รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

โรงเรียนแห่งความสุข :ตามรอยพ่ออยู่อย่างพอเพียง


ตอนที่ ๑ ใบมะพร้าวแปลงร่าง

โรงเรียนบ้านพุตะแบก เป็นโรงเรียนต้นแบบด้าน "เศรษฐกิจพอเพียง" การจัดการเรียนรู้ในชั่วโมงเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งออกเป็นสามฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ผลิต-สร้างรายได้ สืบสานวัฒนธรรมไทย และ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมสร้างสมดุล

สิ่งที่เน้นมากในฐาน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมสมดุล คือ เรื่อง "มะพร้าวบ้านเรา" เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า "มะพร้าวทับสะแก" มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนมากเพียงใด เด็ก ๆ ควรจะได้รับการปลูกฝังให้ รักมะพร้าว เรียนรู้เรื่องของมะพร้าว

วันนี้...เด็ก ๆ จะได้ฝึกหัดการสานตะกร้อและปลาตะเพียน ด้วยใบมะพร้าว ซึ่งเด็ก ๆ จะไ้ด้เห็นคุณค่าของใบมะพร้าว ว่า สามารถใช้ทำเป็นของเล่นได้ เป็นการฝึกสมาธิ ฝึกความอดทน ความรอบคอบ โชคดี ... ท่าน ผอ.เ็ฌอมาร์ศ เห็นเด็ก ๆ กำลังสานปลาตะเพียน จึงช่วยสอนด้วยอีกแรง

นักเรียนคนที่สามารถสานปลาตะเพียน หรือ ตะกร้อได้แล้ว ก็มีน้ำใจช่วยเหลือคุณครูสอนเพื่อน ๆ ด้วยค่ะ

เด็ก ๆ ตั้งใจทำกิจกรรมนี้ด้วยความสุข พี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน บางคนก็ทำหลาย ๆ ชิ้น บอกว่าจะนำไปฝากน้องเล็ก ๆ ที่บ้าน วันนี้เด็ก ๆ จึงได้เรียนรู้ถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่หลายคนในยุคปัจจุบันมองข้าม แต่..ครูอิงไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะจริง ๆ แล้ว การสานตะกร้อ สานปลาตะเพียนเป็นวิถีชีวิตของครูอิงสมัยเด็ก ๆ เลยหละค่ะ เพราะบ้านที่สงขลาก็อยู่ในสวนมะพร้าวเช่นกันค่ะ

เด็ก ๆ ทุกคน มีความสุข ที่เขาได้ของเล่นชิ้นใหม่ มีความภูมิใจในผลงานของตนเอง ชนิดที่บอกกับคุณครูว่า สัปดาห์หน้าขอสานอีกนะครับ ทำเอา เด็ก ๆ ที่ไม่ได้เรียนในฐานการเรียนรู้นี้ รู้สึกอยากอยู่ฐานนี้ขึ้นมาบ้าง ต้องบอกเด็ก ๆ ว่า เดือนหน้า นักเรียนก็จะได้เรียนแล้ว

----------------------------------------------------------------

ตอนที่ ๒ สมุดมือสองน้องทำมือ

วันนี้รู้สึกเหนื่อยมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูพอดีชั้นเรียน แต่ก็ไม่ธรรมดาเลย เมื่อครูคนใดคนหนึ่งต้องไปราชการ (อบรม...) อย่างเช่นวันนี้ ครูอิงต้องสอนควบ 2 ห้องเรียน(คงต้องเป็น 4 ห้องสิ เพราะห้องละ 2 โรงเรียน คริ คริ) เกือบทุกชั่วโมง จึงเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และโอกาสนั้นต้องเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์ และเด็ก ๆ ต้องชอบ อยากทำ และต้องทำด้วยความสุข

ในขณะที่อีกห้องหนึ่งเรียน อีกห้องที่เหลือ ครูอิงให้ทำหนังสือมือสอง ซึ่ง เมื่อปลายปีการศึกษา 2555 ครูอิงเรียกเก็บสมุดภาษาไทยทั้งหมดของนักเรียนทุกคน โดยบอกนักเรียนว่า ครูจะให้คะแนนสมุดงาน จึงได้จำนวนสมุดเยอะมาก ๆ เกือบ 100 เล่ม แบ่งกลุ่มนักเรียนโดยพิจารณาความเหมาะสม กลุ่มหนึ่ง ทำหน้าที่ ดึงหน้าสมุดที่ยังไม่ได้ใช้ออกมาเป็นคู่ ๆ ส่วนอีกกลุ่ม ดึงกระดาษที่ยังไม่ได้ใช้ แต่ไม่เป็นคู่ ให้นักเรียนแยกไว้เป็นกอง ๆ

อีกกลุ่มที่ตัวโตหน่อย มีแรงเยอะหน่อย และน่าจะรู้จักการใช้อุปกรณ์มีคมได้อย่างปลอดภัย ทำหน้าที่ตัดกระดาษส่วนที่ไม่ต้องการออกไป โดยตัดหน้าสมุดออกเป็นสองส่วน (สมุด 1 เล่ม ตัดแบ่งเป็นสองเล่มเล็ก ๆ) เด็ก ๆ ช่วยกันอย่างขมีขมัน ทำเอาห้องที่กำลังเรียนนึกสนุกอยากทำบ้าง และเมื่อเด็ก ๆ เห็นครูนำกล้องถ่ายรูปขึ้นมากด แชะ แชะ หล่ะก็ ยิ่งกุลีกุจอช่วยกันเป็นการใหญ่ "อยากมีรูปในเน็ตครับ.....

เมื่อได้รูปเล่มพอดีแล้ว แผนกออกแบบปกก็กลับมาจากห้องคอมพิวเตอร์พอดี ทุกคนจึงได้สนุกสนานกับการสร้างสรรค์ภาพบนปก....เป็นอย่างมาก เด็ก ๆ ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข รู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจ ใช้สีร่วมกัน ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน แม้ว่าจะมาจากต่างโรงเรียนบ้าง คนละห้องเรียนกันบ้าง แต่เด็ก ๆ ก็ไม่สร้างปัญหาหนักใจให้กับคุณครูเลย

หลายคนทำงานรวดเร็วและได้ภาพปกที่สวยงาม เด็ก ๆ ถามว่าคุณครูจะให้บันทึกอะไรที่ข้างในหนังสือ ครูอิงจึงอธิบายให้ฟังว่า ตั้งแต่เปิดภาคเรียนมานี้ คุณครูได้วิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคล จากผลการเรียนวิขาภาษาไทย จากข้อมูลส่งต่อที่คุณครูประจำขชั้นเดิมส่งมาให้ และจากการสังเกตการใช้ภาษาไทย ตลอดจนจากการปรารภของผู้บริหารบ้าง ของคุณครูท่านอื่น ๆ บ้าง พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ยังมีความบกพร่องด้านการเขียน แม้จะเป็นคำง่าย ๆ ยังเขียนผิด เช่น ได้ เขียนผิดเป็น ใด้ เช้า เขียนผิดเป็น เฉ้า และอื่น ๆ มากมายที่นักเรีัยนเขียนผิดในชั่วโมงเรียนที่ไม่ใช่วิชาภาษาไทยกับคุณครู ดังนั้นต่อไปนี่คุณครูขอให้นักเรียนพก "สมุดบันทึกการเขียนคำผิด" ติดตัวเสมอ เมื่อเขียนผิดคำใด ให้ครูผู้สอนชี้แจงนักเรียนในทันทีว่า นักเรียนเขียนผิด และให้แก้ไขให้ถูกต้องทันทีเช่นกัน โดยคุณครูจะขอความร่วมมือจากคุณครูท่านอื่น ๆ ในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งที่นักเรียนจะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น คือ ....นักเรียนเขียนสรุปความไม่เป็น ดังนั้นต่อไปนี้ คุณครูจะให้นักเรียนมีสมุดอีก 1 เล่ม (ที่เราทำกันนี่แหละ) เพื่อบันทึกคำสั่งสอนต่าง ๆ ที่คุณครูได้อบรมในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าเสาธงหรือที่อื่น ๆ โดยให้ชื่อว่า "สมุดบันทึกโอวาท" เด็ก ๆ พยักหน้าแสดงถึงความเข้าใจ และทุกคนสัญญาว่าจะทำตามข้อเสนอแนะของครู โดยส่งให้คุณครูตรวจทุก ๆ วันศุกร์

-------------------------------------------------------------------------------

ตอนที่ ๓ ล้อมรั้วล้อมรักด้วยผักสวนครัว

เปิดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา เป็นที่ทราบกันดีว่า เข้าสู่หน้าฝนปัจจัยเรื่อง ดินฟ้าอากาศก็ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะกลุ่มสาระการเรียน รู้การงานอาชีพฯ ที่ระบุเนื้อหาด้านการเกษตรเอาไว้ด้วย ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนมใน กลุ่มสาระการเรียนรู้นี้จึงต้องเริ่มที่ "งานเกษตร" ในต้นปีการศึกษา

งานเกษตร ของโรงเรียนบ้านพุตะแบก นอกจากคนตัวเล็ก ๆ จะได้เรียนในสาระการเรียนรู้การงานอาชีพแล้ว "งานเกษตร" ยังได้ถูกกำหนดอย่างเป็นรูปธรรมในศูนย์การเรียนรู้ "เศรษฐกิจพอเพียง" ของโรงเรียนอีกด้วย พื้นที่อันน้อยนิด ที่ดูเหมือนจะพอเหมาะกับนักเรียนจำนวนน้อยของโรงเรียน นักเรียน 4 คน รับผิดชอบแปลงเกษตร 1 แปลง จุดเน้นของโรงเรียนอยู่ที่กระบวนการทำงาน ไม่เน้นผลสำเร็จมากนัก แต่ต้องการฝึกเจ้าตัวเล็ก ให้รู้จัก "การถากหญ้า" "การจับจอบ" รู้จักอาชีพที่บรรพบุรุษใช้เป็นอาชีพในการเลี้ยงชีพมาเนิ่นนาน ซึ่งนับวันเด็กรุ่นใหม่จะไม่ใส่ใจ และดูถูกดูแคลนอาชีพอันเป็นรากเหง้าของตัวเอง เราจึงต้อง "ปลูกจิตสำนึก" กันใหม่

เจ้าตัวเล็ก ๆ จะปลูกผักแบบหมุนเวียนกันไป ผักชีบ้าง ผักกาดขาวบ้าง ต้นหอม ผักบุ้ง มะเขือยาว แต่ดูเหมือนว่าผักยอดนิยมของเด็ก ๆ คือ "ผักบุ้ง" เพราะปลูกง่าย ได้ผลเร็ว นักเรียนสามารถแบ่งผลผลิตกันได้อย่างลงตัว ส่วนผักชีนั้นดูแลยาก ใบมักจะหยิก ผักบุ้งสวยงามและเป็นผักยอดนิยมที่สุดค่ะ

ส่วนผักริมรั้ว ต้องยกให้เจ้า "ถั่วพู" ถั่วพูออกฝักเร็วมาก โตเร็ว เก็บได้ทุกวัน แม้วันละไม่มากนัก แต่ก็พอสำหรับเป็นผักจิ้มน้ำพริกให้กับคุณครูในมื้ออาหารกลางวัน หรือนักเรียนคนใดอยากนำกลับบ้าน ก็จะหมุนเวียนกันไป ที่สำคัญ "ถั่วพู" ถือเป็นผักริมรั้วที่ให้ความงดงาม เย็นตาเย็นใจ ดอกสีม่วงงดงามมากค่ะ

-------------------------------------------------------

ตอนที่ ๔ หอมกลิ่นเตย

เตยหอมข้างโรงอาหารของโรงเรียน นับเป็นแหล่งเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้เป็นอย่างดีสำหรับ คนตัวเล็ก ๆ ประโยชน์ของใบเตยมีมากมายเหลือเกิน ยามใดมีแข่งกีฬา ครูอย่างฉันก็ต้มน้ำใบเตยให้เด็กดื่ม เด็กบอกว่าหอมชื่นใจ คุณครูหลายคนนใบเตยไปไว้ในรถยนต์ก็จะได้กลิ่นหอมขณะขับรถ วันดีคืนดี ใบเตยก็จะถูกแปลงร่างเป็นดอกกุหลาบงาม ด้วยฝีมือของคนเล็ก ๆที่ได้รับการถ่ายทอดจากคุณครูประจำศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
แม้ว่าใบเตยกุหลาบฝีมือคนเล็ก ๆ บางดอกไม่ได้รับการพิจารณาให้เข้าช่อในครั้งแรกที่ฝึกทำ แต่ครั้งต่อ ๆ มา คนตัวเล็ก ๆ ก็สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น กุหลาบใบเตยจึงได้อวดความสวยงามและส่งกลิ่นหอมอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นในห้องน้ำ หรือบนโต๊ะทำงานคุณครูและหลายครั้งที่คุณครูต้องจัดตกแต่งตะกร้าของที่ระลึก ใบเตยก็ยังคงเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ของคุณครูเสมอ และก็มักเป็นที่ชื่นชอบของผู้รับทุกคน
ตอนที่ ๕ "ถุงกล้วยแขกคืนชีพปั๊บ แปลงร่างปุ๊บ"

ใครจะคิดบ้างมั้ยว่า "ถุงกล้วยแขก" เคยเป็นสื่อฝึกคนให้เป็นนักอ่าน สมัยก่อนตอนเป็นเด็กประถม หนังสือเล่มอย่างดีที่ได้อ่านก็มีเพียงหนังสือเรียน หนังสือพิมพ์นี้แทบจะไม่รู้จัก การขาดแคลนหนังสืออ่านนี้กระมัง ที่ทำให้ฉันเป็นคนขยันอ่าน อ่านทุกอย่างที่เจอ ถุงกล้วยแขกมักจะพับด้วยหนังสือพิมพ์เก่า ๆ ดังนั้น เมื่อกล้วยแขกหมดถุง ถุงกล้วยแขกก็จะถูกแบออก กลายเป็นวรรณกรรมชั้นดีให้กับเด็กบ้านนอกอย่างฉันได้เรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ

ต่อมาก็เกิดความคิดว่า เราน่าจะพับถุงขาย เพราะที่บ้านคุณพ่อเป็นช่างรับเหมาก่อสร้างถุงปูนซิเมนต์สมัยนั้นเป็นกระดาษอย่างดี โดยลอกเอาเฉพาะชั้นนอก ๆ (สมัยนั้นถุงซีเมนต์มีหลายชั้น)ฉันจึงได้รับการเรียนรู้การพับถุงกระดาษมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเป็นครูก็หวนรำลึกว่าถ้าเราไม่สอนเด็ก ๆ ไว้ ต่อไปก็คงไม่มีใครพับถุงกล้วยแขกเป็น เพราะสมัยนี้เขาใช้ถุงหิ้วพลาสติกกันหมด จึงนำการพับถุงกระดาษสู่ "ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเด็ก ๆ ก็ให้ความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้กันมาก เด็ก ๆ บางคนพับถุงกระดาษได้สวยงาม เมื่อพับได้หลาย ๆ ถุง ฉันก็จะสอนให้เด็ก ๆเีรียงถุงเป็นมัด ๆ มัดละ 100 ลูก

น้องต้นน้ำคุยอวดคุณครู พร้อมกับหายไปพักใหญ่ ๆ ฉันแอบดูเด็ก ๆ เห็นกำลังค้นหากระดาษสีที่ธนาคารขยะ"ครูครับ ครูครับ ผมจะทำถุงกล้วยแขกแปลงร่างด้วยครับ ครูคอยดูนะครับ" สักพักน้องต้นน้ำและเพื่อน ๆ ก็นำถุงกล้วยแขกแปลงร่างมาอวดคุณครู

"แกะ ครับครู แกะ ครับ"

"แกะ ทำไมหล่ะครับ อุตส่าห์พับ" (ครูคิดตามไม่ทันเด็ก)

"ไม่ใช่ให้แกะครับ นี่อ่ะ แกะ ครับ นี่หูมันครับ มีปากมีจมูกด้วย "

"มีหางด้วยนะครับครู" เพื่อนของน้องต้นน้ำช่วยเสริม

ขณะที่เพื่อน ๆ กลับเข้าห้องหมดแล้ว น้องต้นน้ำก็หันซ้ายหันขวา

เดินเข้ามาชิดครูเอามือป้องปาก พร้อมกับทำปากจู๋

"ครูครับ ครูครับ ผู้ชายท้องได้มั้ยครับ" ครูอ้าปากหวอกำลังคิดว่า

จะตอบอย่างไรดี "ณัฐ บอกว่า ผู้ชายท้องได้ ผมบอกณัฐว่า

ผู้ชายท้องไม่ได้ จะท้องได้อย่างไงครับครู ผู้ชายไม่มีมดลูก"

"เหรอ หนูเรียนวิทยาศาสตร์ หรือสุขศึกษามาหล่ะ คุณครูเขาสอนเหรอ"

"เปล่าครับ ผมก็พูดไปยังงั้นแหละ" ว่าแล้วก็รีบวิ่งเข้าห้องเีรียนเตรียม

ไปเข้าแถวกลับบ้าน

คำสำคัญ (Tags): #ruschadawon
หมายเลขบันทึก: 538562เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2013 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2015 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นของเล่นที่สร้างสรรค์ และไม่ต้องซื้อหามาด้วยราคาแพงๆ เลยค่ะ 

จำได้ตอนเด็กๆ คุณครูสอนให้พับกระดาษ เป็นนก กบ ผีเสื้อ เรือ  มากมาย ....

จะกลับไปพับเป็นอีกหรือเปล่าหนอ พอวัยมันเปลี่ยนไปค่ะ

สมัยเด็กๆ ผมเคยทำเป็น  แต่เดี๋ยวนี้ลืมหมดแล้วครับ   555


...แวะมาชมการสานทางมะพร้าว...นอนหลับฝันดีนะคะ

พี่โอ๋ทำให้เด็กตื่นเต้นได้ทุกครั้งที่เจอทางมะพร้าวก็ด้วยสองอย่างนี้แหละค่ะ แปลกที่เห็นเมื่อไหร่ก็พลิกไปพลิกมาออกมาได้ ไม่ลืมเลย (แต่อาจจะต้องพลิกไปพลิกมานานหน่อย เพราะทำโดยอัตโนมัติมากกว่าการจำวิธีค่ะ) 

แวะมาโหวต TBA2013 ให้ครับ และขอเป็นกำลังใจให้สร้างสรรค์บทความคุณภาพเช่นนี้ตลอดไป
http://www.thailandblogawards.com/entry/view/417

เป็นกิจกรรมที่ดีมากครับ ขอโหวตคะแนนTBA2013(46) ให้นะครับ ทั้งนี้หากมีโอกาสขออนุญาติเรียนเชิญแวะไปเยี่ยมชมบล๊อกสามก๊กวิทยาบ้างนะครับ

http://www.thailandblogawards.com/entry/view/416

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท