านหรือที่ปลูกเอง สมุนไพรเหล่านี้บางอย่างปลูกเองได้ บางอย่างก็ซื้อได้ตามห้างทั่วไป เช่น ชารางจืด ชามะขามแขก ส้มแขก ขิง ข่า ตะใคร้ กระชายขาว กระชายเหลือง กระชายดำ หญ้าหนวดแมว ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ชาเหล่านี้ ผู้ผลิตมักเป็นโรงพยาบาลชุมชน (เช่น รพ.อภัยภูเบศน์) และกลุ่มชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ เขาทำเป็นซองชาซองชงโดยแช่ลงในน้ำร้อนครั้งละถ้วย บรรจุรวมในถุงๆ ละ ๑๕ ซองบ้าง ๒๐ ซองบ้าง ราคาถุงละ ๒๐ - ๔๐ บาท ขึ้นกับว่าเป็นสมุนไพรอะไร   นอกนั้นก็ทำเป็นน้ำสมุนไพรเข้มข้นให้มาผสมน้ำเอาเอง เช่น น้ำลูกยอ สมอไทย สมอเทศ มะขามป้อม บางทีก็ผสมสามอย่าง (ตรีผลา) หรือห้าอย่าง (เบญจรงค์) ฯลฯ
  4. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีมลพิษ อันนี้หากถึงขั้นต้องย้ายที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน หรือที่ทำกิน ก็อาจจะยากหน่อย แต่ก็พยายามหาทางป้องกันตนเองด้วยถุงมือ เสื้อผ้า หน้ากาก หรือเครื่องป้องกันอื่นๆ   หากย้ายไม่ได้ก็ร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น ในปฎิบัติการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น ปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ   รวมไปถึงการร่วมรณรงค์ให้มีการแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อม   การเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม   ส่วนตัวผมเองเลือกที่จะหลบออกจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษทั้งทางกายและอารมณ์อย่างกรุงเทพฯ ด้วยการออกไปต่างจังหวัดเป็นระยะ กระทั่งตัดสินใจชวนภรรยาย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในจังหวัดหวัดที่มลพิษน้อย (แต่ก็เข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มีเงื่อนไขจะทำได้อย่างผม)
  5. หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้เครื่องอุปโภคประจำวันที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นพิษและอาจเข้าไปสะสมในร่างกาย เช่น
    • สบู่ แชมพู ยาสีฟัน เครื่องสำอาง กฏหมายบังคับว่าจะต้องมีข้อความระบุสารเคมีที่สำคัญไว้ด้วย (ไม่สำคัญไม่ต้องระบุ?) ซึ่งนับวันจะแข่งขันกันใส่สารตัวนั้นตัวนี้ยาวเฟื้อยขึ้นเรื่อยๆ แต่มักพิมพ์ด้วยตัวอักษรที่เล็กมาก จนบางครั้งไม่ใช้แว่นขยายจะอ่านไม่ออก ผมไม่แน่ใจว่ามีกฏหมายบังคับขนาดตัวอักษรหรือเปล่า ทราบแต่ทางราชการบังคับมาตรฐานไว้ว่า ตัวไหนต้องใส่ไม่เกินเท่าไรต่อน้ำหนักผลิตภัณฑ์เท่านั้นเท่านี้ (ข้อน่าคิดก็คือ แม้เราจะรับเข้าไปครั้งละไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด แต่การค่อยๆ รับเข้าไปสะสมไว้เรื่อยๆ จนรวมกันเกินค่ามาตรฐานได้เช่นกัน   จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคแต่ละคนเองต้องหาวิธีป้องกันตัวเอง) เช่น ฟลูออร์ไรด์ที่ผสมในยาสีฟันแทบทุกยี่ห้อ อาจดีกับฟัน (ช่วยไม่ให้ฟันผุง่าย)  แต่หากเผลอกลืนเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงมีข้อความเตือนไว้ข้างกล่องและหลอดยาสีฟันทุกยี่ห้อว่า ห้ามกลืนยาสีฟัน เด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบควรใช้แค่เมล็ดถั่วเขียวและภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่  ผมอ่านเจอข้อความนี้แล้วก็บอกกับลูกเมียว่า แปรงฟันเสร็จแล้วให้บ้วนน้ำอย่างน้อยซัก ๕ ครั้ง ไม่ต้องรีบ ส่วนตัวเองเลิกใช้ยาสีฟันมียี่ห้อทั้งหลาย (โดยเฉพาะที่โฆษณาว่าฑันตแพทย์แนะนำ) ไปเลย   หันมาใช้ยาสีฟันโบราณแบบโบราณยี่ห้อหนึ่งที่ทำจากดินเหนียวผสมเกลือ ซึ่งไม่มีฟลูออร์ไรด์ ไม่มีสารชะล้าง (สารลดแรงตึงผิว สารเพิ่มฟอง (อย่างเดียวกับที่ใส่ในน้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู) และสารฟอกขาว (ตัวนี้ก็อันตรายหากรับเข้าไปสะสมมากๆ)   สารเคมีบางตัวก็ซึมผ่านผิวหนังเข้าไปในเส้นเลือดฝอยแล้วเข้าสู่ระบบเลือดได้ เช่น ลิปสติก ยาดับกลิ่นจั๊กกะแร้ ครีมขัดหน้า บำรุงผิวต่างๆ จึงควรอ่านให้ดีว่าเรากำลังใช้อะไร และหาความรู้ว่าประโยชน์และโทษมีอะไรบ้าง แล้วก็ใช้ด้วยความระมัดระวัง   การหลีกเลี่ยงที่จะใช้สารอะไรเพียงอย่างเดียวต่อเนื่องเป็นเวลานาน เปลี่ยนไปใช้ที่มีส่วนผสมแตกต่างกันออกไปบ้าง หมุนเวียนไป ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง   ส่วนผมเองหันมาใช้ของที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ใช้สบู่ที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีและน้ำหอมทุกชนิด เลือกประเภทสบู่มะขามบ้าง สบู่ว่านหางจรเข้บ้าง สบู่มะละกอบ้างตามแต่จะหาได้ รวมทั้งทำใช้เองด้วย   สระผมก็ใช้แชมพูมะกรูด (เลือกแบบที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีเพิ่มฟอง) เป็นแชมพูอินทรีย์ที่เอาลูกมะกรูดมาปั่นกับน้ำซาวข้าว ใบหมี่ หรือน้ำมันมะพร้าวหีบเย็น   เวลาผิวแห้ง ผมแห้ง ก็ทาผิวและผมด้วยด้วยน้ำมันมะพร้าวหีบเย็น   ที่เขียนนี้ไม่ได้มีเจตนาเรียกร้องให้ใครต้องทำอย่างผม แต่ใครทำแล้วรู้สึกดี มีความสุขก็ทำ หากทำแล้วเครียดก็ไม่ควรทำ (แต่ละคนรับผิดชอบชีวิตตนเอง) 
    • ภาชนะหุงต้มที่ทำด้วยอลูมีเนียม (ซึ่งเป็นโลหะหนักเป็นพิษสะสมในร่างกายได้) ใช้ไปนานๆ อาจหลุดร่อนผสมกับอาหารที่ปรุง จึงควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะที่เก่ามากๆ หากจะซื้อใหม่ก็เพิ่มเงินอีกหน่อย ใช้พวกแสตนเลสไปเลย  พวกเทฟลอนก็เช่นกัน หากพบรอยปริเมื่อไรก็ให้ยุติการใช้หุงต้มหรือทอดทันที (อันนี้ผู้ผลิตเขามักเขียนเตือนไว้ในคู่มือการใช้แล้ว แต่เราต้องอ่านเอาเอง)   ผมเองหลีกเลี่ยงการใช้จาน ชาม หรือแก้วน้ำอลูมิเนียมและพลาสติกหรือพีวีซี   หันมาใช้จาน ชาม ถ้วย ที่เป็นกระเบื้อง โดยเลือกที่ไม่มีสี ไม่มีลาย เพราะไม่รู้ว่าสีที่เขาใช้ทำลายต่างๆ เป็นสารเคมีหรือสีธรรมชาติ (จากเปลือกไม้)
    • เสื้อผ้า รวมทั้งผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เช็ดปาก  หากสามารถใช้พวกผ้าฝ้าย  ลินิน หรือที่ทำจากใยพืชอื่นๆ เช่น ใยสัปปะรด และผ้าไหม  รวมทั้งใช้ผ้าที่มีส่วนผสมของเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ หรือไนล่อน ให้น้อยลงก็จะให้รับสารเคมีน้อยลง โดยเฉพาะชุดชั้นในที่ต้องแนบกับร่างกาย พวกผ้าฝ้ายช่วยระบายอากาศได้ดี ไม่อับ   สีที่ใช้ย้อมหากเป็นพวกคราม หรือสีย้อมจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ รากไม้ ลูกไม้ ใบไม้ ก็ดีกว่าสีที่สังเคราะห์จากเคมี   แม้ผมจะไม่เคยพบงานวิจัยของเสื้อผ้าที่สัมพันธ์กับการก่อมะเร็ง (อาจจะยังไม่มีใครทำ) แต่การหลีกเลี่ยงไว้ก่อน หากเลี่ยงได้ ก็ไม่เสียอะไร แถมช่วยให้สบายตัว โดยเฉพาะในประเทศแถบร้อนอย่างประเทศไทย    รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ท้านอ่านพบว่า ผ้าย้อมครามจากต้นครามพื้นบ้านของไทยเรา มีคุณสมบัติในการต้านรังสีอุลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ได้ด้วย   รังสีชนิดนี้สัมพันธ์กับมะเร็งผิวหนัง (แม้จะไม่ค่อยพบคนไทยเป็นมะเร็งผิวหนังมากเท่าฝรั่ง)
    • ว้สดุสร้างบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องตกแต่งบ้าน หากใช้อย่างที่มีส่วนผสมของสิ่งที่อาจเป็นพิษ เช่น แร่ใยหิน เลี่ยงได้ก็เลี่ยง หรือวัสดุที่เมื่อยังใหม่ ยังไม่หมดอายุก็ไม่สลายตัวออกเป็นฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายทางลมหายใจก็ใช้ไป แต่หากเก่ามากๆ โดนอะไรแตะเบาๆ หรือลมพัดแล้วฟุ้งกระจายออกมาก็ควรเปลี่ยนทันที (ไม่เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายกับโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบเลือด) เช่น วัสดุกันความร้อนบนฝ้าเพดานที่หมดอายุ  เวลาต้องซื้อวัสดุสร้างหรือซ่อมบ้าน เราในฐานะผู้บริโภคมีสิทธิที่จะถามผู้ขายว่า วัสดุแต่ละอย่างมีอะไรผสมอยู่บ้าง เช่น มีแร่ใยหิน ใยแก้ว วินิลคลอไรด์ หรือสารอะไรที่อาจเป็นพิษแก่ร่างกายไหม   สมัยนี้ มีคนมากขึ้น (แต่ก็ยังนับจำนวนน้อย) ที่สร้างบ้านดิน กระเบื้องมุงหลังคาก็ทำจากดินหรือไม้ หรือสร้างบ้านไม้ทั้งหลังแล้วมุงหลังคาด้วยใบจาก หญ้าคา หรือฟาง   ผมเคยลองถามศูนย์บริการของ บ.ปูนซิเมนต์ไทย ได้ความรู้มากมาย และทำให้ได้รู้ว่า บริษัทนี้เขาใส่ใจในสิ่งแวดล้อม   พยายามที่จะไม่ทำวัสดุก่อสร้างด้วยแร่ใยหิน  (ประโยคนี้หากผู้ดูแลระบบเห็นว่าเป็นโฆษณา กรุณาแจ้งผมให้ลบด้วยครับ ผมไม่ได้มีเอี่ยวอะไร เพียงแต่ได้ข้อมูลมา)   ผมเอง หากจะซ่อมหรือสร้างบ้านใหม่เมื่อไร จะยอมควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นอีกหน่อย (ไหนๆ ก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว) เพื่อความปลอดภัยของตนและสมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้านข้างเคียง และแขกที่มาเยี่ยมด้วย
  6. ฝึกเป็นผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตา (ชื่นชมคนอื่น แทนที่จะอิจฉาริษยา) และอุเบกขา (ปล่อยวาง) การปฏิบัติธรรมเหล่านี้ช่วยให้นอนหลับลึกขึ้น มีประจักษ์พยานอยู่เนืองๆ ว่า คนที่รักษาศีล ปฏิบัติธรรม เจริญสติ แล้วความดันโลหิตลดลง อาการป่วยบรรเทาเบาบางลง คนที่ถึงวาระต้องจากโลกนี้ไป ก็สามารถจากไปอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย
  7. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ประโยชน์ของการออกกำลังกายมีมากมาย ได้แก่ เพิ่มอ็อกซิเจนเข้าสู่ปอดและกระแสเลือด ทำให้เซลล์ทุกเซลล์สดชื่นขึ้น (ช่วยชลอวัย ให้เป็นหนุ่มเป็นสาวไปนานๆ) ช่วยให้หัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อแข็งแรง ช่วยให้ระบบน้ำเหลือง (ที่ไม่มีตัวสูบฉีดอย่างระบบเลือดที่มีหัวใจช่วยสูบฉีดให้ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย) ไหลเวียนดีขึ้น (จากการ "ขยับแข้ง ขยับขา" ดังนั้น จึงไม่ควรดูเบาการออกกำลังด้วยการแกว่งแขนของผู้สูงวัย) และยังช่วยขับพิษต่างๆ ให้ออกมากับเหงื่อทางรูขุมขน แล้วก็ยังช่วยลดความเครียด ช่วยให้เกิดการผ่อนคลายทางอารมณ์ ช่วยให้นอนหลับดีขึ้นด้วย ช่วยลดน้ำหนัก และรักษาน้ำหนักตัว   ถ้าไปออกกำลังร่วมกับคนอื่นๆ ก็ช่วยให้ได้สังสรรค์กับเพื่อน กับสังคม ฯลฯ
  8. นอนหลับให้ได้ประมาณ ๗ - ๘ ชั่วโมงต่อวัน การไม่นอนให้เพียงพอและไม่ออกกำลังต่างหากที่เป็นการใช้เวลา "ผิดปกติ" จากธรรมชาติของชีวิต นั่นคือ คนเราปกติตกค่ำ พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว จะงดทำงาน (มนุษย์ไม่ใช่สัตว์หากินกลางคืน) งดการกินอาหารและนอนหลับเพื่อให้ระบบย่อยอาหารและระบบอื่นๆ ของร่างกายได้พัก ให้ "เวลา" แก่ร่างกายในการซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกาย เพื่อที่จะตื่นขึ้นเช้าขึ้นมารับวันใหม่ด้วยร่างกายและจิตใจที่สดชื่น มีพละกำลังในการทำกิจการงานตามหน้าที่ต่อไปด้วยความกระชุ่มกระชวย

สองข้อสุดท้าย คือ การออกกำลัง (สำหรับคนไม่ได้ทำงานใช้แรงกายในชีวิตประจำวัน) กับการนอนหลับ เป็นอะไรที่ดูเหมือนทุกคนจะรู้ และไม่ยากที่จะทำ  แถมยังทำได้ง่ายกว่าการหลีกเลี่ยงสารพิษในอาหาร ในเครื่องอุปโภค และเครื่องใช้ และสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ แต่หลายคนก็ทำไม่ได้ (ในมหาวิทยาลัยชีวิตเรามักพูดกันว่า "เรียนรู้แล้วยังไม่ลงมือปฏิบัติ ยังไม่ถือว่ารู้จริง")

เหตุที่ทำสองเรื่องนี้กันไม่ได้ เท่าที่ลองค้นหาคำตอบจากนักศึกษา (และอาจารย์ด้วย) พบวา สองเรื่องดังกล่าวถูกมองว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำเป็น "พิเศษ" ของชีวิต เมื่อเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง "ปกติ" ของชีวิต จึงต้อง "จัดเวลา" ให้เป็นพิเศษ ซึ่งสะท้อนผ่านคำพูดในทำนอง "ฉันไม่มีเวลาออกกำลัง" "ฉันไม่มีเวลานอนให้เพียงพอ" ซึ่งผมสรุปว่า เขากำลังคิดว่า "ฉันมีเวลามากมายให้กับงาน คนอื่น และสังคม กระทั่งไม่มีเวลาให้กับตนเองในเรื่องที่สำคัญที่สุดของชีวิต" ใครที่มองเช่นนั้นควรถามตนเองว่า "ฉันรักตนเองเพียงพอหรือยัง?"

ผมเชื่อว่า แค่ทำสองเรื่องหลังนี้ให้เป็น "ปกติ" ตามธรรมชาติของมนุษย์นี้ได้  เราก็น่าจะสามารถลดความเสี่ยงจากการคุกคามของโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ ลงได้ระดับหนึ่งแล้ว รวมทั้งใครเป็นโรคมะเร็งหรือโรคอะไรอยู่ก็ช่วยให้ไม่ลุกลามเร็วขึ้น 

ผมเชื่อว่า หากใครทำได้ทั้งครบทั้ง ๘ ข้อ (รวมทั้งผมเองด้วย) ความเสียงที่จะเกิดโรคมะเร็งจะต่ำลงมากทีเดียว.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๓๑ พ.ค.๒๕๕๖



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท